xs
xsm
sm
md
lg

เบรกรีดภาษี ร.ร.ติวเฮ! แฉรวยอู้ฟู้6.6พันล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ครม.เบรกเก็บภาษี ร.ร.กวดวิชา “มาร์ค” สั่งดูเรื่องค้ากำไรเกินควร เชือดครูกั๊กสอนในห้อง แต่ชวนไปติวก่อน พร้อมมอบศธ.-คลัง-พาณิชย์ หาทางออก แฉส่วนใหญ่เลี่ยงใช้ชื่อสถาบันกวดวิชา ทำให้หลุดรอดถูกควบคุม นักวิชาการตั้งคำถามรายได้ปีละ 6.6 พันล้าน ทำไมถึงได้รับยกเว้น

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีการเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา วานนี้ (11 ม.ค.) ว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ทำหนังสือมาถึงรัฐบาล เสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องโรงเรียนกวดวิชา 2 เรื่อง คือ 1.เรื่องของการเก็บภาษี และ 2.เรื่องความปลอดภัยในสถานที่ ทั้งนี้ ในส่วนการจัดเก็บภาษีนั้นเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งถือว่าโรงเรียนเอกชนหรือธุรกิจที่เกี่ยวกับการศึกษา ก็ไม่ได้มีการจัดเก็บภาษี แต่จะมีการควบคุมในเรื่องของค่าธรรมเนียม ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้หลังจากที่ฟังความห่วงใยจากทางป.ป.ช.แล้ว เห็นว่าน่าจะเป็น 2 ปัญหาที่ต้องเข้าไปดู คือ 1. ปัญหาว่าธุรกิจเหล่านี้นั้นมีการค้ากำไรเกินควรหรือไม่ และ 2.ธุรกิจเหล่านี้ที่เติบโตมาก มีเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือครู โรงเรียน มีส่วนผลักให้เด็กต้องต้องเข้ามาที่โรงเรียนกวดวิชาหรือไม่

ดังนั้น ทางแก้ที่ครม. เห็นว่าตรงประเด็นที่สุดคือ1.ให้ไปตรวจสอบว่าผู้ประกอบการหล่านี้มีกำไรมากน้อยแค่ไหน ถ้าเกินไปก็จะต้องดำเนินการ 2.ถ้ามีเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือครูมีส่วนผลักให้เด็กต้องต้องเข้ามาที่โรงเรียนกวดวิชาก็ต้องถือเป็นความผิด ซึ่งการบอกว่าจะไปเก็บภาษีดูเหมือนไม่ได้แก้ปัญหาอะไร

*** เล็งกำหนดเพดานค่าเรียน

เมื่อถามว่าหากมีการค้ากำไรเกินควรจะจัดการหรือดำเนินการในส่วนนี้อย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าตรวจสอบต้นทุนได้ ทางกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สามารถที่จะควบคุมอัตราค่าใช้จ่ายที่เด็กต้องเสียให้ได้ ก็ต้องไปกำหนดให้มีความเหมาะสม ซึ่งอาจจะต้องมีการกำหนดเพดานค่าเล่าเรียน เมื่อถามว่าอาจจะมีการกำหนดราคากลางจากศธ.หรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงจะไม่เป็นราคากลาง เพราะปัญหาเกิดขึ้นจากการที่ต้นทุนมันไม่เหมือนกัน

*** จี้เช็คบิลครูเมินสอนแต่แนะนร.ไปติว

เมื่อถามว่า กรณีที่มีครูเข้าไปสอนในโรงเรียนกวดวิชา จะแก้ปัญหาอย่างไรนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าเขาทำโดยปกติเป็นอาชีพของเขาก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าหากบอกเด็กในเวลาการสอนเพื่อทำให้เด็กต้องไปเรียนนั้น อย่างนี้ถือว่าผิด เมื่อถามว่า จะแน่ใจได้อย่างไรว่าทางผู้อำนวยการโรงเรียนจะไม่ส่วนรู้เห็น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงนั่นคือเด็กจะเป็นผู้ที่ให้ข้อมูล ซึ่งสามารถไปติดตามและตรวจสอบได้

*** “ชินวรณ์” เผย ครม.สั่งเบรกเอง

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นว่ายังไม่ควรจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาในขณะนี้ แต่ได้มอบให้ศธ. กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันศึกษากรณีดังกล่าวว่าจะดำเนินการอย่างไรที่จะให้โรงเรียนกวดวิชาไม่ดำเนินการแสวงหากำไรเกินควร ตลอดจนให้ไปศึกษาว่าจะจัดระบบการศึกษาอย่างไรให้มีคุณภาพ

