วิปรัฐบาลเข้มซักฟอก กำชับฝ่ายค้านอภิปรายต่อเนื่องตามกรอบเวลา 40 ชั่วโมง ถ้างอแง ยึกยักปิดอภิปรายทันที ส่วนเอกสาร และคลิปอยู่ที่ประธานจะพิจารณา หากให้นำมาเปิดในที่ประชุมต้องรับผิดชอบ พร้อมรับลูก “มาร์ค” เร่งผ่านกฎหมายลูกให้ทันก่อน เม.ย. เพื่อให้ยุบสภาต้น พ.ค. ขู่พรรคร่วมไม่ให้ความร่วมมือ นายกฯมีอำนาจยุบสภาได้ทันที
นายวิทยา แก้วภราดัย ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐ) แถลงภายหลังการประชุมว่า วันนี้ได้มีการพิจารณาระเบียบวาระการประชุมสภา ซึ่งประธานสภา ได้ออกจดหมายนัดเพื่อประชุมนัดพิเศษ โดยกำหนดการประชุม 3 วัน คือ 15-17 มี.ค.เพื่อพิจารณาญัตติกรณีพิเศษ เพื่อขออภิปรายทั่วไปไม่ใจวางใจนายกรัฐมนตรี และญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ พรรคเพื่อไทย กับคณะ 119 คน เป็นผู้เสนอ
จดหมายเรียกประชุมกำหนดวันอภิปรายไว้ 3 วัน แต่ได้มีการหารือกับวิปฝ่ายค้าน ซึ่งวิปฝ่ายค้านได้แจ้งตนมาตั้งแต่ต้นประสงค์จะอภิปราย 4 วัน ตนจึงได้แจ้งให้ฝ่ายค้านกำหนกรอบเวลาว่าเวลาที่ฝ่ายค้านต้องการใช้เวลาจริงๆ ทั้งหมดกี่ชั่วโมง ฝ่ายค้านขอมา 40 ชั่วโมง เพื่อการอภิปราย ตนก็เห็นชอบตามนั้น และแจ้งให้ทราบว่าฝ่ายรัฐบาลจะใช้เวลากึ่งหนึ่งก็พอ ฉะนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายจะมีเวลาชี้แจง 20 ชั่วโมง เผื่อเวลาหารือและประท้วงอีก 6 ชั่วโมง สุดท้ายได้มีการทำบันทึกความตกลงระหว่างตนกับประธานวิปฝ่ายค้าน
โดยระบุในรายละเอียดแจ้งไปยังประธานรัฐสภาเมื่อวันที่ 9 มี.ค.ที่ผ่านมา คือ 1.ฝ่ายค้านจะใช้เวลาอภิปราย 40 ชั่วโมง รัฐบาลตอบ 20 ชั่วโมง เวลาหารือ 6 ชั่วโมง ฝ่ายละ 3 ชั่วโมง หากใครใช้เวลาเกิน 3 ชั่วโมงให้ไปใช้เวลาจาก 40 ชั่วโมง หรือ 20 ชั่วโมงของตัวเอง 2.กรอบเวลาการอภิปรายทั้ง 2 ฝ่ายยืนยันว่าการรอภิปรายต้องจบในวันที่ 4 ไม่เกิน 5 ทุ่ม โดยในวันที่ 15 มี.ค.ทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้เวลาอภิปรายรวมกันไม่น้อยกว่า 17 ชั่วโมง วันที่ 16 มี.ค.ใช้เวลา 17 ชั่วโมง วันที่ 17 มี.ค.ใช้เวลาไม่เกิน 18 ชั่วโมง โดยเริ่มลงชื่อเข้าประชุม 09.00 น. เพื่อให้เปิดประชุมได้ตามเวลา
นายวิทยากล่าวว่า ฝ่ายค้านจะต้องอภิปรายต่อเนื่องตามกรอบเวลาที่กำหนด จะไม่มีการหยุดอภิปราย หรือเลือกเวลาดีหรือไม่ดีเพื่อจะได้ถ่ายทอดชาวบ้านดูหรือไม่ดูไม่ได้ จะไม่มีการเกี่ยง เพราะต้องการใช้เวลา 40 ชั่วโมงแล้ว ส่วนรัฐมนตรีก็ต้องตอบไม่เกิน 20 ชั่วโมง ทั้งนี้หากชี้แจงจบก็ต้องจบ จะไม่มีการลากยาวถ้าฝ่ายค้านมีการเกี่ยงงอนว่าวันนี้ไม่ขออภิปรายขอต่อพรุ่งนี้ ยังไม่ครบเวลา 17 ชั่วโมง ถือว่าฝ่ายค้านไม่ติดใจอภิปรายก็จบการอภิปราย ทั้งหมดเป็นข้อตกลงร่วมกัน
นายวิทยากล่าวว่า หากคำนวณตามระยะเวลาที่นายกรัฐมนตรีมีการตัดสินใจยุบสภาไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค.จะมีการพิจารณากฎหมายตั้งแต่วันนี้ถึงเดือนเม.ย.จะมีเวลาพิจารณากฎหมายทั้งหมด 4 วัน กรอบของวิปรัฐบาลเห็นควรว่าพิจารณากฎหมายซึ่งคณะกรรมการพิจารณาแล้วเสร็จเบื้องต้นเพื่อส่งให้ ส.ว.พิจารณาต่อ นอกจากนี้ การพิจารณากฎหมายที่ ส.ว.แก้ไขให้จบ จะตั้งกรรมาธิการร่วมหรือส่งเรื่องยืนยันตาม ส.ว.แก้ไขก็จบ และจะมีการพิจารณากฎหมายที่คั่งค้างอยู่สำหรับระเบียบวาระที่เลื่อนขึ้นมาแล้ว 5 ฉบับให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลาที่มีอยู่ทั้งหมด
