ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - จากแผนการชั่วร้ายของนายฮุนเซน ที่สร้างสถานการณ์สู้รบขึ้นมา โดยสั่งการให้ทหารกัมพูชาโจมตีด้วยอาวุธหนักมากมายเข้ามาในฝั่งไทย จนทำให้อาคารโรงเรียนรวมถึงบ้านเรือนของราษฎรไทยได้รับความเสียหาย ทหาร, ประชาชนไทยบาดเจ็บ ล้มตาย และอพยพหนีตายกันเป็นจำนวนมาก โดยนายฮุนเซนต้องการยั่วยุให้ทหารไทยยิงตอบโต้ เพื่อยกระดับการสู้รบให้กลายเป็นสงคราม โดยหวังยกระดับปัญหาข้อพิพาทเขาพระวิหารจากการเจรจาทวิภาคีขึ้นสู่เวทีโลกนั้น
หลังการปะทะกันระหว่าง "ทหารไทย" กับ "ทหารกัมพูชา" ที่ชายแดนด้าน จ.ศรีสะเกษ ระหว่างวันที่ 4-7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาของนายฮุนเซนได้ร้องเรียนไปยัง "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ" หรือ "UNSC" ให้เข้ามาเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ยแก้ปัญหา ซึ่งต่อมา UNSC ได้นัดประชุมสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ โดยได้เชิญ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย และนายฮอร์ นัม ฮง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา ไปชี้แจงรายละเอียดทั้งหมด เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภายหลังการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีมติให้ทั้งสองประเทศ (ไทย-กัมพูชา) หาทางเจรจาเพื่อลงนามหยุดยิงถาวร และให้แก้ปัญหาแบบทวิภาคี โดยให้อาเซียนเข้ามาเป็นตัวกลาง หมายความว่า เป็นการเจรจาที่มีอาเซียนเข้ามาเกี่ยวข้องแทนที่จะเป็น “สหประชาชาติ” หรือยูเอ็น โดยในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ในวันที่ 22 ก.พ. ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย จะมีการนำเรื่องนี้มาหารือกันว่าอาเซียนต้องการให้ทั้งสองฝ่ายทำอย่างไร และจะมีแนวทางอย่างไรต่อไป
หลายคนสงสัยว่า มติของ UNSC ที่ออกมานั้น ใครได้ประโยชน์ เพราะเวลานี้ทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายกัมพูชาต่างก็อ้างชัยชนะด้วยกันทั้งสิ้น
ชัยชนะ หรือความโง่เขลาเบาปัญญา
หลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ “นายกษิต ภิรมย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลไทยประสบความสำเร็จในการชี้แจงต่อ UNSC ทำให้ในเวลาต่อมานายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาระริกระรี้ประกาศชัยชนะกลางการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสถึงกรณีนายกษิตได้รายงานผลการหารือปัญหาความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ว่า
"เป็นไปอย่างที่เราต้องการให้เกิดขึ้น คือเห็นได้ชัดว่า ประชาคมโลกต้องการให้การแก้ปัญหานี้ด้วยการเจรจา และกัมพูชาคงไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธตรงนี้ ก็คงต้องกลับมาพูดคุยกัน" นายอภิสิทธิ์กล่าว และให้ความเห็นว่ากัมพูชาไม่ประสบผลสำเร็จในการพยายามที่จะยกระดับปัญหาให้เป็นเรื่องนานาชาติ
อาจเป็นเพราะความโง่เขลาเบาปัญญาหรือความอ่อนด้อยทางประสบการณ์ของรัฐบาลและนายอภิสิทธิ์ ก็ไม่อาจรู้ได้ จึงทำให้พวกเขาหาได้สำเหนียกแม้สักนิดไม่ว่า แผนการอันชั่วร้ายของนายฮุนเซนครั้งนี้ถือว่า “ประสบผลสำเร็จ” เนื่องจากนายฮุนเซนสามารถยกระดับปัญหาความขัดแย้งที่ชายแดนไทย-เขมรเข้าสู่เวทีพหุภาคีได้ตามความต้องการของเขา ซึ่งความหลงใหลได้ปลื้มของนายกษิตและนายอภิสิทธิ์นั้น เป็นคนละอารมณ์เดียวกันกับที่ประเทศกัมพูชาซึ่ง “นายกอย เกือง” โฆษกกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา ได้แถลงว่า การชี้แจงครั้งนี้เป็นความสำเร็จของฝ่ายกัมพูชา เพราะคณะมนตรีความมั่นคงจัดการประชุมตามคำเรียกร้องของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน และจากเนื้อหาในแถลงการณ์ของ UNSC ก็ไม่เห็นมีจุดไหนที่เรียกร้องให้สองฝ่ายใช้กลไกการแก้ไขปัญหาในระดับทวิภาคี จึงไม่เข้าใจว่าคำแถลงของนายกษิตหมายความว่าอย่างไรที่บอกว่าประสบความสำเร็จในการชี้แจงต่อ UNSC
นายอภิสิทธิ์และนายกษิตพอจะตามกลเกมของกัมพูชาทันไหม !?
