xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” จี้แจงปัญหา O-NET - สทศ.นำเฉลยขึ้นเว็บ เม.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
“มาร์ค” กำชับ ศธ. - สทศ.แจงปัญหาสอบ O-NET ให้สังคมกระจ่างถึงแนวทางออกข้อสอบ ป้องกันความสับสน “ชัยวุฒิ” ออกโรงย้ำออกข้อสอบไม่มีเกินหลักสูตร รับปัญหามีส่วนจากการเผยแพร่ข้อสอบลงเว็บ ทำเสียงวิจารณ์ว่อน “อุทุมพร” น้อมรับคำติ เผยปลาย เม.ย.นี้ เตรียมนำข้อสอบ GAT/PAT พร้อมเฉลย O-NET ขึ้นเว็บ เตือนเด็กอย่างหลงเชื่อติวเตอร์หลอกนับคำตอบ ยันไม่จริงเสมอไป แนะพึ่งตัวเองดีสุด

วันนี้ (4 มี.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น.ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับ ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้หยิบยกประเด็นการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET มาหารือ และต้องการให้ ศธ.และ สทศ.ชี้แจงให้สังคมได้เข้าใจหลักการและแนวทางในการออกข้อสอบเพื่อไม่ให้เกิดข้อถกเถียงและเกิดความสับสน ซึ่งนายกฯ เข้าใจในหลักการทดสอบ O-NET ที่จะใช้ความรู้สึกมาตัดสินอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการคิดวิเคราะห์ ส่วนประเด็นที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ข้อสอบ O-NET ออกเกินหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 นั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยืนยันว่า เนื้อหาสาระของหลักสูตร พ.ศ.2551 ไม่ได้แตกต่างไปจากหลักสูตร พ.ศ.2544 เพียงแต่มีการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจนมากขึ้นเท่านั้น ส่วนที่มีการปรับเปลี่ยนบ้างก็ไม่ถึงร้อยละ 10 คือ ในส่วนของสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเด็กต้องให้ความสนใจกับเหตุการณ์ต่างๆ อยู่แล้ว
นางอุทุมพร จามรมาน
“ยอมรับว่า ปัญหาที่เป็นอยู่ในขณะนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ สทศ.นำข้อสอบมาเปิดเผยต่อสาธารณะทั้งหมด เพราะต้องการให้โปร่งใสและอยากให้มีการหยิบยกไปวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงประสิทธิภาพให้เหมาะสมยิ่งขึ้น แม้แต่ก่อนที่จะมีการสอบยังเปิดเผยว่าจะมีข้อสอบในหมวดใดบ้าง สัดส่วนเท่าใด ขณะที่การทดสอบอื่นๆ โดยเฉพาะจากองค์กรต่างประเทศ อาทิ การสอบโทเฟล ทุกอย่างเป็นความลับ แต่กลับไม่มีการมาพูดถึงความโปร่งใส หรือประสิทธิภาพของข้อสอบว่าเหมาะสมแค่ไหน” รมช.ศธ.กล่าว

ด้าน ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวว่า สทศ.รู้สึกดีใจที่หลายฝ่ายให้ความสนใจกับการสอบ O-NET ซึ่งจะทำให้ สทศ.ทำงานได้ดีขึ้น เพราะหน่วยงานนี้เป็นองค์การมหาชน จึงต้องมีการทำงานที่โปร่งใส และเป็นมาตรฐานสากลของโลก ซึ่งการจะปิดเงียบข้อสอบ หรือคำเฉลย โดยไม่เผยแพร่ต่อสาธารณชนคงทำไม่ได้ ดังนั้น สทศ.จึงได้นำข้อสอบ O-NET ชั้น ป.3 ม.3 และ ม.6 รวม 24 วิชาขึ้นเผยแพร่บนเว็บไซต์ของ สทศ.ทั้งหมด อีกทั้งประมาณปลายเดือน เม.ย.นี้ สทศ.จะได้นำข้อสอบแบบทดสอบวัดความรู้ทั่วไป (GAT) และแบบทดสอบความรู้ทางวิชาชีพ/วิชาการ (PAT) รวม 23 วิชา พร้อมทั้งคำเฉลย และคำอธิบายของข้อสอบ O-NET ขึ้นเผยแพร่บนเว็บไซต์ของ สทศ.ด้วยเช่นกัน

