xs
xsm
sm
md
lg

เตือน “มาร์ค” เร่งปรับท่าที เลิกติดภาพมายา แนะ 5 ทางออก ไทยในเวที UNSC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เว็บไซต์ “ฟิฟทีนมูฟ” เตือน “มาร์ค” เลิกติดภาพมายา “สุภาพบุรุษบนโพเดียม” แนะ 5 ทางออก ปรับท่าทีไทยในการประชุมร่วมคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ไทยต้องยืนยันอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ 4.6 ตร.กม. พร้อมเสนอหลักฐาน กัมพูชาใช้ปราสาทพระวิหารเป็นฐานยิงอาวุธหนักถล่มชุมชนและโรงเรียนไทย ปฏิเสธการแทรกแซงของประเทศใดๆ หรือองค์การระหว่างประเทศ ทั้ง ยูเนสโก และ สหประชาชาติ

เมื่อเวลา 15.57 น.วันที่ 13 ก.พ.54 เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ เผยแพร่บทความเรื่อง “โจทย์-โจทก์ ใน UNSC” แนะ 5 ทางออก รัฐบาลไทยต้องพลิกบทบาท จาก “จำเลย” เป็น “โจทก์” ในที่ประชุมร่วมกับคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ (UNSC) โดย 1.ไทยต้องเร่งแสดงอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ 4.6 ตร.กม.รอบปราสาทพระวิหารโดยใช้กำลังทหารขึ้นไปยึดพื้นที่ 2.ไทยต้องแจกแจงหลักฐานว่ากัมพูชาใช้ปราสาทพระวิหารเป็นฐานรบ โจมตีชุมชน และโรงเรียนของไทย 3.ไทยต้องปฏิเสธการแทรกแซงจากประเทศที่ 3 หรือองค์การระหว่างประเทศ เพราะเหตุเกิดในเขตอธิปไตยของไทย 4.อย่าให้ชาติตะวันตกเข้ามายุ่ง เพราะเป็นเรื่องของคนเอเชียด้วยกัน ควรให้จีนเป็นผู้ช่วยไกล่เกลี่ย เตือนนายกฯอภิสิทธิ์อย่าหลงทางหวังพึ่งพาสหรัฐอเมริกา ที่หวังแต่ประโยชน์ส่วนตนและคบไม่ได้ และ 5.ต้องปฏิเสธการเข้ามาในพื้นที่ 4.6 ตร.กม.และตัวปราสาทของทั้งยูเนสโก และสหประชาชาติ เพราะคำตัดสินของศาลโลกผูกพันเฉพาะประเทศคู่กรณี คือ ไทย และกัมพูชา เท่านั้น โดยมีเนื้อหาบทความดังนี้...

ฟิฟทีนมูฟ — ในที่สุดความพยายามของกัมพูชาที่จะเอาปัญหาพิพาทพรมแดนที่จดจ่อมาตั้งแต่สองปีที่แล้วสู่เวทีนานาชาติก็เป็นผล นับว่าตำราของจิ้งจอกเฒ่าสีหนุที่ตกทอดสู่ผู้นำกัมพูชารุ่นลูกนั้นใช้งานได้อย่างเห็นผล ศาสตร์แห่งความกลอกกลิ้ง และเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราว เป็นผู้ด้อยที่คุกคามระรานแล้วป่าวร้องขอช่วย เป็นที่รับรู้ในเวทีประชาคมโลกว่าเป็น “สันดานเขมร” แต่หากเทียบกัน กะล่อนมืออ่อนหัดอย่าง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นั้นชื่อชั้น ทักษะ ยังนับว่าห่างไกล

พิเคราะห์จากอาการ “เหวี่ยง” ของนายอภิสิทธิ์ บ่ายวานนี้ ก็พอเห็นวี่แววว่าสิ่งใดจะเกิดในเวทีประชุมย่อยแบบปิดของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า และกิริยาอาการถามหาความรับผิดชอบจากผู้อื่นของนายอภิสิทธิ์ไม่เฉพาะเป็นการส่อกิริยาเข้าตาจนแต่ประการเดียว แต่สะท้อนพฤติกรรมพิมพ์นิยมที่พรรคประชาธิปัตย์ถือปฏิบัติมากว่า 60 ปี คือป้ายสีใส่คนอื่น อย่างที่เป็นที่รับรู้มายาวนานว่า เป็น “สันดานประชาธิปัตย์”

