ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่รัฐบาลกำลังเร่งรีบนำผลการประชุมคณะกรรมการเจบีซี ( JBC ) ไทย-กัมพูชา 3 ฉบับ เข้าพิจารณาในที่ประชุมสภา โดยล่าสุดได้เลื่อนการพิจารณาจากวันที่ 29 มี.ค. มาเป็นวันที่ 25 มี.ค. โดยหวังจะให้สภาผ่านบันทึกดังกล่าวได้ทันก่อนจะมีการประชุมร่วมกับทางกัมพูชาในต้นเดือนหน้าที่ประเทศอินโดนีเซีย
กล่าวสำหรับร่างเจบีซี 3 ฉบับนี้ได้มีการระบุให้มีการปักปันเขตแดนใหม่ตั้งแต่หลักเขตแดนที่ 23 -51 รวมทั้งจุดที่มีสันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดนด้วย ซึ่งถ้ารัฐสภาพิจาณารับรองบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ ก็เท่ากับว่ารัฐสภาไปให้การรับรองการปักปันเขตแดนใหม่ทั้งหมด สละสิทธิของไทยที่มีการปักปันเขตแดนแล้วเสร็จตั้งแต่สยามกับฝรั่งเศส ซึ่งจะถือเป็นการรับรองโดยรัฐสภาไทยเป็นครั้งแรก และเป็นการสูญเสียดินแดนอย่างเป็นทางการ
อย่างไรก็ตาม ทางผู้แทนคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ได้ยื่นหนังสือต่อ นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา เพื่อขอให้สมาชิกรัฐสภาไม่รับรองบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ รวมถึงกรณีที่ได้ทราบมาว่าในการบันทึกผลประชุม ไม่มีการบันทึกของนักสำรวจ การทำประชามติไม่เป็นไปตามขั้นตอน ให้ข้อมูลเฉพาะที่เป็นคุณต่อรัฐบาล แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นโทษต่อการสูญเสียดินแดนของประเทศ
ขณะเดียวกัน นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน ก็ได้ยื่นหนังสือต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ถอนบันทึกการประชุมของคณะกรรมการร่วมชายแดนไทย-กัมพูชา (JBC) 3 ฉบับ ออกจากการพิจารณาของรัฐสภา โดยทางเครือข่ายฯ เห็นว่า บันทึกการประชุมเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ มีข้อความกล่าวหาว่า ทหารไทยละเมิดมาตรา 5 ของ MOU 43 หากรัฐสภารับรองบันทึกการประชุม อาจทำให้ทางกัมพูชาอ้างเป็นหลักฐานว่ารัฐสภาไทยยอมรับว่า ดินแดนที่ทหารไทยปฏิบัติการอยู่เป็นดินแดนของกัมพูชา
นอกจากนี้ ในบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ ยังมีข้อความระบุว่า การตรวจสอบเขตปักปันเขตแดนที่ 23-51 มีความถูกต้อง และเขียนเป็นร่างข้อตกลงทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษากัมพูชา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยรอการรับรองจากรัฐสภาเท่านั้น ซึ่งในความจริงชุดสำรวจจากกรมแผนที่ทหาร ยังไม่ได้ลงนามรับรอง และยังไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่กรมแผนที่ทหารเข้าไปตรวจสอบเลย ดังนั้น ในหลักเขตแดนที่ 23-51 ที่มีหลักเขตแดนที่ 23-25 และ 46-48 ที่ยังตกลงจุดปักปันหลักเขตแดนไม่ได้ ข้อความที่บันทึกในการประชุมเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ จึงเป็นข้อความที่คลาดเคลื่อน
