xs
xsm
sm
md
lg

อินโดฯสังเกตการณ์หยุดยิงเสียดินแดนถาวรเขมรขอศาลโลกฮุบพท.4.6

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"กษิต"พบ"มาร์ค"รายงานผลประชุมรัฐมนตรีอาเซียน ไม่ห่วงเขมรกลับลำ อ้างทำความตกลงในเวทีประชุม พร้อมมีถ้อยแถลงรมต.ต่างประเทศอินโดฯ การันตีแล้ว ยันผู้สังเกตุการณ์ของอินโดฯ ลงพื้นที่พิพาทไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซง แต่มาช่วยให้มีการหยุดยิง "มาร์ค"ลั่นไม่มีถอนทหาร เตรียมแจงยูเนสโก ระงับขึ้นทะเบียนเหตุชายแดนยังไม่ชัดเจน ขณะที่พันธมิตรฯห่วงอาเซียนให้ท้ายเขมร สบช่องฮุบแดนไทย จวกรัฐบาลไม่ยืนยันเรื่องเส้นเขตแดน แถมสละแสนยานุภาพทหาร ทำให้เขมรได้ใจ เดินหน้าไปศาลโลกฮุบที่ดินไทยเพิ่ม เตรียมฟ้องนายกฯ-ครม.-ผบ.ตร. ฐานใช้ พ.ร.บ.มั่นคงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้าน ผบ.ทบ.ยันไม่ถอนทหาร ถ้าเขมรยิงก่อน ก็พร้อมยิงตอบโต้ เชื่อจะยังมีการกระทบกระทั่งกันต่อ "เทือก"ปัดฟ้องศาลโลก เรียกค่าเสียหายจากเขมรแทนชาวบ้านภูมิซรอล อ้างไม่รู้กฎหมาย

ห่วงรัฐบาลทำไทยเสียดินแดนถาวร

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวถึง กรณีการออกแถลงการณ์ ของที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่า ทำให้สิ่งที่เราห่วงใยก่อนที่จะมีการประชุมชัดเจนมากขึ้น ทั้งข้อตกลงหยุดยิงถาวรที่ไม่กล่าวถึงการรุกล้ำแผ่นดินของกัมพูชา และกรณีที่ต่างประเทศเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศ ซึ่งในที่สุดปัญหาทั้ง 2 ข้อ ปรากฏในแถลงการณ์ฉบับนี้ เนื่องจากได้กล่าวถึงการหลีกเลี่ยงการปะทะด้วยอาวุธ โดยไม่มีการกล่าวถึงการที่กัมพูชารุกล้ำดินแดนประเทศไทย และละเมิด MOU 2543 เท่ากับว่า หากมีการหยุดยิงจริง ก็จะไม่สามารถทวงคืนดินแดนไทยได้ จนกว่าจะมีความพอใจจากทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งหากกัมพูชาไม่พอใจ ก็จะสามารถยึดครองแผ่นดินไทยไปได้เรื่อยๆ หรือเป็นการสูญเสียดินแดนถาวรไปแล้ว

อีกประการหนึ่งคือ การที่ที่ประชุมอาเซียน พยายามในการส่งผู้แทนจากอินโดนีเซียเข้ามาเป็นผู้สังเกตการณ์ในพื้นที่พิพาท ทำให้มีประเทศที่ 3 เข้ามายืนยันว่าไม่มีการปะทะกันอีก โดยไม่พูดถึงดินแดนไทยที่ถูกกัมพูชารุกล้ำแม้แต่น้อย

"เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า ไทยสละหลักการในการผลักดันกัมพูชาออกจากดินแดนโดยแสนยานุภาพทางการทหารอย่างสิ้นเชิง เท่ากับว่ากัมพูชาซึ่งเคยเสียเปรียบบนโต๊ะการเจรจา จากแสนยานุภาพทางการทหารที่ฝ่ายไทยมีสูงกว่า แต่รัฐบาลไทยได้สละตรงนี้จนหมดสิ้น" นายปานเทพ กล่าว

