โรงเรียนกวดวิชา ได้รับอานิสงค์ จาก ประมวลรัษฎากรมาตรา 42 (17) และกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) รวมทั้งพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ไม่ต้องเสียภาษีทุกประเภทให้แก่รัฐ ปีหนึ่งๆ เสียแค่ภาษีป้าย 1- 2 พันบาท ตามขนาดของป้ายและตัวอักษร
ข้อยกเว้น ตามกฎหมายเหล่านี้ ซึ่งมีอายุนานถึง 40 กว่าปีแล้ว เห็นว่า การศึกษา ไม่ใชกิจการที่มีเป้าหมายเพื่อหากำไร แต่เป็นกิจการที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศชาติ จึงไม่ควรเก็บภาษีใดๆ ข้อยกเว้นนี้ เข้าใจว่า ยกเว้นให้กับโรงเรียนในระบบของเอกชนเป็นหลัก แต่โรงเรียนกวดวิชา และโรงเรียนนอกระบบอื่นๆ เช่น โรงเรียนวิชาชีพ โรงเรียนที่สอนทักษะเฉพาะด้านก็พลอยได้รับการยกเว้นไปด้วย
แต่ข้อเท็จจริงในปัจจุบัน การศึกษาได้หลายเป็นสินค้าเต็มรูปแบบไปแล้ว โดยเฉพาะการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ทั้งของรัฐและเอกชน ต่างคิดค้น ออกแบบหลักสูตรกันอย่างหลากหลาย ให้สอดคล้องกับศักยภาพในการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายกลุ่มต่างๆในท้องตลาด เพื่อเป็นแรงจูงใจให้มีผู้มาสมัครเรียนให้มากที่สุด โดยมีหลักการในการบริหารหลักสูตรว่า "เรียนง่าย จ่ายครบ จบแน่"
โรงเรียนกวดวิชาก็เช่นเดียวกัน ที่ได้กลายเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ และเป็นธุรกิจที่ทำกำไรให้กับเจ้าของโรงเรียน และทำรายได้ให้กับครูผู้สอนอย่างงาม เพราะเป็นธุรกิจทีมีต้นทุนต่ำ แต่รายได้สูง
โดยทั่วๆไป ค่ากวดวิชาที่คิดกันเป็นรายวิชา วิชาหนึ่งคิดกันในราคา 2,500-3,000 บาท ต่อ 1 ภาคการศึกษา เรียนแค่สัปดาห์ละ 1 วัน วันละ 1 ชั่วโมง วิชาหนึ่งในแต่ละภาค มีผู้สมัครเรียนหลายพันคน ขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของผู้สอน รายได้ที่โรงเรียนได้รับจึงมากมาย ในขณะที่ คนเรียนจะมากมายเพียงใด ต้นทุนวิชาความรู้ในวิชานั้นๆ คงที่ เมื่อเฉลี่ยออกมาเป็นต้นทุนต่อหน่วยแล้ว ต่ำมาก เพราะใช้ระบบการอัดเทป ให้นักเรียน เรียนจากจอมอนิเตอร๋เป็นส่วนใหญ่
แต่ "ความรู้" ถือว่า เป็นของมีค่า ไม่ควรต่อรองราคา โรงเรียนตั้งราคามาอย่างไร พ่อแม่ผู้ปกครองต่างก็เต็มใจจ่าย เพราะขอแค่ให้มีที่เรียนก็เป็นบุญนักหนาแล้ว
มาบัดนี้ เมื่อ กระทรวงการคลัง คิดว่า จะเก็บภาษีเงินได้จากธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา ตามผลการศึกษาของ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ซึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ก็เพราะมีผู้ไปร้องเรียนกับ ป.ป.ช. ว่า มีหน่วยงานของรัฐ ละเว้นการเก็บภาษี จากโรงเรียนกวดวิชาซึ่งมีรายได้สูงมาก โดยจะเสนอให้ คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นในเชิงหลักการในวันนี้
สำหรับเจ้าของโรงเรียนกวดวิชา แน่นอนว่า ต้องคัดค้านเรื่องนี้อย่างเต็มที่ เพราะจะต้องเจียดรายได้ส่วนหนึ่งไปจ่ายภาษีให้กับรัฐ เหมือนธุรกิจทั่วๆไป หลังจากที่ไม่ต้องเสียภาษีมานานนับสิบปี และเหตุผลทีเจ้าของโรงเรียนจะยกขึ้นมาอ้าง ก็คือ การเป็นสถาบันการศึกษา ที่ให้การส่งเสริมการศึกษาแก่เยาวชน และหนีไม่พ้น การจับเด็กนักเรียน และผู้ปกครองเป็นตัวประกัน โดยขู่ว่า หากรัฐเก็บภาษี จะผลักภาระให้ผู้ปกครอง
