xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อาชีพในอนาคตคือ ต้นทุนการศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมพงษ์ จิตระดับ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การเข้าศึกษาต่อของนักเรียนในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา มีปัญหา “แป๊ะเจี๊ย”

โรงเรียนเกรด เอ ของประเทศไทยคิดค่าแป๊ะเจ๊ยะ ระดับประถมศึกษาขั้นต่ำ 150,000 บาท ระดับมัธยมศึกษา ขั้นต่ำ 300,000 บาท

ขณะที่การเข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัย กลับมีปัญหาเรื่อง “การรับตรง”

“ชินวรณ์ บุณยเกียรติ” รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) จึงเตรียมการทบทวน และปรับปรุงระบบการเปิดรับตรงใหม่ ภายหลังผู้อำนวยการโรงเรียนหลายแห่งระบุ การที่มหาวิทยาลัยเปิดรับตรงจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหานักเรียนชั้น ม.6 ทิ้งห้องเรียนไปกวดวิชา และวิ่งรอกสอบรับตรง

โดยนักเรียนบางคนสมัครสอบรับตรงมากถึง 16 คณะ

ทำให้นักวิชาการ เรียกร้องให้ภาคการเมืองเข้ามาแทรกแซงแก้ปัญหาการรับตรง

รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการนโยบายปฏิรูปการศึกษา ในทศวรรษที่ 2 (กนป.) ทาง กนป. ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการแก้ไขปัญหาทั้งการรับผ่านระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางหรือแอดมิชชั่น และระบบการรับตรงมาก 

“ กนป.เห็นตรงกันว่าถ้ายังไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาอื่นๆ ของการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ได้สำเร็จ”

มหาวิทยาลัยรู้ดีว่าการรับตรงเป็นการแย่งเด็ก หากินกับค่ารับสมัครและการสอบเข้า แต่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก แม้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะรับเป็นเจ้าภาพจัดตั้งศูนย์รับตรง แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย เพราะไม่ไว้ใจกัน จึงเกิดความโกลาหลขึ้น และเชื่อว่าจะยิ่งวุ่นวายมากขึ้นทุกปี ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ฝ่ายการเมืองต้องแทรกแซง และต้องใช้ความกล้าหาญกำหนดทิศทางการรับเด็กของมหาวิทยาลัย โดยต้องจัดระเบียบการรับตรงให้ทุกแห่งสอบพร้อมกัน กำหนดอัตราขั้นต่ำค่าสมัคร เพราะรับตรงทำให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำ โดยค่าเฉลี่ยการสมัครรับตรงของเด็ก ประมาณ 3,000 บาทต่อคนต่อ 1 สถาบัน

ไชยยศ จิรเมธากร รมช.ศึกษาธิการ (ศธ.) ยอมรับว่า อำนาจในการคัดเลือกนิสิต นักศึกษาเป็นของมหาวิทยาลัยโดยตรง รัฐมนตรีไม่สามารถที่จะไปก้าวก่ายได้ แต่ต้องยอมรับเช่นกันว่าเรามีปัญหาแอดมิชชั่นกลางและรับตรงจริงๆ ทั้งแอดมิชชั่นกลางที่ยังไม่สามารถที่จะทำให้มหาวิทยาลัยคัดเด็กได้ตรงตามความต้องการ จนมหาวิทยาลัยต้องหนีไปรับตรง

“นักเรียนต้องวิ่งรอก และเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ที่ผ่านมาพยายามขอความร่วมมือจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ให้ปรับสัดส่วนองค์ประกอบต่างๆ ในการคัดเลือก เพื่อให้เป็นไปตามที่คณะต่างๆ ต้องการ จากนี้จะรอดูว่า ทปอ.ตัดสินใจอย่างไร” ไชยยศ บอกถึงสิ่งที่ได้ทำมา

ประสาท สืบค้า ประธาน ทปอ. แสดงความไม่สบายใจเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งปัญหานักเรียนทิ้งห้องเรียนไปกวดวิชา และเร่สอบตามภูมิภาคต่างๆ ซึ่งผลส่งให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม เพราะนักเรียนที่ไม่มีเงิน ก็ไม่สามารถกวดวิชาได้ อีกทั้งไม่มีเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสอบตามภาคต่างๆ ส่งผลให้ขาดโอกาส

ก่อนหน้านี้มีปัญหาว่าคณะที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ และใช้คะแนน PAT 2 ได้เด็กที่คุณสมบัติไม่ตรงกับความต้องการเข้าไปเรียน และต้องยอมรับว่าคะแนนวัดความถนัดทั่วไป (GAT) และคะแนนวัดความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ (PAT) เพิ่งนำมาใช้ในระบบแอดมิสชั่นส์เพียงปีเดียว คือปีการศึกษา 2553 แต่ก็น่าจะศึกษาจุดอ่อนจุดแข็งในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น

นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้แจงการเปิดรับตรงว่า จุฬาฯมีนโยบายชัดเจนว่าคณะ/สาขาวิชาที่เปิดรับตรง ต้องใช้ข้อสอบกลางคัดเลือก ได้แก่ คะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต, GAT และ PAT โดยไม่เปิดสอบใหม่ เพื่อไม่สร้างความเดือดร้อนให้เด็ก และผู้ปกครอง ยกเว้นคณะ/สาขาวิชาที่มีเหตุผลเชิงปรัชญาที่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาแป๊ะเจี๊ย และการรับตรงของมหาวิทยาลัย ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาอย่างครบวงจรเสียทีเดียวนัก
 

