xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เมื่อรัฐ (ต้อง) “ง้อ” กวดวิชา สั่งเบรกเก็บภาษีเอาใจ!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติสั่งเบรกการ “จัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา” ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาดำเนินการ ไปเมื่อวันที่  11 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าทุกคนคงเกิดเครื่องหมายคำถามขึ้นกลางหัวตัวใหญ่ๆ ว่าเหตุไฉน “ธุรกิจ” กวดวิชาที่ว่ากันว่ามีรายได้ 6 พันกว่าล้านบาทต่อปี ที่ซึ่งพราก “เด็กขาสั้น คอซอง” มาจากอ้อมกอดของโรงเรียน ถึงได้รับสิทธิให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีดังกล่าว  

เรื่องนี้ไล่มาตั้งแต่ นายกรัฐมนตรี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่แค่ห่วงว่าปัญหาที่ต้องเร่งเข้าไปดูโรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้คือมีการค้ากำไรเกินควรหรือไม่ และการเจริญเติบโตของ “ธุรกิจ” นี้มีเจ้าหน้าที่รัฐ หรือครูในโรงเรียนมีส่วนผลักดันให้เด็กต้องเข้ามายังกระบวนการกวดวิชาหรือไม่ เป็น 2 ส่วนที่ต้องเร่งแก้ไข โดยไม่มีความจำเป็นต้องไปจัดเก็บภาษี...!!!

ส่วน “ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ก็อ้างทำนองเดียวกันว่า กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มองว่าโรงเรียนกวดวิชาเป็นโรงเรียนนอกระบบประภทหนึ่ง เหมือนกับ ร.ร.สอนว่ายน้ำ, ร.ร.สอนศิลปะ , ร.ร.สอนศาสนา , ร.ร.สอนทักษะอาชีพ  เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นสถานศึกษาจึงไม่ควรมองว่าเป็นหน่วยงานทางธุรกิจจึงไม่ควรจัดเก็บภาษี โดยกลัวว่าจะเป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ปกครองที่ค่าเรียนอาจพุ่งสูงขึ้นกว่านี้

แต่สิ่งที่คนใน ครม.มองว่าไม่เป็นธุรกิจนั้นกำลังเป็นแหล่งกอบโกยรายได้มหาศาล ซึ่งคนอย่างเราๆ เองก็คงต้องเกาหัวว่าทำไมถึงเก็บภาษีไม่ได้ ซึ่งพอฟังจากที่ รมว.ศธ.ที่อ้างว่า ตัวเลขของรายได้ที่มหาศาลของกวดวิชานั้นใครๆ ก็พูดได้ว่าได้เท่านั้น เท่านี้  เหมือนกับพูดว่าจะซื้อที่ดิน แต่การซื้อขายจริงๆ ต้องซื้อขายตามราคาประเมิน  แต่ว่าเวลาที่โรงเรียนกวดวิชาออกมาชี้แจงรายได้ ก็ต้องหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามกฎหมายอยู่แล้ว

ดังนั้นหน้าที่ของ ศธ.จึงมีแค่ว่า ทำอย่างไรที่จะไม่ให้โรงเรียนกวดวิชาค้ากำไรเกินควร เก็บค่าธรรมเนียมเกินจริง และความปลอดภัยของสถานที่เท่านั้นเอง...  

ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงท่าที่ของ ศธ.ต่อความ “เกรงใจ” ในการเก็บภาษีกวดวิชา โดยมองกันว่ากวดวิชาอาจมีส่วนได้ส่วนเสีย กันอยู่หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ รมว.ชินวรณ์ ก็ออกมาปฏิเสธทันควัน โดยบอกว่า ศธ.นั้นมีนโยบายที่จะเน้นคุณภาพการศึกษาที่ต้องเกิดจากในห้องเรียน  ถ้าเมื่อไหร่ที่คุณภาพเกิดจากห้องเรียนอย่างเต็มที่ และปรับระบบการรับนักเรียนได้นั้น ต่อไปสถาบันกวดวิชาก็จะลดลงไปเอง  แต่ก็จะต้องอยู่กับผู้ปกครองด้วยว่าจะสร้างค่านิยมไม่ให้ไปมุ่งเน้นให้ลูกได้เปรียบคนอื่นด้วยการการยอมจ่ายเงินแล้วไปเรียนโรงเรียนกวดวิชาจนให้ได้มีโอกาสเข้าเรียน 

ทั้งนี้ ถึงใครจะมองว่ากวดวิชาไม่ใช่ธุรกิจ แต่  “อำนวย สุนทรโชติ”  ประธานชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติ  ค้านเสียงแข็ง เพราะเขาเห็นว่า กวดวิชาเป็นธุรกิจอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงต้องจ่ายภาษี นอกจากนี้กวดวิชายังถือเป็นธุรกิจที่แย่ สร้างความไม่เท่าเทียมกันให้เกิดขึ้นสังคม ระหว่างคนจน รวย  จึงไม่มีเหตุใดๆ เลยที่จะไม่เก็บภาษี ทั้งนี้อำนวยยังมองว่า การที่นายกรัฐมนตรีบอกว่าจะจัดการกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ส่งเสริมการกวดวิชานั้นสามารถจัดการได้ทันที  เพราะนโยบายรัฐเองที่ส่งเสริมการกวดวิชา เด็กต้องมีความพร้อมสอบเข้ามหาวิทยาลัยตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม.5 ไม่ว่าจะสอบรับตรง สอบ GAT/PAT  ที่เกิดขึ้นในเทอมแรกของ ม.6 ซึ่งข้อสอบพวกนี้ก็จะวัดความรู้ทั้ง ม.6  เมื่อเด็กยังไม่เคยได้เรียนเลย ก็ถือเป็นการบังคับให้เขาต้องไปกวดวิชาโดยปริยาย นายกรัฐมนตรีจึงต้องไปเอาผิดกับคนที่ออกกติกาพวกนั้น ซึ่งตรงนี้ถือเป็นทุกขเวทนาของเด็กไทยอย่างมาก

