xs
xsm
sm
md
lg

ศาลรธน.ไม่ตีความเจบีซีไทย-เขมร-อัดรัฐบาลหาที่พิง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ศาลรธน. สั่งจำหน่ายคำร้องขอตีความบันทึกประชุมเจบีซี ไทย-กัมพูชา ชี้ยังไม่เข้าหลักเกณฑ์ ด้านตุลาการฯ อัดรัฐบาล-รัฐสภาหวังหาเชือกพิงเหตุการเมืองแรง กลัวเจอเล่นกลับเลยโยนศาล "เทือก"แจงสภาล่มหนีลงมติ เจบีซี สมาชิกรอศาลตีความ "ปานเทพ"ยันแกนนำพันธมิตรฯไม่ได้แตกคอ ปูดมีแผนลอบสังหารตัวเองกับ "เทพมนตรี" จริง ด้านสนธิ ชูโหวตโน ปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ สกัดนักการเมืองเลว “อัปปรีย์ไป จัญไรมา”

วานนี้ ( 30 มี.ค.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มีการอภิปราย และมีคำสั่งให้จำหน่ายคำร้องที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของนายศิริโชค โสภา ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กับพวกรวม 80 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดว่า บันทึกการประชุมคณะกรรมการธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี)รวม 3 ฉบับ เป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือไม่ โดยเห็นว่า คณะรัฐมนตรีได้นำบันทึกการประชุมดังกล่าว เสนอให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยมีข้อเท็จจริงปรากฏตามคำร้องว่า กรณียังไม่ถึงขั้นตอนที่จะต้องเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด เนื่องจากยังมีขั้นตอนอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องพิจารณาดำเนินการเสียก่อน

ในชั้นนี้จึงยังไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรคหก ประกอบมาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ที่จะเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อธิบายว่าในการพิจารณา คณะตุลาการฯ เห็นว่าบันทึกการประชุมทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวนั้น มีเนื้อหาสาระที่บอกแค่ว่า เป็นผลการประชุมของเจ้าหน้าที่ 2 ฝ่ายจะมีการดำเนินการอะไรบ้าง เพื่อแก้ไขปัญหา โดยที่ฝ่ายบริหารก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการใด ๆ ต่อ เช่น ยังไม่มีการที่ผู้นำรัฐบาลของแต่ละฝ่ายไปตกลงกัน หรือทำเป็นหนังสือสัญญาร่วมกัน ที่มีการลงนามของประมุขแห่งรัฐ หัวหน้ารัฐบาล หรือ รมว.ต่างประเทศ ของทั้ง 2 ประเทศว่าจะมีการดำเนินการตามที่ตกลงกันไว้ จึงถือว่าบันทึกการประชุมทั้ง 3 ฉบับ ยังไม่ใช่หนังสือสัญญา ที่จำต้องเสนอเข้าประชุมรัฐสภาด้วยซ้ำ

ขณะเดียวกัน การที่ประธานรัฐสภาจะส่งเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 นั้น ก็ต้องเป็นกรณีที่มีการโต้แย้งว่า หนังสือสัญญาที่ประชุมแห่งรัฐ หัวหน้ารัฐบาล หรือ รมว.ต่างประเทศ จะไปลงนามร่วมกับหัวหน้ารัฐบาลของอีกฝ่ายหนึ่งนั้น มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอธิปไตยของไทย เหตุใดจึงไม่นำมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน แต่กรณีนี้ไม่ได้มีการโต้แย้ง เพราะรัฐบาลก็เอาบันทึกการประชุมทั้ง 3 ฉบับ เสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา ทั้งที่ก็ไม่จำเป็น

