xs
xsm
sm
md
lg

“ไชยยศ” เล็งใช้ กม.บังคับมหา’ลัยร่วมศูนย์รับตรง เร่งพัฒนาสายวิทย์ หลังพบ นศ.วิศวะ จุฬาฯ ตกฟิสิกส์อื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ไชยยศ” เล็งถก “มาร์ค” ใช้แง่กฎหมายบังคับ มหา’ลัย ร่วมศูนย์รับตรง ชง ทปอ.ทบทวนองค์ประกอบแอดมิชชัน คัดเด็กตามที่ถนัด สกัดรับตรง ระบุเร่งพัฒนาสายวิทยาศาสตร์ หลังพบนิสิตคณะวิศวะ-วิทย์ จุฬาฯ ปี 1 ตกฟิสิกส์อื้อ

วานนี้ (12 ม.ค.) นายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวว่า ตนได้พูดคุยกับ ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง นายประสาท รับปากว่า จะพยายามเร่งรัดข้อเสนอจากตนใน 2 เรื่อง เข้าสู่ที่ประชุม ทปอ.วันที่ 12 ก.พ.นี้ คือ 1.ทบทวนสัดส่วนขององค์ประกอบของแอดมิชชันกลาง โดยจากเดิม 4 ตัว 100 คือ คะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน( O-NET), คะแนนวัดความถนัดทั่วไป (GAT), คะแนนวัดความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ (PAT) และคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรชั้น ม.ปลาย (GPAX) รวม 100% โดยตนให้แนวทางไปว่าในส่วนของคะแนน O-NET น่าจะกำหนดเป็นคะแนนมาตรฐานในการพิจารณาสอบเข้าของแต่คณะ ฉะนั้น ก็จะเหลือ GAT/ PAT และ GPAX แต่ให้เพิ่มคะแนนวิชาเฉพาะตามความจำเป็นของแต่ละคณะเข้าไป ส่วนว่าจะเพิ่มเป็นกี่คะแนน หรือสัดส่วนเท่าใดนั้น ให้คณะทำงานแอดมิชชันฟอรัม และ ทปอ.ไปพิจารณา ซึ่งหากทำได้ ก็จะทำให้คณะ/สาขาวิชาต่างๆ ได้เด็กตรงตามความถนัดและความรู้ความสามารถ โดยที่ไม่ต้องไปสอบรับตรง

นายไชยยศ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 คือ ศูนย์รับตรงหรือศูนย์สอบกลาง ที่จัดตั้งโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยตนได้มอบนโยบายแก่ ทปอ.ว่า หากปรับสัดส่วนขององค์ประกอบแอดมิชชันแล้ว บางคณะ/สาขาวิชา ยังจำเป็นต้องสอบเพิ่มในบางวิชาเฉพาะ ศูนย์รับตรงหรือศูนย์สอบกลางดังกล่าว ก็พร้อมที่จะเป็นหน่วยงานกลางในจัดสอบให้ โดยผู้ออกข้อสอบคือ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ร่วมกับคณะที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะจัดสอบครั้งเดียวพร้อมกันทั่วประเทศ และศูนย์ดังกล่าวจะเก็บคะแนนที่เด็กสอบได้เป็นความลับระหว่างเด็กกับมหาวิทยาลัยที่เด็กเลือก

“เด็กมายื่นใบสมัครผ่านศูนย์นี้ จะสอบวิชาต่างๆ ตามที่คณะต้องการใช้ โดยศูนย์จะเป็นผู้จัดสอบให้ และ สทศ.จะเป็นผู้ตรวจคะแนน เด็กทำคะแนนได้เท่าใด ศูนย์ก็จะเก็บเป็นความลับให้รู้กันเฉพาะเด็กและมหาวิทยาลัยที่เด็กเลือก โดยศูนย์จะทำหน้าที่ประสานงานในการจัดส่งคะแนนดังกล่าวให้กับทุกคณะที่เด็กเลือก และคณะจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะรับเด็กคนดังกล่าวหรือไม่ จากนั้นจะตอบกลับมายังศูนย์ และหากเด็กสอบได้มากกว่า 1 คณะ เด็กก็ต้องตัดสินใจเลือกเพียง 1 อันดับ ส่วนที่ว่าเด็กควรเลือกได้กี่คณะหรือกี่อันดับเพื่อที่จะสอบนั้น ก็จะต้องมาพิจารณาความเหมาะสมกันต่อไป อย่างไรก็ตาม ศูนย์นี้จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเงินค่าสมัครของมหาวิทยาลัย และแต่ละมหาวิทยาลัยก็จะไม่ทราบด้วยว่าเด็กเลือกคณะ/มหาวิทยาลัยของตนเองเป็นอันดับที่เท่าใด เพราะศูนย์จะเก็บข้อมูลเป็นความลับ ทั้งนี้ ถ้าทำได้ ก็จะแก้ไขปัญหาเด็กทิ้งห้องเรียนไปกวดวิชา เพราะเด็กสามารถสอบตามเนื้อหาหลักสูตรโดยที่ไม่ต้องไปกวดวิชา อีกทั้งแก้ไขการวิ่งรอกสอบหลายที่ และไม่มีปัญหาเรื่องเป็นภาระและสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปสอบหลายแห่งด้วย” รมช.ศธ.กล่าว

