xs
xsm
sm
md
lg

เปิดซักฟอกจัดหนัก“เทือก” ยุบสภาร้อน“สมเกียรติ”ท้า“มาร์ค”ลาออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วันนี้แล้ว (15 มี.ค.) ได้ฤกษ์เปิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี รวม 9 คน ในระหว่างวันที่ 15-18 มี.ค. และกำหนดลงมติในวันที่ 19 มี.ค.
โดยนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าจะเริ่มได้ในเวลา 10.00 น. และใช้เวลาไปจนถึง 02.00-03.00 น. ส่วนมาตรการการตรวจสอบหลักฐานหรือคลิปวีดีโอ ก็มีตรวจสอบเป็นขั้นตอนใโดยที่ฝ่ายค้านและรัฐบาลไม่ต้องตั้งกรรมการก็ได้
นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐ) แถลงว่า จะมีการประชุม 3 วัน คือ 15- 17 มี.ค.เพื่อพิจารณาญัตติกรณีพิเศษเพื่อขออภิปรายทั่วไปไม่ใจวางใจนายกรัฐมนตรี และญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ พรรคเพื่อไทย กับคณะ 119 คน เสนอ
โดยฝ่ายค้าน จะอภิปราย40 ชั่วโมง ส่วนนายกรัฐมนตรีและรมต.มีเวลาชี้แจง 20 ชั่วโมง เผื่อเวลาหารือและประท้วงอีก 6 ชั่วโมง ส่วนกรอบเวลาต้องจบในวันที่ 4 ไม่เกิน 5 ทุ่ม โดยในวันที่ 15 มี.ค.ทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้เวลาอภิปรายรวมกันไม่น้อยกว่า 17 ชั่วโมง วันที่ 16 มี.ค. .ใช้เวลา 17 ชั่วโมง วันที่ 17 มี.ค. ใช้เวลาไม่เกิน 18 ชั่วโมง โดยเริ่มลงชื่อเข้าประชุม 09.00 น.
ในส่วนของรัฐมนตรีที่จะถูกอภิปรายนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กำชับในที่ประชุม ครม. ให้รัฐมนตรีเตรียมพร้อม ส่วนรัฐมนตรีที่ไม่ได้ถูกยื่นอภิปรายฯ หากถูกพาดพิงในบางเรื่องก็ให้เตรียมส่งข้อมูลเพื่อตอบ จากนั้นได้กำชับในคราวประชุมพรรคว่า “เรื่องภาษีบุหรี่ มีความเข้าใจสับสน ตนสามารถชี้แจงได้”
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เชื่อว่าอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้นเขาสามารถอธิบายได้โดยเฉพาะเรื่องยางพารา “อ๋อนั่นหมู ที่เขาจะอภิปราย ผมเห็นแล้ว เรื่องการคืนเงินค่าธรรมเนียมพิเศษการส่งออกยาง ไอ้นั่นสบาย ผมต้องขอบคุณฝ่ายค้านอย่างยิ่งเลยสำหรับเรื่องนี้ เช่นเดียวกับเรื่องปาล์มน้ำมัน” นายสุเทพ กล่าว
ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการตรวจสอบการอภิปราย หรือ Censure Accountabity center (CEC) โดยมอบให้นายชำนิ ศักดิ์เศรษฐ์ ส.ส.สัดส่วน เป็นประธาน รวมทั้งมีทีมงานตอบโต้ผ่านโซเชียลมีเดีย และพรรคจะไม่มีการตั้งทีมองครักษ์พิทักษ์รัฐมนตรีคนใด
นายฉัตรชัย ชูแก้ว ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์ และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ (ฝ่ายการเมือง) กล่าวว่า ยังรู้สึกมึน งง กับการอภิปรายของฝ่ายค้านในครั้งนี้ เป็นเพียงแค่ข้อกล่าวหาลอยๆ ที่จะอภิปรายเรื่องน้ำมันปาล์ม ไข่ไก่และน้ำตาลทราย กระทรวงพาณิชย์ก็ไม่ใช่ผู้รับผิดชอบโดยตรง คงเป็นเพราะเข้าใจผิดหรือไม่เข้าใจระบบการบริหารงานของรัฐบาล สำหรับเรื่องการระบายข้าว กระทรวงฯก็ทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลตามมติ ครม. ซึ่งประสบความสำเร็จ โดยการระบายข้าวไม่ได้ส่งผลทำให้ราคาข้าวตกต่ำ และที่สำคัญสามารถขายได้ในราคาที่สูงกว่าที่รัฐบาลก่อนหน้าได้ขายด้วยซ้ำ
ส่วนซีกของพรรคเพื่อไทย นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วน และประธานคณะทำงานด้านเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย มีการสรุปถึงผู้ที่จะร่วมอภิปราย 36 คน ในหมวดล้มเหลว หมวดการทุจริต ที่มีข่าวว่าจะมีการหยิบยกมาอภิปรายก่อนในวันแรก ก่อนที่จะตบท้ายด้วยหมวดสลายการชุมนุม ใช้ทีม ส.ส.7 คน
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ซึ่งเสนอตัวว่าจะเป็นผู้อภิปรายในวันสุดท้าย (18 มี.ค.)ในเวลา 15.00น. ออกมาอ้างว่า จะชำแหละการหาประโยชน์ในปตท. และการโกงภาษีบุหรี่ “เรื่องบุหรี่มีข้อมูลที่เก็บไว้ ยังไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อน พรรคพวกคนหนึ่งที่เรียนปริญญาโทด้วยกัน ให้ข้อมูลมา เรื่องของฟิลลิปมอร์ริสมันมีหลายเรื่อง มันทำให้ระบบภาษี ระบบผลิตโรงงานยาสูบพังหมด เรื่องภาษีถ้านับจริงๆ ในขั้นตอนที่เก็บไม่ได้ ของกรมสรรพสามิต ศุลกากร และภาษีบาปแล้ว ตัวเลขจะเป็น 1.1 แสนล้าน ไม่ใช่แค่ 6.8 หมื่นล้าน”
