xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บีโอไอ:หลักการส่งเสริมการลงทุน

เผยแพร่:   โดย: ธรรมรัตน์ รัตนพันธ์

เนื่องจากการลงทุนมีความสำคัญและถือเป็นความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ รัฐบาลจึงต้องสนับสนุนและพยายามผลักดันให้มีการลงทุนเกิดขึ้นในประเทศ การส่งเสริมการลงทุนจึงเป็นมาตรการที่สำคัญอย่างหนึ่งของรัฐในการที่จะสนับสนุนให้เกิดการลงทุนขึ้น

การส่งเสริมการลงทุนคือ การชักจูงและเร่งรัดให้มีการลงทุนเกิดขึ้น ปัจจุบันประเทศกำลังพัฒนาต่างพยายามส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในประเทศของตนให้มากที่สุด จนเกิดการแข่งขันในการให้สิทธิและประโยชน์ต่างๆ ที่แต่ละประเทศเห็นว่าเป็นจุดดึงดูดให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุน โดยวิธีการที่จะให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประกอบด้วยมาตรการทางกฎหมายและมาตรการที่มิใช่กฎหมาย

มาตรการที่มิใช่กฎหมาย ได้แก่ การปรับปรุงภาวะเศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน เช่น การคมนาคม ขนส่ง สื่อสาร ท่าเรือ ให้เหมาะสมเป็นที่ดึงดูดต่อผู้ลงทุน

มาตรการทางกฎหมาย ได้แก่ วิธีการที่รัฐอาศัยอำนาจนิติบัญญัติออกกฎหมายให้สิทธิพิเศษ ให้หลักประกันการคุ้มครอง ตลอดจนการผ่อนผันและยกเว้นหลักกฎหมายอื่นๆ วิธีการเหล่านี้รวมเรียกว่า การให้สิ่งจูงใจทางกฎหมาย (Legal Incentives) หรือตามกฎหมายไทยเรียกว่า สิทธิและประโยชน์

มาตรการส่งเสริมฯ ดังกล่าวข้างต้น ปกติจะดำเนินการโดยรัฐบาลของประเทศผู้รับการลงทุน (Host Country) อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมฯ นี้ อาจจะทำโดยรัฐบาลของประเทศผู้ส่งออกการลงทุน (Home Country) ดังกรณีสหรัฐอเมริกาและยุโรปบางประเทศได้สนับสนุนให้เอกชนของตนออกไปลงทุนยังต่างประเทศ การส่งเสริมฯ โดยประเทศผู้ส่งออกการลงทุนจะใช้มาตรการทางกฎหมายเป็นหลักประกันในทรัพย์สินและกิจการของผู้ลงทุนโดยการทำสนธิสัญญากับประเทศผู้รับการลงทุน การประกันภัยการลงทุนสำหรับการไปลงทุนในต่างประเทศโดยรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ

เหตุผลที่ต้องมีการส่งเสริมฯ เนื่องจากรัฐบาลของประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ได้เร่งรัดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน ในประเทศระบบเศรษฐกิจเสรีเห็นว่าภาคเอกชนมีส่วนช่วยในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมดังกล่าวโดยการลงทุน เพราะการลงทุนของเอกชนจะมีส่วนในการนำเข้ามาซึ่งเงินตราต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อให้เอกชนเข้ามามีส่วนในการลงทุนให้มากขึ้น ในส่วนที่เกี่ยวกับการลงทุนจากต่างประเทศก็เป็นที่ประจักษ์ว่า ในขณะที่ความต้องการการลงทุนจากต่างประเทศที่พัฒนาแล้วมีอยู่จำกัด จึงทำให้มีการแข่งขันในระหว่างประเทศผู้รับการลงทุนในการที่จะชักจูงและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศนั้นไปสู่ประเทศของตน

มาตรการทางกฎหมายในการส่งเสริมฯ คือ การออกกฎหมายพิเศษเพื่อให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ผู้ลงทุน สำหรับกฎหมายที่กำหนดสิทธิประโยชน์นี้อาจเป็นกฎหมายฉบับเดียวที่เกี่ยวกับการลงทุนจากต่างประเทศ อย่างเช่น กฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Investment Law) ของบางประเทศ หรือกฎหมายการลงทุนโดยทั่วไป (Investment Law) ที่ให้สิทธิประโยชน์ทั้งการลงทุนจากต่างประเทศและการลงทุนในประเทศเท่าเทียมกัน เช่น กฎหมายส่งเสริมการลงทุนของไทย หรือกฎหมายภายในโดยทั่วๆ ไป เช่น กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรและกฎหมายอื่นๆ ที่มีบทบัญญัติการให้สิทธิประโยชน์อยู่ ตลอดจนการส่งเสริมการลงทุนโดยสิทธิสัญญาระหว่างประเทศ

กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิและประโยชน์สำหรับการลงทุนในประเทศไทยที่สำคัญ คือ พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ซึ่งกำหนดสิทธิประโยชน์ หลักประกัน และการคุ้มครองการลงทุนไว้อย่างละเอียด นอกจากนั้นแล้วสิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุนนี้ ยังปรากฏอยู่ในกฎหมายอื่นๆ อีก เช่น พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 ซึ่งกำหนดให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุนที่ตั้งสถานประกอบการในเขตอุตสาหกรรมของการนิคมอุตสาหกรรม

การพิจารณาตัดสินใจลงทุน ณ ที่ใด ผู้ลงทุนมักพิจารณาถึงปัจจัยที่สำคัญในหลายๆ ด้าน เช่น พิจารณาในด้านการเงิน (Financial Consideration) ต้นทุนการผลิต (Cost Consideration) การผลิต (Production Consideration) การตลาด (Marketing Consideration) ด้านกฎหมาย และนโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง (Legal and Government Policy Consideration)

ในการพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว นักลงทุนจะมีการพิจารณาเป็นขั้นตอน โดยพิจารณาตั้งแต่ขั้นเตรียมการหรือวางแผนการลงทุน ในกิจการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีเงินลงทุนสูง มีอัตราความเสี่ยงสูง ผู้ลงทุนจะเตรียมการและวางแผนการลงทุนอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกฎหมายและนโยบายของรัฐบาล ซึ่งในระหว่างการดำเนินการนักลงทุนจะต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการธุรกิจ อันได้แก่ สิทธิและหน้าที่ รวมทั้งภาระผูกพันที่มีต่อหน่วยงานของรัฐของผู้ดำเนินธุรกิจ

และในขั้นเลิกการลงทุน ในกรณีที่จำเป็นต้องเลิกกิจการก็มีภาระเรื่องชำระบัญชี ชำระหนี้สินต่างๆ ในกรณีเป็นผู้ลงทุนจากต่างประเทศก็ต้องพิจารณารวมไปถึงว่าจะนำเงินทุนหรือรายได้จากการเลิกกิจการหรือขยายกิจการนั้นกลับคืนสู่ประเทศของตนได้หรือไม่ ซึ่งก็จะเกี่ยวข้องกับกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตรา

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2553-8111 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น