xs
xsm
sm
md
lg

“อำนวย” หนุนศูนย์รับตรง ติงจัดสอบเร็วเกินทำเด็กทิ้งห้องเรียนไปติว - ปธ.สภา นร.หนุนสัดส่วน 50:50

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
“ปธ.ชมรมค่านิยมสร้างชาติ” หนุนศูนย์รับตรง สอบร่วมกัน ม.ไหนอยากได้สัดส่วนของตัวเองก็กำหนดได้ ชี้ช่วยลดภาระเด็ก ผู้ปกครอง แนะรับตรงมีไว้คัดเด็กช้างเผือก ในพื้นที่ ติงจัดสอบเร็วเกินไป เด็กเรียนแค่ 5 เทอม ทำทิ้งห้องไปเรียนติวพุ่ง แนะสอบเทอม 2 ช่วง ม.ค.เหมาะสุด ด้าน “ปธ.สภานักเรียน” ชี้ลดสัดส่วนรับตรงเด็กยิ่งแข่งขันหนัก เห็นด้วยปรับสัดส่วน 50:50

จากกรณีมีข้อเรียกร้องให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เร่งแก้ไขปัญหามหาวิทยาลัยหันไปรับนิสิต นักศึกษา ในระบบรับตรง ทำให้นักเรียนทิ้งห้องเรียนไปกวดวิชา วิ่งรอกสอบ และปิดกั้นโอกาสเด็กที่ฐานะไม่ดีในการเข้ามหาวิทยาลัย โดย ศ.ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธาน ทปอ.จะได้มีการเสนอเข้าหารือในที่ประชุม ทปอ.วันที่ 12 ก.พ.นี้ เพื่อขอความร่วมมือในการกำหนดสัดส่วนรับตรงของแต่ละหลักสูตร/สาขาวิชา ให้อยู่ที่ 50% และแอดมิชชันกลาง 50% นั้น

นายอำนวย สุนทรโชติ
ประธานชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติ กล่าวว่า เข้าใจว่าทุกมหาวิทยาลัยอยากได้องค์ประกอบ สัดส่วน ของตัวเองจึงต้องมีการรับตรง แยกกันรับเอง ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่การปรับลดสัดส่วนระหว่างรับตรง กับ แอดมิชชัน แต่ที่ต้องมาทำคือการมีศูนย์รับตรงร่วมกัน สอบรวมกัน ส่วนใครอยากได้สัดส่วนเท่าไร ก็สามารถกำหนดสัดส่วนเอาเอง หากไม่ชอบใจข้อสอบ หาว่าข้อสอบวัดผลไม่ได้ แต่ละคณะก็ต้องส่งตัวแทนเพื่อช่วยสำนักงานทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ออกข้อสอบ ดังนั้น ตนจึงสนับสนุนให้มีศูนย์รับตรงเกิดขึ้น และต้องทำงานร่วมกันเพื่อช่วยลดภาระให้แก่เด็ก และผู้ปกครอง ทั้งนี้ตนเห็นว่าการรับตรงควรมีไว้เฉพาะเด็กโควตาช้างเผือก หรือเด็กในพื้นที่เท่านั้น ที่เหลืออยากให้ปรับเป็นแอดมิชชันกลางทั้งหมด

นายอำนวย กล่าวด้วยว่า สำหรับการแก้ปัญหาเด็กวิ่งรอกสอบ และการทิ้งห้องเรียนนั้น เนื่องจากตอนนี้เด็กต้องสอบก่อนที่โรงเรียนจะสอนจบ คือในเดือน ก.ค.เดือน ต.ค.ซึ่งเด็กยังเรียนได้แค่ 5 เทอม ทำให้ไม่มีความรู้ไปสอบ จึงเกิดปัญหาการทิ้งห้องเรียนไปกวดวิชาขึ้น ตนจึงอยากให้การสอบทั้งหมดเกิดขึ้นในเดือน ม.ค.ซึ่งอยู่ในเทอม 2 ของแต่ละปีการศึกษา โดยรอให้เด็กเรียนใกล้จบก่อน ก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องเด็กทิ้งห้องเรียนไปกวดวิชาได้ระดับหนึ่ง