อย่างไรก็ตาม ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่ฝ่ายบริหารกำลังจะเสนอรายงานของเจบีซีไทย-กัมพูชา เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติอันได้แก่รัฐสภาไทยรับรองให้ความเห็นชอบนั้น เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ ได้เผยแพร่บทความของ ศ.ดร. สมปอง สุจริตกุล ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศ และทนายความประสานงานคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2502-2505 เรื่อง "จุดยืนที่เหนือกว่า" โดยระบุว่า การปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชาทำเสร็จไปตั้งแต่ 103 ปีที่แล้ว คณะกรรมการ JBC และ GBC ก็ไม่ใช่ “กรรมการปักปันเขตแดน” แต่เป็นเพียงคณะกรรมการ “ตรวจสอบ” หลักเขตแดน ส่วน MOU 43 เป็นมหันตโทษต่อประเทศชาติ เนื่องจากมีเงื่อนงำซ่อนเร้นและหมกเม็ดใช้แผนที่ระวางดงรัก 1: 200,000 ซึ่งฝรั่งเศสลากเส้นเองตามใจโดยไม่ได้ยึดตามสนธิสัญญา ขาดความชอบธรรม และศาลโลกก็ไม่พิจารณาแผนที่ดังกล่าว ส่วนคำพิพากษาแย้งของผู้พิพากษาบางท่าน ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษา ไม่ใช่เป็นเพียงความคิดเห็นอย่างที่หลายคนเข้าใจ ซึ่งเป็นการยืนยันว่าแผนที่ดังกล่าวเป็นแผนที่ที่ผิด สำหรับเขตแดนทางทะเลไม่มีพื้นที่ทับซ้อนแน่นอน เพราะเส้นที่กัมพูชาลากผ่านเกาะกูดเป็นการลากเส้นเองโดยปราศจากหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย
ทั้งนี้ ในบทความดังกล่าวยังได้มีการระบุถึงเงื่อนงำที่จะนำมาซึ่งผลเสียหายร้ายแรงหากรัฐสภาพิจารณาผ่านบันทึกการประชุมเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ อีกทั้งยังมีการตอกย้ำว่าการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาได้ทำเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ.1905-1907 แต่ในบันทึกเจบีซีกลับระบุให้มีการปักปันเขตแดนใหม่ ซึ่งเท่ากับเป็นการทำให้ประเทศต้องเสียดินแดนเพิ่มเติม ตลอดแนวชายแดน 798 กิโลเมตร 7 จังหวัด ตั้งแต่อุบลราชธานี - ตราด ที่จะเสียอีกเฉลี่ยจังหวัดละ 2 แสนไร่
ดังนั้น สิ่งที่ ศ.ดร.สมปอง ออกมาแสดงความคิดเห็นนั้น จึงเป็นสิ่งที่สมาชิกรัฐสภาต้องให้ความสำคัญ เพราะ ศ.ดร.สมปองเป็นหนึ่งในทีมนักกฎหมายที่ร่วมต่อสู้คดีปราสาทเขาพระวิหารเมื่อปี 2505 จึงเป็นผู้ที่เข้าใจในข้อเท็จจริงมาโดยตลอดว่าประเทศไทยมีหลักกฎหมาย ข้อโต้แย้งเพื่อแสดงถึงจุดยืนในข้อพิพาทนี้ และจากบทความนี้แสดงให้เห็นว่าการพิจารณาบันทึกเจบีซีของรัฐสภาในครั้งนี้ ถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่จะยืนยันว่าประเทศไทยเสียดินแดน ไม่เพียงปราสาทพระวิหารหรือบริเวณโดยรอบ แต่ยืนยันว่าเสียดินแดนตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา กว่า 800 กม.
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตอีกประการหนึ่งก็คือ การพิจารณาร่างบันทึกการประชุมเจบีซีนี้ เป็นการวางเกมให้มีการผ่านบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับก่อน เพื่อให้อาเซียนสามารถส่งทหารอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่ได้อย่างชอบธรรม เนื่องจากในบันทึกมีระบุถึงการให้ทหารของทั้งไทยกับกัมพูชาออกจากพื้นที่ ซึ่งกรณีนี้ พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ให้ความเห็นว่า "ผมไม่อยากให้ใครเข้ามาสังเกตการณ์ในบ้านของเรา เพราะในบ้านเราเองน่าจะพูดจากันได้ ในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน เราสามารถพูดคุยกันได้ ก็ไม่อยากให้คนอื่นเข้ามายุ่ง เพราะเห็นว่าจะเกิดความวุ่นวาย หากมีหลายๆ ประเทศเข้ามา" นั่นคือความเห็นของ ผบ.ทบ.
