xs
xsm
sm
md
lg

คลังจ่อปรับโครงสร้างภาษีชุดใหญ่ “คนรวยเสียมาก-คนจนเสียน้อยลง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบอินเทอร์เน็ต
คลังเตรียมปรับโครงสร้างภาษีชุดใหญ่ จ่อเรียกทุกภาคส่วนหารือ ก่อนชง “กรณ์” นำเข้า ครม.“ทีดีอาร์ไอ” ชี้ ระบบภาษีแบบเก่าเกิดความเหลื่อมล้ำ ชู 4 แนวทางปรับโครงสร้างใหม่ แว่ว คลังมีแนวคิดลดภาษีเงินได้นิติบุคคล และปรับขึ้นภาษีเงินได้บุคคลแบบอัตราก้าวหน้าตั้งแต่ 5-37% โดยขยายเพดานสูงสุดสำหรับผู้ที่มีรายได้สูงให้เสียภาษีเกินกว่า 37% ส่วนผู้มีรายได้น้อยให้เสียภาษีลดลง หรือหักลดหย่อนมากขึ้น

วันนี้ (25 ก.พ.) นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการประชุมปรับปรุงระบบภาษีของประเทศไทย ว่า การหารือในครั้งนี้ กระทรวงการคลังได้เชิญ นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ และ นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการทีดีอาร์ไอ และหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงการคลัง เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร เพื่อเปิดรับฟังความเห็นจากนักวิชาการ ก่อนที่จะมีการพิจารณาปรับ ปรุงโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ของประเทศ หลังจากที่ไทยได้มีการปรับปรุงโครงสร้างภาษีครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2535

“การปรับปรุงโครงสร้างภาษีในครั้งนี้ จะทำทั้งระบบ ได้แก่ ภาษีที่จัดเก็บภายในประเทศได้แก่ ภาษีสรรพากร ภาษีสรรพสามิต รวมถึงการพิจารณาภาษีประเภทใหม่ๆ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ส่วนภาษีการค้าที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ คือ ภาษีศุลกากรก็มีการพิจารณาในครั้งนี้ด้วย โดยวางแผนว่าโครงสร้างภาษีใหม่จะสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจประเทศได้นานถึง 20 ปี” นายประดิษฐ์ กล่าว

นายประดิษฐ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างภาษี แต่สิ่งที่กระทรวงการคลังต้องการ คือ ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากนักวิชาการ และภาคเอกชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมก่อนที่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จะมาถึง โดยในวันที่ 28 ก.พ.นี้ จะเชิญส่วนราชการทุกแห่ง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กระทรวงการอุตสาหกรรม มาหารือ และในวันที่ 2 มี.ค.จะเชิญภาคเอกชน เช่น สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย มาร่วมแสดงความเห็น หลังจากนั้น จะเสนอให้ รมว.คลัง พิจารณาก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ด้าน นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานมูลนิธิทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเพื่อรองรับการแข่งขัน และเพิ่มประสิทธิภาพของเอกชน ไทยต้องทำหลายๆ ด้านพร้อมกัน แต่ที่สำคัญภาครัฐต้องประกาศให้ชัดเจน เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีเวลาในการเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยมีแนวทางในการพิจารณา 4 ประเด็น คือ 1.รายได้จากการจัดเก็บภาษีต้องขยายตัวได้ตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ หรือตามจีดีพี 2.ภาษีที่นำมาใช้ต้องสนับสนุนให้เอกชนสามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้ 3.ภาษีเป็นธรรมและมีความเสมอภาค และ 4.ภาษีต้องช่วยสนับสนุนในเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

“ระบบภาษีในปัจจุบันมีความเหลื่อมล้ำกันมา เช่น คนที่มีรายได้มากๆ รัฐบาลก็เปิดโอกาสนำรายได้มาหักค่าลดหย่อนได้ หากนำมาลงทุนในกองทุนรวมอย่างกองทุนหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) ขณะที่คนมีรายได้น้อยไม่มีสิทธิ์เข้าถึงสิ่งเหล่านี้ หรือการสนับสนุนภาษีให้แก่บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอก็เช่นกัน ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในธุรกิจ ซึ่งมองว่า รัฐบาลควรจะการดำเนินการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังเพื่อให้เกิดความ ยุติธรรม” นายนิพนธ์ กล่าว

นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลควรลดลง แต่คนที่รวยมากๆ ก็ควรที่จะเสียภาษีมากขึ้น เช่น สินทรัพย์ที่มีอยู่มีราคาแพงขึ้น อาจจะเป็นที่ดินที่ซื้อไว้นานแล้ว แต่รัฐตัดถนนผ่านพอดี ราคาที่ดินก็พุ่งพรวดขึ้นไปก็ควรมีภาระภาษีเกิดขึ้นตามราคาสินทรัพย์ที่ เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการใช้งบประมาณของรัฐในการตัดถนน เช่น การใช้ภาษีที่สิ่งดินและสิ่งปลูกสร้างหรือภาษีมรดก เป็นต้น

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ว่า ขณะนี้ผลการศึกษาปรับปรุงระบบภาษีของประเทศไทยเสร็จเรียบแล้ว โดยมีแนวคิดที่จะลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล และปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้บุคคลที่เก็บแบบอัตราก้าวหน้าที่เริ่มตั้งแต่ 5-37% โดยจะขยายเพดานขั้นสูงสุดสำหรับผู้ที่มีรายได้สูงให้เสียภาษีเกินกว่า 37% ส่วนผู้ที่มีรายได้น้อยจะเสียภาษีลดลง เนื่องจากกระทรวงการคลังจะเพิ่มการหักค่าใช้จ่าย หรือเพิ่มการหักค่าลดหย่อนให้มากขึ้น เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น