อย่าคิดว่าครั้งนี้เป็นชัยชนะของไทย
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความหลงใหลได้ปลื้มในชัยชนะที่อาจจะเป็นเพียงกับดักและภาพลวงตาของรัฐบาลไทยและนายอภิสิทธิ์ “นายดอน ปรมัตถ์วินัย” อดีตเอกอัครราชทูต และผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ได้ย้ำและให้สติแก่รัฐบาลไทย โดยกล่าวถึงมติของ UNSC เกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ยุติการใช้กำลังหยุดยิงกัน แต่การให้ 2 ประเทศไปหารือแบบทวิภาคีโดยให้อาเซียนเป็นพี่เลี้ยงนั้น ไม่ได้เป็นชัยชนะของประเทศไทยตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ เพราะไม่ได้เป็นการหารือแบบทวิภาคีตามที่ฝ่ายไทยต้องการ แต่การหารือทวิภาคีในวงอาเซียน เป็นข้อเรียกร้องของกัมพูชา ตั้งแต่ปี 2551 ถือเป็นแผน 2 ของกัมพูชาที่เคยเสนอไว้แล้ว
นายดอนให้ความเห็นว่า การประชุมในวันที่ 22 ก.พ. น่าจะเป็นในลักษณะมีสมาชิกอาเซียน เข้ามาเป็นผู้คอยกำกับอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากการดำเนินการในปี 2551 ที่ไทยยืนยันว่าจะต้องเป็นการหารือในระดับทวิภาคีเท่านั้น ซึ่งตนมองว่าการประชุมอาเซียนในวันที่ 22 ก.พ.ที่จะรับลูกต่อจากมติของ UNSC ในครั้งนี้ บทบาทของอาเซียนที่จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้ ส่วนตัวมองว่าน่าจะอยู่ใน 3 แนวทาง คือ
1.ให้กลุ่มตัวแทน 3-4 ประเทศอาเซียนเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง
2.ให้เฉพาะประธานอาเซียนเพียงคนเดียว เข้ามากำกับดูแลในนามของอาเซียน
3. จัดตั้งสภาสูงของอาเซียนตามแนวทางการแก้ข้อพิพาทอย่างเป็นทางการที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาไมตรีฯ ของอาเซียนเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย
แต่อย่างไรก็ตาม นายดอนมองว่าแนวทางที่ดีสุดสำหรับไทยคือ การให้เฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน เข้ามาดูแลเพียงคนเดียว
ทั้งนี้ นายดอนได้แสดงความเป็นห่วงว่า ขณะนี้อาจมีการประเมินสถานการณ์ผิด คิดว่ามติของ UNSC ที่ออกมาเป็นชัยชนะของฝ่ายไทย ซึ่งอาจจะทำให้การเดินเกมในการประชุมอาเซียน ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ ผิดพลาดได้ ดังนั้นจำเป็นต้องก้าวเดินด้วยความระมัดระวัง ด้วยการอ่านสถานการณ์ให้ออก อย่าคิดว่าครั้งนี้เป็นชัยชนะของไทย และหากยืนกรานว่าเป็นการหารือ 2 ฝ่ายแบบเดิมๆ ที่จะใช้กลไกเดิมๆ เหมือนอย่างเคย ไทยก็อาจจะถูกโดดเดี่ยวจากสมาชิกอาเซียนได้...
