ทีดีอาร์ไอ เผย ตลาดแรงงานวิกฤตหนัก พบเด็กจบสายอาชีพ หางานในพื้นที่ทำยาก บัณฑิต ป.ตรี เตะฝุ่นเฉียดแสนคนต่อปี สับรัฐเดินแผนปั้นคนพลาด ปล่อย ปวช.-สายช่าง ตกต่ำมากว่า 15 ปี ไร้ทิศทางผลิตคนสายวิทย์-เทคโนโลยี จี้ เชื่อมโยงสถานศึกษาและผู้ประกอบการ หาช่องดึงเด็กชั่วโมงบินต่ำ กลับเข้าทำงาน การันตี ปวช., ปวส.ได้งานหลังจบทันที
นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ที่ประชุมโครงการศึกษาความต้องการกำลังคนเพื่อการวางแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้จัดประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาเรื่องความไม่สอดคล้องกันระหว่างผู้จบการศึกษากับผู้ที่ตลาดแรงงานต้องการในแต่ละระดับการศึกษา ทั้งนี้ ได้ศึกษาปัญหาจาก 8 กลุ่มจังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนกลาง ภาคกลางตอนบน ภาคกลางตอนล่าง จังหวัดฝั่งอ่าวไทย ภาคตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง โดยพบว่า ระดับคุณวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) และ อุดมศึกษา ส่วนใหญ่ไม่สามารถหางานในพื้นที่ได้ ต้องไปหางานนอกพื้นที่ หลายจังหวัดยังพบเห็นการขาดแคลนแรงงานที่จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ขณะที่ในระดับปริญญาตรีนั้น มีมากเกินความต้องการ โดยในแต่ละปี จึงมีผู้ว่างงานในระดับนี้ 8-9 หมื่นคน
“ที่ผ่านมา รัฐดำเนินการนโยบายผลิตคนไม่สอดคล้องกันทั้งในเชิงปริมาณ และความต้องการ รวมถึงยังมีปัญหาเชิงคุณภาพด้านสมรรถนะพื้นฐาน และระดับวิชาชีพ ที่จำเป็นในการทำงาน เราปล่อยให้การเรียนการสอนระดับ ปวช.ตกต่ำมากว่า 15 ปี ขาดความใส่ใจอย่างจริงจังจากฝ่ายบริหาร การปฏิรูปการศึกษารอบแรกที่ผ่านมา เกือบจะไม่ได้ประโยชน์ในการที่จะเน้นไปที่คนเรียนในสายช่างเลย ตรงนี้นับเป็นความผิดพลาดอย่างมากในการดูแลเรื่องระบบการศึกษาของชาติ เส้นกราฟโครงสร้างตลาดแรงงานที่เป็นอยู่มีลักษณะแหว่งกลาง คือ มีการใช้แรงงานที่มีการศึกษาในระดับมัธยมต้น หรือต่ำกว่าสูงมาก รองลงมาคือมัธยมปลาย ส่วนตรงกลางซึ่งเว้าไปอยู่ฐานรากมีการใช้น้อยที่สุด คือ ปวช., ปวส.จากนั้นก็ขยับขึ้นไปที่ ป.ตรี-โท เลย” นายยงยุทธ กล่าว
นายยงยุทธ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีสัดส่วนการใช้แรงงาน ปวช.เพียง 3% หรือ ราว 1.25 ล้านคน จากจำนวนแรงงานระดับ ปวช., ปวส.ทั้งระบบ 7% หรือประมาณ 2.5 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก และเป็นจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข ซึ่งไม่มีการวางแผนระยะยาวว่าจะพัฒนาประเทศให้เติบโตไปทิศทางที่ต้องใช้คนสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างไร เพื่อปรับสัดส่วนโครงสร้างแรงงานและการศึกษาที่จะมีความสอดคล้องกัน มีพลังในการพัฒนาประเทศได้มากขึ้น ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เสนอให้มีการเชื่อมโยงการผลิตกำลังคนร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างสถานศึกษา และผู้ประกอบการในตลาดแรงงาน โดยต้องมีแนวทางในการนำผู้ที่อยู่นอกระบบหรือที่ทำงานต่ำชั่วโมงกลับเข้ามาทำงาน ขณะที่หาแนวทางให้ระดับ ปวช., ปวส.ได้งานหลังจากเรียนจบ ด้วยการจับคู่ระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการจัดทำหลักสูตรระยะสั้นเพิ่มเติมความรู้ที่เป็นคุณสมบัติเฉพาะ