มุกดาหาร - เครือข่ายองค์กรชุมชนมุกดาหาร เตรียมจัดงาน “รัฐร่วมราษฎร์ ปฏิรูปคนมุกดาหารสู่สวัสดิการถ้วนหน้า 2555” วันที่ 4 มี.ค.นี้ คาดมีผู้เข้าร่วมคับคั่งกว่า 5,000 คน เพื่อผลักดันให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองเป็นบันไดก้าวสู่การปฏิรูปประเทศไทย
สำนักงานสนับสนุนขบวนองค์กรชุมชนและภาคี สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) แจ้งว่า ในวันที่ 4 มี.ค.นี้ เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดมุกดาหาร ทั้ง 52 ตำบล พร้อมด้วยองค์กรภาคีทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม หน่วยงานท้องถิ่น ฯลฯ ร่วมกันจัดงาน “รัฐร่วมราษฎร์ ปฏิรูปคนมุกดาหารสู่สวัสดิการถ้วนหน้า 2555” ที่ต.นิคมคำสร้อย อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 5,000 กว่าคน การจัดงานครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อระดมแนวคิด แนวทาง กระบวนการ และวิธีการในการผลักดันให้มุกดาหารเป็นหนึ่งในพื้นที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยโดยผ่านธรรมนูญสวัสดิการ
ที่ผ่านมาเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนทั่วประเทศ ต่างพยายามทุกวิถีทางเพื่อผลักดันให้ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง ด้วยหวังว่าจะทำให้ชุมชนมีสิทธิเสรีภาพในการบริหารจัดการทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมท้องถิ่น การเมือง รวมถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นสมบัติของทุกๆ คน ซึ่งการหนุนเสริมให้องค์กรชุมชนมีความสามารถในการบริหารจัดการด้านต่างๆ ด้วยตนเองนั้นถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทย
สำหรับสาเหตุที่ต้องมีการปฎิรูปประเทศไทย ปฎิรูปมุกดาหาร เพราะโครงสร้างประเทศที่เกิดจากการรวมศูนย์อำนาจที่เป็นเหมือนไม้ค้ำยันให้ประเทศอ่อนแอ ประเทศชาติอ่อนแอ ที่สุดชุมชนท้องถิ่นก็อ่อนแอไปด้วย
ดังนั้น จึงต้องเปลี่ยนบทบาทการนำจากกระทรวง ทบวง กรม เป็นที่ตั้งมาเป็นการกระจายอำนาจลงสู่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีพื้นที่เป็นตัวตั้งในการพัฒนาเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและตรงกับความเป็นจริง มีเป้าหมายร่วมอยู่ที่ประชากรทั้งหมดของมุกดาหาร 338,048 คน ให้พัฒนาตามวิถีคนเมืองมุกดาหาร สานสามัคคี หลุดหนี้ สุขภาพดี มีเวลา ใฝ่ศึกษา เป็นประชาธิปไตย ออมเพื่อให้ ด้วยหัวใจสวัสดิการ
ในการถ่ายโอนอำนาจจากศูนย์กลางอำนาจมายังชุมชนท้องถิ่นนั้น เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนมุกดาหารตระหนักดีว่าการได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานท้องถิ่น ท้องที่และหน่วยงานรัฐที่มีกลไกตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด เป็นสิ่งสำคัญ จึงได้ประสานความร่วมมือเพื่อให้เข้ามามีบทบาทมีส่วนร่วมในลักษณะ 4 องค์กรประสาน คือ
องค์กรแรก ขบวนองค์กรชุมชน ถือเป็นแกนหลักของทุกองค์กรที่จะพัฒนาศักยภาพกองทุนสวัสดิการชุมชนให้สามารถบริการสมาชิกได้อย่างครอบคลุม สามารถขยายฐานสมาชิกให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านเพื่อเป็นกองกำลังพัฒนาความเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเครื่องมือสำคัญ
องค์กรที่สอง หน่วยงานรัฐ/ภาคีร่วมพัฒนา นับเป็นองค์กรเพื่อการประสานงานให้เกิดการบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนทุกระดับในด้านการส่งเสริม หนุนเสริมทรัพยากร โดยยึดพื้นที่ตำบลเป็นตัวตั้ง และรวบรวมภูมิปัญญาท้องถิ่นสกัดออกมาเป็นแผนงานของชุมชนแล้วนำไปบรรจุในแผนงานของหน่วยงานทุกหน่วยงาน
องค์กรที่สาม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นเสมือนแม่แรงที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของกองทุนสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นทั้งการสนับสนุนและหนุนเสริมเติมเต็มการจัดสวัสดิการถ้วนหน้า ภายใต้การบรรจุแผนชุมชนเข้าไปในแผนพัฒนาท้องถิ่นที่สอดเชื่อมประสานแผนพัฒนาให้เป็นเนื้อเดียวกัน
องค์กรสุดท้าย สถาบันการศึกษา/วิชาการ เนื่องจากว่าการเสริมสร้างความเข้มแข็งกองทุนสวัสดิการชุมชนท้องถิ่นด้วยการสนับสนุนและจัดหลักสูตรการเรียนรู้/งานวิจัยชุมชน แน่นอนว่าสถาบันการศึกษา ย่อมมีความรู้ความสามารถในงานเชิงวิชาการและงานวิจัยเป็นทุน จึงเป็นพลังที่เสริมแรงหนุนให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถจัดการตนเองได้ตรงอย่างอิสระ