xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เบรกภาษีโรงเรียนกวดวิชา "ชินวรณ์"อ้างพ.ร.บ.การศึกษาห้ามเก็บ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ครม.ไม่เห็นชอบให้เก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา "ชินวรณ์" ยกพ.ร.บ.การศึกษา ห้ามไม่สามารถเก็บภาษีได้ ขณะที่ที่ประชุมให้กระทรวงศึกษาฯ ดูแลวินัยครู ให้สอนเด็กเต็มเวลา และให้ความรู้ที่รอบคอบ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (11 ม.ค.) ที่ประชุมไม่อนุมัติข้อเสนอจัดเก็บภาษีนิติบุคคลโรงเรียนกวดวิชา ข้อเสนอของ สำนักงานป้องกันเเละปราบปรามการทุจริตเเห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมทั้งข้อเสนอเรื่องความปลอดภัยของสถานที่ตั้งของโรงเรียน

ทั้งนี้ที่ประชุมครม. เห็นว่า เรื่องความปลอดภัยในสถานที่ตั้งของโรงเรียนไม่ได้มีปัญหาอะไร ส่วนในเรื่องของการจัดเก็บภาษี จะต้องมีการควบคุมเรื่องค่าธรรมเนียบ ใน 2 ส่วน คือ 1.ธุรกิจมีกำไรเกิดควรหรือไม่ 2.ธุรกิจที่มีการเติบโตขยายตัวอย่างกว้างขวางนั้น เกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ หรือครูผลักดันให้เด็กนัเรียนไปเรียนเสริมหรือไม่

"กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะต้องเข้าไปดูว่า หากมีเจ้าหน้าที่หรือครู มุ่งหวังผลทางธุรกิจก็จะมีความทางผิดวินัย จึงขอร้องให้ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น นักเรียน นักศึกษา ให้ข้อมูลกับทางรัฐด้วย อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการกำหนดราคาค่ารายวิชา นั้น ยังไม่สามารถกำหนดเป็นราคากลางได้ เนื่องจากมีต้นทุนเเตกต่างกัน เช่น บางสถานที่มีการจ้างบุคคลากรมาสอน เเต่บางสถานที่ใช้วิธีการเปิดซีดีให้ฟังเท่านั้น"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม ครม. ในที่ประชุม ครม. นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ ให้ความเห็นว่าการเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาไม่สามารถทำได้ เพราะใน พ.ร.บ.การศึกษา กำหนดให้ไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ครม.ยังให้กระทรวงศึกษาธิการไปดูแลเรื่องวินัยครู ที่ควรต้องสอนเด็กให้เต็มเวลาและให้ความรู้ที่ครอบคลุม และมอบให้กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง ดูหลักเกณฑ์ไม่ให้โรงเรียนแสวงหากำไร

ก่อนหน้านี้ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันกรมสรรพากรไม่ได้เก็บรายได้จากสถาบันกวดวิชา ทั้งรูปของภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นหากจะจัดเก็บภาษีสถาบันกวดวิชา ก็สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอการปรับโครงสร้างภาษีของกรมสรรพากร

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ระบุว่า ปี 2550 มีโรงเรียนกวดวิชาที่จดทะเบียนทั่วประเทศ 1,078 แห่ง แบ่งเป็นในเขต กรุงเทพฯ 334 แห่ง ต่างจังหวัด 744 แห่ง มีครูที่สอนอยู่ในโรงเรียนเหล่านี้ 7,199คน และมีนักเรียนที่เรียนกวดวิชาประมาณ 353,060 คนต่อปี

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประเมินว่า ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชามีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยมีรายได้จากค่าธรรมเนียมราว 6,039 ล้านบาท โดยผู้ปกครองต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเรียนกวดวิชาของบุตรหลานเดือนละประมาณ 1,000-3,000 บาท ซึ่งกรมสรรพากร คำนวณว่า หากรัฐจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาทั้งในและนอกระบบจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้ประมาณ 4,000 ล้านบาท



กำลังโหลดความคิดเห็น