อินโดฯ และเขมร กดดันไทยเร่งยอมรับทีโออาร์ ให้ผู้สังเกตการณ์จากอินโดฯ มาเฝ้าพรมแดนไทย-เขมร 9 เดือน ก่อนจัดประชุมจีบีซี และเจบีซี ที่เมืองบอร์กอ อินโดนีเซีย 24-25 มีนาคมนี้ “ฮุนเซน” ขู่จะฟ้องต่อ UNSC ถ้าไทยยังไมยอมรับทีโออาร์ กต.แถลงท่าทีของไทยหวังจัดประชุมก่อน และให้ทั้งสองประเทศร่วมกันพิจารณาร่างทีโออาร์
เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2554 สำนักข่าวซินหัวของจีน รายงานว่านายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน เรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีไทย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ตอบรับเงื่อนไขข้อตกลง (TOR) ของผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย และข้อเสนอการจัดประชุมข้อพิพาทเขตแดนไทย-กัมพูชา วันที่ 24 มีนาคม
“ผมอยากเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตอบรับอินโดนีเซียในเรื่องทีโออาร์ และข้อเสนอจัดประชุม 24-25 มีนาคม โดยเร็วที่สุด” เขากล่าว และเพิ่มเติมว่า “กัมพูชาได้ตอบรับเรียบร้อยแล้ว”
ข้อเรียกร้องของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย นายมาร์ตี นาตาเลกาวา ได้ส่งหนังสือถึงนายฮอร์ นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีต่างประเทศไทย และรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียนอื่นๆ เมื่อวันพุธ
หนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า กัมพูชาได้ตอบสนองในทางที่เป็นบวกต่อทีโออาร์ และข้อเสนอจัดประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (GBC) และคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมจัดทำหลักเขตแดนทางบก (JBC) ที่เมืองบอร์กอ อินโดนีเซีย ในวันที่ 24-25 มีนาคม “ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับการตอบรับที่เป็นบวกจากประเทศไทย” นายมาร์ตีเขียนในจดหมาย และ “เป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือนนับแต่การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เมื่อวันที่ 22 ก.พ. เราเชื่ออย่างหนักแน่นว่าเราทั้งหมดทราบความเร่งด่วนของกิจกรรมทางปฏิบัติ”
ในจดหมายฉบับดังกล่าว นายมาร์ตีระบุว่ามีการเปลี่ยนแปลงบางประเด็นในเงื่อนไขของทีโออาร์ และได้ขอให้ทั้งกัมพูชาและประเทศไทยใช้ทีโออาร์ฉบับใหม่
ฮุนเซนกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงบางอย่างในทีโออาร์ ได้แก่ การยืนยันว่าการปฏิบัติตามทีโออาร์จะไม่กระทบต่อเขตแดน ความมั่นคงหรือผลประโยชน์สำคัญของรัฐ และผลของการเจรจาจัดทำหลักเขตแดนระหว่างกัมพูชาและประเทศไทย
การเปลี่ยนแปลงอีกประการเกี่ยวข้องกับระยะเวลาของผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย ซึ่งลดลงเหลือ 9 เดือน จาก 12 เดือน ในทีโออาร์ฉบับเดิม เนื่องจากอินโดนีเซียเหลือเวลาการเป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียนอีกแค่ 9 เดือน
“กัมพูชาเห็นด้วยอย่างยิ่งกับทีโออาร์ฉบับใหม่ และได้ตอบรับในทางบวกไปยังอินโดนีเซียแล้วเมื่อวันพุธ” ฮุนเซนกล่าว
สำนักข่าวต้นมะขามของกัมพูชา รายงานอ้างคำกล่าวของฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่เขตพระตะบองวานนี้ว่า นายกรัฐมนตรีฮุนเซนเรียกร้องให้ไทยตอบรับข้อเสนอของรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ประธานอาเซียน ในการส่งผู้สังเกตการณ์ไปยังพื้นที่พิพาท ฮุนเซนยืนยันว่ากัมพูชาเห็นชอบกับอินโดนีเซียที่จะให้จัดส่งคณะผู้สังเกตการณ์ไปยังพรมแดน
“ถ้าไทยไม่ตอบอินโดนีเซีย ผมจะร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และอาเซียน ให้รู้ว่าใครกันแน่ที่รักสันติและต้องการยุติปัญหาความขัดแย้งพรมแดน” ฮุนเซนกล่าว “ฝ่ายกัมพูชาได้แจ้งอินโดนีเซียเรียบร้อยแล้วถึงตำแหน่งที่ตั้งของผู้สังเกตการณ์ และระยะเวลาสำหรับภารกิจค้นหาความจริง” และกล่าวต่ออีกว่า “ถ้าไทยเห็นชอบกับข้อเรียกร้องของอินโดนีเซีย กัมพูชาจะส่งหัวหน้าคณะทูตไปประชุมกรรมาธิการพรมแเดน”
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2554 นายธานี ทองภักดี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee : GBC) และคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (Joint Boundary Commission : JBC) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ตามที่มีรายงานข่าวว่า กัมพูชายินดีเข้าร่วมการประชุม GBC และ JBC ไทย-กัมพูชา ตามข้อเสนอของอินโดนีเซียที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทั้งสอง ระหว่างวันที่ 24-25 มีนาคม 2554 นั้น ไทยมีความยินดีที่กัมพูชาแสดงความพร้อมเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ซึ่งไทยเองก็พร้อมที่จะเข้าร่วมประชุมทั้งสองกับกัมพูชา เนื่องจากไทยได้พยายามผลักดันให้มีการประชุมทวิภาคีระหว่างไทยกับกัมพูชามาโดยตลอด ทั้งนี้ ในการประชุม GBC ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทยกับกัมพูชาเป็นประธานร่วม จะเป็นโอกาสดีที่ทั้งสองประเทศจะได้ร่วมกันพิจารณาร่างรายละเอียดเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจหน้าที่ (Terms of Reference) ของผู้สังเกตการณ์ของอินโดนีเซียที่จะส่งมาด้วย ฝ่ายไทยจึงไม่ขัดข้องในหลักการที่เข้าร่วมการประชุม GBC อย่างไรก็ดี กำหนดการประชุม สถานที่ประชุม และรูปแบบของการเข้ามามีส่วนร่วมของอินโดนีเซียเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการประชุม เป็นเรื่องที่ต้องหารือกันในรายละเอียดต่อไป ซึ่งในชั้นนี้ ฝ่ายกัมพูชาได้แสดงความประสงค์ว่าต้องการให้ฝ่ายอินโดนีเซียเข้าร่วมในพิธีเปิดการประชุม และให้ทั้งสองประเทศแบ่งปันข้อมูลให้กับอินโดนีเซียภายหลังการประชุม
2. ฝ่ายไทยพร้อมที่จะให้มีการจัดการประชุม JBC ตามข้อเสนอของอินโดนีเซียเช่นกัน โดยฝ่ายไทยได้ยืนยันมาโดยตลอดว่าประสงค์จะให้มีการประชุม JBC ในโอกาสแรก ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยได้เสนอต่อรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศกัมพูชาไว้แล้วตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ให้สองฝ่ายร่วมประชุม JBC ในโอกาสแรกภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งในขณะนั้นฝ่ายกัมพูชาก็ตอบรับในหลักการแล้ว แต่ได้เปลี่ยนท่าทีในภายหลัง นอกจากนี้ ที่ประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนก็ได้เรียกร้องให้ไทยกับกัมพูชาประชุมทวิภาคีระหว่างกันในโอกาสแรก ทั้งภายใต้กรอบของ JBC และ GBC และกรอบอื่นๆ โดยให้อินโดนีเซียเข้ามามีส่วนร่วมตามความเหมาะสม อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ฝ่ายกัมพูชาได้ยืนยันว่าจะไม่เข้าร่วมประชุม JBC จนกว่าร่างบันทึกผลการประชุม JBC 3 ครั้งที่ผ่านมาจะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาไทยก่อน ซึ่งขณะนี้ได้ทราบว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญของรัฐสภาเพื่อพิจารณาบันทึกการประชุมทั้ง 3 ฉบับได้พิจารณาเสร็จแล้ว และได้เสนอเรื่องให้รัฐสภาพิจารณา คาดว่าน่าจะบรรจุเป็นวาระเพื่อพิจารณาได้ภายในเดือนมีนาคมนี้