xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” แฉร่างฯ TOR ส่งอินโดฯ สังเกตการณ์ส่อสูญดินแดนชัด ชี้ต้องผ่านสภาตาม รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ และพล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ
โฆษกพันธมิตรฯ จี้ กต.เปิดถ้อยคำแถลงเจบีซีที่อินโดฯ ยันปัญหาชวนอิเหนาเข้าพื้นที่ไม่ได้เกิดจากอาเซียน ซัดทำอันตรายต่อชาติ พร้อมแฉร่างทีโออาร์ วางคนสังเกตการณ์ในพื้นที่ 2 ชาติ คาดปล่อยผู้สังเกตุการณ์ฝั่งเขมรเข้าวัดแก้วฯ แน่ ส่อสูญดินแดนชัด ยันต้องผ่านสภาก่อน จี้ทหารขับเขมรพ้นดินแดนสยาม

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ แถลงข่าว  

วันนี้ (8 เม.ย.) ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ที่ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 7-8 เม.ย.ว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลไทยได้ออกคำปราศรัยต่อการประชุมเจบีซีครั้งนี้อย่างไร มีการโต้แย้งคำปราศรัยของนายวาร์ คิม ฮง ผู้แทนเจบีซีฝ่ายกัมพูชา ที่กล่าวหาว่าไทยรุกล้ำดินแดนกัมพูชาที่ปรากฏอยู่ในบันทึกผลการประชุมเจบีซีทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมาหรือไม่ หากยืนยันเช่นนี้ขอให้กระทรวงการต่างประเทศ และประธานเจบีซีฝ่ายไทยออกมาเปิดเผย

นายปานเทพกล่าวต่อว่า ในส่วนของการประชุมที่ประเทศอินโดนีเซียนั้น ชัดเจนว่าประเทศไทยและกัมพูชามีความยินยอมกันตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยเชิญชวนอินโดนีเซียให้ส่งผู้แทนเข้ามาเป็นสักขีพยานและผู้สังเกตการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อไม่ให้มีการปะทะกันทั้ง 2 ฝ่าย ข้อตกลงนี้เป็นการเชื้อเชิญของทั้ง 2 ประเทศ จึงไม่ใช่ปัญหาที่เริ่มมาจากอาเซียน แต่เป็นความผิดพลาดของฝ่ายไทยในวางบทบาทระหว่างประเทศที่ไม่ชัดเจนเอง ขอย้ำว่าการปล่อยให้ทหารอินโดนีเซียเข้ามานั้นจะเป็นอันตรายต่อประเทศ และมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต

นายปานเทพยังได้นำจดหมายจากประเทศอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนที่ส่งถึงกระทรวงการต่างประเทศของทั้งไทยและกัมพูชา ที่ระบุถึงร่างแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการ (ทีโออาร์) ในการวางกำลังผู้แทนอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา มาเปิดเผยต่อสื่อมวลชน พร้อมกล่าวว่า ตลอดระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.ถึงวันนี้ (8 เม.ย.) รัฐบาลไม่เคยเปิดเผยร่างทีโออาร์นี้ให้คนไทยได้รับทราบ ทั้งที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงดินแดน ซึ่งสาเหตุที่รัฐบาลไทยไม่เปิดเผยก็เพราะว่า มีถ้อยคำระบุถึงพื้นที่ที่ให้ผู้แทนอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่ได้รับผลกระทบของทั้ง 2 ประเทศ ฝั่งละ 15 คน