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ยังมีท่าทีที่จะไม่ร่วมประชุมคณะกรรมาธิการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) นอกประเทศ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าฝ่ายทหารมีความอึดอัดต่อกรณีที่ฝ่ายการเมืองจะไปยินยอมให้ทหารต่างชาติเข้ามาแทรกแซงยุ่งเกี่ยวเรื่องเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา รวมทั้งมีข้อสังเกตว่าช่วงหลังมานี้ทางทหารได้พยายามที่จะดำเนินการหลายมาตรการ เช่น การกั้นรั้วบริเวณปราสาทพระวิหารเพิ่มเติม หรือการซ้อมรบใกล้ชายแดน ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นว่าฝ่ายทหารไม่มีความสอดคล้องกับฝ่ายการเมือง โดยมีความห่วงในเรื่องอธิปไตยของชาติมากกว่า กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธที่จะไปประชุมจีบีซีนอกประเทศจึงเป็นเรื่องที่สมควรแล้ว
ขณะที่ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ให้ความเห็นถึงการพิจารณาร่างบันทึกเจบีซี 3 ฉบับของที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 25 มี.ค.นี้ ว่า มีแนวโน้มว่าพรรคประชาธิปัตย์จะให้การรับรองบันทึกทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งเรื่องนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยังให้ข้อมูลที่คาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงอย่างมาก โดยเฉพาะกรณีที่ระบุว่าหากรัฐสภาไม่รับรองบันทึกเจบีซี จะเป็นการทำลายกลไกการเจรจาทวิภาคี และนำไปสู่การเจรจาพหุภาคี ที่นานาชาติจะเข้ามาแทรกแซง
แต่ความจริงแล้ว ที่ประชุมรัฐสภามีสิทธิที่จะไม่เห็นชอบบันทึกเจบีซีได้ หากเห็นว่ามีข้อบกพร่องที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และนำไปสู่การเจรจาของคณะกรรมาธิการเจบีซีเพื่อหาข้อสรุปใหม่ จนกว่าจะได้ข้อยุติที่ตกลงกันได้ทั้งสองฝ่าย
ส่วนกรณีที่นายอภิสิทธิ์บอกว่าบันทึกเจบีซีไม่มีผลต่ออธิปไตยของประเทศนั้น นายปานเทพบอกว่า ได้ตรวจสอบแล้วพบว่ามีหลายจุดที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตอย่างชัดเจน โดยฝ่ายกัมพูชาสามารถนำไปอ้างได้ในเวทีนานาชาติว่าฝ่ายไทยยอมรับผลเสียหายที่เกิดขึ้นโดยรัฐสภาของประเทศไทยเอง โดยเฉพาะในเวทีคณะกรรมการมรดกโลกที่จะมีขึ้นในเดือน มิ.ย.54 เพื่อให้พิจารณาเห็นชอบแผนบริหารจัดการพื้นที่ที่ยังค้างอยู่
นอกจากนี้ ยังจะอ้างในเวทีอาเซียนว่าไทยยอมรับในการถอนทหารออกจากพื้นที่ เปิดทางให้ทหารอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ และไม่สามารถใช้กำลังทหารผลักดันกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทยตลอดกาล หากปล่อยให้มีการผ่านการรับรองของรัฐสภาไทยจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่ออธิปไตยของชาติ *(อ่าน สรุปความอัปยศ 6 ประการของบันทึกผลการประชุม JBC ในล้อมกรอบ)
ดังนั้น หาก ส.ว. และ ส.ส. คนใดลงมติรับรองบันทึกการประชุมดังกล่าว นอกจากจะถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ว่าได้ทำให้ประเทศชาติสูญเสียดินแดนและอธิปไตยอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนแล้ว ยังถือเป็นการกระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 119, 120 และ 157 ซึ่งมีโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต!
