“ปานเทพ” สรุปความอัปยศ 6 ประการของ บันทึกผลการประชุม JBC หากรัฐสภาผ่านความเห็นชอบ ย้ำไทยเสียเปรียบกัมพูชาทุกด้าน โดยเฉพาะการยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ที่รุกล้ำอธิปไตยไทยถึงขั้นเสียดินแดนแน่นอน เตือนถูกดำเนินคดีอาญา รับโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต วอนสมาชิกรัฐสภาทบทวนผลประโยชน์ชาติ ไม่ลงมติรับรอง JBC ทั้ง 3 ฉบับ
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้สรุปความอัปยศ 6 ประการของ บันทึกผลการประชุม JBC ในเฟซบุ๊กว่า หากที่ประชุมรัฐสภาผ่านความเห็นชอบในบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาในวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554 จะเกิดผลเสียหาย 6 ประการดังต่อไปนี้
1. จะเป็นการให้สมาชิกรัฐสภาไทยยอมสละละทิ้งผลงานการสำรวจและปักปันกันไปแล้วระหว่างสยาม-ฝรั่งเศสเมื่อ 103 ปีเสร็จสิ้นไปแล้วว่าบริเวณช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ ไปทางทิศตะวันออกถึง ช่องบก จ.อุบลราชาธานี ความยาว 195 กิโลเมตร (รวมเขาพระวิหาร) ให้ใช้ขอบหน้าผาเป็นสันปันน้ำและเป็นเส้นเขตแดนตามธรรมชาติ สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าโดยไม่เคยและไม่ต้องทำหลักเขตแดน ให้กลายมาเป็นต้องตกลงกันใหม่ ให้มาจัดทำหลักเขตแดนกันใหม่ระหว่างไทย-กัมพูชา ทำให้ไทยต้องเสียเปรียบเพราะจะทำให้นานาชาติเข้าใจผิด ดังที่กัมพูชาพยายามอธิบายมาโดยตลอดว่าไทยกับกัมพูชากำลังทำหลักเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศสแต่เพียงฝ่ายเดียวและเป็นแผนที่ซึ่งทำผิดกินรุกเข้ามาในดินแดนไทย ตามข้อความที่่ปรากฏใน บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. 2543 หรือ MOU 2543 ซึ่งแผนที่มาตรส่วน 1 : 200,000 จะทำให้ไทยต้องสูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนตลอดชายแดนไทย-กัมพูชาประมาณ 1.8 ล้านไร่
2. จะเป็นการให้รัฐสภาไทยให้ความเห็นชอบ คำปราศรัยอยู่ในบันทึกผลการประชุมของนาย วาร์ คิม ฮง ประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ฝ่ายกัมพูชากล่าวร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่า ไทยเป็นฝ่ายรุกรานกัมพูชาตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 บริเวณปราสาทพระวิหาร ปราสาทตาเมือนธม และปราสาทตาควาย
3. จะเป็นการให้รัฐสภาไทยรับรองผลการประชุมที่มีการแนบนำร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา ว่าจะให้มีการจัดทำหลักเขตแดนทางบกในบริเวณเขาพระวิหาร โดยมีการระบุอยู่ในร่างข้อตกลงชั่วคราวว่า ให้ยืนยันการใช้ MOU 2543 และ TOR 2546 ทั้งๆที่ MOU 2543 นั้นมีปัญหาที่ไทยเสียเปรียบบหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยอมรับแผนที่
มาตราส่วน 1 : 200,000 ที่รุกล้ำอธิปไตยไทยให้มาอยู่บนโต๊ะเจรจามีสภาพบังคับให้พิจารณาเป็นครั้งแรกให้ไทยต้องเสียเปรียบ มีข้อกำหนดที่เป็นผลทำให้เป็นการมัดแสนยานุภาพทางการทหารของไทยและใช้การเจรจาด้วยสันติวิธีอย่างเดียวหากมีการพิพาทกัน ทำให้ทหารกัมพูชาที่ยึดครองดินแดนไทยอยู่สามารถยึดครองต่อไปได้อย่างไม่มีกำหนดระยะเวลาจนกว่าผลการเจรจาจะเป็นที่พอใจต่อฝ่ายกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว ซ้ำร้ายยังทำให้กัมพูชารุกรานแผ่นดินไทยเพิ่มเติมมาจนถึงทุกวันนี้ ยิ่งไปกว่านั้น MOU 2543 ได้จัดทำขึ้นโดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาทั้งๆที่มีบทและความสุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต จึงขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 244 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ดังนั้น MOU 2543 เป็นโมฆะมาตั้งแต่ตอนต้น
