xs
xsm
sm
md
lg

Vote No ได้อะไร !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เอแบคโพลได้เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง การตัดสินใจของคนไทยเมื่อถึงเวลาที่จะต้องเลือก ศึกษาจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 17 จังหวัด จำนวน 2,113 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10-12 มีนาคม 2554 พบว่า เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ตั้งใจจะเลือกหากวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง ร้อยละ 58.6 ระบุว่า ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองใด ขณะที่ร้อยละ 17.5 จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 16.2 จะเลือกพรรคเพื่อไทย และ ร้อยละ 7.7 จะเลือกพรรคการเมืองอื่นๆ

เทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือนกันยายน 2553 ด้วยคำถามเดียวกัน ประชาชนร้อยละ 50.7 จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ ประชาชนร้อยละ 33 จะเลือกพรรคเพื่อไทย ประชาชนร้อยละ 16.3 จะเลือกพรรคการเมืองอื่นๆ

ไม่น่าเชื่อว่าช่วงเวลาประมาณ 6 เดือน พรรคประชาธิปัตย์จะมีคะแนนความนิยมจากร้อยละ 50.7 ลดลงมาเหลือร้อยละ 17.7 ในขณะที่พรรคเพื่อไทยคะแนนนิยมลดลงเช่นกันจากร้อยละ 33 ลดลงเหลือร้อยละ 16.2 ในขณะที่คะแนนที่จะเลือกพรรคการเมืองอื่นๆก็ลดลงเช่นกันจากร้อยละ 16.3 เหลือ ร้อยละ 7.7

แต่ที่น่าสนใจก็ตรงที่มีประชาชนร้อยละ 58.6 ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองใด !!!?

สรุปได้ว่าประชาชนมีความรู้สึก “ลังเล” มากขึ้นกับพรรคการเมืองที่เคยเชื่อมั่นไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองในพรรคหลักอย่าง พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย หรือพรรคอื่นๆ ก็ล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมั่นลดลง และตัวเลขที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองใดพุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เป็นไปได้ว่าเหตุที่ประชาชนมีความ “ลังเล” ที่ยังไม่ตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองใดพุ่งทะยานขึ้น ก็น่าจะเป็นเพราะความเสื่อมต่อนักการเมืองและพรรคการเมืองในระบบทั้งหมดในเวลานี้

นักการเมืองที่ผ่านมาหลายปีล้วนแล้วแต่เข้ามาโกงบ้านกินเมือง ไร้จริยธรรม ลุแก่อำนาจ จนไม่สามารถจะเป็นความหวังให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นผลสำรวจว่าประชาชนในช่วงนี้ส่วนใหญ่ยังไม่ตัดสินใจที่จะเลือกพรรคการเมืองใด

ผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยกรุงเทพหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ไว้วางใจต่อนักการเมือง”ทุกคน”ที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ได้แก่ ไม่ไว้วางใจ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นากยรัฐมนตรี ร้อยละ 57.2, ไม่ไว้วางใจนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ร้อยละ 53.2, ไม่ไว้วางใจนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร้อยละ 55.1, ไม่ไว้วางใจนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ ร้อยละ 56.1, ไม่ไว้วางใจนายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยละ 62.5, ไม่ไว้วางใจ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร้อยละ 65.6, ไม่ไว้วางใจนายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร้อยละ 68.6, ไม่ไว้วางใจนายชวรัตน์ ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 69.6, ไม่ไว้วางใจ นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 70.3, ไม่ไว้วางใจนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ร้อยละ 70.9 แต่เสียงในสภากับไว้วางใจตามครรลองน้ำเน่าในระบบรัฐสภา ที่ยึดถือกฎเกณฑ์ที่เอาพวกมากลากไป คนที่ประชาชนมีความเคลือบแคลงสงสัยมากเกือบที่สุดกลับมีคะแนนไว้วางใจในสภามากที่สุด

แน่นอนว่าสำหรับผู้ชุมนุมที่เป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทยในการชุมนุมรวมพลังปกป้องแผ่นดิน นั้นประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกในการแก้ไขวิกฤตของบ้านเมือง เพราะการเลือกตั้งเป็นการตอบโจทย์สำหรับนักเลือกตั้งในระบบที่อยู่ในวังวนเดิมๆ คนหน้าเดิมๆ เพียงแต่สลับกันเป็นรัฐบาลและผูกขาดการเข้าสู่อำนาจอยู่กับคนเพียงไม่กี่ร้อยคนเท่านั้น

แต่ถ้ากลุ่มประชาชนมีความรู้สึกเบื่อและเชื่อว่าการเลือกตั้งไม่ใช่คำตอบเสียแล้ว ก็จะทำให้มีประชาชนเริ่มคิดและคาดหวังมากขึ้นว่าต้องการหาทางออกทางอื่นเพื่อนำไปสู่คำตอบที่ดีกว่าการเลือกตั้ง อย่างน้อยก็ดีกว่าอยู่เฉยๆเพื่อรอการเลือกตั้งครั้งใหม่ ที่จะมีแต่การทุจริตซื้อเสียงเลือกตั้งอย่างมโหฬาร และทำให้ได้นักการเมืองโกงชาติบ้านเมืองกลับเข้ามาอีกเหมือนเดิม

