xs
xsm
sm
md
lg

“ทีดีอาร์ไอ” แนะรัฐส่งเสริมปั๊มลูกสร้างสมดุลสังคมสูงวัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ทีดีอาร์ไอ” หวั่นไทยเดินหน้าสังคมชราภาพ แนะรัฐส่งเสริมปั๊มลูกสร้างสมดุลสังคมสูงวัย เผยคนชราอยู่กันเองกว่า 1.08 ล้านคน โดย 1 ใน 3 ไม่มีเงินออม ชี้วิกฤตต้มยำกุ้งเด็กเกิดน้อย แนะรัฐออกนโยบายด้านสุขภาพจิตดูแล “คนโสด-ชรา-ไร้ลูกหลาน” จี้กระจายอำนาจท้องถิ่นดูแลคนแก่อย่างเข้มแข็ง
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (18 มี.ค.) รศ.พรชัย ตระกูลวรานนท์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ เสนอผลวิจัยหัวข้อ “มาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของชีวิตคนไทย” ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับแผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า สังคมไทยเริ่มเป็นสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น เราควรหาวิธีว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้สังคมเป็นสังคมชราภาพที่กลายเป็นภาระของสังคม โดยการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เงิน แต่อาศัยทุนทางสังคมและทุนวัฒนธรรมที่มีอยู่แล้วในสังคมไทย ทั้งนี้เพื่อให้สังคมไทยเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณค่า หรือ Active Aging Society ที่ท้องถิ่นสามารถดูแลได้

“จากการศึกษาหลายพื้นที่ทั่วประเทศพบว่า แต่ละพื้นที่ผู้สูงอายุมีลักษณะค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองและมีการจัดการตัวเองในพื้นที่อยู่แล้ว การจะให้การจัดการที่ดีกว่านี้ควรอย่างยิ่งที่จะต้องให้องค์กรชุมชนท้องถิ่น เข้ามาจัดการ เพื่อให้การรวมกลุ่มที่มีอยู่แล้วมีความเข้มแข็งมากขึ้น หากทำได้ก็ไม่ต้องพึ่งการการดูแลจากส่วนกลาง” รศ.พรชัยกล่าว

ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เสนองานวิจัยหัวข้อ “ชีวิตคนไทย : เด็กกับผู้สูงอายุ” ว่า ในช่วง 20 ปีที่ผ่านพบว่าจำนวนเด็กและครัวเรือนที่มีเด็กลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งเมืองและชนบท จากข้อมูลปี 2529 พบว่ามีเด็กอยู่ในครอบครัวร้อยละ 66 ของประชากรและปี 2551 มีเด็กร้อยละ 48 ถือว่ามีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก ตอนนี้สังคมไทยจึงมีเด็กร้อยละ 22 ของประชากร นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ปี 2540 การเกิดแล้วมีชีพ (เกิดแล้วไม่ตาย) ลดลงถึงร้อยละ 5 และปี 2542 ลดลงร้อยละ 14 นั่นหมายความว่า ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกเกิด

พบข้อมูลล่าสุดเมื่อปี 2552 ว่า เด็กอยู่กับพ่อและแม่มีจำนวนน้อยลง ทั้งในเมืองและชนบท แต่พบว่าอยู่กับผู้สูงอายุมากขึ้น โดยเด็กที่อยู่ในกลุ่มนี้จะถูกเลี้ยงดูแบบตามใจมากกว่าการอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งงานวิจัยในต่างประเทศระบุว่า เด็กในกลุ่มดังกล่าวจะด้อยกว่าเด็กอื่นๆ ทางด้านแรงจูงใจในการศึกษาและการประสบความสำเร็จ ทั้งนี้กว่าร้อยละ 49 การที่เด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่มีสาเหตุมาจากพ่อแม่ทำงานคนละจังหวัด พบมากที่ภาคอีสาน รองลงมา คือ ภาคเหนือ ส่วนร้อยละ 32 เกิด จากสาเหตุพ่อแม่แยกทางกัน มีมากที่กรุงเทพฯ และภาคกลาง  ส่วนภาคที่มีอัตราการหย่าร้างน้อยที่สุด คือ ภาคใต้ ” นักวิชาการทีดีอาร์ไอกล่าว

ดร.วรวรรณ  กล่าวว่า จากการวิจัยด้านสวัสดิการของเด็กพบว่า ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาเด็กได้รับสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลดี ส่วนใหญ่เข้าถึงระบบประกันสุขภาพ มีเพียงร้อยละ 4 เท่า นั้นที่เข้าไม่ถึง ส่วนโครงการสวัสดิการอื่นๆ พบว่า เด็กในพื้นที่ชนบทได้รับอาหารกลางวันและอาหารเสริมฟรีมากกว่าเด็กในเมืองสูง ถึง 4 เท่าในปี 2552 ส่วนโอกาสทางการศึกษานั้นเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนที่มีกว่าร้อยละ 9 ของประชากรนั้นกว่าร้อยละ 70 ได้ไปโรงเรียน