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการพิจารณาบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ ยังมีความคืบหน้าเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือนายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ที่ถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำในประเทศกัมพูชา โดยล่าสุด นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวถึงความคืบหน้าในการขอพระราชทานอภัยโทษให้กับนายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ว่า สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ได้ส่งหนังสือขอพระราชทานอภัยโทษที่ทั้งสองได้ลงนามให้กับกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชาตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. แล้ว เท่าที่ทราบขณะนี้ฝ่ายกัมพูชาได้ส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ขณะนี้เรื่องจึงอยู่ระหว่างการพิจารณาของฝ่ายกัมพูชา ส่วนอาการเจ็บป่วยของนายวีระนั้น ข้อมูลจากที่ได้รับรายงานจากสถานทูตขณะนี้อาการดีขึ้นแล้ว
ขณะที่ นครวัตนิวส์ และวิทยุฝรั่งเศสสากล ภาคภาษาเขมร รายงานความคืบหน้าการยื่นขออภัยโทษจากกษัตริย์กัมพูชาของนายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ได้ถูกส่งถึงกระทรวงยุติธรรมแล้ว เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งกระทรวงยุติธรรมกำลังตรวจสอบหนังสือขออภัยโทษดังกล่าว เพราะเอกสารที่ได้รับไม่ครบถ้วน คือยังขาดเอกสารคำตัดสินของตุลาการ ที่เป็นมูลฐานเบื้องต้น สำหรับการพิจารณาหนังสือเสนอขออภัยโทษของสองคนไทย ทั้งนี้ ตามขั้นตอนทางกฎหมาย หัวหน้าสำนักงาน ( แผนกกิจการคดีอาญา ) จะต้องทำรายงานเสนอไปยังรมว.ยุติธรรมก่อน แล้วจึงค่อยเสนอไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นายกรัฐมนตรีเสนอขออภัยโทษกับกษัตริย์กัมพูชาต่อไป แต่ขั้นตอนทางกฎหมายดังกล่าว ตามขั้นตอนต้องใช้เวลานาน โดยเอกสารหนังสือที่ยังไม่ครบถ้วน เมื่อสุดสัปดาห์ที่แล้วเอกสารที่เสนอมายังกระทรวงยุติธรรมมีแค่หนังสือเสนอขออภัยโทษของสองคนไทย บันทึกของสถานทูตไทย และหนังสือของกระทรวงต่างประเทศกัมพูชาเท่านั้น ยังขาดเอกสารอีกอย่างคือ 'คำตัดสินของตุลาการ' ที่จะใช้เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการพิจารณา...
บางที นอกจากเขียนหนังสือขออภัยโทษจากกษัตริย์นโรดม สีหมุนีแล้ว นายวีระ และน.ส.ราตรี อาจต้องเขียนหนังสือขอความเมตตาจากรัฐบาลและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ขั้นตอนในการให้ความช่วยเหลือต่างๆ อาจจะราบรื่น และรวดเร็วกว่านี้ !?
*********************************
6 ความอัปยศของ JBC
ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่จะยืนยันว่าประเทศไทยเสียดินแดนนี้ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้สรุปความอัปยศ 6 ประการของบันทึกผลการประชุม JBC ว่า หากที่ประชุมรัฐสภาผ่านความเห็นชอบในบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาในวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 จะเกิดผลเสียหาย 6 ประการดังต่อไปนี้
1. จะเป็นการให้สมาชิกรัฐสภาไทยยอมสละละทิ้งผลงานการสำรวจและปักปันกันไปแล้วระหว่างสยาม-ฝรั่งเศสเมื่อ 103 ปีเสร็จสิ้นไปแล้วว่าบริเวณช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ ไปทางทิศตะวันออกถึงช่องบก จ.อุบลราชาธานี ความยาว 195 กิโลเมตร (รวมเขาพระวิหาร) ให้ใช้ขอบหน้าผาเป็นสันปันน้ำและเป็นเส้นเขตแดนตามธรรมชาติ สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าโดยไม่เคยและไม่ต้องทำหลักเขตแดน ให้กลายมาเป็นต้องตกลงกันใหม่ ให้มาจัดทำหลักเขตแดนกันใหม่ระหว่างไทย-กัมพูชา ทำให้ไทยต้องเสียเปรียบเพราะจะทำให้นานาชาติเข้าใจผิด ดังที่กัมพูชาพยายามอธิบายมาโดยตลอดว่าไทยกับกัมพูชากำลังทำหลักเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียวและเป็นแผนที่ซึ่งทำผิดกินรุกเข้ามาในดินแดนไทย ตามข้อความที่ปรากฏในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543 หรือ MOU 2543 ซึ่งแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 จะทำให้ไทยต้องสูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนตลอดชายแดนไทย-กัมพูชาประมาณ 1.8 ล้านไร่
