xs
xsm
sm
md
lg

สทศ.เตรียมวิจัยวัดผลเชิงทำนาย GAT-PAT หลังเด็กสอบได้คะแนนสูง แต่ถูกรีไทร์เพียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สทศ.เตรียมทำวิจัย GAT-PAT วัดผลเชิงทำนาย ส่งเด็กเรียนปี 1 ได้มีประสิทธิภาพแค่ไหน หลังพบเด็กสอบได้คะแนนสูง แต่เรียนปี 1 ล้มเหลว สุดท้ายถูกรีไทร์เพียบ ด้าน รองเลขาฯ กกอ.หนุนแนวคิด แนะรออีก 2-3 ปี เหตุอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลง หวั่นได้ข้อมูลไม่รอบด้าน

รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เปิดเผยว่า ตนมีแนวคิดให้ สทศ.จัดทำโครงการวิจัยข้อสอบการทดสอบความถนัดทั่วไป (GAT) ข้อสอบการทดสอบทางวิชาการและวิชาชีพ (PAT ) ที่ผ่านมา ตั้งแต่ครั้งแรก เพื่อศึกษาถึงความเป็นจริงเชิงทำนาย ว่า ข้อสอบสามารถนำไปทำนายการเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้ ความจริงแล้วการสอบคัดเลือกทุกครั้งข้อสอบต้องมีคุณสมบัติ และให้ความสำคัญในเรื่องของความตรงเชิงทำนาย หรือ ความตรงเชิงพยากรณ์ นั่นหมายความว่าต้องมีการศึกษาวิจัยการสอบ GAT-PAT ของเด็กดูว่าเมื่อเด็กสอบได้คะแนนสูงๆ แล้วเมื่อพวกเขาเข้าไปเรียนชั้นปีที่ 1 ในมหาวิทยาลัยจะสามารถทำคะแนนได้ดีด้วยหรือไม่ เช่น เมื่อสอบผ่านเข้าไปเรียนแพทย์ เรียนวิศวะ ได้แต่เมื่อเข้าไปเรียนจริงกลับเรียนไม่ได้ นักศึกษาก็ต้องโดยรีไทร์จำนวนมาก ความล้มเหลวในการเรียนปี 1 ก็เกิดขึ้น

“ปีนี้ถือว่ามีความเหมาะสมที่จะเริ่มเก็บข้อมูลย้อนหลัง หลังจาก GAT-PAT สอบมาแล้วกว่า 3 ปี ซึ่งเมื่อทำถึงจุดหนึ่งแล้วก็ต้องมีการวิจัย และถือว่าเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากหลายคนท้วงติงว่าการสอบ GAT-PAT ใช้ไม่ได้ วัดผลได้ไม่ตรงกับความต้องการของคณะ อย่างคณะวิทยาศาสตร์ ก็เคยท้วงติงว่าเด็กที่สอบวิชา PAT 2 (ความถนัดทางวิทยาศาสตร์) เมื่อเข้าไปแล้ว เรียนไม่ได้ นี่ก็ถือเป็นข้อมูลส่วนหนึ่ง ซึ่งเราก็ต้องฟัง” ผอ.สทศ.กล่าว

ด้าน นายกำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า แนวคิดในการริเริ่ม โครงการวิจัยดังกล่าว เป็นเรื่องที่ดี อย่างไรก็ตาม โดยความเห็นส่วนตัว การใช้แบบทดสอบดังกล่าว ยังอยู่ช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อาจจะส่งผลกระทบต่อความชัดเจนในบางด้านของข้อมูลการวิจัยได้ เช่น กรณีที่มีการเปลี่ยนจากการใช้การทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง หรือ A-NET มาเป็น GAT-PAT ที่อาจจะต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี ในการเก็บข้อมูล เพราะหากสำรวจคะแนนบางวิชาในช่วงเวลานี้ อาจจะทำให้ไม่ได้ผลการวิจัยที่รอบด้าน หรือได้งานวิจัยที่ขาดในเรื่องของผลสัมฤทธิ์จากการสอบ

นายกำจร กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ หากมีผลวิจัยเรื่อง นักศึกษา ในคณะวิชาและมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งเข้าเรียนและเรียนจนจบ ได้ด้วยคะแนน GAT-PAT เพิ่มเข้ามาในงานวิจัยด้วยก็น่าจะยิ่งเป็นประโยชน์ในวงกว้างยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องของการจำแนก ที่มาของนักศึกษา สัมพันธ์กับความสามารถในการเรียนรู้และสัมฤทธิ์ผลในการเรียนรู้อย่างไร ซึ่งหากมีงานวิจัยในแง่มุมดังกล่าวออกมา เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับนักเรียนรุ่นต่อๆ ไปเรื่องการเลือกเรียนระดับอุดมศึกษาในอนาคต ซึ่งอาจจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการถูกรีไทร์หรือออกกลางคันได้
กำลังโหลดความคิดเห็น