เช่นเดียวกับนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ ได้ให้ความเห็นว่า การที่ UNSC ให้ไทยกับกัมพูชากลับไปตกลงในระดับทวิภาคีโดยมีอาเซียนเป็นตัวกลางนั้น เป็นเรื่องปกติไม่ใช่ความสำเร็จของรัฐบาล เพราะกัมพูชาเคยเรียกร้องมา 50 ปีแต่ไม่เคยสำเร็จ แต่การชี้แจงของนายกษิต ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบและต้องเสียดินแดนอย่างถาวร เพราะนายกษิตไปยอมรับในข้อตกลงหยุดยิงถาวร ทั้งที่ทหารกัมพูชายังยึดดินแดนไทย ซึ่งการไปตกลงเช่นนี้จะทำให้กัมพูชาสามารถยึดครองแผ่นดินไทยในพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ทั้งวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ภูมะเขือ ต่อไปจนกว่าจะมีการเจรจาที่ทำให้กัมพูชาพอใจซึ่งเป็นการเสียดินแดนอย่างถาวร
นอกจากนี้ กัมพูชาจะสามารถใช้มาตรการเดิมในการรุกรานดินแดนไทย คือการให้ชาวบ้านมาสร้างชุมชนบนดินแดนของไทย ซึ่งเมื่อพื้นที่ 4.6 ตร.กม. เป็นพื้นที่หยุดยิง จึงทำให้กัมพูชานำไปอ้างกับยูเนสโกเพื่อผลักดันแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหารต่อได้ เพราะถือว่าหลุดจากการเป็นเขตอันตรายแล้ว...
ทารกการเมือง และสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “ปณิธาน”
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตเอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ให้สติแก่รัฐบาลไทยด้วยความหวังดี แต่ปรากฏว่าสิ่งมีชีวิตที่น่าเวทนาอย่าง “นายปณิธาน วัฒนายากร” รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถมยังทำตัวเป็นลิ่วล้อนายกรัฐมนตรี โดยได้ออกมาตอบโต้นายดอนทันที ว่า นายดอนคงมีแนวคิดเก่าเหมือนนักการทูตอีกจำนวนหนึ่ง ที่โตมาในยุคสงครามเย็น ที่คิดว่าทุกอย่างจะต้องมีแพ้มีชนะ เรื่องนี้รัฐบาลไม่คิดว่าจะมีใครแพ้หรือชนะ มีเพียงกัมพูชาผลักดันให้ปัญหาดังกล่าวขึ้นสู่เวทีนานาชาติไม่สำเร็จเท่านั้น
นอกจากนี้ นายปณิธานยังกล่าวอีกว่า จากการประเมิน คิดว่าทางกัมพูชาจะพยายามนำปัญหาดังกล่าวขึ้นสู่เวทีนานาชาติอีก แต่ไทยต้องพยายามดึงให้กัมพูชากลับมาสู่เวทีเจรจาระดับทวิภาคี ซึ่งเป็นแนวทางแก้ปัญหาหลักเท่านั้น การที่ให้อาเซียนเข้าเป็นผู้ประสานงาน ก็ไม่ใช่การให้ต่างชาติเข้ามาแทรกอย่างที่นายดอนเข้าใจ แต่เป็นเพียงผู้มาตั้งเวทีให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้พูดคุย ซึ่งเป็นกลไกใหม่ของอาเซียน ที่นายดอนอาจไม่เคยสัมผัสเท่านั้น ทั้งนี้ คาดว่าการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน วันที่ 22 ก.พ.นี้ จะมีมติให้ไทยและกัมพูชากลับไปคุยกันเอง ซึ่งจะทำให้กัมพูชาต้องกลับมาสู่การเจรจาในการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ไทย-กัมพูชา ในวันที่ 27 ก.พ.นี้
นี่คือ “อัตตา” ของคนหนุ่มกลุ่มหนึ่งที่ “อวดดี” ว่าตัวเองเรียนจบ “เมืองนอก-ออกซฟอร์ด” มา แต่กาลเวลาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าพวกเขาเป็นได้แค่เพียง “ทารกการเมือง” เท่านั้น
หยุดยิงถาวร หรือประเทศไทยเสียดินแดนถาวร !?