2. จะเป็นการให้รัฐสภาไทยให้ความเห็นชอบคำปราศรัยอยู่ในบันทึกผลการประชุมของนาย วาร์ คิม ฮง ประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ฝ่ายกัมพูชากล่าวร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่า ไทยเป็นฝ่ายรุกรานกัมพูชาตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 บริเวณปราสาทพระวิหาร ปราสาทตาเมือนธม และปราสาทตาควาย
3. จะเป็นการให้รัฐสภาไทยรับรองผลการประชุมที่มีการแนบนำร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา ว่าจะให้มีการจัดทำหลักเขตแดนทางบกในบริเวณเขาพระวิหาร โดยมีการระบุอยู่ในร่างข้อตกลงชั่วคราวว่า ให้ยืนยันการใช้ MOU 2543 และ TOR 2546 ทั้งๆ ที่ MOU 2543 นั้นมีปัญหาที่ไทยเสียเปรียบหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ที่รุกล้ำอธิปไตยไทยให้มาอยู่บนโต๊ะเจรจามีสภาพบังคับให้พิจารณาเป็นครั้งแรกให้ไทยต้องเสียเปรียบ มีข้อกำหนดที่เป็นผลทำให้เป็นการมัดแสนยานุภาพทางการทหารของไทยและใช้การเจรจาด้วยสันติวิธีอย่างเดียวหากมีการพิพาทกัน ทำให้ทหารกัมพูชาที่ยึดครองดินแดนไทยอยู่สามารถยึดครองต่อไปได้อย่างไม่มีกำหนดระยะเวลาจนกว่าผลการเจรจาจะเป็นที่พอใจต่อฝ่ายกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว ซ้ำร้ายยังทำให้กัมพูชารุกรานแผ่นดินไทยเพิ่มเติมมาจนถึงทุกวันนี้ ยิ่งไปกว่านั้น MOU 2543 ได้จัดทำขึ้นโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาทั้งๆ ที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต จึงขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 244 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ดังนั้น MOU 2543 เป็นโมฆะมาตั้งแต่ตอนต้น
4. จะเป็นการให้รัฐสภาไทยรับรองผลการประชุมที่มีการแนบร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา ระบุว่าให้ทหารไทยและทหารกัมพูชาถอนออกจากวัดแก้วสิขะคีรีสะวาราทั้งๆ ที่บริเวณดังกล่าวเป็นแผ่นดินไทยที่กัมพูชาเพิ่งมาสร้างวัดในปี พ.ศ. 2546 การถอนกำลังทหารไทยในแผ่นดินไทย จะเป็นผลทำให้เขตปลอดทหารทำให้กลายเป็นพื้นที่สันติภาพเข้าเงื่อนไขที่กัมพูชาเตรียมนำพื้นที่บริเวณดังกล่าวที่เป็นแผ่นดินไทยนำไปเสนอเป็นส่วนหนึ่งแผนบริหารจัดการมรดกโลกปราสาทพระวิหารให้เป็นของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว ในเวทีมรดกโลกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2554
5. จะเป็นการให้รัฐสภาไทยรับรองบันทึกผลการประชุมที่ผิดขั้นตอน เช่น การยังไม่ได้ผ่านการลงนามโดยพนักงานสำรวจฝ่ายไทย และหลักเขตที่ 23 ถึง 51 ก็ยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากเจ้ากรมแผนที่ทหาร จึงถือว่าเป็นการลักไก่เสนอให้กัมพูชาและลักไก่ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาไทยอย่างไม่ถูกต้องตามขั้นตอน
6. จะเป็นการให้รัฐสภารับรองขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เพราะจากรายงานของคณะทำงานที่ศึกษาเรื่องเขาพระวิหารของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นการับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างไม่ถูกต้อง เช่น ไม่บอกประชาชนให้รับทราบว่าเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190, ให้ข้อมูลด้านเดียวตามที่กระทรวงการต่างประเทศต้องการโดยไม่ให้ข้อมูลด้านลบ, ในบางเวทีเมื่อมีการคัดค้านก็ใช้วิธีการปิดประชุมและไม่รายงานการคัดค้านของนักวิชาการและประชาชน, มีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้อง เช่น เชียงใหม่, สุราษฎร์ธานี ฯลฯ ...