xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจหมื่นล้านในร่มเงาการศึกษา ภาษีธุรกิจ ‘โรงเรียนกวดวิชา’ ควรเก็บหรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากที่มีการเปิดธุรกิจนี้มานานกว่า 40 ปี 'โรงเรียนกวดวิชา' ก็ดูเหมือนจะได้รับความนิยมอย่างมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ทุกอย่างมีการแข่งขันกันอย่างสุดเหวี่ยง รวมทั้งการแข่งขันเรื่องการศึกษา เด็กนักเรียนจำนวนไม่น้อยต่างมุ่งหวังที่จะเรียนได้ดี สอบได้อันดับที่ต้นๆ ได้คะแนนเต็ม หรือสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนที่ปรารถนา

เหตุผลไม่กี่ประการนี่เองที่ทำให้ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาเกิดขึ้นและเติบโตราวกับดอกเห็ด โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร และหัวเมืองตามจังหวัดต่างๆ

ที่ผ่านมาโรงเรียนกวดวิชาไม่ได้เสียภาษีธุรกิจ โดยอาศัยกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2549) และ พ.ร.ฎ. ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2500 ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร โดยกำหนดให้โรงเรียนกวดวิชาได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ จนเมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอผ่านกระทรวงการคลังให้เรียกคณะรัฐมนตรี (ครม.) เก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา

ทว่า คำถามที่ต้องตีความกันใหม่ในยุคนี้ก็คือ โรงเรียนกวดวิชาถือเป็นสถานศึกษาหรือว่าเป็นการประกอบธุรกิจกันแน่ เพราะจากข้อมูลล่าสุดของปี 2553 พบว่า รายได้ของธุรกิจนี้อยู่ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และมีกำไรขั้นต่ำ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต้องถือว่าเป็นตัวเงินที่สูงไม่ใช่เล่น

ล่าสุด นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้โดยเห็นว่า โรงเรียนกวดวิชาถึงจะเป็นธุรกิจก็จริง แต่ก็เป็นเรื่องของการศึกษา จึงไม่ควรมีการเก็บภาษี แต่จะมีการควบคุมค่าธรรมเนียมแทน ดังนั้น จึงควรมุ่งไปที่การตรวจสอบโรงเรียนกวดวิชาว่า มีการค้ากำไรเกินควรหรือไม่ และครูในโรงเรียนปกติผลักดันให้เด็กนักเรียนไปเข้าโรงเรียนกวดวิชาหรือไม่

เมื่อกวดวิชาต้องเสียภาษีธุรกิจ

ประเด็นนี้ถูกหยิบยกมาให้อยู่ในกระแสอีกครั้ง อนุสรณ์ ศิวะกุล นายกสมาคมผู้บริหารและครูโรงเรียนกวดวิชา บอกว่า แต่เดิมโรงเรียนกวดวิชาที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ ไม่จำเป็นต้องเสียภาษีธุรกิจ หากรัฐบาลมองว่า เป็นธุรกิจเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์เหมือนนิติบุคคลทั่วไป ก็ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7 เปอร์เซ็นต์ เพราะรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทอยู่แล้ว และหลังจากนั้นก็ได้เสียภาษีเงินได้กำไรสุทธิอีก 30 เปอร์เซ็นต์

ทว่า เมื่อโรงเรียนกวดวิชาเป็นธุรกิจเป็นประเภทหนึ่ง ก็ควรจะต้องมีบทบาทในการเสียภาษีด้วยหรือไม่ ในเรื่องนี้ อนุสรณ์บอกว่า หลายคนเข้าใจผิดว่า โรงเรียนกวดวิชาไม่ได้เสียภาษีแม้แต่อย่างเดียว แต่ในข้อกฎหมายเว้นให้เฉพาะภาษีธุรกิจกับภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ยังต้องเสียภาษีรายได้บุคคลอยู่ เว้นแต่พวกโรงเรียนเถื่อน ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีเลย เนื่องจากไม่อยู่ในระบบ และบางทีก็ไม่มีคนไปตรวจสอบด้วยซ้ำ