อย่างน้อยหลายปีมานี้ประเทศไทยได้ผ่านการรัฐประหาร นักการเมืองในระบอบทักษิณ และนักการเมืองย้ายข้างเปลี่ยนขั้วประชาธิปัตย์ ต่างไม่ใช่คำตอบในการปฏิรูปประเทศไทยได้แม้แต่น้อย

มีหลายคนคิดพยายามทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองเพื่อให้นักการเมืองในระบบเว้นวรรคช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อให้มีคณะบุคคลเข้ามารื้อปรับฐานรากของประเทศไทยเสียใหม่ นั่นหมายถึงว่าไม่มีการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ถ้ามีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นจริง เชื่อว่าถึงเวลานั้นจะมีคนออกมาเลือกเป็น 3 แนวทางคือ

แนวทางที่หนึ่ง เลือกพรรคการเมืองขั้วหนึ่งเพราะกลัวนักการเมืองอีกขั้วหนึ่งจะขึ้นสู่อำนาจ

แนวทางที่สอง คือเลือกพรรคการเมืองอื่นๆ รวมถึงพรรคการเมืองที่เพิ่งตั้งใหม่เพื่อทดลองดู เช่น พรรคการเมืองใหม่ พรรคประชาสันติ ฯลฯ

แนวทางที่สาม คือเลือกแต่กากบาทลงในช่องไม่ลงคะแนนให้พรรคการเมืองใด หรือที่เรียกว่า Vote No ซึ่งต่างจาก No Vote ซึ่งหมายถึงประชาชนไม่ไปใช้สิทธิ์ในการเลือกตั้ง

ที่น่าสนใจ ก็คือแนวทางที่สามนั้นถึงวันและเวลาการเลือกตั้งจริงๆตัวเลขจะยังคงอยู่ที่ตัวเลขร้อยละ 58.6 เหมือนผลสำรวจหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับเวลา ปัจจัย และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

จริงอยู่ว่า Vote No ไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใด นอกจากจะไปตัดคะแนนพรรคการเมืองบางพรรคเท่านั้น

แต่ถ้า Vote No มีจำนวนมาก จะมีความหมายว่าประชาชนพร้อมใจกันสั่งสอนนักการเมืองว่ามีประชาชนจำนวนมากรังเกียจนักการเมืองในระบบนี้ ที่กี่ครั้งกี่หนก็ไม่เคยเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้อย่างแท้จริง มีแต่จะมาโกงกินบ้านเมืองให้กับตัวเองและพวกพ้อง

ถ้า Vote No มีมากพอ และมีมากเกินคาด นั่นหมายถึงว่าประชาชนต้องการเปลี่ยนแปลง และต้องการปฏิรูปประเทศจำนวนมากอย่างเร่งด่วน ก็จะสามารถสร้างความมั่นใจที่จะรวมตัวกันเข้าชื่อเพื่อการปฏิรูปการเมืองในอนาคต ซึ่งรวมถึง แก้ไขรัฐธรรมนูญ แก้ไขหรือเสนอกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่ล้าสมัยและเอาเปรียบประชาชน ซึ่งเป็นลักษณะการปฏิรูปการเมืองจากประชาชน

จริงอยู่ที่ว่าสุดท้ายการปฏิรูปการเมืองก็ต้องไปอาศัยมือของนักการเมืองในรัฐสภาเพื่อยกมือให้ความเห็นชอบอยู่ดี แต่ถ้า Vote No มีมากพอ และมีมากเกินคาดและสามารถจุดประกายความคิดและความหวังในการปฏิรูปการเมืองโดยประชาชนแล้ว ก็จะเป็นแรงผลักดันให้นักการเมืองต้องถูกแรงกดดันจากประชาชนบังคับให้นักการเมืองเหล่านี้ต้องเปลี่ยนแปลง

การประกาศรณรงค์ Vote No กันมากๆ แม้จะเป็นเกมที่ต้องใช้เวลายาว และดูยากเย็นแสนเข็ญ แต่ถ้าคนคิดอย่างนี้กันมากๆก็จะกลายเป็นกระแสที่ปฏิเสธในการเลือกตั้งในระบบเดิมๆ ที่อาจทำให้คนที่มีส่วนสำคัญและตัดสินใจพิจารณาเพื่อทำให้เกิด “สุญญากาศทางการเมือง”เริ่มคิดเพื่อเข้ามาจัดการเพื่อให้การเมืองในระบบปัจจุบัน "เว้นวรรค”เพื่อการปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริงเสียตั้งแต่วันนี้โดยไม่ต้องรอกระบวนการอย่างยาวนานหลังการ Vote No

Vote No ครั้งนี้ หากมีการรณรงค์กันอย่างจริงจัง ก็จะไม่ใช่การรณรงค์ Vote No แบบลอยๆ แต่เป็นการ “Vote No เพื่อส่งสัญญาณการปฏิรูปการเมือง”
กำลังโหลดความคิดเห็น