“ศธ.ได้เสนอความเห็นต่อครม.ว่า โรงเรียนนอกระบบ ซึ่งได้แก่ โรงเรียนสอนศาสนา โรงเรียนประเภทศิลปะและกีฬา โรงเรียนประเภทวิชาชีพ โรงเรียนกวดวิชา และโรงเรียนสร้างเสริมทักษะชีวิต มีส่วนในการแบ่งเบาภาระจากรัฐบาล และมีหน้าที่ในการช่วยส่งเสริมการจัดการศึกษาในแต่ละระดับ อีกทั้งโรงเรียนนอกระบบดังกล่าวยังไม่เป็นโรงเรียนที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ฉะนั้นโรงเรียนเหล่านี้จึงอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ทั้งนี้ สช.ได้กำหนดโดยให้นำค่าใช้จ่ายของโรงเรียนรวมกับผลตอบแทนมากำหนดเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษา ไว้ที่ 20%”นายชินวรณ์กล่าว

***โยนสภาการศึกษาดูต่อ

เมื่อถามว่า ความชัดเจนที่เป็นรูปธรรมในการเก็บภาษีจะออกมาในช่วงใดนั้น นายชินวรณ์ กล่าวว่า อนุกรรมการของสภาการศึกษากำลังศึกษาในเรื่องนี้อยู่ เพราะต้องมาดูว่าหากจะเก็บภาษีจริงจะต้องจำแนกประเภทสถาบันกวดวิชาอย่างไร

*** เผยเลี่ยงใช้ “สถาบัน” ทำให้ดูแลยาก

นายชาญวิทย์ ทับสุพรรณ เลขาธิการ สช. กล่าวว่า ในส่วนของโรงเรียนนอกระบบที่ สช.ดูแลอยู่นั้น หากจดทะเบียนโดยขึ้นต้นด้วยโรงเรียน ก็จะเป็นหน้าที่โดยตรงของสช. ที่จะเข้าไปกำกับดูแล ซึ่งมีบางแห่งยังไม่จดทะเบียน ทั้งนี้ สช. ต้องไปสำรวจให้ครบถ้วน อย่างไรก็ตาม หากตั้งโดยใช้ชื่อนำหน้าว่าเป็นสถาบัน ถือเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้ สช.เข้าไปดูแลกำกับได้

*** นักวิชาการจวกยับไร้ความเป็นธรรม

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรงเรียนกวดวิชาถือเป็นธุรกิจที่มีรายได้มหาศาล เท่าที่ทราบเฉลี่ยแล้วกว่า 6,600 ล้านบาทต่อปี ซึ่งรายได้มากกมายขนาดนี้จะมายกเว้นไม่เสียภาษีได้อย่างไร ทำให้ปัจจุบันมีคนหันมาเปิดโรงเรียนกวดวิชากันจำนวนมาก

“ที่พวกเขาบอกว่าหากโดนเก็บภาษี จะเป็นการผลักภาระให้ผู้ปกครองและเด็ก โดยมีความจำเป็นที่ต้องขึ้นค่าเล่าเรียนนั้น หากคิดได้แค่นี้ก็ต้องถือว่าหน้าที่ความเป็นพลเมืองค่อนข้างต่ำ และไร้ความเป็นธรรมกับสังคมอย่างมาก ซึ่งก็ไม่ควรจะได้รับการยกเว้นอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องหารายได้เข้ารัฐ การเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาก็ยิ่งมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะตรงนี้เป็นช่องโหว่ และไม่ใช่เป็นการขูดรีดแต่อย่างใด แต่เป็นหน้าที่ของคนไทยที่มีรายได้อยู่แล้ว” อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าว

รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า โรงเรียนกวดวิชาถือเป็นกิจกรรมที่มุ่งหารายได้ ซึ่งคนละกรณีกับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีขึ้นโดยสถานศึกษาของรัฐ ถึงแม้จะมีการเก็บภาษีแล้ว ค่าเรียนเพิ่มขึ้นนั้น ตนก็เชื่อว่ายังมีเด็กเรียน เพราะตรงนี้เป็นค่านิยมที่มาจากระบบการเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาที่มีการแข่งขันสูง ก็เลยต้องไปเรียนติว หรือหากจะไม่มีการเก็บภาษีค่าเรียนก็ไม่ได้ลดลงอยู่ดี
กำลังโหลดความคิดเห็น