xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บีโอไอ:กิจการบีโอไอใช้แรงงานต่างชาติไร้ฝีมือได้หรือ (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: วันเพ็ญ หรูจิตตวิวัฒน์

ทุกประเทศมีแรงงานสองจำพวก พวกหนึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือ อีกพวกหนึ่งเป็นแรงงานมีฝีมือหรือผู้เชี่ยวชาญ ขณะที่ปัจจุบันมีการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศมากขึ้น กลายเป็นแรงงานต่างชาติในอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นแรงงานต่างชาติไร้ฝีมือ หรือแรงงานต่างชาติมีฝีมือก็ได้ โดยส่วนใหญ่เป็นการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศกำลังพัฒนาไปยังประเทศพัฒนาแล้ว หรือจากประเทศด้อยพัฒนาไปยังประเทศกำลังพัฒนา

ในทางกลับกันประเทศกำลังพัฒนา และประเทศด้อยพัฒนาก็ต้องการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาสนับสนุนการพัฒนา ส่งผลต่อสถานการณ์แรงงานในประเทศไทย และต่างประเทศ ดังนั้นหากเป็นแรงงานต่างชาติไร้ฝีมือที่เข้ามาทำงานในกิจการบีโอไอในประเทศไทยจะทำได้หรือไม่ อย่างไร

สถานการณ์แรงงานในประเทศไทย

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวมากในช่วงปลายปี 2552 มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ปัญหาการว่างงานคลี่คลายลงสู่ภาวะปกติ อัตราการว่างงานเหลือเพียงร้อยละ 1

รายงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้นปี 2553 สรุปว่า ประเทศไทยมีแนวโน้มขาดแคลนแรงงานในอนาคต 5-10 ปีข้างหน้า เนื่องจากเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้กำลังคนในวัยทำงาน (กลุ่มอายุ 25-39 ปี) มีสัดส่วนลดลง ขณะที่กลุ่มอายุ 45-59 ปี จะทยอยเกษียณอายุ

ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงงานในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อาหาร และยานยนต์ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยช่วงปลายปี 2551 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2552 ลูกจ้างส่วนหนึ่งถูกเลิกจ้าง ภายหลังเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ลูกจ้างบางส่วนที่ถูกเลิกจ้างไม่กลับมาทำงานอุตสาหกรรม แต่ย้ายไปสู่ภาคเกษตรกรรม หรือประกอบธุรกิจส่วนตัว

สถานการณ์การจ้างแรงงานต่างชาติไร้ฝีมือของประเทศไทย

นโยบายแรงงานต่างชาติไร้ฝีมือมีตั้งแต่ก่อนปี 2544 มีการผ่อนผันให้แรงงานต่างชาติไร้ฝีมือทำงานได้ในบางกิจการ บางพื้นที่ ต่อมามีการขึ้นทะเบียน ทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจ้างงานกับประเทศเพื่อนบ้าน (ลาว ปี 2545 กัมพูชา ปี 2546 และพม่า ปี 2546) รวมถึงการพิสูจน์สัญชาติแรงงานเพื่อออกเอกสารรับรองให้ได้สถานะเข้าเมืองถูกกฎหมาย

ปัจจุบันคาดว่ามีแรงงานต่างชาติไร้ฝีมือทั้งถูกและผิดกฎหมายประมาณ 2.5 ล้านคน โดยมีแรงงานต่างชาติไร้ฝีมืออีก 1.5 ล้านคน ยังไม่มาจดทะเบียน ส่วนที่จดทะเบียนแล้วเป็นแรงงานสัญชาติพม่าสัดส่วนร้อยละ 74 กัมพูชาร้อยละ 14 และลาวร้อยละ 12

สถานการณ์การจ้างแรงงานต่างชาติในประเทศอื่น

ญี่ปุ่น ยินดีรับแรงงานต่างชาติที่มีทักษะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ขณะที่ลังเลในการรับแรงงานต่างชาติที่ไร้ทักษะ ด้วยเกรงวิสาหกิจจะไม่ปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรเพื่อประหยัดพลังงาน ไม่ปรับปรุงสภาพการทำงานเพื่อชักจูงคนญี่ปุ่นมาทำงาน ไม่พัฒนานวัตกรรมไปสู่ธุรกิจที่มีส่วนต่างกำไรสูงและใช้แรงงานไร้ทักษะลดลง รวมทั้งไม่ปรับปรุงเพื่อสร้างโอกาสการทำงานแก่ผู้สูงอายุ

เกาหลีใต้ อนุญาตให้จ้างแรงงานต่างชาติมีฝีมืออย่างถูกกฎหมาย 7 กลุ่ม คือ อาจารย์ ผู้สอนภาษาต่างประเทศ นักวิจัย ผู้ให้การฝึกอบรมทางเทคโนโลยี นักศิลปะและบันเทิง และผู้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมพิเศษ

สำหรับแรงงานต่างชาติไร้ฝีมือ ปี 2546 มีกฎหมายผ่อนคลายการจ้างงาน คือ Act Concerning the Employment Permit for Migrant Workers หรือเรียกว่า กฎหมาย Employment Permit System (EPS) ให้ธุรกิจสามารถจ้างแรงงานต่างชาติไร้ทักษะได้ หากกระทรวงแรงงานเห็นชอบ โดยให้ครั้งละไม่เกิน 1 ปี แต่สามารถขยายได้ถึง 3 ปี ซึ่งจะอนุญาตเพื่อการทำงานในอุตสาหกรรมการผลิต เพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ภัตตาคาร บริการทำความสะอาด บริการสวัสดิการสังคม บริการสนับสนุนธุรกิจ พยาบาล และแม่บ้าน โดยมีสิทธิ์เท่ากับแรงงานเกาหลีใต้ทุกกรณี

สิงคโปร์ ส่งเสริมให้คนสิงคโปร์ทำงานเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มอายุการเกษียณจาก 55 เป็น 60 ปีในปี 2536 และเป็น 63 ปี ในปี 2542 ก่อตั้ง Skills Development Fund สนับสนุนทั้งผู้มีการจ้างงานแล้ว เกษียณแล้วและต้องการเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกครั้งหนึ่ง อีกทั้งส่งเสริมให้บริษัทจ้างงานแม่บ้าน และผู้สูงอายุชาวสิงคโปร์ในลักษณะพาร์ตไทม์

ปัจจุบันแรงงานต่างชาติในสิงคโปร์มีสัดส่วนถึงเกือบ 1 ใน 3 ของการจ้างงาน จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2553 รัฐบาลได้ประกาศแผนบริหารจัดการเกี่ยวกับการพึ่งพาแรงงานต่างชาติ (Managing our Dependence on Foreign Workers) เพื่อรักษาสมดุล โดยต้องไม่มีแรงงานต่างชาติไร้ฝีมือจำนวนมากเกินไป มิฉะนั้นอาจทำให้ธุรกิจไม่ตื่นตัวเพื่อยกระดับกิจการของตนเอง รวมถึงไม่พัฒนาทักษะบุคลากรไปสู่ธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบในระยะยาว

รัฐบาลสิงคโปร์ใช้กลไกตลาด และวัฏจักรเศรษฐกิจกำหนดจำนวนแรงงานต่างชาติไร้ฝีมือ มีการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้แรงงานต่างชาติไร้ฝีมือ และจะค่อยๆ เพิ่มอัตราค่าธรรมเนียม โดยจะประกาศให้ทราบล่วงหน้า โปรดติดตามตอนจบในสัปดาห์ถัดไป

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2553-8111 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น