ทั้งนี้ โดยคำว่า “พื้นที่ได้รับผลกระทบบริเวณชายแดน” นั้น ในฝั่งกัมพูชาก็ต้องหมายถึง พื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ และภูมะเขือ ซึ่งเป็นผืนแผ่นดินไทยชัดเจน ขณะที่ 15 คนที่จะวางกำลังในฝั่งไทย ก็คงจะหมายถึงพื้นที่บ้านภูมิซรอล ที่ห่างไกลชายแดนออกมา นั่นหมายความว่าแผ่นดินไทยถูกกัมพูชายึดครองโดยมีประเทศที่ 3 เป็นสักขีพยาน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยต้องเสียเปรียบ 2 ประการสำคัญ คือ 1.มีทหารชาติที่ 3 มีหน้าที่สังเกตการณ์ และเป็นสักขีพยานเพื่อไม่ให้ทหารไทยใช้กำลังทางทหารเป็นกำลังผลักดัน หรือเป็นอำนาจต่อรองบนโต๊ะเจรจาเพื่อให้ทหารและชุมชนกัมพูชาออกจากแผ่นดินไทย และข้อที่ 2 เท่ากับเป็นการยืนยันว่า พื้นที่ที่อินโดนีเซียเข้ามานั้นเป็นแผ่นดินของฝั่งกัมพูชา มีผลทำให้ไทยสูญเสียดินแดนดังกล่าวไปอย่างไม่มีกำหนดระยะเวลา ทั้งนี้ตนจะได้ดำเนินการแปลและเผยแพร่ร่างทีโออาร์นี้ให้ประชาชนได้รับรู้

“หากตราบใดที่ยังยึดแนวทางนี้อยู่ ไทยจะใช้กำลังผลักดันกัมพูชาออกไปจากดินแดนไม่ได้เลย ยกเว้นว่ากัมพูชาจะพอใจในผลการเจรจาที่ว่าหลักเขตแดนอยู่ตามแผนที่ 1 ต่อ 200,000 หากไทยไม่ยินยอม กัมพูชาก็จะใช้สิทธิครอบครองดินแดนไทยต่อไปอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งก็หมายถึงการสูญเสียดินแดนอย่างถาวร” นายปานเทพกล่าว

โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวต่อว่า เมื่อร่างทีโออาร์นี้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชัดเจนเช่นนี้ ตามกระบวนการแล้วต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเสียก่อนตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 (3) โดยขั้นแรกก่อนจะเป็นทีโออาร์นี้ต้องได้รับความเห็นชอบกรอบกาเจรจาจากรัฐสภา และทำประชาพิจารณ์เสียก่อน ซึ่งรัฐบาลยังไม่ทำจนถึงทุกวันนี้ แต่กลับไปเจรจาโดยพลการ จะอ้างไม่ได้ว่าใช้กรอบการเจรจาเดิม เพราะกรณีนี้มีชาติที่ 3 มาเกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงต้องทำกรอบการเจรจาใหม่ และก่อนจะมีการลงนามก็ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาอีกเช่นกัน

นายปานเทพกล่าวด้วยว่า การที่กองทัพแสดงจุดยืนไม่เข้าร่วมประชุมคณะกรรมาธิการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) และไม่ยอมให้อินโดนีเซียส่งผู้แทนเข้ามาสังเกตการณ์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และเชื่อว่าฝ่ายกองทัพเห็นร่างทีโออาร์ฉบับนี้ จึงมีท่าทีดังกล่าวออกมา แต่เพียงท่าทีนั้นยังไม่เพียงพอ เพราะทหารยังต้องมีหน้าที่ในการผลักดันกัมพูชาออกจากดินแดนไทยด้วย ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าในการประชุมเจบีซีมีการพูดคุยเรื่องใดบ้าง มีเพียงข่าวที่จะว่าจ้างเอกชนถ่ายภาพทางอากาศเพื่อสำรวจพื้นที่ภูมิประเทศที่แท้จริง หากมีการพูดคุยกันเท่านี้เป็นข้อเสียเปรียบไม่โต้แย้งคำปราศรัยที่ให้ร้ายไทย หรือปฏิเสธการปักปันเขตแดนในพื้นที่ที่ไม่ต้องปักปัน ซึ่งหากไม่มีการโต้แย้ง กัมพูชาก็จะสามารถนำไปอ้างในเวทีต่างๆ เหมือนเป็นกฎหมายปิดปากที่ไทยไม่สามารถโต้แย้งได้อีกในอนาคต

