เอเจนซี - หน่วยงานรัฐบาลเมืองผู้ดีเปิดตัวเว็บไซต์ใหม่ช่วยชั่งน้ำหนักว่าการแยกทางจากคู่ครองจะนำมาซึ่งข้อดี-เสียทางการเงินอย่างไร เรียกเสียงวิจารณ์เซ็งแซ่ว่าส่งเสริมให้คนหย่าร้างแทนที่จะช่วยหาทางแก้ไขปัญหา
‘มาย ดิวอร์ซ แอนด์ เซพาเรชัน คัลคูเลเตอร์’ ที่พัฒนาโดยสำนักงานการศึกษาการเงินของผู้บริโภค (ซีเอฟอีบี) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลอังกฤษ เป็นเว็บไซต์แห่งแรกที่ช่วยให้คู่แต่งงานกะงบประมาณ ทบทวนหนี้ และสถานการณ์การเงินภายหลังการหย่าร้าง
ผู้สนับสนุนเห็นดีเห็นงามว่าเว็บไซต์ดังกล่าวจะช่วยให้คู่แต่งงานที่มีชีวิตสมรสไม่น่าพิสมัยอีกต่อไป ลดค่าใช้จ่ายในการว่าจ้างทนายความระหว่างตัดสินใจอนาคตของตนเอง
บริการนี้ที่ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อ สามารถเข้าถึงได้ผ่านเว็บไซต์ของสำนักงานการศึกษาการเงินของผู้บริโภค ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นปีที่แล้วโดยสำนักงานบริการการเงินของอังกฤษ (เอฟเอสเอ)
ระบบจะแนะนำให้ผู้ใช้ใส่ข้อมูลรายได้ รวมถึงสวัสดิการ บำนาญ และดอกเบี้ยธนาคาร ตลอดจนค่าใช้จ่าย เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ บัตรเครดิต ประกันชีวิต ค่าขนมและค่าเล่าเรียนของลูก และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับงานอดิเรกต่างๆ
หลังจากนั้นระบบจะคำนวณว่าผู้ใช้จะได้รับทรัพย์สินเท่าใดโดยอิงจากมูลค่าที่ต้องการ นอกจากนี้ยังมีตัวเลือกแนะนำบริการนี้แก่เพื่อน หรืออีเมลที่อยู่เว็บไซต์นี้แก่เพื่อน
ดร.เดวิด กรีน จากกลุ่มคลังสมอง ซิวิตาส์ วิจารณ์ว่าระบบคำนวณดังกล่าวมองข้ามความศักดิ์สิทธิ์ของการแต่งงาน
สตีเฟน กรีน จากกลุ่มรณรงค์ คริสเตียน วอยซ์ สำทับว่า “ถ้าจะร่างรายการสิ่งสำคัญระหว่างพิจารณาว่าจะหย่าหรือไม่ คุณไม่ควรเริ่มต้นจากผลลัพธ์ทางการเงิน แต่ควรปรึกษาลูกๆ มากกว่า”
กรีนยังกังวลว่า ระบบดังกล่าวจะเท่ากับเป็นการสนับสนุนแนวคิดที่ว่าการหย่าร้างเป็นขั้นตอนต่อเนื่องปกติธรรมดาของการแต่งงาน
“ระบบนี้บ่งชี้ว่าการหย่าร้างเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ทางสังคม ซึ่งน่าเป็นห่วงมากเพราะการคำนวณทางการเงินไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนทางอารมณ์ของลูกๆ หรือพ่อแม่”
ดร.เอเดรียน โรเจอร์ส ผู้สนับสนุนสถาบันครอบครัว ขานรับว่าความสำคัญของการแต่งงานกำลังถูกบั่นทอนจากการยอมรับของคนกลุ่มใหญ่ที่อายุต่ำกว่า 50 ปีลงไป
“สิ่งที่คนอายุไม่ถึง 50 ปีไม่เข้าใจก็คือ ถ้าคุณอยากมีเงิน สุขภาพดีและมีความสุข คุณควรแต่งงานเพราะนั่นหมายถึงเสถียรภาพทางการเงิน”
ซีเอฟอีบีก่อตั้งขึ้นโดยเอฟเอสเอเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจปัญหาทางการเงิน โดยได้ทุนสนับสนุนจากภาษีที่เรียกเก็บจากธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ
โฆษกของซีเอฟอีบีได้ออกมาปกป้องระบบคำนวณการหย่าร้าง โดยบอกว่าเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับคนที่มีปัญหาในการตัดสินใจ
“เราไม่ได้ตัดสินว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของคนที่เข้ามาใช้บริการ”