“เรื่องนี้ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ ก็เคยบอกเองว่าการสอบไม่ควรจะเกิดขึ้นหากเด็กยังไม่มีความพร้อม แต่กติกากลับกำหนดให้มีการสอบล่วงหน้าก่อนที่เด็กจะจบ เด็กก็เลยมุ่งกวดวิชา จึงอยากจะถาม ทปอ.ว่าเด็กจะเอาความรู้จากไหนมาสอบ หากเด็กยังเรียนไม่ครบหลักสูตร ซึ่งในช่วงนี้ลองดูได้เลยว่าเด็กม.6 แทบทุกโรงเรียน จะนอนอยู่บ้าน รอกวดวิชาอย่างเดียว โดยอ้างว่าโรงเรียนไม่มีการเรียนการสอนแล้ว”
ปธ.ชมรมค่านิยมเพื่อสร้างชาติ กล่าว

นายวรพงษ์ ศรีเชียงสา
นักเรียน ม.6 โรงเรียนขามแก่นนคร จ.ขอนแก่น ในฐานะประธานสภานักเรียนแห่งประเทศไทยและประธานสภานักเรียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า แนวคิดลดสัดส่วนการรับตรงของคณะต่างๆ เหลือร้อยละ 50 เพื่อลดปัญหาเด็กทิ้งห้องเรียนไปกวดวิชาและวิ่งรอกสอบหลายที่นั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งต้นเหตุของการทิ้งห้องเรียนไปกวดวิชารวมถึงวิ่งรอกสอบ ก็เพราะเด็กต้องการสร้างความมั่นใจว่าตนเองจะได้เรียนในคณะ/มหาวิทยาลัย ที่ตนเองต้องการ ฉะนั้น ถ้าตราบใดที่โรงเรียนสอนหนังสือไม่ตรงกับเนื้อหาข้อสอบ เด็กก็จะยังคงทิ้งห้องเรียนไปกวดวิชาแน่นอน เช่นเดียวกับประเด็นลดสัดส่วนการรับตรง ถึงจะลดสัดส่วนการรับตรงลงเหลือเพียงร้อยละ 10 ก็ไม่ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เด็กก็ยิ่งวิ่งรอกสอบอยู่ดีเพื่อรักษาสิทธิ์ร้อยละ 10 ที่ตัวเองอาจจะเข้าช่องทางนี้ได้

“หากยิ่งลดสัดส่วนการรับตรงลง ก็จะยิ่งเพิ่มการแข่งกันในระบบรับตรงมากขึ้น จึงมองว่า เป็นการตัดสิทธิ์ และปิดกั้นโอกาส ตนอยากให้ผู้ใหญ่สอบถามความเห็นของเด็กก่อนการตัดสินใจ อย่างไรก็ตามหากมองในแง่ของความเหลื่อมล้ำระหว่างเด็กที่ไม่มีทุนทรัพย์ในการวิ่งรอกสอบกับเด็กที่มีฐานะดี ที่สามารถสมัครสอบที่ใดก็ตาม ผมก็เห็นด้วยกับผู้ใหญ่ว่าถ้าสัดส่วนการรับตรงมากเกินไป ก็จะสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นในสังคมได้ ฉะนั้น มองว่า ความสมดุลระหว่างรับตรงและแอดมิชชันควรอยู่ที่ร้อยละ 50:50 ส่วนการแก้ไขปัญหาการวิ่งรอกสอบนั้น เห็นด้วยที่จะให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งเข้าร่วมศูนย์รับตรง เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่เด็กไม่ต้องวิ่งรอกสอบได้” ปธ.สภานักเรียนแห่งประเทศไทย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น