อย่างไรก็ตาม เมื่อผลออกมาเป็นแบบนี้ ก็ต้องบอกว่าเป็นเกมที่ฝ่ายไทย “เสียเปรียบ” ทั้งนี้ การเจรจาหยุดยิงอย่างถาวรของทั้งสองฝ่ายนั้น ถ้าหากมองกันอย่าง “ผิวเผิน” ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีที่ทำให้เกิดสันติภาพตามแนวชายแดน ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องได้รับความเดือดร้อน ไม่ต้องอพยพหนีภัย แต่ถ้ามองในรายละเอียดให้ “ลึกซึ้ง” ในอีกด้านหนึ่งก็จะพบว่ามันเป็นกลลวง “ตบตา” เพราะนั่นหมายความว่าจะมีการเจรจาหยุดยิงในขณะที่ฝ่ายกัมพูชายังยึดพื้นที่ของไทยอยู่ ที่เห็นชัดๆ ตอนนี้ก็คือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาทพระวิหาร ภูมะเขือ, วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ที่มีการก่อสร้างรุกเข้ามายึดครองและมีการปักธงประกาศอธิปไตยเหนือดินแดนไปก่อนหน้านี้ รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ อีกด้วย
และถ้าจะพูดให้ชัดขึ้นไปอีกก็คือ จะมีการเจรจา “บนพื้นที่ของไทย” เพื่อ “แบ่งพื้นที่ของไทย” โดยฝ่าย “กัมพูชา” มีแต่ได้กับได้ ไม่มีขาดทุน เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับไทย กัมพูชาไม่มีโอกาสเสียดินแดนแม้แต่หยิบมือเดียว!
ที่สำคัญ, การที่ทางฝ่ายกัมพูชายังยืนยันใช้แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 โดยอ้างอิงจากบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการปักปันเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชาปี 2543 หรือ MOU43 ก็ย่อมทำให้ต้องเสียพื้นที่ในส่วนอื่นๆ ตามมาอีกนับล้านไร่ และที่ผ่านมาฝ่ายไทยก็ไม่เคยโต้แย้งในกรณีดังกล่าวหลังจากที่กัมพูชาออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์และต่อมาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ “นายฮอร์ นัมฮง” รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ยังได้ย้ำอีกครั้งที่ UNSC ว่าไทยได้ยอมรับแผนที่ดังกล่าวอีกครั้ง โดยไทยไม่ได้ปฏิเสธ เพราะในคำแถลงของ “นายกษิต ภิรมย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย ยกเอาเพียงประเด็นเขมรเป็นฝ่ายยิงก่อน และใช้ปราสาทพระวิหารเป็นฐานทางทหารยิงถล่มเข้าใส่ไทย เท่านั้น
ส่วนที่รัฐบาลและนายอภิสิทธิ์พากันระริกระรี้ดีใจหลงใหลได้ปลื้มกับความสำเร็จนั้น ก็เนื่องมาจาก ผลการประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่ออกมานั้น ได้เปิดช่องให้รัฐบาล โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์นำไปขยายผลว่านี่คือผลสำเร็จของ MOU43 ที่บังคับใช้อีกฝ่ายกลับเข้ามาสู่โต๊ะเจรจา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วต้องพิจารณาด้วยว่าเนื้อหาในการเจรจาอยู่ในกรอบแบบไหนต่างหาก ซึ่งในกรณีที่เกิดขึ้นเป็นการบีบให้ทั้งสองฝ่ายต้องเจรจาหยุดยิงถาวร แต่เป็นการหยุดยิงบนพื้นที่ของไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว และมีแนวโน้มว่าการเจรจาปักปันเขตแดนโดยใช้แผนที่ 1 : 200,000 ที่ลงนามอยู่ใน MOU43 ยิ่งทำให้ไทยเสียเปรียบ
