“ประพันธ์-ปานเทพ” บุกสภา ยื่นหนังสือเตือน ส.ส.-ส.ว.อีกรอบ อย่ารับรองเจบีซี 3 ฉบับ แนะดูให้ดีๆ ชี้หากโหวตหนุนเท่ากับทำชาติเสียอธิปไตย แย้มมาอีก 29 มี.ค.นี้
วันนี้ (21 มี.ค.) ที่รัฐสภา นายประพันธ์ คูณมี โฆษกคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เดินทางมายื่นหนังสือเรื่องขอให้ไม่รับรองบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ทั้ง 3 ฉบับ (ครั้งที่ 2) ลงนามโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แทนคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย พร้อมกับบทความเรื่อง จุดยืนที่เหนือกว่า ของ ดร.สมปอง สุจริตกุล ต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา โดยผ่านนายไพโรจน์ โพธิไสย รองเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อขอให้สมาชิกไม่รับรองบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี)
ภายหลังจากการยื่นหนังสือ นายประพันธ์กล่าวว่า ทราบมาว่าในวันที่ 29 มีนาคมนี้จะมีการประชุมกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) เราจึงมายื่นหนังสือซ้ำเพื่อให้ข้อมูลแก่สมาชิก เพื่อให้พิจารณาให้ดีก่อนโหวตรับรองบันทึกเจบีซี หากโหวตรับรองบันทึกฯ ดังกล่าว เท่ากับไทยยอมรับและยกเลิกการปักปันเขตแดนตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสทั้งหมด จึงอยากให้สมาชิกรัฐสภาพิจารณาการโหวตครั้งนี้ด้วย เพราะอาจจะเป็นผลทำให้ประเทศชาติเสียอธิปไตยได้
นายประพันธ์กล่าวอีกว่า เราจะพยายามให้ข้อเท็จจริงกับสมาชิกให้ได้มากที่สุด และหากมีการประชุมเจบีซีในวันที่ 29 มีนาคมนี้ พันธมิตรฯ จะมาหน้ารัฐสภาอีกครั้ง แต่ไม่แน่ใจว่าจะนำมวลชนมาแสดงจุดยืน หรือว่าจะให้เฉพาะแกนนำมา ซึ่งการมาหน้ารัฐสภาเราจะไม่ก่อเหตุให้วุ่นวาย
ด้าน นายปานเทพกล่าวว่า ขอย้ำว่าเรามายื่นเป็นครั้งที่ 2 เพื่อไม่ให้สมาชิกเห็นชอบบันทึกข้อตกลงเจบีซี ทั้งนี้ เรารับทราบมาว่าในการบันทึกผลประชุมไม่มีการบันทึกของการสำรวจ และไม่มีการทำประชามติให้เป็นไปตามขั้นตอน โดยให้ข้อมูลเฉพาะที่เป็นคุณกับรัฐบาล แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลที่เป็นโทษ
รายละเอียดหนังสือที่ยื่นต่อประธานวุฒิสภา
วันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
เรื่องขอให้ไม่รับรองบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ทั้ง ๓ ฉบับ (ครั้งที่ ๒)
เรียนท่านสมาชิกรัฐสภาผู้ทรงเกียรติทุกท่าน
อ้างถึง: ๑. หนังสือถึงท่านสมาชิกรัฐสภาเรื่อง ขอให้ไม่รับรองบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ทั้ง ๓ ฉบับ ลงนามโดย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้แทนคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ลงวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
สิ่งที่ส่งมาด้วย: ๑. บทความเรื่อง “จุดยืนที่เหนือกว่า” โดย ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔
ตามที่กระผม พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ผู้แทนคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ได้ส่งหนังสือ ถึงท่านสมาชิกรัฐสภาเรื่อง ขอให้ไม่รับรองบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ทั้ง ๓ ฉบับ ลงวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ผ่าน ฯพณฯประธานรัฐสภาแล้วนั้น (ตามอ้างถึง ๑)
ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล ผู้ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ เป็นอดีตคณะทนายผู้ประสานงานคดีปราสาทพระวิหาร อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศ อดีตกรรมาธิการและรองประธานกรรมาธิการด้านกฎหมายระหว่างประเทศแห่งองค์การสหประชาชาติ อดีตเลขาธิการอาเซียนคนแรก และอดีตปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของยูเนสโก และเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้บรรยายสอนและอบรมในสถาบันเฮก กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นสถาบันอบรมกฎหมายระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลก ได้เขียนบทความเรื่อง “จุดยืนที่เหนือกว่า” ลงวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔ (ตามสิ่งที่ส่งมาด้วย ๑)
