xs
xsm
sm
md
lg

สร้างความเป็นธรรมสำหรับผู้สูงวัยไทยในกระแสปฏิรูปลดเหลื่อมล้ำ

เผยแพร่:   โดย: ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

การจะบรรลุยุทธศาสตร์ร่วม ‘การสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม’ ได้นั้นนอกเหนือจากการผสานกลุ่มองค์กร ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและชุมชนภาคประชาสังคม ภาครัฐ ภาควิชาการ รวมถึงภาคการเมือง มาร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยในแนวทางสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาที่กอปรด้วยพลังสังคม พลังปัญญา และพลังการเมืองแล้ว การขยายวงภาคีเครือข่ายหลายหลากมากมาย (Inclusive) โดยไม่กีดกันเครือข่ายหนึ่งใดออกไปยังสำคัญยิ่งยวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายผู้สูงอายุที่จะเป็นคานงัดสำคัญของสังคมไทยในห้วงยามการเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างประชากรไทย

ด้วยในไม่ถึงสองทศวรรษข้างหน้า หรือปี 2573 จะมีผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 4 ของประชากรทั้งประเทศ หรือราวๆ 17.8 ล้านคน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเพิ่มขนาดและสัดส่วนประชากรสูงอายุที่ทวีจำนวนรวดเร็วและต่อเนื่องจนไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงวัย (Aging society) อย่างสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ปี 2552

สัดส่วนผู้สูงวัยที่ทวีขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ ไม่เพียงต้องการการจัดสรรงบประมาณด้านสุขภาพจากภาครัฐมากขึ้นเท่านั้น ทว่ายังหมายถึงความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนสังคมต้องร่วมระดมสมองออกแบบกลไกและระบบต่างๆ เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้สูงอายุที่ถึงจะมีจำนวนมาก หากแต่ก็ยังเป็นกลุ่มเปราะบางทางสังคมที่ต้องได้รับการหนุนเสริมอยู่ดี ที่สำคัญแนวทางขับเคลื่อนต้องตั้งต้นจาก ‘ทุนฐาน’ การเคลื่อนไหวของภาคส่วนต่างๆ ที่พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัยมาโดยตลอด โดยใช้โอกาสที่กระแสการปฏิรูปกำลังได้รับความสนใจกว้างขวางจากสังคมมาเป็น ‘จุดคลิก’ ดึงดูดเครือข่ายองค์กรภาคีที่ทำงานด้านนี้ให้เข้ามาร่วมมากสุด

เนื่องด้วยการผนึกร้อยเครือข่ายเคลื่อนไหวด้านคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุนับแต่สมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย จนถึงมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) จะผลักดันให้การปฏิรูปประเทศไทยอยู่บนเส้นทางสร้างความเป็นธรรม ทั้งยังไม่หลุดลอยจากโครงสร้างสังคมที่เป็นจริงทั้งวันนี้และวันหน้าที่คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุเป็นทั้งดัชนีชี้วัดพัฒนาการสังคมไทยและตัวแปรปัจจัยในการบรรลุผลปฏิรูป

แนวทางปฏิรูปประเทศไทยโดยการผสานเครือข่ายพัฒนาผู้สูงอายุที่มีวัตถุประสงค์ เป้าหมาย และกิจกรรมไปในทิศทางเดียวกันและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่กระนั้นก็ไม่กีดกันกลุ่มอื่นใดที่แม้นไม่เข้าพวกออกไป (Exclusive) จะทำให้ช่วงชีวิตบั้นปลายของผู้สูงวัยไม่เพียงไม่ล้มละลายจากการถูกเลือกปฏิบัติสองมาตรฐานเหมือนดังที่ผ่านมา

ทว่าทุนฐานการขับเคลื่อนงานจากการปฏิบัติจริงขององค์กรภาคีที่เข้าร่วมอย่างหลากหลายและแตกต่างจะเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายในการสร้างความเป็นธรรมลดเหลื่อมล้ำที่ไม่ติดกับดักการคิดตามกลุ่ม (Groupthink) ของกลุ่มคนที่ผูกพันกันแนบแน่นภายใต้สภาวะกดดันให้แสวงหา ‘มติเอกฉันท์’ อันอาจปราศจากการวิเคราะห์ประเมินข้อมูลรอบด้านได้ด้วย