นายไชยยศ กล่าวด้วยว่า สำหรับศูนย์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้เมื่อใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของ ทปอ.ถ้า ทปอ.พร้อมให้ความร่วมมือ ศูนย์ดังกล่าวก็สามารถเกิดและทำหน้าที่ได้ทันที โดยไม่ต้องรอการประกาศล่วงหน้า 3 ปี เพราะเรื่องนี้เป็นการอำนวยความสะดวกแก่เด็ก แต่ถ้าหากไม่ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย และทุกภาคส่วนเรียกร้องให้รัฐเข้ามาจัดการ ตนก็จะต้องปรึกษากับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ว่า มีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายเพื่อบังคับให้มหาวิทยาลัยทำตามหรือไม่ ทั้งนี้ ปัญหาเรื่องนี้ต้องเร่งแก้ไขเพราะขณะนี้ตนได้รับข้อมูลมาว่าเด็กชั้นปี 1 ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ วิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอบตกวิชาฟิสิกส์ สูงถึง 92% ในขณะที่รัฐบาลกำลังเร่งพัฒนาสายวิทยาศาสตร์เพื่อเพิ่มนักวิจัย และเพิ่มนักวิทยาศาสตร์ เพราะไทยมีนักวิจัยอยู่ที่ 5.6 คน ต่อประชากร 10,000 คน ซึ่งถ้ายังไม่แก้ไข ประเทศไทยคงยากจะพัฒนาไปได้ไกล หรือคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ได้

ด้าน นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนรู้สึกเห็นใจผู้ปกครองและนักเรียน ที่ต้องเสียค่าสมัครสอบจำนวนมาก และวิ่งรอกสอบเข้าสถาบันอุดมศึกษาในระบบรับตรงหลายแห่ง ดังนั้น หากศูนย์สอบรับตรงเกิดขึ้นจริง ทางจุฬาฯก็ยินดีเข้าร่วม ส่วนกรณีที่ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศธ.ระบุว่า ในอนาคตการสอบรับตรงอาจจะให้นักเรียนเลือกคณะและมหาวิทยาลัยได้เพียง 3 อันดับนั้น ส่วนตัวมองว่า การเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามหากมีเหตุผล หรือข้อมูลการวิจัยที่ชัดเจนมาอธิบายต่อสังคมได้ ก็เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาอะไร

“การสอบเอนทรานซ์ในอดีตที่ผ่านมา เคยให้นักเรียนเลือกคณะและมหาวิทยาลัยได้ถึง 6 อันดับ แต่เมื่อมีการศึกษาวิจัยก็พบปัญหาว่า เด็กที่สอบติดในอันดับที่ 5 และ 6 ส่วนใหญ่มักจะสละสิทธิ์ ทำให้เป็นการปิดกั้นโอกาสของนักเรียนคนอื่น และยังเป็นการสิ้นเปลืองเงินด้วย จึงให้ลดเหลือ 4 อันดับ ซึ่งสังคมก็ยอมรับ ดังนั้น หากจะมีการลดให้เหลือ 3 อันดับก็คงต้องมีเหตุผลมาอธิบายให้ชัดเจน” ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าว

ด้าน นายสธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มมีการใช้ระบบแอดมิชชันในการคัดบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นมา พบว่า ผลการเรียนของนิสิต คณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ประสบปัญหาเรื่องคะแนนการเรียนในบางรายวิชาที่ คาบเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะ วิชาฟิสิกส์ทั่วไป 1 พบว่า มีนักศึกษา สอบได้คะแนน ต่ำกว่าเกรดซี หรือไม่ผ่านในรายวิชานี้ รวมถึงถอนรายวิชาเพิ่มจำนวนมากขึ้นจนน่ากังวล โดยเพิ่มจาก 50% ช่วงปีสุดท้ายที่ยังใช้ระบบการคัดนักศึกษาเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ด้วยระบบเอนทรานซ์ และในปัจจุบัน พบว่ามีเด็กทั้งสองกลุ่ม มากถึง 92%
กำลังโหลดความคิดเห็น