xs
xsm
sm
md
lg

กต.เผยคำแถลงอาเซียน อินโดฯ พร้อมส่งผู้สังเกตการณ์ลงพื้นที่ไทย-เขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยคำแถลงของประธานอาเซียน หลังการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ยินดีสนับสนุนการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี หลีกเลี่ยงการปะทะด้วยอาวุธ โดยอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนจะส่งผู้สังเกตุการณ์ลงพื้นที่ในไทยและกัมพูชา และเรียกร้องให้ไทยและกัมพูชาเจรจาทวิภาคีตามกรอบที่มีอยู่ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งถัดไปจะจัดในไทยเดือนมีนาคมนี้

เมื่อวันที่ 23 ก.พ.54 กระทรวงการต่างประเทศ ได้เผยแพร่คำแถลงของประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) หลังการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน กรุงจาการ์ตา วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 โดยระบุว่าที่ประชุมได้มีมติว่ายินดีและให้การสนับสนุนการระงับข้อพิพาทด้วยสันติวิธี ยินดีที่ให้อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนเข้ามาร่วมมีบทบาทโดยส่งผู้สังเกตุการณ์ลงพื้นที่พิพาท สนับสนุนที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะกันด้วยอาวุธ เรียกร้งให้ไทยและกัมพูชากลับมาเจรจาทวิภาคี นอกจากนี้ที่ประชุมยังหารือเกี่ยวกับการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งถัดไปเรื่องการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ที่จะจัดขึ้นในประเทศไทยในเดือนมีนาคมนี้

คำแถลงของประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) หลังการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน กรุงจาการ์ตา วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 (คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ)

22 กุมภาพันธ์ 2554 19:44:03

คำแถลงของประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)
หลังการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน
กรุงจาการ์ตา 22 กุมภาพันธ์ 2554

ตามคำเชิญของประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและผู้แทนได้ประชุมกันที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 โดยเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมการประชุมด้วย

ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับพัฒนาการในภูมิภาคและระหว่างประเทศในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดนระหว่างกัมพูชากับไทย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตามที่มีการติดต่อสื่อสารกันเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนหน้านี้ อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนได้บรรยายสรุปให้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและผู้แทนทราบเกี่ยวกับผลการเยือนกรุงพนมเปญและกรุงเทพฯ ของรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2554 ตลอดจนเกี่ยวกับการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554

รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชาและไทยได้บรรยายสรุปให้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและผู้แทนเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้

หลังจากการหารืออย่างกว้างขวางระหว่างกัน รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนและผู้แทน :

“ยินดีและสนับสนุน การกล่าวย้ำอีกครั้งหนึ่งทั้งของประเทศกัมพูชาและของประเทศไทยถึงความยึดมั่นอย่างแรงกล้าในหลักการที่ระบุอยู่ในสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และกฎบัตรอาเซียน ซึ่งรวมถึง “การระงับความแตกต่างหรือข้อพิพาทโดยสันติวิธี” และ “การไม่ข่มขู่ว่าจะใช้หรือการใช้กำลัง” ตลอดจนหลักการที่ระบุอยู่ในกฎบัตรสหประชาชาติ

ยินดีกับการที่กัมพูชาและไทยได้ให้อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนเข้ามาร่วมมีบทบาทด้วย ในการดำเนินความพยายามในเรื่องนี้ของอินโดนีเซียในนามของอาเซียน

ระลึกถึงการสนับสนุนที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติให้แก่ความพยายามของอาเซียน

สนับสนุน ความยึดมั่นของกัมพูชาและไทยจากนี้ไปที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะด้วยอาวุธไม่ให้เกิดขึ้นอีก ดังที่ได้สะท้อนในการหารือเบื้องต้นในระดับสูงระหว่างผู้แทนฝ่ายทหารของกัมพูชากับของไทยในโอกาสต่างๆ โดยครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2554

ยินดีต่อการที่กัมพูชาและไทยได้เชิญผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนวาระปัจจุบัน ไปยังพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบบริเวณชายแดนกัมพูชา-ไทยในฝั่งของกัมพูชาและของไทยตามลำดับ เพื่อสังเกตการณ์การปฏิบัติตามคำมั่นของทั้งสองฝ่ายที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะด้วยอาวุธไม่ให้เกิดขึ้นระหว่างกันอีก โดยมีอาณัติขั้นพื้นฐานดังนี้

“ช่วยเหลือและสนับสนุนฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติตามคำมั่นที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะด้วยอาวุธไม่ให้เกิดขึ้นระหว่างกันอีก โดยการสังเกตการณ์และรายงานข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการละเมิดคำมั่นดังกล่าวอย่างตรงตามข้อเท็จจริงและเป็นกลาง และนำเสนอสิ่งที่พบให้แต่ละฝ่ายทราบผ่านอินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนวาระปัจจุบัน”

เรียกร้องให้กัมพูชาและไทยกลับมาเจรจาทวิภาคีกันต่อไปรวมถึงการเจรจาผ่านกลไกที่มีอยู่แล้วในโอกาสแรกสุดที่จะทำได้ โดยให้อินโดนีเซีย ประธานอาเซียนปัจจุบัน มีบทบาทที่เหมาะสมในการสนับสนุนความพยายามของทั้งสองประเทศในการแก้ไขสถานการณ์อย่างฉันมิตร

ยินดีต่อการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาและคณะกรรมการชายแดนทั่วไปที่จะมีขึ้นในอนาคต ในวันที่จะมีการกำหนดกันต่อไป

ร้องขออินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียน ให้ดำเนินความพยายามของอาเซียนในเรื่องนี้ต่อไป”

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนยังได้แลกเปลี่ยนทัศนะกันเกี่ยวกับประเด็นในภูมิภาคและระหว่างประเทศอื่นๆ ตลอดจนประเด็นที่เกี่ยวกับการสร้างประชาคมอาเซียนและบทบาทของอาเซียนในการสร้างโครงสร้างของภูมิภาค รวมถึงการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนว่าด้วยการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ซึ่งกำลังจะจัดขึ้นที่ประเทศไทยในเดือนมีนาคม 2554 ด้วย

*******************************

คำแถลงฉบับภาษาอังกฤษ คลิกดูได้ที่นี่ http://www.aseansec.org/documents/N110222.pdf
กำลังโหลดความคิดเห็น