บทความดังกล่าวได้ยืนยันว่าเขตแดนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสก่อนที่จะเป็นประเทศกัมพูชานั้น ได้จัดทำแล้วเสร็จมากกว่า ๑๐๓ ปีมาแล้ว จึงไม่มีปัญหาเรื่องการปักปันหลงเหลืออยู่อีดต่อไป ดังนั้นบริเวณ ช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ ไปทางทิศตะวันออกจนถึง ช่องบก จ.อุบลราชธานี ความยาว ๑๙๕ กิโลเมตร (ซึ่งรวมบริเวณเขาพระวิหาร)ได้ใช้สันเขาหรือสันปันน้ำเป็นเส้นเขตแดน (โดยไม่ต้องมีการทำหลักเขตแดนใดๆทั้งสิ้น) เนื่องจากสันปันน้ำเป็นหินธรรมชาติที่ชัดเจนและไม่มีวันเสื่อมสลาย จึงไม่มีปัญหาหรือข้อสงสัยหลงเหลืออยู่ทั้งฝั่งไทยและฝั่งฝรั่งเศสหรือผู้สืบสิทธิ์คือกัมพูชา และยังระบุอีกด้วยว่า บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. ๒๕๔๓ (MOU ๒๕๔๓) นั้นเป็นมหัตโทษต่อประเทศชาติเนื่องจากเอกสารดังกล่าวมีเงื่อนงำซ่อนเร้นและหมดเม็ดแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ ในระวางดงรัก เพราะแผนที่ดังกล่าวนอกจากฝรั่งเศสจะจัดทำขึ้นตามอำเภอใจฝ่ายเดียวแล้ว ยังมีความผิดพลาดที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาของศาลโลกอีกด้วย
กระผมเห็นว่าจากบทความของ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศที่มีประสบการณ์ตรงในคดีปราสาทพระวิหารและมีความเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับในเวทีระหว่างประเทศ บทความนี้ได้ตอกย้ำให้เห็นว่ารัฐสภาไทยจะต้องไม่ยอมรับในบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) โดยเด็ดขาด เพราะหากรัฐสภาไทยลงมติให้ความเห็นชอบแล้วย่อมเท่ากับว่ารัฐสภาไทย “ยอมสละผลงานการสำรวจและปักปันเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อ ๑๐๓ ปีที่แล้ว” ว่าให้ใช้ขอบหน้าผาเป็นสันปันน้ำและเป็นเส้นเขตแดนบริเวณเขาพระวิหารซึ่งมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าและไม่เคยต้องมีการจัดทำหลักเขตแดนใดๆทั้งสิ้น กลับมายินยอมให้ตกลงกันใหม่ระหว่างไทย-กัมพูชา และจัดทำหลักเขตแดนกันใหม่ในเส้นเขตแดนที่ไม่ควรมีการจัดทำหลักเขตแดน ภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ. ๒๕๔๓ (MOU ๒๕๔๓) ซึ่งปรากฏข้อความยอมรับแผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ ที่ผูกพันระหว่างไทย-กัมพูชาเป็นครั้งแรก
แผนที่มาตราส่วน ๑:๒๐๐,๐๐๐ มีความผิดพลาดและจะทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียดินแดนประมาณ ๑.๘ ล้านไร่ตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เพราะบัดนี้ได้ปรากฏกองกำลังและชุมชนกัมพูชาได้เจตนารุกรานและยึดครองแผ่นดินไทยและสำแดงอำนาจอธิปไตยในดินแดนประเทศไทยในทางปฏิบัติไปแล้วหลายจุด หากยึดแนวทางตาม MOU ๒๕๔๓ โดยกัมพูชาไม่ยินยอมตกลงในการเจรจาตามที่ฝ่ายไทยต้องการ กัมพูชาก็จะอาศัยสิทธิ์ตาม MOU ๒๕๔๓ ในการยึดครองแผ่นดินไทยได้ต่อไปอย่างไม่มีกำหนดระยะเวลา ในทางปฏิบัติจึงเท่ากับประเทศไทยก็จะสูญเสียแผ่นดินไทยไปอย่างไม่มีกำหนดระยะเวลาเช่นกัน
กระผมขอเรียนว่าในการประชุมรัฐสภาเกี่ยวกับกรณีนี้ เป็นการลงมติเพื่อ”รับรอง” หรือ “ไม่รับรอง”เท่านั้น ดังนั้นการตั้งข้อสังเกตของสมาชิกรัฐสภาหรือคณะกรรมาธิการศึกษาบันทึกผลการประชุมดังกล่าวก็ดี หรือการรับปากที่จะแก้ไขในการประชุมในในอนาคตก็ดี หากรัฐสภาไทยลงมติรับรองเมื่อใดก็ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงข้อความในบันทึกผลการประชุมที่เกิดขึ้นไปแล้วและทำให้ประเทศไทยต้องเสียเปรียบ ซึ่งจะทำให้กัมพูชาสามารถนำเอามติรัฐสภาไทยครั้งนี้ไปใช้ในเวทีระหว่างประเทศที่จะทำให้ประเทศไทยต้องเสียเปรียบได้ในที่สุด
จึงเรียนมาเพื่อขอให้ท่านสมาชิกรัฐสภาผู้ทรงเกียรติได้โปรดช่วยกันแก้ไขวิกฤตการณ์ครั้งนี้โดยการลงมติไม่รับรองบันทึกผลการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ทั้ง ๓ ครั้ง ซึ่งจะเป็นหนทางให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ให้ได้ ในทางตรงกันข้ามหากท่านสมาชิกรัฐสภาลงมติรับรองผลบันทึกการประชุมดังกล่าว นอกจากจะต้องถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ชั่วลูกชั่วหลานว่าทำให้ประเทศไทยสูญเสียอธิปไตยและดินแดนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนแล้ว การกระทำเช่นนั้นก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๙, ๑๒๐ และ ๑๕๗ ที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต ซึ่งกระผมและพวกจำเป็นต้องดำเนินคดีอาญาต่อไปอย่างถึงที่สุด
ขอแสดงความนับถือ
พลตรี จำลอง ศรีเมือง
ผู้แทนคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย