xs
xsm
sm
md
lg

เปิดร่าง TOR อินโดฯ เสนอ “กษิต” ขอส่งคณะสังเกตการณ์ 30 นายเข้าพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (แฟ้มภาพ)
ASTVผู้จัดการ - เปิดร่างทีโออาร์อินโดฯ เสนอ “กษิต” ขอส่งคณะสังเกตการณ์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลอินโดนีเซีย ฝั่งละ 15 นาย เข้าประจำตำแหน่งบริเวณชายแดนไทย-เขมร บก.ข่าวสายทหารชี้ปัญหาอยู่ที่เขมรน่าจะจัดให้คณะสังเกตการณ์เข้าไปอยู่ในพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ซึ่งเป็นดินแดนไทย ฟันธง “กษิต” ไปอินโดฯ คว้าน้ำเหลว เสียเวลาเปล่า


จากการจัดประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ระหว่างวันที่ 7-8 เม.ย. 2554 ที่เมืองโบกอร์ ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งรัฐบาลไทยได้ส่งนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไปเป็นตัวแทนเพื่อหารือกับ นายฮอร์ นัมฮง รองนายกรัฐมนตรีและรมต.ต่างประเทศกัมพูชา รวมถึงนายมาร์ตี นาตาเลกาวา ประธานอาเซียนและ รมต.ต่างประเทศอินโดนีเซีย โดยมีปัญหาอยู่ที่ว่าทางอินโดนีเซียขอส่งกำลังทหารเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ในพื้นที่ชายแดนไทยและกัมพูชา

ล่าสุด ได้มีผู้นำร่างเอกสารเงื่อนไขข้อตกลง หรือทีโออาร์ (Term of Reference) ที่นายมาร์ตี นาตาเลกาวา ประธานอาเซียน เสนอต่อนายกษิต รมต.ต่างประเทศไทย เพื่อส่งทหารอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ในบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาจำนวน 3 หน้ามาเปิดเผย โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่าร่างทีโออาร์ดังกล่าวถูกจัดทำขึ้นหลังการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 54 มีจำนวนทั้งสิ้น 3 หน้า โดยร่างทีโออาร์ดังกล่าวระบุชัดว่า ทางอินโดนีเซียประสงค์จะส่งทีมสังเกตการณ์ หรือไอโอที (The Indonesian Observers Team) อันประกอบไปด้วยทหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชาจำนวน 30 นาย

“สมาชิก 30 คนของทีมไอโอทีจะถูกจัดสรรเพื่อเข้าปฏิบัติงานดังนี้ คือ ทีมสังเกตการณ์อินโดนีเซีย-กัมพูชา (IOT-C) จำนวน 15 คน จะเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบชายแดนกัมพูชา-ไทย ในฝั่งกัมพูชา และ ทีมสังเกตการณ์อินโดนีเซีย-ไทย (IOT-T) จำนวน 15 คน จะเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบชายแดนไทย-กัมพูชา ในฝั่งไทย” ตอนหนึ่งของร่างทีโออาร์ดังกล่าวระบุ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ภาคประชาชน กองทัพและรัฐบาลไทยเป็นกังวลก็คือ พื้นที่ที่ทีมสังเกตการณ์อินโดนีเซีย-กัมพูชา (IOT-C) จะเข้าไปประจำการจะเป็นจุดใด โดยหากเข้าประจำการในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ทางฝ่ายไทยก็คงมิอาจยอมรับได้



นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคง สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย ให้ความเห็นว่า “ประเด็นของทีโออาร์อยู่ที่ว่า จะให้ทีมสังเกตการณ์ของอินโดนีเซียไปอยู่ตรงไหนของฝั่งกัมพูชา เพราะฝ่ายไทยน่าจะให้ไปอยู่ที่ผามออีแดง แต่ฝ่ายเขมรเขาจะต้องเอาเข้าไปในพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ซึ่งเป็นพื้นที่ของไทยแน่นอน”

เมื่อถามต่อว่าการที่กระทรวงต่างประเทศเดินทางไปเจรจากับกัมพูชาที่อินโดนีเซียโดยไม่ได้รับความร่วมมือจากกองทัพจะทำให้มีปัญหาอะไรตามมาหรือไม่ เนื่องจากเมื่อไม่กี่วันก่อนทางกองทัพโดย พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ระบุว่าจะไม่ประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (จีบีซี) บก.ข่าวความมั่นคงทีวีไทยให้ความเห็นว่า เรื่องการเมืองระหว่างประเทศเป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว แต่ก่อนเดินทางไปทางกระทรวงต่างประเทศน่าจะตกลงกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเรียบร้อยแล้ว

ถามต่อว่าการที่อินโดนีเซียเข้ามายุ่งเกี่ยวในการทำทีโออาร์และส่งทีมสังเกตการณ์ซึ่งเป็นทหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่จะทำให้การเจรจาเรื่องปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ลุกลามจากการเจรจาระดับทวิภาคีไปเป็นพหุภาคีหรือไม่ นายเสริมสุขให้ความเห็นว่า ประเด็นเรื่องทวิภาคีหรือพหุภาคีนี้อยู่ที่ว่ามองในบริบทของอะไร

“ถ้าเป็นการเจรจาเจบีซี หรือจีบีซี ก็แน่นอนว่ายังอยู่ในบริบทของทวิภาคี แต่ถ้ามีผู้สังเกตการณ์ก็ต้องเป็นพหุภาคี ซึ่งตรงจุดนี้เป็นเรื่องที่ทางประธานอาเซียนได้รับโจทย์จากทางยูเอ็นให้เข้ามาแก้ปัญหา ซึ่งถ้ามีอาเซียนเข้ามาก็ต้องกลายเป็นสามฝ่าย อย่างไรก็ตาม ตราบใดก็ตามที่ทางฝั่งไทยไม่ยอมการส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามาก็ทำไม่ได้” นายเสริมสุขระบุ

ทั้งนี้ทั้งนั้น บก.ทีวีไทย วิเคราะห์ว่า ในการเดินทางประชุมเจบีซีครั้งนี้ของนายกษิตและคณะผู้แทนไทย ไม่น่ามีข้อสรุปอะไร นอกจากการยืนยันผลการประชุมครั้งที่ผ่านมา เพราะประเด็นสำคัญคือ ข้อตกลงเจบีซียังไม่สามารถผ่านการประชุมของรัฐสภาไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในร่างทีโออาร์ฉบับดังกล่าวที่ทางประธานอาเซียนเสนอให้นายกษิตพิจารณา มีการระบุถึงภารกิจของทีมสังเกตการณ์อินโดนีเซียว่าจะไม่พกพาอาวุธ ต้องเป็นผู้สังเกตการณ์เรื่องการหยุดยิงที่ทางฝ่ายไทยและกัมพูชาได้ตกลงกันไว้ รวมถึงทำรายงานประจำวันส่งให้แก่ประธานอาเซียที่อินโดนีเซีย เป็นต้น

ส่วนรายละเอียดในหน้าที่ 3 ของทีโออาร์ ระบุว่า หากมีการยินยอมให้ผู้สังเกตการณ์เข้าไป ฝ่ายไทยและกัมพูชาจะต้องเป็นผู้จัดสรรที่พัก การสื่อสาร สิ่งอำนวยความสะดวก พาหนะในการเดินทางทางบก และอากาศรวมถึงคนขับ ผู้ประสานงานและทีมงานให้กับทางเจ้าหน้าที่อินโดนีเซีย โดยทางอินโดนีเซียจะจ่ายค่าตอบแทนและค่าเครื่องบินไปถึงเมืองหลวงของประเทศทั้งสองเอง
ร่างทีโออาร์หน้าที่ 1/3
ร่างทีโออาร์หน้าที่ 2/3
ร่างทีโออาร์หน้าที่ 3/3
กำลังโหลดความคิดเห็น