"จริงๆ มันอยู่ที่นโยบายของรัฐมากกว่า ถ้ารัฐคิดว่าจำเป็นต้องมีรายได้แล้วก็ยังขยายฐานภาษีเพิ่มขึ้น ผมก็มองว่ารัฐควรจะมองให้มันครอบคลุม อย่าทำให้มันลักลั่นหรือเลือกปฏิบัติ เพราะโรงเรียนทั้งหมดมันอยู่ในเงื่อนไขของกฎหมายเดียวกัน เวลาคุณจะหยิบใครออกไปจากเงื่อนไข ถ้าบางส่วนหยิบบางส่วนไม่หยิบ คุณก็ต้องมีคำตอบที่ดีว่า ทำไมโรงเรียนกวดวิชาถึงเสีย แล้วทำไมที่คล้ายๆ กันถึงไม่เสีย เช่น โรงเรียนสอนภาษา โรงเรียนคอมพิวเตอร์ โรงเรียนเสริมสวย สอนทำอาหาร รวมทั้งมหาวิทยาลัยเอกชน”

ส่วนในมุมของเชาวลิต (ขอสงวนนามจริง) ผู้ซึ่งทำมาหากินอยู่ในแวดวงการกวดวิชาที่มีหน้าร้านที่ทำตัวเป็นเสมือนคนกลางในการจัดหาติวเตอร์ให้แก่นักเรียนที่ต้องการครู โดยคิดค่านายหน้าเล็กๆ น้อย ในการทำให้ติวเตอร์และลูกศิษย์มาเจอกัน บอกว่า

“โดยส่วนตัวผมก็คิดนะว่า ควรจะมีการเก็บภาษี เพราะต้นทุนที่เขาเสียและผลกำไรที่ได้รับนั้นมันต่างกันมาก แต่ถ้ามีการเก็บภาษีแล้ว เราก็ต้องยกให้อาชีพสอนพิเศษนั้นเป็นวิชาชีพหนึ่ง มีหน่วยงานมากำกับดูแล มีสวัสดิการเป็นเรื่องเป็นราว อย่างก่อนหน้านี้มีเรื่องไข้หวัดนกขึ้นมา รัฐก็สั่งให้โรงเรียนหยุดไปเลย 3 วัน 5 วัน ซึ่งไม่ได้สนว่าจะมีผลกระทบต่อโรงเรียนหรือไม่”

ดูภาษีธุรกิจอย่างอื่นบ้าง

หากกระทรวงการคลังมองแล้ว เห็นว่าโรงเรียนกวดวิชาก็เป็นธุรกิจเหมือนกัน มีรายได้ไม่แตกต่าง ก็ควรคิดว่าอันไหนควรส่งเสริมอันไหนไม่ส่งควรเสริมอนุสรณ์บอกอีกว่า

“คุณก็บอกไปเลยว่า ธุรกิจนี้ไม่ส่งเสริมเหมือนเหล้าบุหรี่ที่เก็บภาษีแพงๆ และธุรกิจไหนที่ส่งเสริมก็เก็บภาษีน้อย เพราะฉะนั้นถ้าวันนี้รัฐบาลบอกชัดเจนว่าอะไรเป็นอะไร อย่างกวดวิชาไม่ส่งเสริมเพราะเห็นว่าไม่มีประโยชน์ ไม่สร้างสรรค์หรือทำประโยชน์ให้แก่ผู้เรียน เดี๋ยวผู้เรียนเขาก็จะเป็นคนบอกเองว่าจะยังเรียนหรือเปล่า จะให้เขารับภาระหรือเปล่า"

ไม่เพียงแค่นี้ อนุสรณ์ยังต่อประเด็นอีกว่า หากรัฐต้องการขยายฐานภาษีจริงๆ ก็ไม่ควรจะมองว่าแค่เรื่องการศึกษาเท่านั้น แต่ยังต้องไปดูในวงการอื่นด้วยๆ ว่าปัจจุบันเก็บภาษีแบบไหน

"ทุกวันนี้เหล้า บุหรี่เสียภาษีแพง เพราะเป็นภาษีบาป แต่ถามว่าผับ บาร์ อาบอบนวดเก็บภาษียังไง คิดว่าเป็นอบายมุขไหม แต่ก็ยังเก็บปกติ เหมือนธุรกิจทั่วๆ ไป เสียภาษี 7 กับ 30 เปอร์เซ็นต์เหมือนกัน ถ้าผมโดนเก็บแบบนี้ ผมก็ไม่ต่างกัน ซึ่งถ้ามองแบบนี้ คำถามก็คือทำไมไม่เก็บผับ บาร์ให้มากๆ เพราะรัฐไม่ส่งเสริมเหมือนกัน"

