ทีดีอาร์ไอ เผยผลวิจัยคนไทยรอบ 20 ปี ชี้ช่องว่างคนรวย-คนจน ยังคงเดิม คนรุ่นใหม่ออมมากขึ้น ระบุ นโยบาย 30 บาท-เบี้ยผู้สูงอายุช่วยลดคนจน 750,000 คน
นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นำเสนอผลงานวิจัยหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนไทย” ว่า จากการศึกษาข้อมูลในช่วง 20 ปี พบครอบครัว 6 ประเภท คือ ครอบครัวอยู่คนเดียว 2.4 ล้านครัวเรือน อยู่กับเพื่อนหรือญาติ 0.7 ล้านครัวเรือน ครอบครัว 1 รุ่น (พ่อแม่ลูก) 3.3 ล้านครัวเรือน ครอบครัว 2 รุ่น (คน 2 ครอบครัวอยู่ด้วยกัน) 8 ล้านครัวเรือน ครอบครัว 3 รุ่น (3 ครอบครัวอยู่ด้วยกัน) 4 ครัวเรือน และครอบครัวแหว่งกลาง (หลานอยู่กับปู่ย่าตายาย) มี 2.3 ล้านครัวเรือน
นอกจากนี้ พบว่า ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้นมากแทบทุกด้าน เพราะขนาดของครัวเรือนเล็กลงทำให้การศึกษาดีขึ้นทั้งในเมืองและชนบท รวมทั้งมีเครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้น ทั้งนี้ มีตัวเลขรายได้ต่อหัวของครัวเรือนเพิ่มขึ้นมากกว่ารายจ่ายต่อหัว และมีตัวเลขคนจนลดลง สาเหตุหลักมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน เช่น เบี้ยคนชรา โครงการอาหารกลางวัน หลักประกันสุขภาพที่เห็นได้ชัดหลังจากปี 2542 ที่เห็นได้ชัดว่านโยบายนี้ช่วยลดจำนวนคนจนลงเกือบ 750,000 คน
นายนิพนธ์ กล่าวถึงตัวเลขความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้มียังคงระดับสูง หรือแทบไม่มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา เพราะตัวเลขคนรวยยังคงมีรายได้ในระดับสูงหรือสูงกว่าคนจนกว่า 14 เท่า ดังนั้น จึงถือว่าในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำไม่ได้ลดลงเลย เพราะรายได้ยังคงมีการกระจุกเช่นเดิม ถ้ามีการพัฒนาที่ดีจะไม่เป็นอย่างนี้ ขณะที่ด้านการศึกษาที่พบว่า มีผู้เรียนมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ลูกของคนที่เรียนน้อยหรือลูกของคนจนมีโอกาสเรียนต่อ น้อยกว่าลูกในครัวเรือนที่พ่อแม่เรียนสูงหรือฐานะดี และยังพบว่า ครัวเรือนที่เกิดรุ่นหลังมีการออมมากขึ้นกว่ารุ่นพ่อแม่ อันเป็นผลมาจาการพัฒนาเศรษฐกิจ