xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” รับมีรายงานลอบสังหาร ปัด 5 พธม.แตกคอ ยันโหวตโนหวังปฏิรูปการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (แฟ้มภาพ)
โฆษก พธม.ชี้ ส.ส.-ส.ว.ไม่สบายใจเจบีซีทำสภาล่ม จี้รัฐอย่าดึงดัน แนะนำ 5 ข้อเสนอ กมธ.เป็นข้อแก้ไขร่างเจรจาใหม่ คาดคำวินิจฉัยศาล รธน.อาจออกเป็น 2 ทาง ปัดยุติม็อบเดือนหน้า ยัน 5 แกนนำไม่แตกคอเรื่องโหวตโน แต่โยน ก.ม.ม.พิจารณาเอง ยันเสนอทางเลือกหวังปฏิรูปนักการเมือง ไม่เกี่ยวได้นายกฯ ด้วยวิธีการอื่น ชี้เลือกตั้งก็หน้าเดิม รับมีรายงานลอบสังหารจริง



วันนี้ (30 มี.ค.) ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมร่วมรัฐสภาไม่สามารถลงมติรับทราบหรือรับรองบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ทั้ง 3 ฉบับได้เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบว่า สมาชิกรัฐสภาหลายคนมีความไม่สบายใจพฤติกรรมของรัฐบาลที่ไม่ชัดเจน และเกิดความขัดแย้งกันเองภายในพรรคประชาธิปัตย์ สุดท้ายทำให้องค์ประชุมไม่ครบในที่สุด ในกรณีนี้หากรัฐบาลเห็นความสำคัญใน 5 ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการจริง ไม่ควรใช้วิถีทางดึงดันให้ที่ประชุมรับทราบ เพราะไม่มีรัฐธรรมนูญมาตราไหนรองรับ แต่รัฐบาลควรนำเสนอข้อสังเกตดังกล่าวเป็นข้อแก้ไขในร่างกรอบการเจรจาใหม่ เพื่อทำให้ฝ่ายไทยสามารถเจรจาได้อย่างมีข้อจำกัด และทำให้ 5 ข้อสังเกตของกรรมาธิการฯสามารถใช้ประโยชน์ได้

ในส่วนกรณีการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น โฆษกพันธมิตรฯ มองว่า สามารถออกมาได้เป็น 2 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 ที่มองตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบบันทึกเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ และร่างข้อตกลงชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 (2) ในกรณีที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ เพื่อหวังให้ร่างข้อตกลงชั่วคราวผ่านรัฐสภา และรัฐบาลสามารถเดินหน้าลงนามมีผลบังคับใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องกลับมาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกครั้ง ส่วนอีกแนวทางคือ วินิจฉัยตามความเห็นของกรรมาธิการรัฐสภา ที่ชี้ร่างข้อตกลงชั่วคราวยังไม่ได้ข้อยุติตามข้อมูลที่กระทรวงการต่างประเทศชี้แจง ดังนั้นจึงไม่เข้าข่ายรัฐธรรมนูญมาตรา 190 (2) ส่งผลให้ต้องกลับไปเจรจาจนได้ข้อยุติเสียก่อนที่รัฐสภาจะให้ความเห็นชอบได้ ดังนั้นรัฐบาลก็ต้องถอนร่างออกไป

