xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เบรกเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา อ้างช่วยแบ่งเบาภาระรัฐ - สช.กำกับดูแลอยู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศธ.
“ชินวรณ์” เผย ครม.สั่งเบรกจัดเก็บภาษี ร.ร.กวดวิชา มอบ ศธ. - พาณิชย์ - คลัง ศึกษารายละเอียดให้ชัด ระบุ ร.ร.ติว ช่วยแบ่งเบาภาระรัฐ ยังไม่เป็นนิติบุคคล สช.ควบคุมดูแล กันค้ากำไรเกินควรอยู่แล้ว ลั่นเตรียมเช็คครูเมินสอนในห้องเรียน มุ่งสอนติวเข้ม หวังยกระดับคุณภาพการศึกษา

วันนี้(11 ม.ค.) นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณากรณีที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา ที่มีลักษณะเป็นการประกอบธุรกิจ และดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้เหมาะสมสอดคล้อง รวมทั้งเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พิจารณากำหนดให้มีระเบียบข้อบังคับในการตรวจสอบและปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยของอาคารสถานที่ ก่อนการอนุมัติให้ใช้เป็นสถานที่สำหรับการเรียนกวดวิชา โดยที่ประชุม ครม. มีมติเห็นว่ายังไม่ควรจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาในขณะนี้ แต่ได้มอบให้ ศธ. กระทรวงการคลัง และ กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันศึกษากรณีดังกล่าวว่าจะดำเนินการอย่างไรที่จะให้โรงเรียนกวดวิชา ไม่ดำเนินการแสวงหากำไรเกินควร ตลอดจนให้ไปศึกษาว่าจะจัดระบบการศึกษาอย่างไรให้มีคุณภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุในการที่นักเรียนจะต้องมีคุณภาพจากห้องเรียน

“ศธ.ได้เสนอความเห็นต่อที่ ครม.ว่า โรงเรียนนอกระบบ ซึ่งได้แก่ โรงเรียนสอนศาสนา โรงเรียนประเภทศิลปะและกีฬา โรงเรียนประเภทวิชาชีพ โรงเรียนกวดวิชา และโรงเรียนสร้างเสริมทักษะชีวิต มีส่วนในการแบ่งเบาภาระจากรัฐบาล และมีหน้าที่ในการช่วยส่งเสริมการจัดการศึกษาในแต่ละระดับ อีกทั้งโรงเรียนนอกระบบดังกล่าวยังไม่เป็นโรงเรียนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ฉะนั้นโรงเรียนเหล่านี้จึงอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำหรับเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ของโรงเรียนนอกระบบนั้น สช.ได้กำหนดว่าการจัดเก็บค่าใช้จ่ายของโรงเรียนนอกระบบ ต้องไม่มีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรเกินควร โดยให้นำค่าใช้จ่ายของโรงเรียนรวมกับผลตอบแทนมากำหนดเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษา โดยผลตอบแทนให้กำหนดไว้ที่ 20% ซึ่งหลักเกณฑ์นี้ถือเป็นระบบที่ให้มีผลกำไร ไม่ใช่เป็นการค้ากำไรเกินควร” รมว.ศธ.กล่าว

นายชินวรณ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ตั้งข้อสังเกตกรณีมีครูบางรายที่ไม่ใช้เวลาในห้องเรียนอย่างเต็มที่ แต่กลับมาสอนกวดวิชานั้น ที่ประชุมได้มอบให้ ศธ.ไปตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การพัฒนาคุณภาพการศึกษาเกิดจากห้องเรียน อีกทั้งจะต้องพัฒนาให้สถานศึกษามีคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน และต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถเข้าเรียนต่อได้ตามความถนัดของนักเรียนอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันที่ประชุมยังได้มอบให้ ศธ.ดำเนินการเรื่องความปลอดภัยของอาคารสถานที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรณีที่จะจัดตั้งโรงเรียนกวดวิชา ซึ่งทุกแห่งต้องจัดให้มีทางหนีไฟ มาตรการป้องกันอัคคีภัย ติดตั้งเครื่องดับเพลิง มีระบบส่องสว่าง และสัญญาณเตือนภัย โดยเรื่องนี้ ศธ.รับที่จะมาดำเนินการ เพื่อปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ต่อไป ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

เผยใช้ “สถาบัน” นำหน้า สช.ไร้อำนาจดูแล
ด้าน นายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) กล่าวว่า ในส่วนของโรงเรียนนอกระบบที่ สช.ดูแลอยู่นั้น หากจดทะเบียนโดยขึ้นต้นด้วย โรงเรียน ก็จะเป็นหน้าที่โดยตรงของ สช.ที่จะเข้าไปกำกับดูแล ซึ่งโรงเรียนกวดวิชาบางแห่ง ที่ยังไม่จดทะเบียนให้ถูกต้อง ก็เป็นหน้าที่ของ สช. เช่นกันที่จะเข้าไปสำรวจให้ครบถ้วน โดยในปีนี้ สช.จะเข้มงวดในเรื่องนี้เป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม หากตั้งขึ้นโดยใช้ชื่อนำหน้าว่าเป็นสถาบัน ถือเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้ สช.เข้าไปดูแลกำกับได้ อย่างไรก็ดี สถาบันการศึกษานอกระบบ หรือสถาบันกวดวิชาก็จำเป็นที่จะต้องขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง แต่ต้องขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานในสังกัด เช่น หากเปิดสอนโดยคาบเกี่ยวเนื้อหาระดับอุดมศึกษา ก็อาจจะขึ้นทะเบียนกับ สำนักคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ขณะที่โรงเรียนกวดวิชา ทั้งที่ขึ้นทะเบียนแล้ว และยังไม่มีการขึ้นทะเบียนหากมีการเก็บค่าเล่าเรียนที่สูงเกินที่ได้กำหนด ก็สามารถร้องเรียน สำนักคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ได้ ส่วนเรื่องของการดูแลด้านอาคารเรียน ที่ต้องเป็นไปตามระเบียบที่ สช.กำหนด ที่ผ่านมามีการดูแลอย่างใกล้ชิดและจะเข้มงวดในเรื่องนี้ยิ่งขึ้นเช่นกัน

“เรื่องของการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของแต่ละโรงเรียน ซึ่งยังเข้าใจผิดว่า แต่ละโรงเรียนกวดวิชากำหนดได้เองโดยไม่มีการควบคุม ที่จริงแล้วทุกที่ ต้องระบุค่าเรียนที่ชัดเจน พร้อมทั้งแจกแจงรายละเอียด ว่า ค่าสอน ค่าน้ำค่าไฟเท่าไหร่ด้วยเหตุนี้ แม้จะได้รับการยกเว้นภาษีค่าธรรมเนียม แต่ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจ่ายภาษีเงินได้ของผู้ได้รับใบอนุญาต หรือของครูผู้สอนได้ อย่างไรก็ตาม อาจจะมีช่องว่างในกรณีที่ บางโรงเรียนไม่มีเงินเดือนของครูผู้สอน ซึ่งเรื่องนี้ สรรพากรก็จะต้องไปดูแล” นายชาญวิทย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น