โรงเรียนกวดวิชา เกิดขึ้นเพราะ เป้าหมายที่ผิดๆของระบบการศึกษา และค่านิยมสังคมไทย ที่ทำให้ การศึกษา เป็นการสอบแข่งขัน เอาคะแนน เพื่อเลื่อนขั้นไปสู่ การศึกษาในระดับที่สูงกว่า จากอนุบาล สู่ชั้นประถม จากประถมขึ้นมัธยม จากมัธยมเข้าสู่มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และระบบวัดผลในระดับมัธยมศึกษา เปลี่ยนแปลงเป็นระบบใหม่ ที่เอาผลคะแนนการสอบในระดับมัธยมกันทุกๆ ปี ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบใหม่นี้ ทำให้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ทีมีกำลังพอ จำเป็นต้อง "ขุน" ลูกของตัวเองตั้งแต่ชั้น ม.ศ. 1 ด้วยการส่งไปเรียนกวดวิชา ทุกปี เพื่อให้มีคะแนนสอบดีๆ ทึกปี จนกว่า จะจบ ม.ศ. 6
ต่างจากในอดีต เมื่อสิบกว่าปีก่อน ที่ระบบเอ็นทรานซ์เป็นการแข่งขันแบบ "ตัดเชือก" วัดกันตอนสอบครั้งเดียว นักเรียนที่จะเรียนกวดวิชาส่วนใหญ่ คือ นักเรียนชั้น ม.ศ. 5 ในระบบเก่า หรือ ม.ศ. 6 ในระบบใหม่ ที่กำลังจะสอบเอ็นทรานซ์
ไม่มีข้อพิสูจน์ว่า เอนทรานซ์แบบเดิม กับระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบใหม่ แบบไหนจะทำให้นักเรียนมีความรู้ดีกว่ากัน มีแต่หลักฐานที่ชัดเจนว่า ระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบที่ใช้กันอยุ่ ทำให้นักเรียน และผู้ปกครอง มีการเครียดและความกดดัน เพิ่มขึ้นทุกๆปี จนกว่า ลูกจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้
โรงเรียนกวดวิชา ยังเกิดขึ้น และเติบใหญ่ จากปัญหาความไม่มีคุณภาพ ของระบบการเรียน การสอนในโรงเรียน เพราะครู ผุ้สอน นั้น ก็อยู่ในสภาพที่ไม่ต่างนักเรียน คือ ถูกวัดผลการสอน ในเชิงปริมาณ วัดผลงานด้วย การเขียนรายงานวิชาการ มากกว่า ความสามารถในการสอน และความรู้ที่จะถ่ายทอดให้ลูกศิษย์
โรงเรียนกวดวิชาเกิดขึ้น จากช่องว่าง และความผิดพลาดของระบบการศึกษาเหล่านี้ เป็นโอกาสทางธุรกิจ โดยมี การศึกษา เป็น สินค้าและบริการ โรงเรียนกวดวิชา เป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ ในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษา แต่โรงเรียนกวดวิชาก็เป็น ธุรกิจ ที่มีกำไรมาก จึงควรจะต้องเสียภาษีเหมือนธุรกิจทั่วๆไป อย่าอ้าง ความเป็นสถาบันการศึกษาเพียงด้านเดียว ไม่พูดถึง ความเป็นธุรกิจ
ในการตั้งโรงเรียนกวดวิชานั้น เจ้าของผู้ลงทุน คิดถึงเรื่องไหนก่อน คิดว่า จะบริหารจัดการอย่างไรให้ได้กำไรสูงสุด หรือคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะให้นักเรียนที่มาเรียนมีความรู้เพิ่มขึ้น ทำอย่างไรจึงจะให้ พ่อแม่ที่มีฐานะยากจน สามารถส่งลูกหลายเข้ามาเรียนกวดวิชาได้เหมือนกับลูกหลานของชนชั้นกลางอื่นๆ และวัตถุประสงค์ในการเปิดโรงเรียนกวดวิชาคืออะไร เพื่อส่งเสริมการศึกษาของเยาสชน หรือ เพื่อกำไร เจ้าของโรงเรียนก้รู้อยู่แก่ใจดี
นายอนุสรณ์ ศิวะกุล นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา เจ้าของโรงเรียนกวดวิชาวรรณสรณ์ (เคมี อ.อุ๊) กล่าวว่า ในความเป็นจริงโรงเรียน กวดวิชาแบรนด์ดังประมาณ 10 แห่ง ซึ่งครองตลาดประมาณ 80-90% รวมกันแล้ว มีรายได้แบบยังไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆ รวมกันไม่เกิน 1,500-2,000 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น ที่พูดว่าจะเก็บภาษีจากโรงเรียนกวดวิชาได้ปีละ 4,000 ล้านบาทนั้น เป็นไปไม่ได้
ประเด็นในเรื่องเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชานั้น ไม่ได้อยู่ที่โรงเรียนมีรายได้เท่าไร แต่อยู่ที่เมื่อทำธุรกิจแล้ว มีกำไร ก็ควรจ่ายภาษีด้วย และรายได้ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่าย ปีละ 1,500-2,000 ล้านบาทต่อปี ของโรงเรียนกวดวิชาดังๆรวมกันนั้น ก็เป็นการฟ้องอยู่ในตัวว่า ธุรกิจนี้มีรายได้สูงมาก เป็นเรื่องถูกต้องแล้วหรือ ที่ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชา จะอ้าง การศึกษา เป็นเหตุผลในการหลบเลี่ยงภาษี