กัมพูชากำลังขยายผลจาก MOU 2543

โฆษกพันธมิตรฯ กล่าวว่า การที่กัมพูชากำลังจ้างทนาย เพื่อขึ้นต่อศาลโลกอีกครั้ง ซึ่งประเทศไทยได้เคยประกาศไม่ยอมรับอำนาจของศาลโลก มาตั้งแต่ปี 2505 กรณีปราสาทพระวิหาร แต่บัดนี้เมื่อมี MOU 2543 ทำให้กัมพูชา หาหนทางให้ศาลโลกตีความขยายผล เพื่อให้เป็นคุณต่อกัมพูชาจาก MOU 2543 และเมื่อมีคนกลางอย่างอินโดนีเซีย ทำให้ไทยตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบมากยิ่งขึ้น โดยมีอาเซียนเป็นสักขีพยาน นอกจากจะถูกยึดครองโดยพฤตินัยแล้ว กัมพูชาก็จะขยายผลยึดครองพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารในเวทีมรดกโลกอีกด้วย หลังจากที่พื้นที่เขาพระวิหารพ้นจากสภาพมรดกโลกอันตรายเป็นพื้นที่สันติภาพถาวร

ดังนั้นพิสูจน์แล้วว่า MOU 2543 ไม่ได้เป็นเครื่องมือเพื่อสันติภาพอย่างแท้จริง แต่ทำให้เกิดการปะทะ เพราะกัมพูชามีแรงจูงใจในการที่จะไปเวทีนานาชาติ รวมทั้งที่รัฐบาลพยายามบอกว่า MOU 2543 ไม่ได้ทำให้เกิดการปะทะ แต่วันนี้มีประเทศที่ 3 เข้ามาสังเกตการณ์และทำรายงานส่งอาเซียนหากมีการปะทะ ทั้งๆที่ที่ผ่านมาไม่เคยมีประเทศใดสามารถเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในได้เลย เต็มที่ได้แค่เพียงการเป็นผู้รับฟัง โดยไม่มีสิทธิ์พูดหรือออกความเห็นใดๆ

"ที่เป็นเช่นนี้ เพราะรัฐบาลไม่ยืนยันในเส้นเขตแดนของตัวเอง รวมทั้งไม่ยืนยันว่ากัมพูชารุกรานดินแดน และละเมิด MOU 2543 ทำให้ไทยไม่สามารถอ้างกฎบัตรสหประชาชาติหรืออาเซียนที่ห้ามไม่ให้อาเซียนหรือแม้แต่สหประชาชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศได้ ท้ายที่สุดนานาชาติก็กำลังเดินหน้าในการให้ไทยต้องเสียดินแดนถาวร เป็นความผิดพลาดจากการถลำลึกไปใน MOU 2543" โฆษกพันธมิตรฯ กล่าว

นายปานเทพ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญไม่ได้เกิดจากอาเซียน แต่เกิดจากท่าทีของรัฐบาลไทยที่ไม่ยืนหยัดในเส้นเขตแดนของตัวเองทั้งในเวทีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) และในเวทีอาเซียน ซึ่งมาจากการที่ไม่สามารถโต้แย้งความยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 2 แสน ตาม MOU 2543 ใม่ได้ จึงยอมจำนนและใช้วิธีถ่วงเวลาแทน หรือการสมยอมกับกัมพูชา โดยไม่กล่าวถึงเรื่องเขตแดน ซึ่งไม่ทราบว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ ในส่วนแนวทางการแก้ไขนั้น เชื่อว่ารัฐบาลนี้ถลำลึกไปในปัญหาจนไม่สามารถแก้ไขได้แล้ว และจะยิ่งร้ายแรงมากขึ้น เพราะสุดท้ายกัมพูชาจะใช้เวทีศาลโลกเพื่อให้ไทยยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนเพียงอย่างเดียว โดยมีอาเซียนเป็นสักขีพยาน รวมทั้งการเดินหน้าในเวทีมรดกโลก

เตรียมฟ้องนายกฯใช้ พ.ร.บ.มั่นคงไม่ชอบด้วย กม.