ข้อเท็จจริงของการประกอบอาชีพต่างหาก คือ ต้นเหตุของความต้องการผู้ปกครองที่ผลักดันให้ลูกหลานเข้าศึกษาในสถานศึกษา เกรดเอ

ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัย

เสมือนหนึ่งเป็น “การซื้อสังคม” ให้ลูกของพ่อแม่

แต่อาชีพด้านแวดวงวิชาการ เช่น ครู อาจารย์ กลับเป็นอาชีพที่ไม่ใครต้องการมากนัก แม้จะเป็นอาชีพที่สร้างมหาเศรษฐีของโลกก็ตาม 
 
แม้กระทั่งในต่างประเทศ

โดยมีความพยายามจำนวนมากในการเพิ่มประสิทธิภาพของโรงเรียนในสหรัฐ ด้วยการมุ่งไปที่การเพิ่มทักษะของครู หรือรักษาคนที่มีคุณภาพ และเอาคนที่ไม่มีคุณภาพออก

แต่ประเด็นสำคัญคือ แรงจูงใจของคนที่อาจจะเป็นครูในอนาคตมีน้อยมาก

ตรงกันข้าม ประเทศที่มีระบบการผลิตคนที่มีคุณภาพอย่างฟินแลนด์ สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ การรับสมัครบุคคคลที่ต้องการเป็นครูอาจารย์ จะมาจากนักเรียนที่มีผลการเรียน 3 อันดับแรกของห้องเรียน

เมื่อเร็วๆนี้ แมคคินซี่ได้สำรวจความคิดเห็นของนักเรียนที่มีผลการเรียน 3 อันดับแรกของวิทยาลัยจำนวน 1,500 คนในสหรัฐ เพื่อสำรวจแรงจูงใจที่จะประกอบอาชีพครูอาจารย์

ผลการสำรวจพบว่า นักเรียนที่เรียนเก่งส่วนใหญ่ไม่ได้วางแผนที่ประกอบอาชีพด้วยการเป็นอาจารย์หรือครู

มีเพียง 33% เท่านั้นที่บอกว่าสามารถดูแลครอบครัวได้ด้วยการประกอบอาชีพอาจารย์หรือครู
เมื่อแปรียบเทียบระหว่างนักเรียนที่มีผลการเรียนดีในสหรัฐ และนักเรียนที่มีผลการเรียนดีในประเทศอื่นๆ แล้ว ปรากฎว่า ช่องว่างทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น

ทั้งนี้ผลการสำรวจ ประกอบด้วย

69% ของนักเรียนเหล่านั้น บอกว่า ครอบครัวรู้สึกภาคภูมิใจที่จะบอกว่าลูกประกอบอาชีพอาจารย์

66% ของนักเรียน บอกว่า เขารู้สึกภาคภูมิใจที่จะบอกคนอื่นว่า เป็นอาจารย์

59% ของนักเรียนบอกว่า อาจารย์เป็นอาชีพที่ท้าทาย

33% ของนักเรียนบอกว่า เขาสามารถดูแลครอบครัวได้ด้วยการเป็นอาจารย์

33% ของนักเรียนบอกว่า อาขีพนี้สามารถทำให้เขาทำงานด้วยทรัพยากรที่เหมาะสม และความเป็นมืออาชีพ

18% ของนักเรียนบอกว่า อาชีพนี้เสนอเงินเดือนที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 7-10 ปีข้างหน้า

17% ของนักเรียนบอกว่า อาชีพนี้จ่ายผลตอบแทนที่เหมาะกับทักษะและความทุ่มเท

13% ของนักเรียนบอกว่า หากพวกเขาสามารถสร้างผลงาน ก็จะได้รับผลตอบแทนทางการเงินตอบแทน

10% ของนักเรียนบอกว่า อาชีพนี้เสนอเงินเดือนในอัตราเริ่มต้นที่สูง

นั่นหมายความ มีนักเรียนที่เรียนเก่ง ส่วนน้อยเท่านั้นที่เห็นว่า อาชีพนี้สามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าอาชีพอื่นๆ

ผลการสำรวจดังกล่าว สอดคล้องกับพฤติกรรมของเด็กนักเรียนไทยที่ต้องเรียนโรงเรียนกวดวิชา เพื่อกรุยทางสู่โรงเรียนดัง มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง

เพราะนั่นหมายถึง อาชีพที่มีรายได้สูงในอนาคต

แต่ไม่ใช่อาชีพการเป็นครูอาจารย์

แปลไทยเป็นไทยอีกครั้งก็คือ อาชีพในอนาคตต่างหากที่บอกว่า ทำไมผู้ปกครองยินยอมจ่ายแป๊ะเจี๊ยสูง และส่งลูกเข้าโรงเรียนกวดวิชา หรือเดินสายสอบตรงกับมหาวิทยาลัยต่างๆ

ดังนั้นไม่น่าจะถามว่า ชินวรณ์ จะแก้ไขปัญหาปะเจี๊ยสำเร็จหรือไม่??
ไชยยศ จิรเมธากร
ชินวรณ์ บุณยเกียรติ
กำลังโหลดความคิดเห็น