" แม้ว่าที่สุดแล้วรัฐสภาจะให้ความเห็นชอบกับบันทึกการประชุมทั้ง 3 ฉบับ ก็ไม่มีผลให้บันทึกนั้นกลายเป็นหนังสือสัญญาได้ เพราะการจะถือเป็นหนังสือสัญญานั้น คนลงนามต้องเป็นประมุขแห่งรัฐ หรือหัวหน้ารัฐบาล หรือ รมว.ต่างประเทศ หรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายชัดแจ้งจากรัฐบาล แต่บันทึกการประชุม 3 ฉบับ ที่เสนอนั้นคนไปประชุมเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี อย่างนี้แล้วจะไปถือเป็นหนังสือสัญญาได้อย่างไร เรื่องนี้มันจึงเป็นการหาเชือกพิงกัน เพราะมันกลายเป็นการเมือง กลัวจะถูกเล่นกลับ ทั้งที่เป็นแค่บันทึกการประชุม หัวหน้ารัฐบาลยังไม่ได้ไปเซ็นตกลงอะไรกับเขา ก็เอาเข้าสภาไว้ก่อน ขณะที่สภาก็กลัว ก็เตะมาที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราก็ไม่ใช่ที่ปรึกษาของใคร" ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนหนึ่งให้ความเห็น

** "ชัย"แจงเหตุสภาล่มเพราะส.ส.ลงพื้นที่

นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา มั่นใจว่า การประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อลงมติรับรองรายงานผลการศึกษาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ เจบีซี ในวันที่ 5 เม.ย.นี้ จะไม่มีปัญหาเรื่ององค์ประชุมไม่ครบเหมือนที่ผ่านมา ส่วนสาเหตุที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพราะ ส.ส.ภาคใต้ ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ขณะที่ ส.ว.ได้วอล์กเอาต์ออกจากประชุม และ ส.ส.เพื่อไทย ไม่เสียบบัตรแสดงตน อย่างไรก็ตามเห็นว่าไม่จำเป็นต้องหารือนอกรอบ เพื่อทำความเข้าใจระหว่างสมาชิก เพราะเป็นเรื่องของรัฐบาล

**"เทือก"บอกไทยพร้อมเจรจาทุกที่

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ประกาศจะไม่ยอมเข้าร่วมเจรจา ไม่ว่าจะจัดการประชุมที่ไทย กัมพูชา หรืออินโดนีเซีย ทั้งที่เป็นการประชุมระดับภูมิภาคจะไปจัดการประชุมที่อินโดนีเซียได้อย่างไร ว่า ที่จตริงต้องแยกเป็นสองส่วน เรื่องที่ติดพันกับเราอยู่คือ การประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ซึ่งเป็นคณะกรรมการร่วมสองฝ่ายในการปักปันเขตแดน ซึ่งได้ประชุมติดต่อกันมา แต่สิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้คือ เมื่อได้ประชุมกัน 2-3 เรื่องก่อน ก็ต้องเอาบันทึกรายงานการประชุมกลับไปเสนอให้รัฐบาลแต่ละฝ่าย บังเอิญของไทยเรื่องอย่างนี้ต้องนำเข้าที่ประชุมรัฐสภา และยังมีปัญหาว่า แค่เพียงรับทราบ หรือต้องให้ความเห็นชอบ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เมื่อยังเป็นประเด็นข้อกฎหมายอยู่ ก็ได้มีสมาชิกรัฐสภาส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย การพิจารณาของรัฐสภาจึงต้องค้างรออยู่ แม้แต่ในส่วนที่เป็นความเห็นของคณะกรรมาธิการ ที่ไปศึกษาบันทึกการประชุม ทั้ง 3 ฉบับ ทางสภาก็ยังไม่สามารถลงมติได้ว่าจะเห็นชอบ หรือไม่ ในข้อสังเกตของกรรมาธิการ เพราะสมาชิกรัฐสภาหลายคนยังไม่เต็มใจ ต้องรอไปสัปดาห์หน้า
ส่วนเรื่องการประชุม การประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ไทย-กัมพูชา (จีบีซี) ที่จริงควรจะดำเนินการคู่ขนานกันไป แต่ในสถานการณ์นี้คงต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกับฝ่ายกัมพูชา เวลาจะพูดจาถึงกัน ต้องใช้ความระมัดระวังกันมากขึ้น เพราะแนวทางที่จะคลี่คลายได้มันก็อยู่ไม่ไกล แต่ถ้าเราพกเอาอารมณ์เข้าใส่กัน ก็จะทำได้ยากขึ้น