นายปานเทพ กล่าวว่า ในวันนี้ (24 ก.พ.) เวลา 09.00 น. ตนจะไปยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเอาผิด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.ในฐานะ ผอ.ศูนย์อำนายการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ที่ได้ประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีความผิดในหลายขั้นตอน ตลอดจนการออกหมายเรียก และในเวลา 15.00 น. พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำพันธมิตรฯ จะไปยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร. ต่อกรณีที่มีการกล่าวร้ายยัดเยียดข้อหาหัวหน้าคณะผู้ก่อการร้ายแก่ พล.ต.จำลอง ซึ่งสร้างความเสียหายต่อตัว พล.ต.จำลอง โดยการยื่นหนังสือครั้งนี้เพื่อดูปฏิกิริยาอย่างไร หากยังเพิกเฉยก็ต้องรับผิดชอบในจั้นตอนทางกฎหมายเช่นเดียวกัน

วานนี้ (23 ก.พ.) นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังกลับจากการร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยยืนยันว่า ผลการประชุมเรื่องปัญหาข้อพิพาทไทย-กัมพูชา เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายที่สามารถตกลงกันได้ ซึ่งทหารชุดสังเกตุการณ์ ที่อินโดนีเซีย จะส่งเข้ามาไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซง แต่มาเพื่อรักษาสันติภาพ และเชื่อมั่นว่า กัมพูชาจะยึดแนวทางที่ได้จากการประชุม

ส่วนกรณีที่ชาวบ้านภูมิซรอล อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ จะรวบรวมรายชื่อเพื่อเรียกร้ององค์กรระหว่างประเทศ ให้กัมพูชาชดเชยค่าเสียหาย กรณีที่มีการยิงอาวุธเข้ามาในประเทศไทย นั้น โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่น่าทำได้ อย่างไรก็ดี รัฐบาลยืนยันว่าจะดูแลชดเชยค่าเสียหายให้อย่างเต็มที่

เตรียมรับคณะสังเกตการณ์อินโดฯ

นายกษิต กล่าวว่า ตนจะเดินทางไปหารือร่วมกับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ถึงการต้อนรับคณะผู้ตรวจการณ์ทางทหาร 15 ท่านจากอินโดนีเซียอย่างไร ขณะเดียวกันทางรมว.ต่างประเทศของอินโดนีเซีย จะมีหนังสือมาถึงทางการไทย เพื่อเสนอรูปแบบคร่าวๆ ของการส่งคณะผู้สังเกตการณ์ก่อน
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่หลายฝ่ายมองว่า การส่งคณะผู้สังเกตการณ์ของอินโดนีเซียเข้ามาประจำอยู่ในฝั่งไทย และกัมพูชาฝั่งละ 15 คน นั้น เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของสองประเทศ นายกษิต กล่าวว่า ไม่ใช่แทรกแซง ทำไมถึงไปเรียกว่าการแทรกแซง เพราะเป็นการเข้ามาช่วยรักษาสันติภาพ เพื่อให้การหยุดยิง มันมีผลอย่างจริงๆจังๆ

"คือพยายามอย่าถามอะไรที่จะทำให้เกิดไอ้ประเด็นปัญหาในการตอบ หรือในการชี้แจง ช่วยกันถามแล้วช่วยกันให้ข่าวที่เสริมสร้างความสร้างสรรค์ความเข้าใจกัน และเราก็ต้องดีใจ ที่ว่าทางรัฐบาลอินโดนีเซียได้มาเป็นประธานแล้ว ก็ช่วยให้ทั้งสองฝ่ายสามารถที่จะตกลงกันได้ ก็เพื่อความยั่งยืนของความสัมพันธ์สองประเทศ และความเจริญของอาเซียน อย่าถามอะไรที่มันไม่สบายใจดีกว่า" นายกษิต กล่าวทิ้งท้าย พร้อมกับรีบเดินไปขึ้นรถทันที

"กษิต"รายงานสถานการณ์นายกฯ

ต่อมาเวลา 14.50 น. วานนี้ (23 ก.พ.) ที่รัฐสภา นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ได้เข้ารายงานผลการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน อย่างไม่เป็นทางการ ที่ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