และเมื่อมีการเจรจาหยุดยิงถาวร พื้นที่บริเวณนั้นซึ่งครอบคลุม “พื้นที่โดยรอบ” ปราสาทพระวิหารก็จะกลายเป็นพื้นที่ “สันติภาพ” ทำให้ฝ่ายกัมพูชาสามารถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้โดยสมบูรณ์ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดดังกล่าวยังได้รับการรับรองจากนานาชาติอีกด้วย นั่นเป็นความเสียเปรียบของฝ่ายไทยในการเสียดินแดนอย่างถาวร เพราะเวลานี้กัมพูชาได้ปักหลักยึดพื้นที่ของไทยเอาไว้อย่างเหนียวแน่น พร้อมกับการอ้างสิทธิ์ยืนยันมาโดยตลอด ขณะที่ไทยก็ไม่ยอมโต้แย้ง
อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ยังไม่มีกำหนดเงื่อนไขก่อนเจรจาว่าต้องผลักดัน หรือฝ่ายกัมพูชาต้องถอนกำลังหรือถอนชุมชนพ้นพื้นที่ของไทยทั้งหมดออกไปเสียก่อน มันก็ไร้ประโยชน์ ขณะเดียวกันฝ่ายไทยก็ต้องโต้แย้งแผนที่อัตราส่วน 1 : 200,000 อย่างเป็นทางการโดยเร็ว เพราะหากยังนิ่งเฉยก็เท่ากับว่าเป็นการยอมรับ ใช่หรือไม่ เพราะกัมพูชายืนยันอยู่เสมอว่า ใน MOU43 มีการยอมรับแผนที่ดังกล่าว นั่นก็ยิ่งเห็นแนวโน้มว่าในอนาคตผลจะออกมาเป็นเช่นไร
“จำกัดวงปะทะ”
จำกัดวงการสมสู่ของ “หมาใน” กับ “สุนัขจิ้งจอก”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าตั้งคำถามเพิ่มเติมก็คือ ความเคลื่อนไหวล่าสุดของนายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดการก่อสร้างถนนหมายเลข 59 อย่างเป็นทางการ ที่บริเวณสามแยกบ้านนิมิต อ.โอวจโรว จ.บันเตียเมียนเจย ฝั่งประเทศกัมพูชา ซึ่งอยู่ห่างด่านพรมแดนอรัญประเทศ ประมาณ 13 กม. และเป็นถนนเลียบขนานกับชายแดนของไทย ด้าน อ.อรัญประเทศ ไปจนถึง จ.จันทบุรี โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว และตัวแทนฝ่ายทหารของไทย เดินทางไปร่วมพิธีดังกล่าวด้วย (หลายคนไม่เข้าใจว่า รองผู้ว่าฯ สระแก้วและตัวแทนฝ่ายทหารไทยเดินทางไปร่วมพิธีทำไม)
นายฮุนเซนได้ขึ้นกล่าวปราศรัยบนเวที โดยไม่ยอมพูดถึงกรณีพิพาทหรือเหตุปะทะกับทหารไทยบริเวณชายแดนปราสาทพระวิหาร หรือมติของ UNSC แต่อย่างใด ได้แต่พูดเพียงว่าจะไม่ให้ “วงปะทะ” ขยายลุกลามโดยจะจำกัด “วงปะทะ” ไว้แค่บริเวณชายแดนปราสาทพระวิหาร ส่วนชายแดน จ.บันเตียเมียนเจย-สระแก้ว ขอให้ทำการค้า และค้าขายกันตามปกติ
คำถามก็คือนายฮุนเซนเป็นห่วงชาวบ้านที่ทำการค้าขายอยู่บริเวณชายแดนจริงๆ หรือห่วงว่าสงครามที่ตัวเองเป็นผู้ก่อขึ้นนั้นจะกระทบกับผลประโยชน์มหาศาลที่ “สุนัขจิ้งจอกฮุนเซน” แอบสมสู่อยู่กับพวก “หมาใน” หิวเงินทางฝั่งไทยกันแน่!