กล่าวอีกนัยหนึ่ง ‘ฉันทมติ’ ด้านการพัฒนาผู้สูงอายุที่จะไม่ก่อตัวเป็น ‘วิกฤต’ กระทั่งกระทบงบประมาณการเงินการคลังและระบบสุขภาพของประเทศนั้น นอกจากจะต้องการการผสานภาคีเครือข่ายผู้สูงอายุอย่างหลากหลายเพื่อหาแนวปฏิบัติร่วมกันที่เป็นไปได้แล้ว การพัฒนานโยบายสาธารณะจากฐานข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์และสังเคราะห์มาอย่างครบถ้วนรอบด้านจะสามารถสานฝันถึงอนาคตสดใสของผู้สูงอายุไทยได้ด้วย

ดังการประมวลข้อมูลในหนังสือสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2552 โดย มส.ผส.ที่ไม่เพียงพบว่าสังคมและหน่วยงานตลอดจนนโยบายรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการและการเตรียมการสำหรับสังคมสูงอายุเต็มรูปแบบมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่สามารถนำไปปฏิบัติจริงได้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างระบบความคุ้มครองทางเศรษฐกิจและสังคมสำหรับผู้สูงอายุ

ข้อเสนอเชิงนโยบายให้ผลักดันระบบหลักประกันสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่ยากแค้นขัดสน ขาดที่พึ่ง ให้มีรายได้พอเพียงกับการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานจะสามารถลดทอนความไม่ยั่งยืนระยะยาวของหลักประกันการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 500 บาท/ คน/ เดือน ที่ขึ้นกับความผันผวนทางการเมืองได้ แม้ว่าการจ่ายเบี้ยยังชีพในปี 2552 จะทะลุถึง 5,652,893 คน หรือกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนผู้สูงอายุทั่วประเทศแล้วก็ตามที

นอกเหนือจากนั้นภาครัฐต้องเร่งสร้างระบบการออมแห่งชาติเพื่อเป็นหลักประกันด้านรายได้ในยามชราภาพเพื่อเพียงพอต่อการมีคุณภาพชีวิตวัยไม้ใกล้ฝั่งที่ดี ที่สำคัญควรขยายช่องทางการออมที่มีความหลากหลาย (Multi pillar) ในรูปแบบใหม่ที่ประชาชนเข้าถึงง่าย ภายในเวลาเดียวกันก็ทบทวนและหามาตรการลดการกีดกันทางอาชีพระหว่างผู้สูงอายุกับวัยอื่นๆ โดยผลักดันให้มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานวัยเกษียณ เพื่อผู้สูงวัยได้มีงานทำ มีรายได้ และมีสวัสดิการที่ได้รับการคุ้มครองต่อเนื่อง จะได้ไม่ตกเป็นภาระ

การถักทอระบบคุ้มครองทางเศรษฐกิจและสังคมดังข้อเสนอข้างต้นจะลดทอนปรากฏการณ์การกูกกีดกันกดขี่โดยระบบกฎหมาย การไม่ยอมรับสิทธิผู้สูงอายุ และการเอาเปรียบจากการถูกเลือกปฏิบัติได้

ดังนั้น บันไดไต่ความเป็นธรรมที่แต่ละขั้นเคยเขรอะกรังกัดกร่อนของประเทศไทยจึงต้องใช้แนวทางการผสานภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคการเมือง โดยไม่กีดกันผลักไสกลุ่มหนึ่งใดที่ไม่เป็นพวกเดียวกันหรือถูกจัดเป็นคนอื่น (Other) ออกไป เพื่ออย่างน้อยที่สุดจะสามารถสร้างโอกาสอย่างเป็นธรรมแก่กลุ่มด้อยโอกาส โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุให้เข้าถึงบริการทางสังคมและทรัพยากรที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ซึ่งจะเป็นหนึ่งหนทางการบรรลุยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศไทยที่ต้องการ ‘สร้างความเป็นธรรม ลดเหลื่อมล้ำในสังคม’

มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
กำลังโหลดความคิดเห็น