“ทั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่า ในเมื่อไทยมีอัตราการเกิดต่ำควรสร้างสมดุลทางโครงสร้างประชากรด้วยการสนับ สนุนให้คนมีลูกมากขึ้นเพื่อลดการขาดดุลประชากร ซึ่งถือว่าน่าจะทำได้ง่ายมากกว่านโยบายลดการมีลูก ขณะเดียวกัน ควรสร้างสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนเพื่อเป็นทางเลือกให้พ่อแม่ ในเมืองเพื่อให้ลูกได้อยู่กับพ่อแม่ สำหรับเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่ยากจนควรมีนโยบายที่ออกมาดูแลเป็นพิเศษและ ส่งเสริมให้เด็กที่มีรายได้น้อยมีโอกาสทางการศึกษาในระดับสูงมากขึ้น” ดร.วรวรรณเสนอ

นักวิชาการทีดีอาร์ไอยังกล่าวถึงผลวิจัยเกี่ยวกับคนชราว่า คนไทยมีอายุยืนขึ้นและมีจำนวนผู้สูงอายุมากขึ้น ทั้งภาคและชนบท โดยมีมากในภาคเหนือและภาคอีสาน มีข้อมูลอีกว่า คนชรากว่าร้อยละ 25 อยู่ในครัวเรือนที่จนที่สุดและพบว่าครัวเรือนที่ผู้สูงอายุอยู่กันเองมีมากถึง 1.08 ล้านคน หรือร้อยละ 5.5 ของประชากรไทย นอกจากนี้ยังพบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่พึ่งพิงรายได้จากลูกถึงร้อยละ 67 รองลงมา คือ การทำงานและรายได้จากการออมเพียงร้อยละ 3 โดย 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั้งหมดไม่มีเงินออม ดังนั้นการที่คนมีลูกลดลงก็จะทำให้ผู้สูงอายุในอนาคตจะต้องพึ่งพิงรายได้จากแหล่งอื่นมากขึ้น

ดร.วรวรรณกล่าวอีกว่า ทั้งนี้มีตัวเลขที่น่าสนใจว่าผู้สูงอายุมีการคิดหรือเตรียมเพื่อเข้าสู่วัย สูงอายุ โดยเตรียมด้านจิตใจถึงร้อยละ 67 เพราะไม่ได้เป็นการลงทุนใดๆ ส่วนการเตรียมการด้านการเงินมีร้อยละ 53 ทั้งนี้ยังพบอีกว่าสัดส่วนวัยแรงงานดูแลคนชรานั้นมีอัตรา 2 ต่อ 1 คือ วัยแรงงาน 2 คนดูแลคนแก่ 1 คน ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยพบว่าคนที่ดูแลคนชราส่วนใหญ่เป็นลูกสาวมากกว่าลูกชาย จากข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าทัศนคติของคนไทยนั้นให้คุณค่ากับคนในครอบ ครัวสูง โดยเฉพาะคนในพื้นที่ภาคใต้ สำหรับสวัสดิการทางสังคมมีผู้สูงอายุได้รับสิทธิตามนโยบายนี้แล้วกว่าร้อยละ 70 ส่วนสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลนั้นส่วนใหญ่ได้รับสิทธิประกันสุขภาพ 30 บาท มีเพียงร้อยละ 19 เท่านั้นที่ไม่ได้รับสวัสดิการรักษาพยาบาลใดๆ

“ส่วนข้อมูลเรื่องการตายนั้นมีการคาดการณ์ว่า มีตัวเลขการตายถี่ขึ้นในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาและคาดการณ์ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าคนตายจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 แสนคน” ดร.วรวรรณกล่าว

ดร.วรวรรณยังเสนอว่า ผลการศึกษาข้อมูลครั้งนี้เห็นได้ชัดว่า ตัวเลขผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นมากและมีสัดส่วนการอยู่เป็นโสดหรือมีลูกน้อยลง ดังนั้นการที่ผู้สูงวัยจะพึ่งพิงครอบครัวและพึ่งรัฐเป็นไปได้น้อย ดังนั้นผู้สูงอายุควรมีส่วนร่วมในหลักประกันรายได้ด้วยตัวเอง ส่วนมีการลงทะเบียนคนชราที่ลูกไม่สามารถดูแลได้เพื่อให้มีสวัสดิการ รวมทั้งควรส่งเสริมให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุบางอาชีพ รวมทั้งรัฐบาลควรมีนโยบายด้านสุขภาพจิตของผู้สูงอายุในอนาคตที่ต้องเผชิญกับ เหตุการณ์การตายมากขึ้น การอยู่เป็นโสดหรือไร้ลูกหลานอาจสร้างความวิตกกังวลได้
กำลังโหลดความคิดเห็น