คาดการณ์ได้ว่า การเดินทางของคณะ “ชวนนท์-กษิต” ไปชี้แจงที่การประชุมคณะมนตรีความมั่นคงฯ ในสภาพที่ถูกบีบให้ตกอยู่ในฐานะ “จำเลย” ไปแก้ต่างนั้น โดยพิเคราะห์ท่าทีและพฤติกรรมที่ผ่านมา นอกจากจะพยายามไปบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น ก็ไม่พ้นลงเหวลงคูด้วยการไปยืนยันว่ามีกลไกทวิภาคีอยู่แล้วทั้ง MOU43 และ JBC ด้วยท่วงท่าสุภาพบุรุษ-เด็กดีอย่างที่เป็น ๆ มา ทว่าเขมรบอกป่าวบอกปัดต่อเนื่องว่ากลไกที่ว่านั้นไม่สามารถนำใช้ได้อีก ไม่เอา-ไม่คุยสองฝ่าย และย้ำๆ เน้นๆ อย่างต่อเนื่องว่า “ไทยรุกราน” บนพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ของกัมพูชา ตามแผนที่ 1:200,000 ที่ไทยก็รับทุก map มี s ขณะนโยบายของรัฐบาลประชาธิปัตย์ประกาศย้ำเฉพาะแต่ปากว่ายึดสันปันน้ำ แต่ไม่ยืนยันความเป็นเจ้าของพื้นที่ ไปสรุปและพูดแทนคนอื่นอยู่เสมอว่าเป็น “พื้นที่พิพาท” กระทั่งวิธีคิดแบบพื้นที่พิพาทที่ทอนสิทธิ์ความเป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์ของตนเองนี้ “ซึมเยิ้ม” ไปถึงระดับแม่ทัพนายกองที่มีหน้าที่ปกปักรักษาบูรณภาพแห่งดินแดน

ในสภาวะที่เป็นฝ่ายตั้งรับและต่อสถานการณ์เฉพาะหน้านี้ สิ่งแรกสุดที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรีพึงทำคือ “หยุดเลว” ด้วยการหยุดใส่ร้ายป้ายสีคนไทยด้วยกันและประดิษฐ์เหตุผลข้ออ้างใหม่ ๆ มากลบเกลื่อนความผิด-ความพลาดของตน ควรหันหน้าพูดความจริงอย่างลูกผู้ชายอย่าง “เต็มชาย” ว่า พลั้งพลาดเสียเชิงให้เขมรอย่างไร นับแต่การถอนทหารออกจากวัดแก้วฯ เมื่อ 1 ธันวคม 2553 แต่ทหารพื้นที่ต้องการปกป้องดินแดนก็นำแทร็กเตอร์ไถทางจากสระตราวไปภูมะเขือ จนทหารเขมรยิงอาร์พีจีใส่ จึงปะทะบานปลาย ฯลฯ

ด้วยสามารถคาดการณ์ได้ ห้วงสองวันที่ผ่านมา ฟิฟทีนมูฟได้ตั้งโจทย์สอบทานเพื่อหาทางออกต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้าที่ต้องรับมือในที่ประชุมย่อยแบบปิด ที่จะมีเฉพาะรัฐมนตรีต่างประเทศไทย กัมพูชา ประธานอาเซียน และตัวแทนของ 5 ชาติ สมาชิกถาวร เราได้คำตอบว่า

ประการแรก หากประเทศไทยยืนยันความเป็นเจ้าของพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ตามสิทธิ์โดยสมบูรณ์และเว้นพื้นที่ 2-3 ไร่ ของตัวปราสาทเป็นพื้นที่พิพาท โดยฐานของอนุสัญญา ค.ศ.1904 และสนธิสัญญาและพิธีสารแนบท้าย ค.ศ.1907 ประกอบกับคำตัดสิน คำพิพากษาแย้ง และคำพิพากษาเอกเทศ โดยเฉพาะด้านที่เป็นคุณของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2505 นั้น สิ่งแรกที่ต้องทำโดยเร่งด่วยการประชุม คือ การแสดงอธิปไตยเหนือพื้นที่ โดยการให้ทั้งทหารและพลเรือนชาวกัมพูชา ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ออกไปทั้งหมด โดยใช้มาตรการและแสนยานุภาพทางทหารของกองทัพบกประกอบกับกองทัพอากาศ เป็นเรื่องที่ต้องทำโดยเร่งด่วนและทันที เพื่อกุมสถานการณ์ ควบคุมและแสดงอธิปไตยเหนือพื้นที่ โดยศักยภาพของกองทัพอากาศนั้นจากการสอบทานทราบว่าว่าใช้เวลาปฏิบัติการไม่กี่ชั่วโมง (รวมถึงการข้ามเขตเพื่อตัดการโจมตีด้วย BM-21 ที่มีฐานที่มั่นที่สวายจรุม และโกมุยด้วย)