สันดานสุนัขจิ้งจอก
อย่างไรก็ตาม ต้องหมายเหตุตรงนี้ไว้ก่อนว่า หลังการประชุม UNSC จบลงเพียงไม่กี่ชั่วโมง เมื่อเวลา 05.00 น. วันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ปะทะกันของกองกำลังทั้ง 2 ฝ่าย ที่บริเวณภูมะเขือ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ส่งผลให้ ส.ท.รัชพล ยศปัญญา ถูกสะเก็ดระเบิดได้รับบาดเจ็บสาหัส กระทั่งเสียงปืนและเสียงระเบิดดังขึ้นระลอกใหม่ที่บริเวณภูมะเขือต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 16 กุมภาพันธ์ โดยทหารกัมพูชาได้ขว้างระเบิดมือเข้ามาใส่ที่ตั้งของทหารไทยก่อน และพยายามแทรกซึมเข้ามาในเขตไทย โดยขว้างปาระเบิดเพื่อยั่วเย้าทหารไทยอยู่ตลอดทั้งคืน
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ทหารกัมพูชาขว้างปาระเบิดยั่วโมโหทหารไทยอยู่ตลอดทั้งคืน นายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กลับทำเป็นออกมาพูดพล่ามหาสันติภาพกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อส่งเสริมการพัฒนา พร้อมกับเรียกร้องให้แก้ปัญหาพิพาทชายแดนโดยเร็ว และไม่ควรปล่อยให้การสู้รบบานปลายไปมากกว่านี้ สุดท้ายนายฮุนเซนเรียกร้องให้เพื่อนบ้าน มีเขตแดนร่วมกันอย่างมีสันติภาพ มิตรภาพ และความร่วมมือ
โดยล่าสุด สำนักข่าวซินหัวรายงานเมื่อวันที่ 17 ก.พ. ว่า สมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลกัมพูชา ว่า กัมพูชาจะขอให้ไทยลงนามในข้อตกลงหยุดยิงถาวร โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศกลุ่มอาเซียน หรือ นายมาร์ตี นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียนร่วมเป็นสักขีพยาน และจะยิ่งเป็นการดีหากประธานอาเซียนจะลงนามในข้อตกลงหยุดยิงแบบถาวรในวันที่ 22 ก.พ.บนเวทีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา
ทั้งนี้ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวภายหลังการเข้าพบนายฮุนเซน ในระหว่างการเดินทางเปิดการแสดงสินค้าไทย-กัมพูชา พร้อมด้วยนายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ ว่าการพบกันเป็นไปด้วยดี โดยนายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้เสนอให้อาเซียนส่งคนกลางเข้ามาร่วมการเจรจาทวิภาคี ซึ่งอาจจะเป็น นายมาร์ตี้ นาตาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศ อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนก็ได้