ขณะที่ ศธ.มาบอกว่ากวดวิชา ช่วยแบ่งเบาภาระรัฐและส่งเสริมด้านการศึกษานั้น คงจะเข้าใจผิด โรงเรียนเอกชนมากกว่าที่ช่วยแบ่งเบาภาระรัฐ  แต่กวดวิชาไม่ใช่ เพราะไม่ได้อยู่ในข่ายเดียวกัน โรงเรียนเอกชนรัฐต้องเข้าไปอุดหนุนเงิน แต่กวดวิชาไม่จำเป็น เพราะหากเห็นว่ากวดวิชาจำเป็นก็เท่ากับยอรับว่าโรงเรียนในระบบมีปัญหา

สอดคล้องกับความเห็นของ “รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ”  อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มองว่า รายได้มหาศาลกับช่องโหว่ที่เกิดขึ้นที่ไม่ต้องถูกจัดเก็บภาษีนั้น เมื่อผลประโยชน์มีแต่ได้กับได้ ทำให้ ปัจจุบันมีคนหันมาเปิดโรงเรียนกวดวิชากันจำนวนมาก ซึ่งในส่วนกรณีที่ร.ร.กวดวิชามาอ้างว่า หากโดนเก็บภาษีแล้ว ผู้ปกครองก็ต้องรับภาระเนื่องจากค่าเล่าเรียนก็จะขึ้นตามมาเป็นเงาตามตัวนั้น คนที่คิดเช่นนี้ถือว่าหน้าที่ความเป็นพลเมืองค่อนข้างต่ำ  และไร้ซึ่งความเป็นธรรมกับสังคมอย่างมาก  เนื่องจากทุกวันนี้ ผู้ปกครองต่างจำยอมรับภาระค่าเรียนที่แพงมานานแสนนานแล้ว ทั้งนี้ในเมื่อมีการปล่อยอิสระมานาน ไม่มีใครเคยแตะมาก่อนเลย จากนี้ไปก็ไม่ควรที่จะได้รับการยกเว้นภาษีอีกต่อไป เพราะในภาวะที่ต้องหารายได้เข้ารัฐ การเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาก็ยิ่งมีความจำเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม “ศ.ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์” รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.) ได้เสนอแนวทางส่วนนี้ว่า การจัดเก็บภาษีกวดวิชาควรจะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาให้รอบคอบ ครบถ้วน เพราะถ้าหากว่ามีการจัดเก็บก็ชัดเจนเลยว่ากวดวิชานั้นเข้าสู่ระบบธุรกิจเต็มรูปแบบ ซึ่งภาระก็ตกอยู่ที่ผู้ปกครองอีกตาม ดังนั้นต้องเข้าไปศึกษาก่อนว่าจะมีระบบการคิดหักภาษีในแนวทาง รูปแบบใด  หรืออาจกำหนดไปเลยตามขนาด และมาตรฐาน ว่ากวดวิชาตั้งแต่ที่เป็นยอดนิยม จนถึงระดับล่าง ต้องเสียในอัตราเท่าไร ลดหลั่นกันไปตามระดับของคุณภาพ จะดีกว่าการจัดเก็บโดยตรงทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่าอีกไม่นานคงจะมีการกลับมาพิจารณาเรื่องนี้กันใหม่อีกครั้งแน่นอน   

...ด้วยเหตุดังกล่าวตอนนี้หากจะพูดว่า กวดวิชากำลังสะท้อนถึงความอ่อนด้อยของการศึกษาไทยก็คงไม่มีใครเถียง จะบอกว่ากลายเป็นค่านิยมไปแล้วก็คงไม่มีใครค้าน แต่สิ่งที่สังคมควรย้อนถามกลับไปก็คือ ศธ.คือกระทรวงที่ให้การศึกษาประชาชนผ่านสถานศึกษา โรงเรียนต่างๆ ดังนั้นหาก ศธ. ยังคิดอยู่แค่ว่ากวดวิชามีความจำเป็น ก็ต้องทบทวนบทบาทของตัวเองใหม่

ในเมื่อตัวเองให้การศึกษาอยู่แล้ว เหตุใดจึงมีความจำเป็นต้องหนุนกวดวิชา หรือกำลังสารภาพออกมาว่าระบบการเรียนในห้องเรียนด้อยคุณภาพอย่างที่เขาว่ากันจริงๆ...

เรื่อง...ทีมข่าวการศึกษา
กำลังโหลดความคิดเห็น