xs
xsm
sm
md
lg

“ประวิตร”ลั่นโอเคอาเซียนจุ้นปมเขมร - "ประยุทธ์" ไม่แย้งบอกให้เป็นไปตามขั้นตอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ประวิตร" บอกทุกย่างโอเค อาเซียนเข้ามาช่วยแก้ปมพระวิหาร โดยส่งอินโดนีเซียเข้าสังเกตการณ์ เชื่อเป็นการส่งสัญญาณที่ดีในการแก้ไขปัญหา ด้าน “ประยุทธ์” พร้อมดำเนินการไปตามขั้นตอน สั่งทหารชายแดนเข้มระหว่างรอคณะผู้สังเกตการณ์หวั่นปะทะซ้ำ

วันนี้ (24 ก.พ.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการส่งคณะผู้สังเกตุการณ์จากอินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่ชาย แดนไทย-กัมพูชาฝ่ายละ 15 คนว่า เรื่องนี้ตนยังไม่ได้พูดคุยกับ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศถึงแนวทางเพื่อต้อนรับคณะผู้สังเกตุ การณ์จากอินโดนีเซียไปประจำอยู่กับกองทัพไทย-กัมพูชา ฝ่ายละ 15 คน ตามที่มติที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ (อาเซียน) อย่างไม่เป็นทางการ ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียที่สนับสนุนให้ไทย และกัมพูชา แก้ปัญหาบริเวณชายแดนแบบทวิภาคี ดังนั้นจะต้องรอพูดคุยในรายละเอียดก่อนว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรให้ เกิดเป็นรูปธรรม

“ผม ยังตอบไม่ได้ว่า ทิศทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้จะออกมาเป็นอย่างไร เพราะยังไม่ได้คุยกับรมว.ต่างประเทศ พูดตอนนี้อาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้ แต่การดำเนินการเรื่องนี้ถือว่าโอเค การพูดคุยกับแบบทวิภาคี และทางอินโดนีเซีย ในฐานะประธานการประชุมรมว.ต่างประเทศอาเซียน ที่ส่งเจ้าหน้าที่มาเป็นผู้สังเกตุการณ์ ตามที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) ที่ต้องการให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปตามทวีภาคี โดยให้อาเซียนมาเป็นพี่เลี้ยงถือว่าทุกอย่างโอเค” พล.อ.ประวิตร ระบุ

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า รายละเอียดว่า จะให้ผู้สังเกตุการณ์จากอินโดนีเซียจะไปอยู่กันอย่างไร หรืออยู่กันตรงไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องมาพูดจากันก่อน ส่วนรายละเอียดเรื่องนี้จะต้องพูดคุยกับ นายกษิต ก่อน สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีในการแก้ไขปัญหาของไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะกรอบการพูดคุยกันในระดับทวิภาคีเรียบร้อย ก็จะต้องมาพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ระดับ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศไทย-กัมพูชา หรือ การประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปไทย-กัมพูชา (จีบีซี) ซึ่งถือว่ามีช่องทางที่จะพูดจากันอยู่ ส่วน กองทัพจะจัดเจ้าหน้าที่ร่วมติดตามกับคณะผู้สังเกตุการณ์จากอินโดนีเซียอย่าง ไรนั้น เรื่องนี้จะต้องคุยในรายละเอียดแผนปฏิบัติการก่อนว่า จะจัดเจ้าหน้าที่คนใดเข้าไปร่วมในเรื่องนี้ หรือ จะเจ้าหน้าที่ระดับไหนเข้ามา เราจึงจะจัดคนของเราเข้าไปร่วมอย่างเหมาะสม อีกทั้งตนจะต้องพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ด้วยในการจัดกำลังพลเข้าไปสังเกตุการณ์ในเรื่องนี้

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวถึงการส่งคณะผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่ชายแดน ไทย-กัมพูชาฝ่ายละ 15 คนว่า เป็นข้อตกลงของยูเอ็นเอสซีที่ประชุมที่อินโดนีเซีย เมื่อมีผลสรุปเป็นแบบนั้น แต่ทุกอย่างต้องรอขั้นตอน และการดำเนินการต่อไป ซึ่งจะต้องมีการสรุปผลการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษรถึงรัฐบาลไทย และรัฐบาลต้องแจ้งไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ทำเรื่องมายังกระทรวงกลาโหม จากนั้นรมว.กลาโหมต้องเรียกประชุมกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอแนวทางในการฏิบัติของทั้งสองฝ่ายโดยจะต้องมีการประสานไปยังกัมพูชา ว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งทุกอย่างมีขั้นตอนมาก

“ช่วง ที่รอคณะผู้สังเกตการณ์ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่จะต้องระมัดระวังในพื้นที่ เพื่อดูแลไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่ง ซึ่งเรายืนยันว่า กองทัพไทยไม่ได้มีการเริ่มก่อน แต่เมื่อมีเหตุการณ์มา เราต้องดำเนินการไปตามขั้นตอน การที่คณะผู้สังเกตการณ์ทั้ง 15 คน จะเข้ามานั้นจะต้องมีขั้นตอน ไม่ได้พูดสั่งการทางโทรศัพท์แล้วจะจบ ทุกอย่างต้องมีเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเฉพาะเอกสารผลการประชุม รวมถึงมติต่างๆว่า จะดำเนินการอย่างไร เพื่อให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชารับทราบ รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองประเทศว่า จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร รวมถึงประชุมหารือกันว่า จะแก้ไขอย่างไร และผู้สังเกตการณ์ทั้ง 15 คน จะอยู่ในพื้นที่ใด เมื่อตกลงรายละเอียดแล้วต้องมาพูดคุยกันที่กระทรวงกลาโหม เนื่องจากเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องกำลังทหาร จากนั้นกระทรวงกลาโหมจึงเรียกกองทัพมาพูดคุยและประชุม ส่วนกัมพูชาจะดำเนินการในลักษณะเดียวกันตามที่เอกสารระบุ”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

แหล่งข่าวนายทหารระดับสูงจากกองทัพบก ระบุว่า ในวันที่ 25 ก.พ.นี้ หลังจาก พล.อ.ประวิตร ร่วมประชุมสภากลาโหมกับผบ.เหล่าทัพที่กระทรวงกลาโหมเสร็จสิ้นในช่วงเช้าแล้ว ในช่วงบ่ายนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ จะเข้าพบ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่กระทรวงกลาโหม เพื่อหารือกรณีที่ประเทศอาเซียนมีมติให้ทหารอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ใน พื้นที่ไทย - กัมพูชา ฝ่ายละ 15 คนว่า จะมีการกำหนดรูปแบบการทำงานของทหารอินโดที่เข้ามาสังเกตการณ์ บทบาทหน้าที่จะต้องทำอะไรบ้างให้ชัดเจน จากนั้นจะมีคำสั่งให้กองทัพบกดำเนินการ ทั้งนี้ ยืนยันว่าการทำงานของทหารกับกระทรวงต่างประเทศไม่ได้ขัดแย้งกันในเรื่องให้ มีผู้สังเกตการณ์จากต่างชาติในพื้นที่ เพราะก่อนที่นายกษิต กับ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสนาธิการ ทหารบก ในฐานะตัวแทนกองทัพบก จะเดินทางไปหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการในเรื่อง ดังกล่าว กองทัพได้หารือกับกระทรวงต่างประเทศในกรอบเบื้องต้นไปแล้ว และไม่ได้มีปัญหาขัดแย้งแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันพลจัตวา ดารู ผู้ช่วยฑูตทหารอินโดนีเซีย ได้หารือกับ พล.ท.ศิริชัย ดิษฐกุล รองเสนาธิการทหารบก ถึงแนวทางการทำงานของคณะผู้สังเกตการณ์ของอาเซียน กรณีเหตุปะทะกันระหว่าง ไทย-กัมพูชา ในพื้นที่พิพาทชายแดนเขาพระวิหาร ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ให้กองทัพบกเตรียมสถานที่และ ยานพาหนะในกรณีที่ผู้สังเกตการณ์จะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ โดยขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดห้วงเวลา

“ฝ่ายอินโดนีเซียกำหนดไว้คร่าวๆ ว่า ในจำนวนคณะผู้สังเกตการณ์ 30 คน อาจจะเป็นการแบ่งไปเป็นสองส่วน ฝ่ายละ 15 นาย กับอีกสูตรหนึ่งจะแบ่งเป็นสองส่วนเช่นกัน คือ ทหาร 25 นาย พลเรือน 5 คน ในส่วนของทหารจะแบ่งเป็นฝ่ายละ 11 นาย รวม 22 นาย ส่วน 3 นายที่เหลือจะเป็น ส่วนบังคับบัญชาที่จะประสานงานของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติทั้งสองฝ่าย ส่วนกรอบการปฏิบัติ อำนาจหน้าที่ และพื้นที่ ในการเข้าไปทำงาน น่าจะมีการคุยกันระดับรมว.กลาโหมของสองประเทศก่อน โดย การจัดกำลังจะเป็นลักษณะเดียวกับกรณีที่เคยมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสังเกตการณ์ที่อาเจะห์ แต่ภารกิจและอำนาจหน้าที่จะไม่กว้างขวางเหมือนกรณีอาเจะห์ เพราะปัญหาของไทย-กัมพูชา เล็กกว่า”แหล่งข่าวระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น