หัวอกเด็กและผู้ปกครอง

ณัชชา เขียวลงยา นักเรียน โรงเรียนเบญจมราชาลัย ในพระบรมราชูปถัมถ์ ที่เรียนกวดวิชาภาษาอังกฤษ เพื่อเพิ่มความรู้เรื่องคำศัพท์ โดยเสียค่าใช้จ่ายคอสละ 2,700 บาท ซึ่งจะเรียนสัปดาห์ละ 1 วัน บอกว่า

“ไม่ควรเก็บภาษีเพิ่มนะคะ เพราะถ้ามีการเก็บเพิ่ม เราอาจจะต้องเสียค่าเรียนเพิ่มด้วย บางคอร์สมันก็ดูแพงเกินความจำเป็นนะ”

ถึงณัชชาจะมองว่าบางคอร์สแพงเกินไป แต่เธอก็ยินดีเรียนพิเศษเพิ่มเติมจากการเรียนในห้องปกติ เพราะเป็นการเพิ่มความรู้ด้านที่ต้องการ และสามารถช่วยในการเรียนห้องปกติได้มากด้วย

ส่วนสุธิมาพร ศรีพรัตน์ นักเรียนโรงเรียนวัดประดู่ในทรงธรรม นักเรียนที่เรียนกวดวิชาเคมี อ.อุ๊ เล่าว่า การเรียนกวดวิชามีความจำเป็นสำหรับตัวเองมาก เพราะเวลาเรียนที่ห้องเรียนจะไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่

“ไม่ถือว่าเป็นการสิ้นเปลืองนะคะ เพราะเรียนพิเศษเรียนไปก็ได้ความรู้เพิ่ม เอาเงินเพื่อไปใช้ในการศึกษาดีกว่าเอาเงินไปทำอะไรที่ไร้สาระแล้วไม่ได้อะไรดีกว่าค่ะ”

สุนันทา ช้างทอง ผู้ปกครองที่มีลูกในวัยเรียนและเรียนกวดวิชาอยู่ด้วยมองว่า การเรียนกวดวิชาจำเป็นสำหรับลูก เพราะลูกไม่ค่อยเก่งวิชาคณิตศาสตร์

“ถ้าไม่เก็บภาษีเงินที่เราเสียไปทางโรงเรียนก็ได้เต็มที่ แต่ถ้าเก็บภาษีก็ได้เอาเงินส่วนนี้มาพัฒนาบ้านเมืองต่อไปคะ แต่เราคิดว่าถ้าเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชาอาจต้องเพิ่มค่าเรียนพิเศษแน่นอน”

ผู้ปกครองอีกคนที่มีลูกอยู่ในวัยที่เรียนกวดวิชาอย่าง ชัยสิทธิ์ ชนะภัย บอกว่าการส่งลูกเรียนกวดวิชามันขึ้นอยู่กับความสมัครใจของพ่อแม่ผู้ปกครองว่ารับได้ไหมหากการเรียกเก็บภาษีและอาจจะมีการเสียค่าเรียนเพิ่มขึ้นก็คงไม่ใช่ปัญหาอะไร

“ส่วนตัวคิดว่าอาจมีผลกระทบบ้าง ถ้าต้องขึ้นค่าเล่าเรียน เพราะเท่ากับว่าเราต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น แต่เวลาหรือคุณภาพในการเรียนเท่าเดิม หากเป็นปัญหามากก็อาจหยุดส่งลูกไปเรียนเลยก็ได้”
………

อย่างไรก็ตาม หากนโยบายนี้ออกมาใช้จริงๆ นอกจากผู้บริโภคจะต้องรับผลกระทบแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นก็คือ การอาจจะต้องลดต้นทุนลงเรื่องที่ไม่จำเป็น เช่น ความสะดวกสบายที่อาจจะดีเพียงระดับหนึ่ง ส่วนเรื่องคุณภาพคงจะไม่มีด้อยลงแน่นอน แต่น่าจะมีการแข่งขันกันมากขึ้น เพราะเมื่อค่าเรียนแพงขึ้น ผู้เรียนก็ต้องคิดหนักมากขึ้นว่าจะตัดสินใจลงทะเบียนที่ไหนดี ถึงจะได้ประโยชน์สูงสุด

>>>>>>>>>>
………

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK




กำลังโหลดความคิดเห็น