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า วันแรกจะเห็นภาพ “ครม.สวาปาล์ม” วันที่สองจะเน้นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินที่ล้มเหลวของรัฐบาล และวันสุดท้ายเรื่องการสลายการชุมนุม
วันเดียวกันนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย ได้นำคณะสื่อมวลชนเดินทางไปยื่นหนังสือถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรณรงค์เรื่องสุขภาพและต่อต้านบุหรี่ เช่น กระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เพื่อเรียกร้องให้ออกมาต่อต้านและคัดค้าน รัฐบาล ที่เอื้อประโยชน์และไม่ดำเนินคดีกับบริษัทเอกชนข้ามชาติ
อีกด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เอกสารทุกชิ้นที่จะใช้ในการอภิปรายเป็นเอกสารทางราชการและมีอยู่จริง ยืนยันว่า ข้อมูลที่มีอยู่มีหน้าตาคนเผาเซ็นทรัลเวริด์ ครบถ้วนมีการจับได้และก็ปล่อยตัวไป “ผมจะเอาพระแก้วมรกตไปวางตรงหน้าใครพูดเท็จขอให้มีอันเป็นไป ใครโกหก ชาติหน้าก็ขอให้ แขนคดสองข้าง”
มีรายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้วีดิโอลิงค์เข้ามาให้กำลังใจส.ส.ของพรรค และผู้ร่วมอภิปราย ประมาณ 30 นาที พร้อมกำชับใจความว่า การอภิปรายต้องเอาให้ตายด้วยหลักฐาน ประเด็นไหนไม่ถึงขอให้ตัดออกบ้าง เพราะใกล้เลือกตั้งแล้ว จะต้องอภิปรายแล้วสร้างบาดแผลให้กับรัฐบาล
แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ได้ตั้งทีมประท้วง19คน ส่วนทีมอภิปราย36คนนั้น เช่น นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์นายชวลิต วิชยสุทธิ์ นายสุนัย จุลพงศธร ร.ต.ท.ชวรินทร์ ลัทธศักดิ์ศิริ ว่าที่ร.ต.พงศ์พันธุ์ สุนทรชัย นายสงวน พงศ์มณี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ น.ส.วิสารดี เตชะธีระวัฒน์ น.ส.ฐิติมา ฉายแสง น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ์ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว นายวรวัจน์ เอื้อภิญญากุล ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นต้น
ส่วนความชัดเจนหลังนายกรัฐมนตรีระบุวันในการยุบสภาแล้วนั้น นายอภิสิทธิ์ ตอบคำถามที่ว่า มีหลายฝ่ายกลับบไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งว่า ถ้าการเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม จะไม่ยอมรับไม่ได้หรอกจะบอกว่าเป็นนักประชาธิปไตยได้อย่างไรส่วนกรณีนี้นายสมเกียรติ์ พงษ์ไพบูลย์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเวทีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แล้วบอกว่า สิบกว่าวันจากนี้จะไม่มีการเลือกตั้ง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ทราบไปเอามาจากไหน
“ความจริงผมก็ไม่มีโอกาสได้คุยด้วย แต่ถ้าคุณสมเกียรติ์เห็นว่า แนวทางของพรรคประชาธิปัตย์ไม่ถูกต้อง ก็ควรแสดงจุดยืนทางการเมืองให้ชัดเจนไปเลย เพราะว่า ไม่ไปเดือดร้อนประชาชนอยู่แล้ว ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่ต้องเลือกตั้งซ่อม” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ด้านนายสมเกียรติ กล่าวตอบโต้ทันทีว่า ตนมีเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 123 ในการแสดงออกหรือลงคะแนนโหวต เป็นอำนาจของตนเอง ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมือง ส่วนกรณีที่นายอภิสิทธิ์เสนอให้ตนลาออกนั้น ขอประกาศว่า ตนจะลาออกแสดงจุดยืนทางการเมือง ก็ต่อเมื่อนายอภิสิทธิ์ลาออกจากตำแหน่งนายกฯด้วย
“ผมยินดีที่จะลาออก หากนายกฯลาออกไปพร้อมกัน เพื่อเป็นการยุติบทบาทในการเมืองน้ำเน่า ที่ทำให้ชาติบ้านเมืองเสียหายอยู่เช่นนี้ ไม่ทราบว่านายกฯพร้อมที่จะลาออกพร้อมกับผมหรือไม่” นายสมเกียรติ กล่าว