ส่วนกรณีที่ นายชวนนท์ อินทรโกมาลสุตย์ เลขาฯรมว.ต่างประเทศ ออกมาระบุว่า จะมีการเดินหน้าการประชุมระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่ประเทศอินโดนีเซีย ในช่วง 7-8 เม.ย.ต่อไป แม้รัฐสภาจะไม่พิจารณษเห็นชอบบันทึกเจบีซี 3 ฉบับ ก็ตามนั้น นายปานเทพ กล่าวว่า แสดงให้เห็นถึงความกลับไปกลับมาของรัฐบาล เพราะก่อนหน้าการพิจาณาของรัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ออกมาระบุเองว่าหากรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบจะทำให้ไม่สามารถเปิดการประชุมทวิภาคีต่อกันได้ แต่ภายหลังนายชวนนท์ กลับออกมาบอกว่า สามารถประชุมได้ เพียงเท่านี้ก็เห็นได้ว่า รัฐบาลพยายามข่มขู่รัฐสภาและประชาชนว่า หากไม่ให้ความเห็นชอบ ประเทศชาติจะเดือดร้อน ทั้งที่ไม่เป็นความจริง อยู่ที่ท่าทีของการวางเกมการเมืองระหว่างประเทศมากกว่า การที่มีประเทศอินโดนีเซียเข้ามาถือเป็นความผิดพลาดในทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลต้องรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

ต่อกระแสข่าวที่จะมีการออกมาตรการเคลื่อนไหวในช่วงต้นเดือน เม.ย.นี้ เพื่อเว้นวรรคการชุมนุมในขณะนี้ นายปานเทพกล่าวว่า เป็นเพียงกระแสข่าวลือ โดยอ้างว่าเราอาจจะหยุดการชุมนุมเพราะคนเข้าร่วมน้อย ทั้งที่ไม่มีมูลความจริง เพราะที่ประชุมมีเพียงการออกมาตรการว่าทำอย่างไรถึงจะได้รับชัยชนะจากการชุมนุม ซึ่งผลลัพธ์ที่ผ่านมาก็เห็นชัดเจนว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนได้ผล มีส่วนทำให้การประชุมของรัฐสภาล่มแล้วล่มอีก ทำให้ภาคประชาชนไม่รู้สึกท้อถอย มีแต่ความมั่นใจมากยิ่งขึ้น แต่ก็มีกระบวนการปล่อยข่าวว่ากลุ่มพันธมิตรฯความแตกแยกขัดแย้งกัน

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวความขัดแย้งภายใน 5 แกนนำพันธมิตรฯ ในกรณีของพรรคการเมืองใหม่ นายปานเทพชี้แจงว่า ไม่มีการแตกคอกัน มีเพียงการพูดคุยกันอย่างเข้าใจ โดยแกนนำมีมติว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกของประเทศ แต่หากมีการเลือกตั้งก็มีการรณรงค์ให้ประชาชนลงคะแนนในช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือโหวตโน เพื่อเป็นการดัดสันดานนักการเมือง และส่งสัญญาณว่าประชาชนเห็นว่านักการเมืองไม่ว่าขั้วไหนก็โกงบ้านโกงเมืองเหมือนกัน ไม่สามารถปกป้องอธิปไตยของชาติได้ ดังนั้น การโหวตโนคือการแสดงอำนาจทางการเมือง เพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมือง เมื่อมติออกมาเช่นนี้แล้วกระบวนการของพรรคการเมืองใหม่ก็ต้องไปพิจารณาตามขั้นตอน ซึ่งเราไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายได้ เนื่องจากพรรคการเมืองใหม่ต้องดำเนินกิจการตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง

เมื่อถามต่อว่าจะมีการเปิดแคมเปญรณรงค์โหวตโนอย่างเป็นทางการเมื่อใด นายปานเทพกล่าวว่า ระหว่างนี้ก็จะทำไปเรื่อยๆ แต่จะชัดเจนก็ต่อเมื่อรัฐบาลประกาศยุบสภา แต่จุดยืนในวันนี้เห็นว่าการเลือกตั้งที่ได้นักการเมืองหน้าเดิมๆ เข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศไม่ใช่ทางออก ดังนั้นจึงประกาศว่าหากมีเลือกตั้งก็จะรณรงค์ให้มีการโหวตโน ซึ่งเป็นสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญของประชาชน

