โฆษกฯกลาโหมของกัมพูชาเผยจะไม่มีการประชุมจีบีซีกับไทยในเดือนนี้ ถ้าจะจัดประชุมต้องเชิญอาเซียนเข้าร่วมด้วย ชี้ฝ่ายไทยจงใจถ่วงเวลาไม่ยอมรับผู้สังเกตุการณ์จากอินโดนีเซียลงพื้นที่พิพาท สื่อเขมรอ้างทหารไทยขุดหลุมบังเกอร์ใกล้ปราสาทพระวิหาร
สำนักข่าวซินหัว รายงานเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ว่า นายชุม โสเชียท โฆษกของกระทรวงกลาโหม กัมพูชา กล่าวว่าจะไม่มีการเจรจาทวิภาคีตามกรอบจีบีซี หรือ คณะกรรมการเขตแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา ภายในเดือนนี้ ตามที่ฝ่ายไทยร้องขอ
“นายเตีย บัญ รัฐมนตรีกลาโหมกัมพูชา ได้ตอบคำร้องขอจากไทยว่าช่วงเวลาไม่เหมาะสมที่จะจัดประชุม และจะไม่มีการเจรจาสองฝ่ายโดยไม่มีตัวแทนของอาเซียนร่วมประชุมด้วย” และว่า “ถ้าไทยต้องการเสนอให้มีการประชุมร่วมกับกัมพูชา ก็สามารถขอให้อาเซียนช่วยจัดการประชุม”
ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม กล่าวว่าไทยได้ขอให้กัมพูชาร่นการจัดการประชุมคณะกรรมการจีบีซีครั้งที่ 8 มาเป็นเดือนมีนาคมนี้ จากกำหนดการเดิมในเดือนเมษายน เพื่อทั้งสองประเทศจะได้ช่วยแก้ปัญหา และหารือกันเกี่ยวกับการที่ผู้สังเกตุการณ์อินโดนีเซียที่จะลงพื้นที่
นายชุม โสเชียท กล่าวว่า มันเป็นเพียงข้อแก้ตัวของฝ่ายไทยที่จะถ่วงเวลาการยอมรับผู้สังเกตุการณ์จากอินโดนีเซีย
สำนักข่าวดึมอัมปรึล สื่อกระบอกเสียงรัฐบาลกัมพูชารายงานข่าว โดยไม่อ้างชื่อแหล่งข่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่หทารกัมพูชากล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า ทหารไทยได้ดำเนินการขุดหลุมบังเกอร์บริเวณหน้า Trab Mountain ใกล้กับปราสาทพระวิหาร เจ้าหน้าที่กล่าวว่าทางกัมพูชาได้ขอให้ทหารไทยหยุดการขุดหลุมบังเกอร์แต่ไทยไม่ฟัง
ทั้งนี้ ในวันที่ 22 ก.พ.ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน มีมติให้อินโดนีเซียส่งผู้สังเกตุการณ์ลงพื้นที่กรณีพิพาทเขตแดนไทย-กัมพูชา หลังจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหยุดการปะทะกันอย่างถาวร
เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ รายงานว่า สำนักข่าวกัมพูชาเผยแพร่บางส่วนของคำกล่าวของนายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ระหว่างงานวันวัฒนธรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 13 ที่หอประชุมจตุรมุข ในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา โดยฮุนเซน เน้นย้ำว่า ปัญหาพิพาทพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา สาเหตุหลักคือการบุกรุกของไทยบนเขตแดนกัมพูชา ไม่ได้เกิดจากการขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหารเป็นแหล่งมรดกโลก “แล้วการบุกรุกของไทยใน ค.ศ. 1954 และ 1962 ล่ะ?” ฮุนเซน ถามระหว่างการกล่าวเปิดงาน และยังกล่าวเพิ่มอีกว่านั่นเป็นความปรารถนาของประเทศไทย
ขณะที่หนังสือพิมพ์พนมเปญโพสต์ฉบับวันเดียวกัน ระบุว่าฮุนเซนขอบคุณในข้อตกลงระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาที่จาการ์ตาในเดือนที่ผ่านมา ให้ส่งคณะผู้สังเกตการณ์อินโดนีเซีย 15 คน ไปประจำที่แต่ละด้านของพรมแดนใกล้ปราสาทพระวิหาร
ฮุนเซน กล่าวว่า กรุงเทพฯ ยังไม่ได้ให้ความเห็นชอบขั้นสุดท้ายสำหรับผู้สังเกตการณ์ “ยูเอ็นและอาเซียนไม่ได้เข้ามาแก้ปัญหาพิพาทพรมแดน เขาเข้ามาเพื่อหาว่าใครยิงก่อนและใครรุกล้ำ” และเพิ่มเติมว่า “ถ้าคุณไม่ใช่โจร ก็อย่ากลัวตำรวจ”