เส้นทางของการ “ปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 (2552-2561)” ที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ชูธงนำไปสู้เป้าหมายของการทำให้ “คนไทยได้เรียนอยู่ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ” นั้น “ครู” ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญอย่างยิ่งสำหรับภารกิจนี้ และ “วันครู” 16 ม.ค.ปีนี้ ถือเป็นฤกษ์งามยามดีในการก้าวเข้าสู่ปีของคุณภาพครูอย่างแท้จริง ดังนั้นลองมาดูกันว่าต่อจากนี้ไปครูยุคปฏิรูปการศึกษาฯ จะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อนำการปฏิบัติสู่รูปธรรมให้มากที่สุด
รศ.ดร. วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะอนุกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและการเรียนรู้ อธิบายว่า สิ่งที่ครูต้องปรับเข้าสู่การปฏิรูปการศึกษาฯ มีอยู่ 4 เรื่อง 1. ต้องทุ่มเทให้กับการเรียนการสอนอย่างเต็มที่ ไม่ใช่สอนเพียงหวังให้ตัวเองได้เลื่อนขั้นเป็นผู้บริหาร ประพฤติปฏิบัติตนให้เหมาะสม 2.ต้องใช้สื่อประกอบการสอนที่ทันสมัย ห้องเรียนต้องได้มาตรฐาน เพื่อต่อยอดให้การสอนมีประสิทธิภาพ 3. ระบบการถ่ายเทความรู้จากโรงเรียนสู่โรงเรียน คือนำกิจกรรมดี กิจกรรมเด่นของแต่ละแห่งมาแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน หรือสร้างโรงเรียนต้นแบบ เพื่อต่อยอดสู่การนำไปพัฒนาโรงเรียนอื่นๆ และ 4. สร้างจิตสำนึกของความเป็นครูให้เกิดขึ้นด้วย
“ครูยุคนี้ไม่ใช่เพียงแค่จับชอล์ค จับปากกา จับคอมพ์ มาสอนพียงเท่านั้น แต่ต้องใช้จิตวิญญาณของความเป็นครูอย่างแท้จริง ตลอดจนครูต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของนักเรียนมากกว่าความก้าวหน้าของตนเอง” รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าว
ไม่ต่างจาก ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.) ชี้ให้เห็นว่า ครูต้องตระหนักเสมอว่าโดยเนื้อแท้ของระบบการศึกษา การประสบความสำเร็จของเด็กนั้นมีครูเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อน ดังนั้นครูจำเป็นต้องพัฒนาเด็กในเรื่องของกระบวนการคิด ล้มเลิกวิธีการสอนรูปแบบเก่าที่เข้ามาสอนตามตำรา ให้เด็กจด ท่องจำ แต่ครูควรมีวิธีการสอนใหม่ๆ ให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์ วิจารณ์ข้อมูลหรือความรู้ที่ได้มา และต้องฝึกให้เด็กแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง จนนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ใช่ครูมองแค่ว่าสอนเพียงให้ครบหลักสูตร ให้เสร็จไปวันๆ แต่ต้องคิดอยู่เสมอว่าการศึกษาจะช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิต สังคม ประเทศชาติได้ นอกจากนี้ครูควรมีบทบาทในการเป็นผู้ชี้นำเด็กต่อการมีบทบาททางสังคม สร้างจิตสาธารณะให้เกิดขึ้น
ทางฟากของตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ระดับรางวัลคุรุสภา ประจำปี 2553 ประเภทครูผู้ปฏิบัติการสอน พวกเขาจะมีแนวทางในการปรับตัวเช่นไรนั้น...
“ครูเภา - ธนภรณ์ เหล่าคนค้า” อายุ 51 ปี ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนขามแก่นนคร อ.เมือง จ.ขอนแก่น บอกว่า ครูต้องปรับเปลี่ยนสื่อการสอนให้อยู่ในรูปแบบสื่อนวัตกรรม อาทิ ทำสื่อแอนิเมชัน (animation) สื่ออีบุ๊ค ( e-Book) เพื่อเพิ่มช่องทางในการแสวงหาความรู้ของเด็กสมัยใหม่ ทั้งนี้ยังต้องนำเนื้อหาวิชาการต่างๆ มาปรับให้อยู่ในรูปแบบของกิจกรรม เพื่อให้เด็กสนุกสนาน และสนใจเรียนมากยิ่งขึ้น
“สิ่งที่ต้องเสริมเข้าไปในเนื้อหาวิชาเรียนคือด้านวินัยเชิงบวก ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ อย่าทิ้งการเรียน อย่าทิ้งหน้าที่ อย่าทิ้งครอบครัว ตลอดจนสอดแทรกเนื้อหาคุณธรรม จริยธรรมเข้าไปด้วย เพื่อให้เขามีความยั้งคิด ยั้งทำ ไม่หลงระเริงกับสิ่งที่เป็นภัยต่อตนเองและคนรอบข้างอีกด้วย”ครูเภา เน้นย้ำ
ไม่ต่างจาก “ครูตั๊ก - สมศักดิ์ กลับหอม” อายุ 52 ปี ครูเชี่ยวชาญระดับ 9 สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตอ่างทอง อ.ไชโย จ.อ่างทอง บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณภาพเด็ก แต่เมื่อกระแสสังคมเปลี่ยนแปลงไป ก็ต้องเน้นการสอนให้ก้าวโลก เพราะเป็นยุคแห่งเทคโนโลยีทางการศึกษา หากครูไม่ศึกษาหรือพัฒนา ไม่ค้นคว้าหาความรู้อยู่ตลอดเวลา การสอนจะล้าสมัย เด็กจะไม่มีประสิทธิภาพ
ถึงตรงนี้แนวทางครูส่งไปถึงเพื่อนครูด้วยกัน คงสามารถสะท้อนให้เห็นถึงการปฏิบัติตัวในห้วงเวลาแห่งการปฏิรูปการศึกษาฯ ได้ไม่มากก็น้อย แต่เชื่อเหลือเกินว่ายังคงมีอีกหลายเรื่องที่พ่อพิมพ์ แม่พิมพ์ ต้องทำเพราะโจทย์สำคัญนั่นคือคุณภาพที่ต้องเกิดขึ้น แต่ขอเพียงมี “จิตวิญญาณความเป็นครู” เท่านั้น ความสำเร็จคงเกิดเป็นรูปธรรมได้ไม่ยาก...
โดย...อัจฉรา พุ่มจันทร์ มจษ.