ถามต่ออีกถึงแนวทางของพันธมิตรฯ ในการสนับสนุนให้นายกรัฐมนตรีมาจากกระบวนการอื่นนอกจากการเลือกตั้ง นายปานเทพกล่าวปฏิเสธ พร้อมบอกว่าการโหวตโนเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมือง มิใช่เพื่อประชดนักการเมือง เป็นหนทางหนึ่งเพียงแค่อารมณ์ชั่ววูบหรือความรู้สึกในขณะนี้ เพราะเห็นว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทางออก ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาที่ไม่ว่ากี่ยุคก็ได้นักการเมืองหน้าเดิม ผลักเปลี่ยนกันเข้ามาเป็นรัฐมนตรี หรือรัฐบาล แต่ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นจะคงอยู่เหมือนเดิม แม้จะเห็นว่าการเลือกตั้งมีความสำคัญ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องจำกัดกับนักการเมืองประเภทที่เป็นผู้มีอิทธิพล ควรขยายออกมาสู่กลุ่มวิชาชีพหรือกลุ่มสังคมเพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง ซึ่งหากมีการวางระบบที่ดีก็จะมีตัวแทนจากวิชาชีพต่างๆเข้ามาปกป้องสิทธิของพวกเขา อาจมีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ของภาคประชาชนขึ้นมาเพื่อรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยประชาชน รวมทั้งการยื่นแก้กฎหมายต่อไปในอนาคต หากเห็นว่าประชาชนเหล่านี้มีการรวมตัวกันมากพอ

“หากคิดว่าการเลือกตั้งเฉพาะกลุ่มคนเดิมๆ เป็นปัญหา ก็จำเป็นต้องคิดรูปแบบอื่นที่เป็นประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้งเช่นกัน แต่ทำให้มีความหลากหลายของกลุ่มคนมากขึ้น เพื่อถ่วงดุลและรักษาสิทธิ์ของตัวเองมากขึ้น” นายปานเทพกล่าว

โฆษกพันธมิตรฯ ชี้แจงต่อถึงแนวคิดของนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ต่อการเว้นวรรคประเทศ 3-5 ปี ว่า เมื่อเห็นว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทางออก และมีโอกาสเกิดสุญญากาศทางการเมืองต่างๆ เมื่อถึงเวลานั้นก็ควรมีหนทางอื่นออกมา ซึ่งก็มีวัตถุประสงค์เพื่อการปฏิรูปประเทศ การเว้นวรรคในที่นี่อาจทำได้หลายวิธี โดยอาจเว้นวรรคไม่ให้มีการเลือกตั้งสักช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อเปิดโอกาสให้คณะบุคคลอื่นเข้ามาปฏิรูปการเมือง ให้มีความหลากหลาย และมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่หากเราไม่มีกลไกให้เกิดสุญญากาศ และนำไปสู่การเลือกตั้ง ก็จะเป็นการรณรงค์โหวตโนให้มากที่สุด

“การรณรงค์โหวตโน หรือการเว้นวรรค ที่นายสนธิเสนอออกมา ก็มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่เช่นกัน” นายปานเทพกล่าว

ในส่วนกรณี ที่นายเทพมนตรี ลิมปพยอม กรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย เปิดเผยข้อมูลผ่านเฟซบุ๊คว่าขณะมีขบวนการลอบสังหารนายเทพมนตรี และตัวของนายปานเทพนั้น โฆษกพันธมิตรฯเปิดเผยว่า ได้รับทราบข่าวจากพันธมิตรฯ ที่ทำงานในส่วนความมั่นคง ที่แจ้งว่ามีการวางแผนเพื่อลอบสังหารตน และนายเทพมนตรี เป็นการเฉพาะ ซึ่งเราทั้งคู่ก็ไม่ได้มีความขัดแย้งกับใครในเรื่องอื่นเป็นการส่วนตัว หากจะมีก็เป็นเรื่องที่เคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ ซึ่งคนที่จะทำก็ต้องเป็นคนที่อยู่ในอำนาจของรัฐบาลเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น