xs
xsm
sm
md
lg

สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์… “สทศ.ต้องไม่ทำให้เด็กเสียสิทธิ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)” กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญอีกครั้ง ภายหลังจากที่ “ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน” ผู้อำนวยการ สทศ. บุคคลซึ่งถูกกลุ่มเด็ก ม.ปลาย ผู้ปกครอง เกือบทั่วประเทศพูดถึงมากที่สุด ได้หมดวาระลง และ “รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์” คือ บุคคลที่ก้าวเข้ามารับไม้ต่อ ตั้งแต่วันเข้ารับตำแหน่ง (1 ธ.ค.2553) จนถึงวันนี้ถือเป็นห้วงเวลา 3 เดือนเต็มกับภาระหัวเรือใหญ่แห่ง สทศ. ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีของ “ทีมข่าวการศึกษา ASTVผู้จัดการรายวัน” ที่จะได้เปิดใจ ผอ.สมศ.คนใหม่ ภายหลังเข้ามานั่งเก้าอี้ตัวนี้
รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สทศ.
** ประเมินผลงานในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาอย่างไร
ถือว่าน่าพอใจเพราะสามารถ “สานงานเก่า ก่องานใหม่ได้” โดยช่วงที่ผ่านมา 3 เดือนได้จัดสอบหลายอย่าง คือ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ด้านอาชีวศึกษา (V-NET) ครั้งแรก การทดสอบสมาตรฐานอิสลามศึกษา (I-NET) การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) และ การจัดสอบวัดความถนัดทั่วไป (GAT) การสอบวัดความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ(PAT) ครั้งที่ 1/2554 (มี.ค.2554) ซึ่งทั้งหมดดำเนินการผ่านไปได้ด้วยดี

** ที่ผ่านมามีข้อทักท้วงเรื่องการออกข้อสอบของ สทศ.
ยอมรับว่า มีข้อร้องเรียนเยอะมาก ก่อนผมมารับตำแหน่งที่นี่ก็มีแต่คนบอกว่า “หนักนะ” แต่ผมก็ต้องพยายามทำให้ปัญหานี้หมดไป เพื่อไม่ให้นักเรียน ผู้ปกครองมองที่นี่เป็นแดนสนทยา พูดตรงๆ คือ ต้องให้ความเป็นธรรมกับคนทุกฝ่าย อย่างผู้ออกข้อสอบ ถึงจะมีข้อสอบผิดเพียง 1-2 ข้อ ก็ต้องไม่ให้มีผิดเลยสักข้อ จึงต้องมาดูว่าจะพัฒนาระบบอย่างไรให้มีความผิดพลาดน้อยที่สุด จนไม่ผิดพลาดเลย ซึ่งที่ผ่านมาข้อสอบ O-NET จะไม่ค่อยมีปัญหา แต่ที่ผิดพลาดคือข้อสอบ GAT-PAT

** จะสร้างความมั่นใจเรื่องกระบวนการออกข้อสอบ จัดสอบ อย่างไร
สทศ.ทำตามหลักวิชาในการจัดสอบ คือ 1.มาตรฐานการสร้าง 2.มาตรฐานการสอบ 3.มาตรฐานการตรวจ และ 4.การรายงานผล ที่ สทศ.ยึดมาตลอด ในการออกข้อสอบแต่ละครั้ง สทศ.ต้องคัดสรรทรัพยากรบุคคลที่เชี่ยวชาญรับชาติมาดำเนินการ โดยทุกคนต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ใช้กระบวนการตรวจสอบขั้นสูงสุด ต้องมีอย่างน้อย 3 ชุด ยึดการออกข้อสอบที่ตรงกับเนื้อหาที่เรียน ออกข้อสอบให้คนทำเข้าใจตรงกัน ใครมาดูแล้วคำตอบก็ต้องตรงกัน นอกจากนี้ในส่วนของการจัดสอบ การตรวจ รายงานผล ก็ต้องมีมาตรฐานที่ชัดเจน ตรวจสอบได้ และหากตรวจแล้วมีปัญหา พบว่าคำตอบผิดก็คือผิด จะไม่มีว่ากลัวเสียภาพลักษณ์องค์กร ทำเป็นเงียบๆ ไม่ยอมรับ ซึ่งตรงนี้ผิดได้แต่ความยุติธรรมต้องมี อย่าให้เด็กเสียสิทธิสำคัญที่สุด

**
การที่ สทศ.เข้ามามีบทบาทในการจัดสอบรับตรงกลางร่วมกัน
ที่ผ่านการรับตรงของแต่ละมหาวิทยาลัยมีปัญหา เนื่องจากต่างคนต่างรับ ทำให้เด็กต้องวิ่งรอกสอบ เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เลยมีมติให้ดำเนินการจัดสอบ “รับตรงส่วนกลางร่วมกัน” โดยให้ สทศ.จัดสอบ 7 วิชา คือ คณิตศาสตร์, ฟิสิกส์, เคมี, ชีววิทยา, สังคม, ภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษ ซึ่งเราก็ยินดีและพร้อมที่จะจัดสอบให้ เพื่อให้คณะวิชาที่จัดสอบรับตรงแบบต่างคนต่างสอบ มารวมกันที่จุดเดียว พูดง่ายๆ คือคณะที่รับตรงที่จะใช้ 7 วิชานี้ก็จะให้นักเรียนมาสมัครสอบกับเรา โดยมีแนวโน้มว่าในการรับตรงปี 2555 คณะใดใช้คะแนน GAT-PAT ก็ใช้เดือน ต.ค.2554 คณะใดใช้คะแนนใน 7 วิชานี้นักเรียนก็ต้องมาสอบกับ สทศ.ประมาณเดือน ม.ค.2555

**
ความเป็นไปได้ที่จะใช้ O-NET มาเป็นส่วนหนึ่งของการรับตรง
ถือเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีการเชิญชวนให้ใช้ O-NET มาพิจารณารับตรง อย่าง กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ก็กำหนดมาแล้วว่าใครจะสอบแพทย์ต้องได้ O-NET ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ซึ่งใช้มาแล้ว 2 ปี เพราะฉะนั้นเด็กที่จะเข้าแพทย์ก็ต้องตั้งใจสอบ O-NET หรือตัวแทนจาก ม. เกษตรศาสตร์ ก็บอกว่า อยากให้การสอบรับตรงเอา O-NET เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำ เพื่อที่เด็กจะได้ไม่ทิ้งห้องเรียน ดังนั้น หน้าที่ของ สทศ.จึงต้องสร้างพันธมิตรผู้ใช้ ด้วยการตอบสนองความต้องการ เห็นคุณค่า ถ้าบอกว่ายังไม่ดีก็จะรับฟัง ข้อสอบไม่ดีแก้ได้ แต่หากบอกว่าสอบไปทำไม ไม่มีประโยชน์ อย่างนี้เลิกสอบเถอะ
กำลังโหลดความคิดเห็น