“นอกจากนี้จะมีการพิจารณาเป็นกรณีเร่งด่วนกรณีเดียวคือกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอแก้กฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง และ พ.ร.บ.เกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้งเข้ามาเมื่อไหร่ เราก็จะเปิดพิจารณากรณีนั้นเป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง ฉะนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ดี การกำหนดตารางการทำงานของวิปรัฐบาลก็อยู่ภายใต้กรอบเวลาว่าทุกอย่างต้องจบภายในเดือน เม.ย.นี้เป็นอย่างช้า เพราะนายกรัฐมนตรีแจ้งชัดเจนแล้วว่าจะยุบสภาไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค. เพื่อป้องกันความไม่ประมาท ท่านอาจจะยุบก่อนนั้นได้ หรือไม่เกินนั้น เราก็พยายามเคลียร์งานที่คั่งค้างให้จบ” นายวิทยากล่าว
ผู้สื่อข่าวการอภิปรายที่จะมีการเปิดคลิปวิดีโอเห็นว่าจะมีคณะกรรมการ จะมีหลักในการพิจารณาอย่างไรว่าตัดต่อหรือไม่ นายวิทยากล่าวว่า ส.ส.จะอภิปรายเรื่องใดก็ตาม ไม่สามารถนำเอกสารหรือพยานหลักฐานมาประกอบการอภิปราย เว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากประธานสภา แนวปฏิบัติที่ผ่านมาปีที่แล้วประธานกำหนดให้ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลตั้งตัวแทนฝ่ายละ 3 คน และตัวแทนจากสำนักเลขาธิการสภาร่วมพิจารณาเอกสาร หรือคลิป ก่อนการนำแสดง คราวนี้ก็เช่นเดียวกัน โดยทางเราได้เสนอชื่อไป 3 คนจากชุดเดิมปีที่แล้ว คือ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา หัวหน้าคณะ นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา นายอรรถวิชญ์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม. ทั้งนี้ ถ้าไม่มีการตรวจสอบประธานอาจไม่ให้นำเสนอก็ได้ถือเป็นอำนาจ เพราะหากเกิดความผิดพลาดประธานต้องรับผิดชอบด้วย ทั้งนี้ประธานสามารถตรวจสอบเอกสารหรือคลิปได้แต่เพียงผู้เดียวได้ก่อนอนุญาตให้นำเข้ามาอภิปราย
ส่วนต้องส่งตรวจล่วงหน้านานเท่าไหร่นั้น นายวิทยากล่าวว่า แล้วแค้ประธานสภาฯจะพิจารณา ส่วนตรวจสอบแล้วจะทราบว่าจริงหรือไม่อย่างไรก็เป็นอำนาจประธาน เมื่อถามว่าถ้าไม่มีผู้เชี่ยวชาญมีแต่ ส.ส.อาจจะไม่รู้ว่าจริงหรือไม่อย่างไร นายวิทยากล่าวว่า ก็เป็นอำนาจประธานที่จะตั้งใครมาเป็นกรรมการร่วมกับ ส.ส.ได้
สำหรับกฎหมายลูกตามเวลาที่ระบุว่าจะทุกอย่างจะแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.นั้นหมายความว่ามั่นใจว่าจะผ่าน นายวิทยากล่าวว่า สภามีหน้าที่ผ่านกฎหมายหากแก้มา ถ้าไม่ผิด กฎหมายก็ผ่าน เมื่อถามว่าพรรคร่วมรัฐบาลอย่างน้อย 2 พรรคไม่เห็นด้วยกับการยุบสภาในช่วงเวลาดังกล่าว เขาอาจไม่โหวตหรือสนับสนุน ก็อาจจะผ่านยาก นายวิทยากล่าวว่า ตนมั่นใจว่าไม่มีปัญหา เพราะถ้ากฎหมายไม่ผ่าน นายกรัฐมนตรีก็มีอำนาจยุบสภา และ กกต.มีหน้าที่ออกระเบียบ แต่ตนคิดว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะมีแนวทางเดียวกันทั้งหมด