xs
xsm
sm
md
lg

แจงข้อสอบโอเน็ตมาตรฐาน อิงหลักสูตรฯ-เปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้เดาถูกลดลง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สทศ.แจงข้อสอบโอเน็ตไม่ยาก-ได้มาตรฐาน-อิงหลักสูตรฯ-เปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้เดาถูกลดลง

เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นางอุทุมพร  จามรมาน  ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ(สทศ.) เปิดเผยว่า  จนถึงตอนนี้ยังไม่มีรายงานเพิ่มเติมจากศูนย์สอบมหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการทุจริตสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน(โอเน็ต) ชั้นม.6  ส่วนกรณีเด็กใช้น้ำยาลบคำผิด ทำสัญลักษณ์คำตอบบนดินสอ ปากกาและไม้บรรทัด ในการสอบโอเน็ต ชั้นม.6 โดยอ้างว่าเป็นเครื่องรางของขลังนั้น จากการพูดคุยกับเด็ก  ล่าสุดเด็กยังคงยืนยันว่าเป็นเครื่องรางฯ ซึ่งสทศ.จะเชิญมาพูดคุยที่สำนักงาน สทศ. เร็วๆ นี้ 

เนื่องจากที่ผ่านมาเป็นการคุยทางโทรศัพท์และเด็กไม่สะดวกใจที่จะให้ไปคุยที่บ้าน   ที่เชิญมาคุยจะได้รู้วิธีคิด  ตนคิดว่าเด็กคนนี้คงมีอะไรผิดปกติ  เพราะอายุ 28 ปีแล้วแต่ยังหวังที่จะเข้าคณะแพทยศาสตร์ โดยไม่รู้ว่าคณะนี้ไม่รับเด็กค้างปีและผลสอบโอเน็ตต้องเป็นปีเดียวกับที่จบม.6 เท่านั้น   หลังได้ข้อมูล จะนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารสทศ.พิจารณาว่าเข้าข่ายทุจริตหรือไม่ในวันที่ 25 มีนาคมนี้
 
ผู้อำนวยการสทศ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีนักเรียนม.6 ร้องสื่อว่าข้อสอบโอเน็ต ชั้นม.6 ยากและเปลี่ยนลักษณะข้อสอบและรูปแบบกระดาษคำตอบข้อสอบโอเน็ตบางวิชา โดยแจ้งล่วงหน้าแบบกระชั้นชิด ทำให้เด็กเตรียมตัวไม่ทันนั้น กรณีนี้ตนได้แฟกซ์ชี้แจงให้นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ตอบกระทู้สดในสภาผู้แทนราษฎรวันเดียวกันนี้แล้ว ซึ่งตนได้ชี้แจงไปว่าข้อสอบโอเน็ตทุกข้อ อิงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  เช่น วิชาสังคมศึกษาฯ ตามหลักสูตรฯ ต้องการให้เด็กคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยง คำถามที่ว่าฟิลิปปินส์ เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศไหนบ้าง จึงต้องตอบทั้งอเมริกาและสเปน ถ้าเด็กคุ้นเคยกับข้อสอบแนวคิดวิเคราะห์และเชื่อมโยง  ก็จะไม่มีปัญหา 
 
นางอุทุมพร  กล่าวด้วยว่า  การเปลี่ยนรูปแบบข้อสอบจากเลือกตอบ 1 ใน 4 ตัวเลือก เป็นเลือกหลายตัวเลือก หลายคำตอบ ก็เพื่อให้การวัดผลแม่นยำขึ้นและการเดาถูกลดลง เพราะการเลือกตอบ 1 ใน 4 ตัวเลือก  ทำให้เด็กมีโอกาสเดาถูก 25%  สทศ.ไม่ได้เปลี่ยนรูปแบบฉับพลัน แต่ค่อยๆ ปรับทีละน้อย ประมาณ 10-20% ของคะแนนเต็มและเปลี่ยนแค่บางวิชาเท่านั้น ตนยืนยันว่าโอเน็ต ชั้นม.6 ปีหน้า  วิชาไหนที่ข้อสอบเป็นรูปแบบเดียว  จะปรับเพิ่มเป็นสองรูปแบบ โดยบางวิชาอาจเพิ่มข้อสอบที่เป็นบทความเพื่อแก้ปัญหาเด็กไทยไม่ชอบอ่าน 