นายกษิต ให้สัมภาษณ์ ภายหลังการเข้าพบนายกฯ ว่ามารายงานเรื่องการดำเนินการประสานงานระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการต้อนรับผู้สังเกตการณ์จากประเทศอินโดนีเซีย และอยากให้มาเพราะมีความจำเป็นต่อการยืนยันเรื่องการหยุดยิง และเพื่อป้องกันไม่ให้มีการปะทะ และหากมีการยิง ก็จะมีการพิสูจน์ได้ว่าใครเริ่มก่อน

นอกจากนี้ ตนได้คุยกับนายกฯ ก่อนขึ้นเครื่องบินว่าได้คุยโทรศัพท์กับนายมาร์ตี มาตาเลกาว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ ของอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียนว่า ทางอินโดนีเซียได้มีการประชุมเป็นการภายใน เพื่อมีข้อเสนอถึงรูปแบบการส่งผู้สังเกตการณ์จำนวน 15 คน มาที่ประเทศไทย ซึ่งไม่ติดอาวุธ และการนำประสบการณ์ที่ไทยได้รับเชิญจากอินโดนีเซีย ให้คณะนายทหารผู้สังเกตุการณ์ไปที่ จ.อาเจ๊ะ ประเทศอินโดนีเซีย และไปที่ติมอร์ตะวันออก จึงมีประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ในทางปฏิบัติเราเคยช่วยเหลือเขาแล้ว ตอนนี้ก็มาให้ความร่วมกับเรา ซึ่งผู้สังเกตุการณ์จะมีทั้งมีทหาร และพลเรือน ขึ้นอยู่กับทางอินโดนีเซีย

เตรียมประชุมเจบีซีกับกัมพูชา

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมการที่จะประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) และการประชุมคณะกรรมการเขตแดนทั่วไป (จีบีซี) ได้มีการติดต่อกันอย่างไม่เป็นทางการของกระทรวงการต่างประเทศไทย และกัมพูชา โดยได้ส่งหนังสือเชิญไปแล้ว ขณะเดียวกันกรอบของ เจบีซี ทางรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ได้ติดตามไปยังกัมพูชา เพื่อกำหนดวันโดยเร็ว ทั้งนี้คาดว่าอินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งต่อไป เพื่อตอบสนองเจตนารมณ์ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และตอบสนองสิ่งที่ได้ตกลงกันไว้ในกรอบการประชุม รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ซึ่งมีถ้อยแถลงของรัฐมนตรีอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนออกมาแล้ว เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตามการประชุมเจบีซีที่กำหนดไว้ในวันที่ 27 ก.พ. อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนเวทีประชุมจากประเทศไทย เป็นประเทศอินโดนีเซีย

เมื่อถามว่าความเห็นของไทยและกัมพูชา มีความเห็นที่ตรงกันแล้วหรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า ตรงกันแล้ว และสะท้อนอยู่ในถ้อยแถลงของรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เราต้องคิดว่าเรามีเจตนาดีต่อกัน มุ่งความสัมพันธ์ให้คืบหน้า เราทั้ง 2 ประเทศก็มีพันธกรณีต่ออาเซียน เพราะได้มีการพูดจาตกลงกันต่อหน้ารัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน 8 ประเทศ เมื่อวันที่ 22 ก.พ. ที่ผ่านมา

"มาร์ค"ยันไม่มีการถอนทหาร

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียน หลังนายกษิต เข้ารายงานว่า การเตรียมการ ณ ขณะนี้เพื่อนำไปสู่ การเจรจาในกรอบของ เจบีซี ทางกระทรวงกลาโหม จะไปเตรียมการในส่วนของกรอบอื่นที่ทางกองทัพมีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นจีบีซี อาร์บีซี ส่วนตนจะเตรียมรับผู้แทนพิเศษยูเนสโก เพื่อทำความเข้าใจเพิ่มเติม คิดว่าทุกอย่างจะกลับมาสู่ภาวะปกติ