นายชัย ชิดชอบ ประะานสภาฯ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีปัญหาอะไรอยู่แล้ว ส่วนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฯ ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภาฯ ซึ่งการตีรวนเมื่อมีการพิจารณากฎหมายลูกนั้น เชื่อว่ามีแน่นอน ทั้งนี้หากแก้กฎหมายลูกไม่เสร็จ อาจจะเลื่อนการยุบสภาออกไปหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งอยู่ที่กระบวนการ เพราะมีบทเฉพาะกาลในมาตรา 98 เขียนไว้ชัดว่าให้อำนาจกับ กกต.ให้ออกระเบียบเลย จะให้รอหนึ่งปี คงรอไม่ได้ ต้องเห็นใจนายกฯที่ต้องการให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า
ส่วนที่พรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่เห็นด้วยกับการยุบสภาอาจจะตีรวนเกิดขึ้น นายชัยกล่าวว่า อำนาจการยุบสภาอยู่ที่ใคร พรรคร่วมหรือนายกฯ
นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐ) กล่าวว่า จะมีเวลาพิจารณากฎหมายทั้งหมด 4 วัน แต่จะมีการพิจารณาเป็นกรณีเร่งด่วนกรณีเดียวคือกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอแก้กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง และพรบ.เกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้งเข้ามาเมื่อไหร่ เราก็จะเปิดพิจารณากรณีนั้นเป็นกรณีเร่งด่วน เป็นกรณีพิเศษ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปณิธาน วัฒนายากร เลขาธิการนายกรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่านายกรัฐมนตรีมีความชัดเจนว่าคนส่วนใหญ่ต้องการพัฒนาทางการเมือง แต่มีเสียงส่วนน้อยที่ส่งเสียงดัง ๆทำให้เกิดความสับสน ที่ทำให้เกิดปัญหา เพราะต้องการยั่วยุให้เกิดความรุนแรง
“ยังมีมวลชนกลุ่มอื่นที่มีแนวทางที่ชัดแจนในการกลับไปทิศทางความรุนแรง ที่ทำความผิดกฎหมายเพื่อให้เกิดการใช้กำลัง ซึ่งหากเราใช้กฎหมายมากเกินไปก็จะเกิดการเผชิญหน้า แต่ที่หนักกว่านั้น คือเรื่องของกองกำลัง ที่รอบ 2 ปีที่ผ่านมาก็ใช้ได้ผลและมีประสบการณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ออกมาเคลื่อนไหว และเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ต้องไปสกัดกั้นแกนนำบางส่วนที่จะออกมาเคลื่อนไหวก่อนเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้ง”
วันเดียวกัน ครม.เห็นชอบตามคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 2ฉบับ ประกอบด้วย กฎหมายลูกว่าด้วยกกต. จำนวน 1 มาตรา กฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง 7 มาตรา
อีกด้านหนึ่ง ที่โรงแรมสยามซิตี้ มีการรับประทานอาหารและหารือร่วมกันของ แกนนำพรรคตัวจริง และส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา โดยมีตกลงเป็นสัจจะวาจา 3 ข้อดังนี้ 1.จะปกป้องสถาบันสูงสุดของชาติ สร้างความปรองดองให้คนในชาติ 2.นับแต่นี้ไปจะดำเนินงานการเมืองร่วมกัน และมีจุดยืนเดียวกัน และ 3. ภายหลังการเลือกตั้ง2พรรคจะตัดสินใจทางการเมืองร่วมกัน
โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรรคประชาธิปัตย์ ระบุไม่เชื่อจะมีนัยยะทางการเมืองเป็นพิเศษอะไร และไม่ใช่เป็นการต่อรองทางการเมืองในช่วงการอภิปราย ส่วนนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรั ก็ไม่กังวลเช่น
วันเดียวกันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ แสดงความไม่พอใจที่นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ที่ไม่อยู่ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้ เนื่องจากมีวาระพิจารณาเกี่ยวกับงานของกระทรวงพาณิชย์หลายเรื่อง แต่นางพรทิวา กลับร่วมรับประทานอาหารกลางวันของ 2 พรรคแทน
อีกเรื่องนายพายัพ ชินวัตร ประธานคณะกรรมการประสานงานภาคอีสาน พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ครอบครัวชินวัตรเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แกนนำพรรคเพื่อไทย น่าจะลงมาเล่นการเมืองเต็มตัวในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น เราไม่ได้ทำการเมืองเพื่อครอบครัว.
กำลังโหลดความคิดเห็น