ส่วนวิชาไหนที่ข้อสอบมากกว่า 1 รูปแบบอยู่แล้ว  ก็จะยังคงรูปแบบเหล่านั้นและคงสัดส่วนเปอร์เซ็นต์นั้นต่อไป ทั้งนี้การเปลี่ยนรูปแบบข้อสอบและกระดาษคำตอบของข้อสอบโอเน็ต ชั้นม.6 นั้น จากการตรวจเยี่ยมสนามสอบและพูดคุยกับเด็กม.6  พบว่าเด็กเข้าใจ  แม้แต่เด็กตาบอดก็ยังบอกว่าเข้าใจ  ไม่สับสน   เด็กที่ร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ต้องการเข้าคณะแพทยศาสตร์ จึงกังวลว่าจะทำคะแนนโอเน็ตไม่ถึง 60% ซึ่งเป็นเกณฑ์ขั้นต่ำของการสมัครคณะนี้ แต่ความจริงกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ควรต้องขอบคุณสทศ.  เพราะทำให้ได้เด็กเก่งจริงๆ เข้าไป  ซึ่งคนที่เป็นหมอ  ก็ควรเข้าไปได้เพราะเก่ง ไม่ใช่เพราะเดาถูก  มิเช่นนั้นก็จะเกิดปัญหา  เรียนไม่ไหว  ต้องถูกรีไทร์หรือลาออกตามมา
 
“รูปแบบข้อสอบที่หลากหลายเช่นนี้  ครูควรนำไปสอบเด็กด้วยซ้ำ   เด็กจะได้คุ้นเคยและฝึกคิดวิเคราะห์  ไม่ใช่คุ้นแต่ข้อสอบท่องจำ  ถ้าจะให้สทศ.ออกข้อสอบแค่ท่องจำ  ทำได้ง่ายมาก   แต่สทศ.ทำไม่ได้ เพราะไม่สร้างสรรค์  สังคมกำลังบ่นว่าการศึกษาไทยแย่  เพราะเด็กคิดวิเคราะห์ไม่เป็น   แต่เมื่อสทศ.พยายามหาทางแก้ไข   โดยใช้แนวข้อสอบที่ต่างไปจากเดิม  กลับมาโวยสทศ.”
  นางอุทุมพร กล่าว

และอย่างไรก็ตามจากการที่มีการนำข้อสอบโอเน็ตมาเผยแพร่ทางสื่อ   รวมถึงมีผู้ปกครองบางคนซีร็อกซ์ข้อสอบโอเน็ตชั้นป.6 มาพูดคุยซักถามกับตน ซึ่งถือว่าขัดระเบียบในเรื่องไม่สามารถนำข้อสอบออกนอกห้องสอบได้  ดังนั้น นับจากนี้ บนหัวกระดาษข้อสอบทุกวิชาจะเขียนข้อความชัดเจนว่า “ห้ามผู้ใดนำข้อสอบออกไปเผยแพร่ทั้งในที่ลับหรือแจ้ง ก่อนที่สทศ.จะประกาศผล และห้ามผู้คุมสอบอ่านข้อสอบให้เด็กโดยเด็ดขาดด้วย  มิเช่นนั้นถือว่ามีความผิดตามมาตรา...” ทั้งนี้ จะเริ่มนำมาใช้เป็นครั้งแรกกับข้อสอบการวัดความถนัดทั่วไป(GAT)และการวัดความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ(PAT) ในเดือนกรกฎาคม ที่จะถึงนี้” นางอุทุมพร กล่าว และว่า ส่วนกรณีมีผู้ปกครองร้องเรียนว่าข้อสอบโอเน็ตชั้นป.6 ล่อแหลมนั้น ส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็นข้อสอบวิชาสุขศึกษาฯ ที่ถามเรื่องเพศศึกษาซึ่งเป็นการถามตามหลักสูตรฯ โดยในข้อสอบ  ได้ถามถึงสัญลักษณ์ของห้องน้ำชายและห้องน้ำหญิง ซึ่งตนไม่คิดว่าล่อแหลม
 
นางอุทุมพร  กล่าวด้วยว่า  นอกจากนี้จากการติดตามการแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าสอบโอเน็ต ชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 บนเว็บไซต์ต่าง ๆ พบว่า เด็กจะแสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อสอบซึ่งมีทั้งยากเกินไป หรือไม่เหมาะสมหรือไม่สมเหตุสมผล ซึ่ง สทศ.ได้เก็บข้อมูลทั้งหมดและนำไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้ออกข้อสอบแล้ว ซึ่งพบว่าข้อสอบทั้งหมดมีเนื้อหาได้มาตรฐานตามที่กำหนด

ยกเว้นกรณีข้อสอบวิชาภาษาไทย ชั้น ป.6 ที่มีคำถามเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ เช่นการเดินทาง ซึ่งเด็กนักเรียนต่างจังหวัด จะตอบไม่ได้เพราะไม่เคยอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ดังนั้น สทศ.จึงตัดสินใจให้คะแนนฟรี จำนวน 4 ข้อ รวม 16 คะแนนให้กับ นักเรียนป.6  อย่างไรก็ตามสำหรับคำถามที่เด็กโพสต์ไว้ตามบอร์ดต่างๆ หรือไปเห็นตามสื่อ    สทศ.จะรวบรวมมาตอบในเว็บไซต์สทศ. โดยจะเปิดวอร์รูมเว็บเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

กำลังโหลดความคิดเห็น