“การนำคำเฉลยและคำอธิบายข้อสอบ O-NET, GAT/PAT เผยแพร่บนเว็บไซต์นั้น ถือเป็นการดำเนินการในปีแรก เพราะที่ผ่านมาจะให้โรงเรียนที่ต้องการคำเฉลยแจ้งความจำนงมายัง สทศ.และ สทศ.จะส่งกลับไปให้ เพื่อนำไปอธิบายแก่นักเรียน แต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะโรงเรียนนำไปติดบอร์ดหน้าโรงเรียน ทำให้ไม่เกิดประโยชน์กับเด็ก ทั้งที่ สทศ.ต้องการให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านข้อสอบ” ผอ.สทศ.กล่าว

ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าการตรวจกระดาษคำตอบ O-NET ชั้น ป.3 และ ม.3 นั้น ขณะนี้การตรวจคำตอบเกือบจะเรียบร้อยทั้งหมดแล้ว คาดว่า จะใช้เวลาตรวจทานอีกประมาณ 2 สัปดาห์ และสามารถประกาศผลได้ไม่เกินวันที่ 31 มี.ค.นี้ ส่วนชั้น ม.6 คาดว่า น่าจะประกาศผลสอบได้ก่อนวันที่ 10 เม.ย.นี้ซึ่งเป็นกำหนดการเดิม

ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังสำหรับการสอบ GAT/ PAT ครั้งที่ 1/2553 ในวันที่ 6-9 มี.ค.นี้ คือ ขอให้นักเรียกใช้วิจารณญาณและความรู้ของตนเองในการทำข้อสอบ อย่าหลงเชื่อคำบอกเล่าของคนอื่นหรือสถาบันกวดวิชา ที่แนะเคล็ดลับในการทำข้อสอบ อาทิ ต้องนับจำนวนคำตอบว่าจะต้องเป็นเท่านั้นเท่านี้ เพราะคำตอบที่ถูกต้องไม่ได้คงที่เท่ากันทุกปี ดังนั้นจะไปนับจำนวนคำตอบคงไม่ได้ จึงขอให้นักเรียนดูที่ข้อสอบเป็นหลัก
 
ด้านนายสมเกียรติ ชอบผล  รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)  กล่าวถึงกรณีที่นักเรียนร้องเรียนว่า สทศ. ออกข้อสอบ โอเน็ต ม.6 เกินหลักสูตร ว่า วานนี้ (3 มี.ค.) ก็ได้มีการหารือเรื่องนี้ร่วมกับนักวิชาการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และได้วิเคราะห์หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 พบว่า
มาตรฐานการเรียนรู้คล้ายกันเกือบ 90%  เพียงแต่หลักสูตรฯ พ.ศ. 2551 จะมีตัวชี้วัดชั้นปี ขณะที่หลักสูตรฯ พ.ศ.2544 ไม่มี และมาตรฐานการเรียนรู้ในหลักสูตรฯ พ.ศ.2551 จะลดลง  อย่างไรก็ตามเมื่อเด็กร้องเรียนว่า สทศ.ออกข้อสอบโอเน็ต ม.6 ตามหลักสูตรฯ พ.ศ.2551 ซึ่งเด็กม.6 ยังไม่ได้เรียน  แม้แต่โรงเรียนมัธยมศึกษาที่นำร่องหลักสูตรฯ พ.ศ.2551 จำนวน 555 โรงเรียน จากทั้งหมดเกือบ 3,000 โรงเรียนในปี 2552 ที่ผ่านมา  กลุ่มนี้ในปี 2553 ก็เลื่อนขึ้นชั้นม. 5 เท่านั้น
เพื่อคลี่คลายปัญหาดังกล่าว  จึงได้มอบหมายให้โรงเรียนที่นำร่องหลักสูตรฯ พ.ศ.2551 และโรงเรียนทั่วไปที่ใช้หลักสูตรฯ พ.ศ.2544 ทั้งโรงเรียนขนาดใหญ่ โรงเรียนกลาง และโรงเรียนเล็ก ทั้งกทม.และต่างจังหวัด ได้ช่วยวิเคราะห์ว่ามาตรฐานการเรียนรู้ของ 2 หลักสูตรไปด้วยกันได้ 90% จริงหรือไม่
“ในฐานะที่โรงเรียนได้จัดการเรียนการสอน เชื่อว่าจะเป็นผู้ที่ให้คำตอบเรื่องนี้ได้ดีที่สุด  หากมาตรฐานการเรียนรู้ใกล้เคียงกัน 90% จริง สพฐ.จะช่วยชี้แจงให้ผู้ปกครองและนักเรียน  เพื่อคลายความกังวล หากต่างกันมาก จะหารือกับ สทศ.เพื่อหาแนวทางแก้ไขกันต่อไป ซึ่ง สพฐ.ให้โรงเรียนไปวิเคราะห์และรายงานกลับมาภายในวันที่ 8 มีนาคมนี้” นายสมเกียรติ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น