เมื่อถามว่า ร่างทีโออาร์ฉบับนี้ รัฐบาลอาจอ้างได้ว่าอินโดนีเซียจัดทำเพียงฝ่ายเดียว นายปานเทพกล่าวว่า ในเอกสารฉบับนี้ซึ่งระบุการจัดทำว่า ทำในเดือน ก.พ. โดยที่ไม่ได้มีการระบุวันที่ทำ แต่มีการอ้างถึงความยินยอมของทั้ง 2 ฝ่ายจากการประชุมวันที่ 22 ก.พ.ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน โดยมีแถลงการณ์ออกมาว่าทั้งไทยและกัมพูชายินดีที่จะไม่ให้เกิดการปะทะกันอีก และยินดีให้ผู้สังเกตการณ์ของอาเซียนเข้ามาในพื้นที่ แสดงให้เห็นว่าอินโดนีเซียดำเนินการตามที่ฝ่ายไทยได้วางแนวทางไว้แล้ว ที่สำคัญเรื่องที่กระทบต่อเขตแดนและเกี่ยวกับการวางกำลังทหาร กลับไปเจรจาโดยรัฐมนตรีต่างประเทศ ทั้งที่เป็นหน้าที่ของจีบีซี ที่กระทรวงกลาโหม และกองทัพรับผิดชอบ จนเกิดปัญหาอยู่ในขณะนี้ แสดงให้เห็นถึงการไม่คำนึงความมั่นคงของประเทศของรัฐบาลเลย

เมื่อถามต่อว่า แสดงว่าการไปประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเมื่อวันที่ 22 ก.พ.ก็ถือว่าผิดขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 190 ตั้งแต่ต้น นายปานเทพกล่าวว่า ในมาตรา 190 (3) ระบุชัดว่า การไปเจรจาใดๆ ต้องขอกรอบการเจรจาจากรัฐสภา และทำประชาพิจารณ์เสียก่อน แต่กลับไปประชุมแบบหมกเม็ด ไม่เปิดร่างทีโออาร์ให้ประชาชนได้รับรู้ ดังนั้น รัฐบาลผิดพลาดตั้งแต่การไปร่วมประชุมในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) เมื่อวันที่ 14 ก.พ. และออกถ้อยแถลง แต่ไทยไม่ยืนยันเส้นเขตแดนของตัวเอง ในขณะที่กัมพูชายืนยัน ทำให้นานาชาติไม่เห็นว่ากัมพูชารุกล้ำแดนไทยอยู่ และเกิดเป็นข้อตกลงชั่วคราวในการหยุดยิงถาวร ก่อนจะมีการประชุมอาเซียนในวันที่ 22 ก.พ. ซึ่งถือเป็นความผิดพลาดที่ไม่ยอมยืนยันเส้นเขตแดน มัวแต่ยึดเอ็มโอยู 2543 ที่ใช้ไม่ได้จริงในเวทีนานาชาติ

ขณะที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ทหารแสดงออกมา ถือว่าเห็นด้วยกับท่าทีของภาคประชาชนที่มีข้อห่วงใยมาก่อนหน้านี้ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี เพียงแต่ทหารยังมีหน้าที่ปกป้องประเทศ ไม่ควรปล่อยให้กัมพูชายึดครองแผ่นดินได้ต่อไป ย้อนกลับมาที่ 3 ข้อเรียกร้องของการชุมนุม คือ ยกเลิกเอ็มโอยู 2543 ถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลก และผลักดันกัมพูชาออกจากดินแดนไทย หากรัฐบาลทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็จะสามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะการใช้กำลังผลักดันกัมพูชาออกไป ก่อนมีข้อตกลงไม่ให้มีการปะทะ แต่เมื่อปล่อยให้เขาอยู่ แล้วมาบังคับไม่ให้ใช้กำลัง ไทยก็เสียเปรียบชัดเจน เมื่อรัฐบาลไม่ยอมทำจึงเกิดปัญหา


กำลังโหลดความคิดเห็น