เมื่อถามว่า ท่านยังคงยืนยันการประชุมจีบีซี ที่ประเทศอินโดนีเซียหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ตนยืนยันว่า ประเทศไทยพยายามเดินหน้าต่อไป เพื่อให้มีการพูดคุยเจรจากันระหว่าง กัมพูชา กับไทยและไทยพร้อมที่จะร่วมมือการประชุมทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นที่ กัมพูชา ประเทศไทย หรือที่อินโดนีเซีย

เมื่อถามว่า ฮุนเซน พยายามลากเรื่องนี้เข้าไปที่การประชุมอาเซียนซัมมิทต่อไป ถ้าเราไม่มีการประชุมที่อินโดนีเซีย นายสุเทพ กล่าวว่า อย่าเพิ่งไปตกอกตกใจกับท่าทีกัมพูชา ยังต้องพยายามกันไป การติดต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก็ต้องใช้เวลา และความอดทนในการเจรจาพูด คุยทำความเข้าใจกันตามสถานการณ์ ทั้งสองประเทศต้องผ่นหนักผ่อนเบา หาข้อสรุปร่วมกันให้ได้

เมื่อถามว่า จากที่นายกษิต ภิรมย์ รมว.การต่างประเทศ ที่ไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน และมีข้อสรุปเชิญ อินโดฯเข้ามา แต่ที่สุดกองทัพก็ไม่ยอมรับ การประชุมก็เดินหน้าไม่ได้ นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ไม่ใช่ว่ากองทัพไม่ยอมรับ ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กลาโหม เราดำเนินการไปทิศทางเดียวกัน เพียงแต่ว่า ในกรณีที่ทางกัมพูชา มีเงื่อนไขว่า จะเจรจาก็ต่อเมื่อมีกองกำลังของอินโดนีเซีย เข้ามาอยู่ในพื้นที่เสียก่อน ตรงนี้ฝ่ายกองทัพได้ติงเอาไว้ เพราะเป็นเรื่องอธิปไตยของประเทศ ถ้าเอากองกำลังขอชาติอื่นเข้ามาอยู่ในพื้นที่พิพาท ก็ไม่ค่อยถูกต้อง จึงต้องพูดคุยกัน ไม่ได้บอกว่าไม่เห็นด้วย

เมื่อถามย้ำว่าแต่ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ยังไม่เห็นด้วยถ้าจะไปประชุมที่อินโดนีเซีย นายสุเทพกล่าวว่านั่นเป็นท่าทีที่เราต้องบอกต่อกัมพูชาว่าการประชุมจีบีซี มันมีการประชุมต่อเนื่องกันมาอยู่แล้ว และคราวนี้จะให้กัมพูชา หรือไทย เป็นเจ้าภาพก็ได้ โดยครั้งนี้กัมพูชาเป็นเจ้าภาพ เราก็บอกว่ายินดีที่จะไป โดยขณะนี้ยังเห็นควรที่จะจัดการประชุมในไทยหรือกัมพูชา

** รัฐบาลไม่มีความชัดเจนเรื่องเจบีซี

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณี ที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่สามารถลงมติรับทราบ หรือรับรองบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ( เจบีซี ) ทั้ง 3 ฉบับได้ เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบว่า สมาชิกรัฐสภาหลายคนมีความไม่สบายใจพฤติกรรมของรัฐบาลที่ไม่ชัดเจน และเกิดความขัดแย้งกันเองภายในพรรคประชาธิปัตย์ สุดท้ายทำให้องค์ประชุมไม่ครบในที่สุด

ในกรณีนี้หากรัฐบาลเห็นความสำคัญใน 5 ข้อสังเกตของคณกรรมาธิการจริง ไม่ควรใช้วิถีทางดึงดันให้ที่ประชุมรับทราบ เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราไหนรองรับ แต่รัฐบาลควรนำเสนอข้อสังเกตดังกล่าว เป็นข้อแก้ไขในร่างกรอบการเจรจาใหม่ เพื่อทำให้ฝ่ายไทยสามารถเจรจาได้อย่างมีข้อจำกัด และทำให้ 5 ข้อสังเกตของกรรมาธิการฯ สามารถใช้ประโยชน์ได้