นอกจากนั้น นายกฯ กัมพูชายังบอกว่า ด้วยปัญหาระหว่างไทยและกัมพูชา ขณะนี้ ไม่มีเหตุผลที่จะทะเลาะกัน ควรจะมีการประชุมเพื่อหาหลักหมุดเพื่อแก้ไขพื้นที่ขัดแย้ง และอยากให้กัมพูชาและไทยกลับมาเป็นพี่น้องกันเหมือนเดิม นอกจากนี้ ยังได้ฝากถึง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ว่าไม่อยากให้ทำสงครามคำพูดต่อกัน ซึ่งนายไตรรงค์ตอบไปว่า รัฐบาลไทยระวังอยู่แล้ว แต่กลุ่มอื่นไม่สามารถห้ามไม่ได้
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงข้อเสนอที่นายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เสนอให้มีการลงนามหยุดยิงร่วมกันในเวทีอาเซียนวันที่ 22 ก.พ.นั้น ยืนยันว่าเราไม่ได้เป็นฝ่ายยิงก่อนอยู่แล้ว และยังไม่ทราบว่าคืออะไร เพราะขณะนี้เรายืนยันมาตลอดว่าไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่ม เพียงแต่ตอบโต้เวลาที่เกิดการปะทะกันขึ้นมาเท่านั้นเอง ส่วนการพิจารณาของอาเซียนก็ต้องไปฟังในวันที่ 22 ก.พ.ว่าคิดอย่างไร
ส่วนท่าทีของนายฮุนเซน พร้อมที่จะเข้าสู่การเจรจาระดับทวิภาคี แต่ต้องการให้อาเซียนเป็นพยานนั้น นายอภิสิทธิ์คิดว่าไม่ได้ต่างอะไรจากที่อาเซียนแสดงท่าทีก่อนหน้านี้ ว่าเรื่องการเจรจาเป็นเรื่องของ 2 ฝ่าย แต่ถ้าต้องการให้อำนวยความสะดวก สนับสนุนให้เกิดการคุยกันได้ อาเซียนก็ทำบทบาทนี้ แต่อาเซียนคงไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับเนื้อหาสาระที่จะต้องพูดคุยกัน อย่างไรก็ตาม เวลานี้ไม่ทราบว่า ข้อเสนอเป็นลักษณะไหน อาจเป็นเรื่องของการมีพยานหรืออะไรก็ไม่ทราบ แต่ก็ยังเป็นเรื่องของ 2 ฝ่ายที่จะต้องพูดคุยกัน ซึ่งไทยพร้อม และยินดีรับฟังว่า อาเซียนอยากมาสนับสนุนในลักษณะไหนมากกว่า แต่อาเซียนคงไม่เข้ามาแทรกแซงในสิ่งที่ 2 ฝ่ายจะต้องคุยกัน
"สิ่งที่สมเด็จฯ ฮุนเซน พูดวันนี้เป็นการยอมรับแล้วว่า ต้องหวนกลับมาในส่วนของเจบีซี อันนั้นมันทวิภาคีชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนจะทำอย่างไรให้สามารถบรรลุข้อตกลงในลักษณะที่จะนำไปสู่ไม่มีการปะทะอีก ตรงนั้นเป็นเรื่องที่ต้องมาคิดกัน" นายอภิสิทธิ์กล่าว
สุดท้าย, สิ่งที่อยากเตือนนายอภิสิทธิ์ด้วยความห่วงใยอย่างสุดซึ้งก็คือ “ระวังสันดานสุนัขจิ้งจอก” เพราะตัวอย่างก็มีให้เห็นแล้วว่า ขณะที่ปากพล่ามถึงสันติภาพ หางมันก็กระดิกบอกลูกน้องให้ขว้างปาระเบิดป่วนไทย ยั่วเย้า และเปิดฉากยิงหูดับตับไหม้ถล่มด้วยปืนใหญ่ปืน ค. ตั้งแต่ช่วงดึกยันฟ้าสาง! โดยไม่ได้สนใจมติของ UNSC ที่ให้หยุดยิงแม้แต่น้อย เหมือน “แม้ว” เพื่อนชั่ว(นิรันดร์)ของเขาที่กล่าวว่า “ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ!” ? ถ้ามันมาง้อ พ่อรูปหล่อก็ต้องระวัง (มันจะแทงข้างหลัง) ให้ดี!