ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฎิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ได้แถลงผลการศึกษาโครงสร้างของรัฐธรรมนูญและสภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางการเมือง และกระบวนการยุติธรรม โดยเสนอให้มีการแก้ไขรธน.มาตรา 291 เพื่อจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร) พิจารณาปรับโครงสร้างการเมือง และกระบวนการยุติธรรม
ประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก คือข้อเสนอที่ให้ หัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนสูงสุด จากระบบบัญชีราย ชื่อมีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
รัฐบาลไม่มีสิทธิยุบสภาผู้แทนราษฎรในขณะเดียวกัน สภาผู้แทนราษฎร ก็ไม่มีสิทธิอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือ รัฐมนตรี แต่สามารถอภิปรายทั่วไปได้ และให้คงระบบการตรวจสอบโดยคณะกรรมมาธิการ และ การตั้งกระทู้ถามในสภาไว้
ส่วนกระบวนการถอดถอนฝ่ายบริหาร ที่เกิดจากกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา หรือกรณีที่เป็นความผิดทางกฎหมายที่ไม่ใช่คดีอาญา ให้ ป.ป.ช. ไต่สวน ถ้ามีมูลให้ส่งเรื่องให้วุฒิสภา เพื่อพิจารณาถอดถอน
การลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง โดยให้มี ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ครึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาทั้งหมด และห้ามส.ส.เป็นรัฐมนตรี
นายสมบัติ ระบุว่า โครงสร้างทางการเมืองแบบเดิมนั้น เป็นรูปแบบ " ควบอำนาจ " จึงอยากเสนออะไรที่แตกต่างไปจากของเดิม เพื่อให้มีการถกเถียง และหาข้อสรุป เพื่อให้การเมืองไทยพ้นจากวงจรอุบาทว์เสียที
ส่วนเรื่องที่เสนอให้มีระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มมากขึ้น ก็เพื่อที่จะสนับสนุนพรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองควรจะเป็นพรรคการเมืองที่มีความเข้มแข็ง ถ้าประชาชนเลือกพรรคใดมาก แสดงว่าเป็นที่นิยมของประชาชน และมีผู้นำที่เชื่อถือได้ จึงสมควรที่จะให้สิทธิ์ พรรคนั้นได้จัดตั้งรัฐบาล และผู้นำพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี
เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น ในปัจจุบันก็ไม่มีประสิทธิภาพในทางปฏิบัติ เพราะทำโดยเสียงข้างน้อย และบางครั้งการอภิปราย ก็ไม่มีความโปร่งใส และมีการใช้เป็นเครื่องมือในการหาประโยชน์ ซึ่งสามารถใช้วิธีการถอดถอนทางการเมืองจะมีประสิทธิภาพมากกว่า
หลังการแถลงของนายสมบัติ ก็ปรากฏว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองในลักษณะ"ปรี๊ดแตก" ตามมาทันที ว่า ข้อเสนอดังกล่าวดูจะยังขัดกันอยู่ บางเรื่องก็ขัดธรรมชาติ ของนักการเมือง
อาทิ ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค แต่ขณะเดียวกันก็ต้องการให้พรรคเข้มแข็ง ด้วยการให้พรรคที่ได้ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่ออันดับ 1 เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ตกลงจะเอาไงกันแน่
ส่วนเรื่องนายกฯไม่มีสิทธิยุบสภานั้น หากเกิดความขัดแย้งของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ จะมีทางออกอย่างไร
ยิ่งห้าม ส.ส.ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ยิ่งเป็นเรื่องที่ส.ส.ยอมไม่ได้
ขณะที่ส.ส.ฝ่ายค้านมองว่า เรื่องที่ให้พรรคการเมืองที่มีส.ส.ระบบบัญชีรายชื่ออันดับ 1 ตั้งรัฐบาลนั้น ช่างบังเอิญไปตรงกับแนวคิดที่ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานยุทธศาสตร์ และนโยบายการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ เคยกล่าวไว้
เป็นการเอื้อให้พรรคประชาธิปัตย์ชัดๆ เพราะยุคหลังมานี้ พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยชนะเลือกตั้งในระบบเขตเลย !!