ส่วนกรณีการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น โฆษกพันธมิตรฯมองว่า สามารถออกมาได้เป็น 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 ที่มองตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ และร่างข้อตกลงชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 (2) ในกรณีที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ เพื่อหวังให้ร่างข้อตกลงชั่วคราวผ่านรัฐสภา และรัฐบาลสามารถเดินหน้า ลงนามมีผลบังคับใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องกลับมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกครั้ง

ส่วนอีกแนวทางคือ วินิจฉัยตามความเห็นของกรรมาธิการรัฐสภา ที่ชี้ร่างข้อตกลงชั่วคราวยังไม่ได้ข้อยุติตามข้อมูลที่กระทรวงการต่างประเทศชี้แจง ดังนั้นจึงไม่เข้าข่ายรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ( 2 ) ส่งผลให้ต้องกลับไปเจรจาจนได้ข้อยุติเสียก่อนที่รัฐสภาจะให้ความเห็นชอบได้ ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องถอนร่างออกไป

ส่วนกรณีที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขาฯรมว.ต่างประเทศ ออกมาระบุว่า จะมีการเดินหน้าการประชุมระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่ประเทศอินโดนีเซีย ในช่วง 7-8 เม.ย.ต่อไป แม้รัฐสภาจะไม่พิจารณาเห็นชอบบันทึก เจบีซี 3 ฉบับก็ตาม นายปานเทพ กล่าวว่าแสดงให้เห็นถึงความกลับไปกลับมาของรัฐบาล เพราะก่อนหน้าการพิจาณาของรัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ออกมาระบุเองว่า หากรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบจะทำให้ไม่สามารถเปิดการประชุมทวิภาคีต่อกันได้ แต่ภายหลังนายชวนนท์ กลับออกมาบอกว่า สามารถประชุมได้ เพียงเท่านี้ก็เห็นได้ว่า รัฐบาลพยายามข่มขู่รัฐสภา และประชาชนว่า หากไม่ให้ความเห็นชอบ ประเทศชาติจะเดือดร้อน ทั้งที่ไม่เป็นความจริง อยู่ที่ท่าทีของการวางเกมการเมืองระหว่างประเทศมากกว่า การที่มีประเทศอินโดนีเซียเข้ามา ถือเป็นความผิดพลาดในทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

** ยันพันธมิตรฯไม่แตกแยก

ต่อกระแสข่าวที่จะมีการออกมาตรการเคลื่อนไหวในช่วงต้นเดือน เม.ย.นี้ เพื่อเว้นวรรคการชุมนุมในขณะนี้ นายปานเทพ กล่าวว่า เป็นเพียงกระแสข่าวลือ โดยอ้างว่าเราอาจจะหยุดการชุมนุมเพราะคนเข้าร่วมน้อย ทั้งที่ไม่มีมูลความจริง เพราะที่ประชุมมีเพียงการออกมาตรการว่า ทำอย่างไรถึงจะได้รับชัยชนะจากการชุมนุม ซึ่งผลลัพธ์ที่ผ่านมาก็เห็นชัดเจนว่า การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนได้ผล มีส่วนทำให้การประชุมของรัฐสภาล่มแล้ว ล่มอีก ทำให้ภาคประชาชนไม่รู้สึกท้อถอย มีแต่ความมั่นใจมากยิ่งขึ้น แต่ก็มีกระบวนการปล่อยข่าวว่า กลุ่มพันธมิตรฯ แตกแยกขัดแย้งกัน

**เดินหน้ารณรงค์"โหวตโน"

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวความขัดแย้งภายใน 5 แกนนำพันธมิตรฯ ในกรณีของพรรคการเมืองใหม่ นายปานเทพ ชี้แจงว่า ไม่มีการแตกคอกัน มีเพียงการพูดคุยกันอย่างเข้าใจ โดยแกนนำมีมติว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกของประเทศ แต่หากมีการเลือกตั้ง ก็มีการรณรงค์ให้ประชาชนลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือ โหวตโน เพื่อเป็นการดัดสันดานนักการเมือง และส่งสัญญาณว่าประชาชนเห็นว่า นักการเมืองไม่ว่าขั้วไหนก็โกงบ้านโกงเมืองเหมือนกัน ไม่สามารถปกป้องอธิปไตยของชาติได้ ดังนั้นการโหวตโน คือการแสดงอำนาจทางการเมือง เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมือง เมื่อมติออกมาเช่นนี้แล้ว กระบวนการของพรรคการเมืองใหม่ ก็ต้องไปพิจารณาตามขั้นตอน ซึ่งเราไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ เนื่องจากพรรคการเมืองใหม่ ต้องดำเนินกิจการตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง

เมื่อถามต่อว่าจะมีการเปิดแคมเปญรณรงค์โหวตโน อย่างเป็นทางการเมื่อใด นายปานเทพ กล่าวว่า ระหว่างนี้ก็จะทำไปเรื่อยๆ แต่จะชัดเจนก็ต่อเมื่อรัฐบาลประกาศยุบสภา แต่จุดยืนในวันนี้เห็นว่า การเลือกตั้งที่ได้นักการเมืองหน้าเดิมๆ เข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศไม่ใช่ทางออก ดังนั้นจึงประกาศว่า หากมีเลือกตั้งก็จะรณรงค์ให้มีการโหวตโน ซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชน

เมื่อถามถึงแนวทางของพันธมิตรฯ ในการสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีมาจากกระบวนกากรอื่น นอกจากการเลือกตั้ง นายปานเทพ กล่าวปฏิเสธ พร้อมบอกว่า การโหวตโน เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมือง มิใช่เพื่อประชดนักการเมือง เป็นหนทางหนึ่งเพียงแค่อารมณ์ชั่ววูบ หรือความรู้สึกในขณะนี้ เพราะเห็นว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทางออก ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาที่ไม่ว่ากี่ยุค ก็ได้นักการเมืองหน้าเดิม ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาเป็นรัฐมนตรี หรือรัฐบาล แต่ปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน จะคงอยู่เหมือนเดิม แม้จะเห็นว่าการเลือกตั้งมีความสำคัญ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องจำกัดกับนักการเมืองประเภทที่เป็นผู้มีอิทธิพล ควรขยายออกมาสู่กลุ่มวิชาชีพ หรือกลุ่มสังคมเพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง ซึ่งหากมีการวางระบบที่ดี ก็จะมีตัวแทนจากวิชาชีพต่างๆ เข้ามาปกป้องสิทธิของพวกเขา อาจมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร. ) ของภาคประชาชนขึ้นมา เพื่อรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยประชาชน รวมทั้งการยื่นแก้กฎหมายต่อไปในอนาคต หากเห็นว่าประชาชนเหล่านี้มีการรวมตัวกันมากพอ

“หากคิดว่าการเลือกตั้งเฉพาะกลุ่มคนเดิมๆ เป็นปัญหา ก็จำเป็นต้องคิดรูปแบบอื่นที่เป็นประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้งเช่นกัน แต่ทำให้มีความหลากหลายของกลุ่มคนมากขึ้น เพื่อถ่วงดุลและรักษาสิทธิ์ของตัวเองมากขึ้น” นายปานเทพ กล่าว
โฆษกพันธมิตรฯ ชี้แจงถึงแนวคิดของนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ต่อการเว้นวรรคประเทศ 3-5 ปี ว่า เมื่อเห็นว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทางออก และมีโอกาสเกิดสุญญากาศทางการเมืองต่างๆ เมื่อถึงเวลานั้นก็ควรมีหนทางอื่นออกมา ซึ่งก็มีวัตถุประสงค์เพื่อการปฏิรูปประเทศ การเว้นวรรคในที่นี้ อาจทำได้หลายวิธี โดยอาจเว้นวรรคไม่ให้มีการเลือกตั้งสักช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อเปิดโอกาสให้คณะบุคคลอื่นเข้ามาปฏิรูปการเมือง ให้มีความหลากหลาย และมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่หากเราไม่มีกลไกให้เกิดสุญญากาศ และนำไปสู่การเลือกตั้ง ก็จะเป็นการรณรงค์โหวตโนให้มากที่สุด

“การรณรงค์โหวตโน หรือการเว้นวรรคที่นายสนธิเสนอออกมา ก็มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่เช่นกัน" นายปานเทพกล่าว

** "ปานเทพ"ยันมีแผนลอบสังหาร

ในส่วนกรณีที่นายเทพมนตรี ลิมปพยอม กรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย เปิดเผยข้อมูลผ่านเฟซบุ๊คว่า ขณะมีขบวนการลอบสังหารนายเทพมนตรี และตัวของนายปานเทพนั้น โฆษกพันธมิตรฯ เปิดเผยว่า ได้รับทราบข่าวจากพันธมิตรฯ ที่ทำงานในส่วนความมั่นคง ที่แจ้งว่า มีการวางแผนเพื่อลอบสังหารตน และนายเทพมนตรี เป็นการเฉพาะ ซึ่งเราทั้งคู่ก็ไม่ได้มีความขัดแย้งกับใครในเรื่องอื่นเป็นการส่วนตัว หากจะมีก็เป็นเรื่องที่เคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ ซึ่งคนที่จะทำก็ต้องเป็นคนที่อยู่ในอำนาจของรัฐบาลเท่านั้น

***โหวตโนสะกัดการเมืองเลวทั้ง2พรรค

นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า ระยะนี้มีกระแสข่าวอัปมงคล 2 เรื่องคือ เรื่องแรก ในวันที่ 6 เม.ย.นี้ พันธมิตรฯ จะยื่นถวายฎีกา ก่อนที่จะสลายการชุมนุม และรื่องที่ 2 คือ เกิดความแตกแยกระหว่างแกนนำพันธมิตร ซึ่งไม่เป็นความจริง พันธมิตรฯ เกิดขึ้นจากคนรักชาติรักแผ่นดิน รวมตัวกันเพื่อต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง เช่นกรณีเขาพระวิหาร ฯลฯ

ส่วนเรื่องมติโหวตโน ในการเลืกตั้งส.ส.นั้น สืบเนื่องจากการเมืองขณะนี้เป็นเรื่องสกปรก อัปปรีย์ไป จัญไรมา จากนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ “ถ้าไม่เลือกเรา เขาก็มา” ก็ไม่ต้องเลือกทั้ง 2 พรรค เพราะว่าเลวเหมือนกัน จึงเป็นที่มาของการโหวตโน ซึ่งเป็นการปฏิรูปการเมืองครั้งยิ่งใหญ่

การปฏิรูปครั้งนี้ ไม่เว้นแม้แต่พรรคการเมืองใหม่ เพื่อให้การเมืองดีขึ้น และเป็นเครื่องมือของพันธมิตรฯ ไม่ใช่เจ้านายของกลุ่มพันธมิตรฯ ถ้าเห็นว่าการเมืองแบบนี้เป็นการเมืองน้ำเน่าแ กมม.ก็ไม่ควรส่ง ซึ่งต้องฟังพันธมิตรฯ แต่หากไม่รับฟังก็ต้องแยกกันเดิน

“แกนนำพันธมิตรฯ ไม่มีความแตกแยก แต่สัมพันธ์กันด้วยจิตวิญญาณ แต่คนที่ปล่อยข่าวเพื่อต้องการเห็นความแตกแยกของพันธมิตรฯ” นายสนธิ กล่าว

นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวว่า พรรคกมม. จะมีมติออกมาอย่างไร ก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของประชาธิปไตย จึงต้องยอมรับ ขณะที่กมม. เกิดจากการรวมตัวของพันธมิตรฯ ดังนั้น พันธมิตรฯ ไม่มีทางทำลายพรรคกมม. เด็ดขาด ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องมีการแยกกันเดิน แต่มีจุดหมายสุดท้ายเดือนกันคือต้องการการเมืองที่สะอาดบริสุทธิ์
กำลังโหลดความคิดเห็น