4. จะเป็นการให้รัฐสภาไทยรับรองผลการประชุมที่มีการแนบร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา ระบุว่าให้ทหารไทยและทหารกัมพูชาถอนออกจากวัดแก้วสิขะคีรีสะวาราทั้งๆที่บริเวณดังกล่าวเป็นแผ่นดินไทยที่กัมพูชาเพิ่งมาสร้างวัดในปี พ.ศ. 2546 การถอนกำลังทหารไทยในแผ่นดินไทย จะเป็นผลทำให้เขตปลอดทหารทำให้กลายเป็นพื้นที่สันติภาพเข้าเงื่อนไขที่กัมพูชาเตรียมนำพื้นที่บริเวณดังกล่าวที่เป็นแผ่นดินไทยนำไปเสนอเป็นส่วนหนึ่งแผนบริหารจัดการมรดกโลกปราสาทพระวิหารให้เป็นของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว ในเวทีมรดกโลกในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2554
5. จะเป็นการให้รัฐสภาไทยรับรองบันทึกผลการประชุมที่ผิดขั้นตอน เช่น การยังไม่ได้ผ่านการลงนามโดยพนักงานสำรวจฝ่ายไทย และหลักเขตที่ 23 ถึง 51 ก็ยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากเจ้ากรมแผนที่ทหาร จึงถือว่าเป็นการลักไก่เสนอให้กัมพูชาและลักไก่ขอความเห็นชอบจากรัฐสภาไทยอย่างไม่ถูกต้องตามขั้นตอน
6. จะเป็นการให้รัฐสภารับรองขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เพราะจากรายงานของคณะทำงานที่ศึกษาเรื่องเขาพระวิหารของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นการับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างไม่ถูกต้อง เช่น ไม่บอกประชาชนให้รับทราบว่าเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190, ให้ข้อมูลด้านเดียวตามที่กระทรวงการต่างประเทศต้องการโดยไม่ให้ข้อมูลด้านลบ, ในบางเวทีเมื่อมีการคัดค้านก็ใช้วิธีการปิดประชุมและไม่รายงานการคัดค้านของนักวิชาการและประชาชน, มีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ซึ่งไม่มีความเกี่ยวข้อง เช่น เชียงใหม่, สุราษฎร์ธานี ฯลฯ
การที่นายกรัฐมนตรีอ้างว่าจะกรรมาธิการที่พิจารณาผลการศึกษานี้จะมีการตั้งข้อสังเกตก็ดี และสมาชิกรัฐสภาจะตั้งข้อสังเกตก็ดี หรือนายกรัฐมนตรีจะรับปากว่าจะแก้ไขข้อบกพร่องหรือทำตามข้อสังเกตในการประชุม"ในอนาคต"ก็ดี ก็ไม่เกี่ยวข้องกับบันทึกผลการประชุมที่เกิดขึ้นไปแล้ว เพราะวาระการประชุมในวันที่ 25 มีนาคม 2554 นั้นคือเพื่อ "รับรอง" หรือ "ไม่รับรอง" ในสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ซึ่งกัมพูชาจะสามารถนำไปอ้างในสิ่งที่ไทยเสียเปรียบในเวทีนานาชาติโดยทันที
การที่นายกรัฐมนตรีอ้างว่าการขอความเห็นชอบจากรัฐสภานั้น เพื่อให้การเจรจาทวิภาคีระหว่างไทย-กัมพูชาเดินหน้าต่อไปได้นั้น อันที่จริงแล้วกระบวนการตามรัฐธรรมนูญของไทยเมื่อมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ย่อมแปลว่ารัฐสภามีสิทธิ์เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ดังนั้นรัฐสภาไทยจึงมีสิทธิ์ไม่เห็นชอบในบันทึกผลการประชุมที่เสียเปรียบต่อประเทศชาติ และให้กลไกทวิภาคีของคณะกรรมาธิาการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) กลับไปเจรจาแก้ไขกันใหม่ในคราวต่อไปจนกว่ารัฐสภาไทยจะเห็นความเห็นชอบ
ขอวิงวอนจากท่านสมาชิกรัฐสภาทุกท่านได้โปรดแก้ไขวิกฤติการณ์ครั้งนี้ โดยการลงมติไม่รับรองบันทึกผลการประชุม JBC ทั้ง 3 ฉบับ หากท่านสมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบในบันทึกผลการประชุมนอกจากจะต้องถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ชั่วลูกชั่วหลานว่าท่านได้ให้ความเห็นชอบในบันทึกผลการประชุมที่อัปยศและสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติแล้ว ท่านก็อาจจะต้องถูกดำเนินคดีอาญาที่ทำให้ดินแดนไทยส่วนใดส่วนหนึ่งตกอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐกัมพูชาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 119, 120, 157 ซึ่งมีโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต