xs
xsm
sm
md
lg

ฮุนเซนดูถูกคนภูมิซรอล อาเซียนลงพื้นที่วันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-เทือกให้“กต.-กห.”ดูแลผู้สังเกตการณ์บนดินแดนพิพาท ฮุนเซน ขำ! คนภูมิซอลฟ้อง 3 พันล้าน ด้านผู้สังเกตการณ์อินโดฯ ลงพื้นที่วันนี้ รอ“ป้อม- เตียบันห์” ถกสูตรสังเกตการณ์ ส่วนตัวแทนยูเนสโก้พบ “มาร์ค”ที่ทำเนียบวันนี้เหมือนกัน ก่อนเยือนกัมพูชา 3 วัน ส่วนกมธ.เจบีซี ชงบันทึก 3 ฉบับเข้าสภา ป้อง MOU ปัดรับรอง 1 ต่อ 2 แสน

วานนี้(24 ก.พ.) ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหากรณีพิพาทไทย-กัมพูชา ที่ตัวแทนของอาเซียนเข้ามาสนับสนุนแนวทางแก้ไขปัญหา ซึ่งเกรงกันว่าอาจทำให้ไทยเสียดินแดนถาวรว่า จริงๆแล้วมันน่าจะมีความชัดเจนด้วยซ้ำและที่กล่าวหาว่าเสียดินแดนไปแล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงร่างแถลงการณ์ของอาเซียนคงไม่มาพูดถึงดินแดนไทย ส่วนเรื่องที่บอกว่าเป็นทวิภาคีใช่หรือไม่นั้น ต้องไปอ่านตัวแถลงการณ์เพราะถ้อยคำได้ปรากฎชัดเจนพูดถึงกลไกของทวิภาคี เพียงแต่อาเซียนและประธานอาเซียนจะมาช่วยมีบทบาทสนับสนุนให้มันเกิดขึ้นเพราะถือว่าเป็นความรับผิดชอบที่ได้รับมาจากสหประชาชาติที่ได้แสดงความเป็นห่วงเป็นใย

ที่มากล่าวหาว่ารัฐบาลจะไปถอนทหารหรือหยุดยิงอะไรต่างๆตรงนี้จะเห็นได้ชัดว่าไม่มีอะไรอย่างนั้น มีแต่เพียงว่าเรามีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย ขณะเดียวกันชาวโลกมีความคาดหวังไม่ให้มีการปะทะกัน มาตรการที่เขาใช้คือเอาคนกลางมาอยู่ทั้ง2ฝั่ง โดยไม่ติดอาวุธ มาดูในกรณีที่ทั้ง2ฝ่าย บอกจะหลีกเลี่ยงการปะทะนั้นทำได้จริงไหม ทั้งนี้ตนเองคิดว่าการที่เราให้เข้ามาจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความบริสุทธิ์ใจของเรา และการมาอยู่ทั้ง2ฝั่งนั้นถือว่าดี เวลายิงกันจะได้ทราบว่าฝ่ายไหนยิงก่อน

**มาร์คทำงง!พธม.ขยายผลทำไม

เมื่อถามว่า ท่าทีของกัมพูชาเป็นแบบนี้ กลายเป็นว่ากลุ่มการเมืองที่อยู่ในประเทศได้หยิบเอาท่าทีของกัมพูชา มาขยายผลต่อ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเองไม่ทราบว่าทำไมต้องเอาสิ่งที่กัมพูชาพูดซึ่งหวังผล ในการที่จะมาใช้เชิงจิตวิทยาในสังคมและเรื่องอะไรต่างๆ ตรงนี้แทนที่จะมาใช้แนวทางของคนไทยทำไมถึงต้องไปเชื่อข้อมูลของกัมพูชา และคล้อยตาม คำโฆษณาหรือคำประกาศของกัมพูชา อย่าไปทำอย่างนั้นเลย มาอยู่กับฝั่งไทยดีกว่า

**เทือกให้“กต.-กห.”ดูแลผู้สังเกตการณ์

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์กรณีที่รัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย จะส่งหนังสือเกี่ยวกับผู้สังเกตการณ์ที่จะเข้ามาในประเทศไทยในวันที่ 25 ก.พ.ว่า ในส่วนของความมั่นคงเรายังยืนยันเหมือนเดิม คือให้เกิดสันติภาพ เมื่อถามว่า สมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ออกมาระบุว่าปัญหาความขัดแย้งบริเวณชายแดนจะไม่ยุติลง ไม่ว่าจะมีข้อตกลงหยุดยิงถาวรหรืออะไรก็ไม่สามารถสงบลงได้ นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่ว่าปัญหาจะจบได้ภายในเวลาอันสั้นหรือจะต้องใช้เวลาในการแก้ไข การแก้ไขปัญหานั้นควรจะเป็นไปด้วยสันติวิธี

เมื่อถามว่า แต่มีการออกมาเรียกร้องให้ยึดแผนที่ที่รับรองว่า เขาพระวิหารเป็นของกัมพูชาไม่ใช่ของไทย ถ้าตรงนี้มีความชัดเจนทุกอย่างจะจบหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ในการต่อสู้กันโดยหลักเกณฑ์ โดยกติกาที่เป็นสากล ตามหลักฐานที่มีกันอยู่ คนวิพากษ์วิจารณ์หยิบตรงนั้นมาพูดหน่อยตรงนี้มาพูดหน่อยก็จะทำให้สับสนกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เรียนให้ทราบกรณีที่จะไปหารือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า นายกษิต จะหารือกับนายกรัฐมนตรีตลอดเวลาอยู่แล้ว ส่วนการประสานงานระหว่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศนั้นก็จะประสานกันใกล้ชิดตลอดเวลาเช่นเดียวกัน

**“ป้อม”โอเคให้อาเซียนช่วยแก้ปมศึกเขมร

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการส่งคณะผู้สังเกตุการณ์จากอินโดนีเซียเข้ามาในพื้นที่ชาย แดนไทย-กัมพูชาฝ่ายละ 15 คนว่า เรื่องนี้ตนยังไม่ได้พูดคุยกับ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศถึงแนวทางเพื่อต้อนรับคณะผู้สังเกตุ การณ์จากอินโดนีเซียไปประจำอยู่กับกองทัพไทย-กัมพูชา ฝ่ายละ 15 คน ตามที่มติที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) อย่างไม่เป็นทางการ ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียที่สนับสนุนให้ไทย และกัมพูชา แก้ปัญหาบริเวณชายแดนแบบทวิภาคี ดังนั้นจะต้องรอพูดคุยในรายละเอียดก่อนว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรให้ เกิดเป็นรูปธรรม แต่การดำเนินการเรื่องนี้ถือว่าโอเค ส่วนรายละเอียดเรื่องนี้จะต้องพูดคุยกับ นายกษิต ก่อน สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีในการแก้ไขปัญหาของไทย-กัมพูชา ส่วนกองทัพจะจัดเจ้าหน้าที่ร่วมติดตามกับคณะผู้สังเกตุการณ์จากอินโดนีเซียอย่างไรนั้น จะต้องพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ด้วยในการจัดกำลังพลเข้าไปสังเกตุการณ์ในเรื่องนี้

**“ประยุทธ์”สั่งทหารชายแดนเข้ม

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า เป็นข้อตกลงของยูเอ็นเอสซีที่ประชุมที่อินโดนีเซีย เมื่อมีผลสรุปเป็นแบบนั้น แต่ทุกอย่างต้องรอขั้นตอน และการดำเนินการต่อไป ซึ่งจะต้องมีการสรุปผลการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษรถึงรัฐบาลไทย และรัฐบาลต้องแจ้งไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ทำเรื่องมายังกระทรวงกลาโหม จากนั้นรมว.กลาโหมต้องเรียกประชุมกับผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอแนวทางในการฏิบัติของทั้งสองฝ่ายโดยจะต้องมีการประสานไปยังกัมพูชา ว่า จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งทุกอย่างมีขั้นตอนมาก

“ช่วงที่รอคณะผู้สังเกตุการณ์ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่จะต้องระมัดระวังในพื้นที่ เพื่อดูแลไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่ง การที่คณะผู้สังเกตุการณ์ทั้ง 15 คน จะเข้ามานั้นจะต้องมีขั้นตอน ทุกอย่างต้องมีเอกสารเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้รัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชารับทราบ รวมถึงกระทรวงการต่างประเทศทั้งสองประเทศว่า จะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร”พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

**“ป้อม- เตียบันห์” ถกสูตรสังเกตการณ์

แหล่งข่าวนายทหารระดับสูงจากกองทัพบก ระบุว่า ในวันที่ 25 ก.พ.นี้ หลังจาก พล.อ.ประวิตร ร่วมประชุมสภากลาโหมกับผบ.เหล่าทัพที่กระทรวงกลาโหมเสร็จสิ้นในช่วงเช้าแล้ว ในช่วงบ่ายนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ จะเข้าพบ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.ประยุทธ์ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่กระทรวงกลาโหม เพื่อหารือกรณีที่ประเทศอาเซียนมีมติให้ทหารอินโดนีเซียเข้ามาสังเกตการณ์ใน พื้นที่ไทย - กัมพูชา ฝ่ายละ 15 คนว่า จะมีการกำหนดรูปแบบการทำงานของทหารอินโดที่เข้ามาสังเกตการณ์ บทบาทหน้าที่จะต้องทำอะไรบ้างให้ชัดเจน จากนั้นจะมีคำสั่งให้กองทัพบกดำเนินการ ทั้งนี้ ยืนยันว่าการทำงานของทหารกับกระทรวงต่างประเทศไม่ได้ขัดแย้งกันในเรื่องให้ มีผู้สังเกตการณ์จากต่างชาติในพื้นที่

**ทหารชี้ต่างจากกรณี “อาเจะห์”

วันเดียวกันพลจัตวา ดารู ผู้ช่วยฑูตทหารอินโดนีเซีย ได้หารือกับ พล.ท.ศิริชัย ดิษฐกุล รองเสนาธิการทหารบก ถึงแนวทางการทำงานของคณะผู้สังเกตการณ์ของอาเซียน กรณีเหตุปะทะกันระหว่าง ไทย-กัมพูชา ในพื้นที่พิพาทชายแดนเขาพระวิหาร ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ให้กองทัพบกเตรียมสถานที่และ ยานพาหนะในกรณีที่ผู้สังเกตการณ์จะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ โดยขณะนี้ยังไม่มีการกำหนดห้วงเวลา
“ฝ่ายอินโดนีเซียกำหนดไว้คร่าวๆ ว่า ในจำนวนคณะผู้สังเกตการณ์ 30 คน อาจจะเป็นการแบ่งไปเป็นสองส่วน ฝ่ายละ 15 นาย กับอีกสูตรหนึ่งจะแบ่งเป็นสองส่วนเช่นกัน คือ ทหาร 25 นาย พลเรือน 5 คน ในส่วนของทหารจะแบ่งเป็นฝ่ายละ 11 นาย รวม 22 นาย ส่วน 3 นายที่เหลือจะเป็น ส่วนบังคับบัญชาที่จะประสานงานของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติทั้งสองฝ่าย ส่วนกรอบการปฏิบัติ อำนาจหน้าที่ และพื้นที่ ในการเข้าไปทำงาน”แหล่งข่าวระบุ

**กมธ.เจบีซี ชงบันทึก 3 ฉบับเข้าสภา

ที่รัฐสภา นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมาธิการฯได้พิจารณารายงานการประชุมทั้ง 3 ฉบับ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยสามารถยืนยันได้ว่า MOU 2543 มีประโยชน์ที่จะนำไปสู่การเจรจาภายใต้กรอบทวิภาคี เพื่อแสวงหาสันติภาพต่อกัน รวมทั้งในรายการประชุมดังกล่าวไม่ได้มีถ้อยคำที่เป็นการยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ระวางดงรัก ตามที่ภาคประชาชนแสดงความเป็นห่วงไว้ เนื่องจากมีถ้อยคำใน MOU 2543 และคำวินิจฉัยของศาลโลกเมื่อปี 2505 ที่ระบุชัดเจนว่า แผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ระวางดงรัก ไม่เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตแดนร่วมสยาม-อินโดจีน

ทางกรรมาธิการยังได้แนบข้อเสนอเพื่อให้ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาปฏิบัติตาม MOU 2543 โดยขั้นตอนต่อไปคณะกรรมาธิการจะได้ประสานงานกับคณะกรรมการประสานงาน (วิป) รัฐบาล เพื่อบรรจุรายงานการประชุมเจบีซี ทั้ง 3 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาอีกครั้ง

**ป้อง MOU ปัดรับรอง 1 ต่อ 2 แสน

นายอรรถวิชช์ ยังได้กล่าวถึงกรณีคำปราศรัยของนายวาร์ คิม ฮง ประธานเจบีซี ฝ่ายกัมพูชา ที่กล่าวหาว่าไทยรุกล้ำดินแดนกัมพูชา โดยอ้างแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ระวางดงรัก ว่า ทางกรรมาธิการเห็นว่า ในช่วงต้นของรายงานการประชุมที่ปรากฎคำปราศรัยของผู้แทนฝ่ายกัมพูชาไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในหลายประเด็น จึงจะได้ส่งข้อสังเกตให้รัฐบาลเพื่อให้นายอัษฎา ชัยนาม ประธานเจบีซีฝ่ายไทย นำไปท้วงติงในการประชุมเจบีซีครั้งต่อไป

**พธม. ปรับชื่อ “คกก.ป้องกันราชอาณาจักรไทย”

ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยว่า ในโอกาสครบรอบ 31 วันหรือ 1 เดือนเต็มของการชุมนุม ทางคณะกรรมการรวมพลังปกป้องแผ่นดินได้มีการประชุมหารือกัน และมีมติให้เปลี่ยนชื่อคณะกรรมการเป็น “คณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย” เพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการชุมนุมมากขึ้น แต่ไม่มีการปรับในส่วนของตัวคณะกรรมการหรือแนวทางการทำงานแต่อย่างใด

พล.ต.จำลอง กล่าวว่า การออกประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงของรัฐบาล ไม่เพียงแต่คนไทยที่อยู่ในประเทศเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย เพราะล่าสุดคนไทยที่อาศัยอยู่ในสหรัฐจำนวน 528 คน ร่วมการออกแถลงการณ์ถึงนายอภิสิทธิ์ เรื่อง ขอให้เสียสละเพื่อประเทศชาติ โดยมีสาระสำคัญที่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง ที่เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชน และการบริหารประเทศที่ผิดพลาดของรัฐบาล ทำให้หมดความชอบธรรมในการบริหารบ้านเมืองต่อไป จึงขอให้นายอภิสิทธิ์รับผิดชอบด้วยการยุบสภาและลาออก เพื่อคืนพระราชอำนาจแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ในการปฏิรูปการปกครองให้เป็นที่ยอมรับต่อไป

**หนุนคนภูมิซรอลฟ้องศาลโลก

ส่วนกรณีที่ชาวบ้านภูมิซรอล จ.ศรีสะเกษ เตรียมนำเรื่องฟ้องต่อศาลโลกเพื่อเรียกค่าเสียหายจากกัมพูชา ฐานทำให้เดือดร้อนและสิ่งปลูกสร้างเสียหายจากการปะทะ พล.ต.จำลอง กล่าวสนับสนุนว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่หากให้ได้ประโยชน์ที่สุดต้องให้รัฐบาลต้องดำเนินการเรื่องนี้แทนชาวบ้าน เพราะมีเครื่องมือและบทบาทในเวทีโลก แต่ในเมื่อรัฐบาลไม่ยอมทำ ประชาชนจึงต้องมาทำเอง เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนมา

**ไม่สนยูเนสโกส่งคนมาดูพื้นที่

เมื่อถามต่อว่าในวันที่25 ก.พ. ทางยูเนสโกจะส่งผู้แทนเข้ามาสังเกตการณ์ในพื้นที่ ทางพันธมิตรฯจะมีการเคลื่อนไหวใดๆหรือไม่ พล.ต.จำลอง กล่าวว่า ตนไม่สนใจว่าใครจะมาใครจะไป เพราะไม่มีประโยชน์ หากรัฐบาลไม่ปฏิบัติตาม 3 ข้อเรียกร้องของเราที่ให้ยกเลิก MOU 2543 ถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลก และผลักดันกัมพูชาออกจากดินแดนไทย

**ฮุนเซนขำ!ภูมิซอรองฟ้อง 3 พันล้าน

รายงานข่าวแจ้งว่า ขณะนี้ชาวกัมพูชาได้ติดตามข่าวใกล้ชิดหลัง นายฮุนเซน ผู้นำกัมพูชา ย้ำว่าจะยื่นศาลโลก เพื่ออ่านคำพิพากษากรณีปราสาทพระวิหารอีกครั้ง

นอกจากนั้น นายฮุนเซน ยังเห็นว่าเป็นเรื่องตลก กรณีที่ชาวบ้านภูมิซรอลของไทยจะฟ้องศาลโลกเรียกค่าเสียหาย 3 พันล้านบาท

**ยูเนสโก้พบมาร์คที่ทำเนียบวันนี้

วันนี้ (25 ก.พ.)นายโคอิจิโร่ มัตสึอุระ ผู้แทนพิเศษขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จะเดินทางมาประเทศไทยเพื่อรับทราบข้อมูลกรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร โดยกระทรวงการต่างประเทศ จะเป็นผู้ประสานงาน

สำหรับกำหนดการเบื้องต้นจะให้เข้าพบพูดคุยหารือกับ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในช่วงบ่าย และจากนั้นเข้าพบกับ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ และเวลา 17.00น.จะเข้าพบกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล

ส่วนการลงพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชานั้น เบื้องต้น คงไม่สามารถให้เดินทางลงพื้นที่ดังกล่าวได้

** ผู้แทนยูเนสโกจะเยือนกัมพูชาวันอาทิตย์นี้

ด้าน นายไพ สีพัน โฆษกรัฐบาลกัมพูชา เปิดเผยว่า นายโคอิจิโร่ มัตสึอุระ จะเดินทางเยือนกัมพูชาในวันอาทิตย์ที่27 ก.พ.โดยจะพำนักอยู่ในกัมพูชาถึงวันที่ 1 มี.ค.นี้ แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า นายมัตสึอุระจะเดินทางไปยังปราสาทพระวิหารหรือไม่

“ไม่ทราบว่านายมัตสึอุระจะทำกิจกรรมใดบ้างระหว่างอยู่ที่กัมพูชาเป็นเวลา 3 วัน ทราบแต่เพียงว่าเขาจะเข้าพบกับนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการมรดกโลกของกัมพูชา

**สื่อเขมรบอกลงพระวิหารวันอังคาร

ขณะที่สื่อในกัมพูชารายงานโดยอ้างแหล่งข่าวจากรัฐบาลกัมพูชาระบุว่า นายมัตสึอุระ อดีตผู้อำนวยการยูเนสโกและอดีตประธานคณะกรรมการมรดกโลก จะไปยังปราสาทพระวิหารในวันอังคาร แต่โฆษกฯ กล่าวว่าไม่มีข้อมูลดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น