เมื่อถามว่ากระบวนการถอนกำลังทหารจะเริ่มได้เมื่อใด นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่มีเรื่องถอนทหาร เพราะว่าทั้งหมดเป็นเรื่องของการที่ทั้ง 2 ฝ่าย แสดงเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการปะทะกัน ผู้สังเกตการณ์ก็เข้ามาดูเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า จะไม่มีการปะทะกัน แต่ไมได้มีการพูดถึงเรื่องถอนกำลังแต่อย่างใด เป็นเรื่องทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งไทยและกัมพูชา ต้องคุยกันในภาพใหญ่ของเรื่องปัญหาเขตแดน ซึ่งว่ากันไปตามกระบวนการกรอบ เจบีซี ทั้งนี้ในเรื่องของการวางกำลังว่าจะเป็นเรื่องของพื้นที่ที่ปฏิบัติกันมา ไม่ใช่เฉพาะจุดนี้ แต่เป็นไปตลอดแนวชายแดน ที่ระบุว่า จะไม่มีการเสริมกำลังอีก หรือหากมีการเปลี่ยนแปลงก็จะพูดคุยกันในระดับใดระดับหนึ่ง

ส่วนการสังเกตการณ์ของผู้แทนจากอินโดนีเซีย จะใช้เวลานานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หลัก
เมื่อถามว่า การสังเกตการณ์ในครั้งนี้ จะเหมือนกับลักษณะที่กองกำลังไทยไปอยู่ในอาเจะ หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงไม่ใช่หรอกครับ เพราะนี่เป็นเรื่องของการสังเกตการณ์ เพื่อที่จะให้เกิดความมั่นใจว่าไม่มีการปะทะกัน สำหรับประโยชน์ทางอินโดนีเซียจะเข้ามาสังเกตการณ์ ตนคิดว่า ใครที่ยิงก่อนควรจะระมัดระวัง เพราะว่าเมื่อมีผู้สังเกตการณ์ทั้ง 2 ฝ่าย ก็จะสามารถตรวจสอบกันได้ เวลาเกิดการปะทะกันนั้นฝ่ายไหนเป็นฝ่ายยิงก่อน

เมื่อถามว่า ถ้าเกิดการยิงก่อน สิทธิในการที่จะปกป้องของไทยยังคงอยู่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แน่นอนครับ ยืนยันว่าจะไม่มีการไปตกลงอะไรที่เราไม่สามารถไปปกป้องดินแดนอธิปไตยของเราได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีการละเมิดในเรื่องของการปะทะ เราก็มีสิทธิ์ที่จะตอบโต้เต็มที่

เมื่อถามถึงกรณีที่ชาวบ้านภูมิซรอล จะฟ้องศาลโลกถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมี ความเป็นไปได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นเรื่อง ยังไม่ทราบเลย ต้องขอไปดูก่อนว่าจะเป็นเรื่องไหนอย่างไร แต่ได้ติดตามความคืบหน้าเรื่องของการดูแล เช่น เรื่องการสร้างบ้านก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี

แจงยูเนสโกเขตแดนยังไม่ชัดเจน

เมื่อถามต่อว่า ในกรณีที่ผู้แทนของยูเนสโก จะเดินทางมาไทยได้เตรียมแนวทางที่จะชี้แจงและมีข้อเสนออย่างไรบ้าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องการให้เขาเห็นภาพปัญหา ซึ่งตนได้ดูจากการพิจารณาของหลายองค์กรในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของสหประชาชาติ กรณีของอาเซียน หรือแม้กระทั่งสภาสหภาพยุโรป ก็สามารถเห็นได้ชัดเจนว่า เขามีความเข้าใจอย่างชัดเจนว่า พื้นที่บริเวณรอบปราสาท เป็นพื้นที่ที่ไม่มีความชัดเจนในเรื่องของเขตแดน เพราะฉะนั้น ตรงนี้ต้องเป็นโจทย์สำคัญสำหรับยูเนสโกว่า ถ้ายังพยายามที่จะทำ อะไรกับพื้นที่ตรงนี้ ภายใต้ความไม่แน่นอนปัญหาก็จะตามมา ซึ่งจะต้องกลับไปคิดที่จะปลดล็อคไม่ให้เกิดปัญหานี้อย่างไร จะต้องเดินหน้าอย่างไร ถึงจะได้ไม่เป็นชนวนของความขัดแย้ง ขณะเดียวกันเขาก็ควรจะมีความมั่นใจ ตัวปราสาทว่าจะไม่ถูกดำเนินการอะไรที่เสื่อมสภาพ
เมื่อถามว่าสำหรับการเตรียมแนวทางเสนอปลดชนวนความขัดแย้งนั้นจะมีทางเลือกอะไรบ้าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะพูดถึงทางเลือกต่างๆ

ปัดฟ้องศาลโลกให้ชาวภูมิซรอล

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึง กรณีชาวบ้านในพื้นที่บ้านภูมิซรอล เรียกร้องให้ทางรัฐบาลฟ้องร้องต่อศาลโลก เรียกร้องค่าเสียหาย 3,000 ล้านบาท จากฝ่ายกัมพูชาที่ยิงปืนใหญ่ถล่มเข้ามาทำลายทรัพย์สินบ้านเรือนของประชาชน เสียหายเป็นจำนวนมาก จะเป็นไปได้หรือไม่ รองนายกฯฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า ไม่ทราบจริงๆ ตอบไม่ได้และไม่ทราบว่าจะทำได้หรือไม่อย่างไร คงต้องให้คนที่เขามีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ไปพิจารณา

ผบ.ทบ.ยันไม่ถอนทหาร-หยุดยิง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ถึงปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาว่า ต้องสร้างความเข้าใจ ต้องร่วมมือกันว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไปข้างหน้าได้ และเอาปัญหาข้อขัดแย้งต่างๆ มาพูดคุยกันให้หมดเปลือก หากใครมีข้อมูลอะไรก็เอามาให้กระทรวงการต่างประเทศไปเจรจา ดูว่าจะชนะเขาหรือไม่
ดังนั้นวันนี้เหตุการณ์คงไม่จบลงแค่นี้ ต้องมีอีก ต้องกระทบกระทั่งกันไปเรื่อยๆ ปัญหาอยู่ที่ว่าเราพูดจากันรู้เรื่องหรือไม่ ถ้าพูดกันไม่รู้เรื่องก็แก้ไม่ได้ เพราะไม่มีผิดมีถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ เราก็อยากพูดกันแค่ 2 ประเทศ แล้ววันนี้เป็นอย่างไร ก็มีคนเข้ามาเฝ้าดูว่าจะทำได้หรือไม่ได้ และไม่รู้ว่าจะดีหรือไม่ แต่คงสมใจหลายๆคนที่ต้องการให้แก้ปัญหาโดยเร็ว โดยมีคนมาช่วยฟ้องคนนู้น คนนี้ ไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ ต้องดูกันต่อไปว่า ปัญหาเกิดจากอะไร จะแก้อย่างไร ยุ่งยากหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวยืนยันว่าไม่ได้มีการให้ถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่ 4.6 กม.

"ใครจะถอน จะถอนได้อย่างไรในเมื่อเขาอยู่ เราก็ต้องอยู่ ถ้าเขายังไม่ถอน เราก็ถอนไม่ได้ ส่วนจะหยุดยิงหรือไม่ ถ้าเขาไม่หยุด เราก็หยุดไม่ได้เหมือนกัน เราต้องรักษาอธิปไตย และประชาชน รวมทั้งดูแลทหารเจ้าหน้าที่ เราไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มก่อน หากเริ่มมา เราก็ต้องตอบโต้ อยากให้เข้าใจตรงนี้ ไม่ใช่ว่าหยุดยิงแล้วจะเสียเปรียบเขา ไม่ได้มีอะไรมาผูกมือไว้ แต่อยู่กันได้ด้วยความเป็นสุภาพบุรุษ สัญญาลูกผู้ชาย และกติกาพันธสัญญาของต่างประเทศ และเราก็เป็นสุภาพบุรุษพอที่จะไม่เริ่มทำอะไรนอกลู่นอกทาง หรือผิดกติกา ต้องไปดูกันว่าแต่ละครั้งเกิดขึ้นมาเพราะอะไร ฉะนั้นอย่าไปกังวลว่าเราจะถอนทหารออกมาจาก 4.6 กม. ซึ่งถอนไม่ได้ หากถอน เขาต้องถอนก่อน ถอนกันจนหมด ถ้าไม่ถอน เราก็ไม่ถอน ถ้าไม่เลิกยิง เราก็ต้องป้องกันตัว" ผบ.ทบ. ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น