ประการที่สอง การเข้าไปในที่ประชุมย่อยของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติ จะต้องไปในฐานะ “โจทก์” มิใช่ “จำเลย” เข้าไปเพื่อฟ้องร้องว่ากัมพูชารุกราน เกะกะระราน และละเมิดดินแดนบนพื้นที่ 4.6 ตร.กม.บรรดาหลักฐานเหล่านี้ฝ่ายความมั่นคงและกระทรวงต่างประเทศมีพร้อม ซึ่งสามารถย้อนเหตุการณ์ไปนับแต่ช่วงปี 2535 ก็ย่อมได้ ประกอบกับสถานการณ์ล่าสุดถึงเหตุที่ทำให้เกิดการปะทะ การมีเป้าหมายที่จะสร้างความเสียหายแก่พลเรือนโดยการโจมตีที่ตั้งชุมชน โรงเรียนในเขตภูมิซรอล ตลอดจนการใช้ซากปรักหักพังของปราสาทเป็นที่ฐานยิงอาวุธหนัก ฯลฯ

ประการที่สาม สิ่งที่ต้องดำเนินการคู่กัน คือ การปฏิเสธการเข้ามาเกี่ยวข้องของชาติหรือองค์กรที่สาม ทั้งคณะมนตรีความมั่นคง ยูเนสโก อาเซียน หรือชาติใด เพราะ (จากประการแรก) หากยืนยันว่าพื้นที่นั้นเป็นของไทยโดยสมบูรณ์ เหตุเกิดในเขตอธิปไตยของไทย การจัดการกับผู้รุกรานย่อมกระทำได้ภายในขอบเขตอธิปไตยซึ่งประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศไม่มีสิทธิเข้ามาก้าวก่ายเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นไปตามกฎบัตรของสหประชาชาติ

ประการที่สี่ สิ่งที่ต้องทำประกอบกันในที่ประชุมอีกประการ คือ กันชาติตะวันตกทั้งหมดออก เรื่องราวปัญหาระหว่างไทย-กัมพูชา คุยกับจีนว่า “ต้าเฮีย” (พี่ใหญ่) เรื่องนี้เป็นเรื่องของคนเอเชีย และคนเอเชียด้วยกันต้องจัดการกันเอง อย่าให้ชาติตะวันตกผิวซีดเข้ามาก้าวก่ายเรื่องของคนเอเซีย และต้องบอกกับต้าเฮีย ว่า “เด็ก” ของต้าเฮีย (เขมร) นั้นเกะกะระราน ขอให้ช่วยควบคุมดูแล เพราะเป็นที่ทราบอย่างดีว่าประเทศที่มีอิทธิพลและให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ต่อกัมพูชามากที่สุด ณ ขณะปัจจุบันคือประเทศจีน จีนเป็นประเทศที่กัมพูชาเกรงใจมากที่สุดและเมื่อครั้งที่มีเหตุวิวาททะเลาะน้ำลายข้ามสันน้ำกรณีของทักษิณ ชินวัตร เมื่อปีก่อนนั้น จีนเป็นคนปรามให้กัมพูชาสงบปากสงบคำ ไม่เชื่อก็ให้ถามเอากับซก อาน ว่าจีนพูดอะไรที่สนามบินพนมเปญ

อีกทั้งทิศทางที่ฝักใฝ่และหวังพึ่งสหรัฐอเมริกาของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั้น เป็นหนทางที่ผิดโดยสิ้นเชิง เพราะสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ “คบไม่ได้-เชื่อไม่ได้” มากที่สุดประเทศหนึ่ง อเมริกาพร้อมเปลี่ยนจุดยืน และท่าทีตามผลประโยชน์ กรณีล่าสุดเกี่ยวกับอียิปต์ก็เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ กรณีสหรัฐอเมริกาช่วยเหลือกัมพูชา ทั้งตัดแข้งตัดขาไทย และส่งกระบี่มือหนึ่งช่วยเขมร ว่าความคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ.๒๕๐๒-๒๕๐๕ ก็เป็นบทเรียนที่ไทยไม่เคยจำ

อีกประเทศที่พอจะพูดคำไหนคำนั้นและพึ่งพาได้ คือ รัสเซีย ที่สายสัมพันธ์แม้จะใกล้กับกัมพูชามากกว่า แต่ไม่ดีไม่ร้ายกับไทยนักนั้น ถูกทำสะบั้นด้วยกรณีวิกเตอร์ บูต ด้วยการเมืองการทูตแบบสิ้นคิด เด็กดีเอาใจอเมริกาของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ประเทศอื่นเขาจะ “เห็นหัว” เกรงใจ และคุยกันได้ในเวทีระหว่างประเทศไม่ใช่เพราะสยบยอม ประจบประแจง ทำตัวเป็นลูกไก่ในกำมือ หากแต่ต้องอยู่ให้สมภาคภูมิ และต้องไม่เป็นสุภาพบุรุษแบบพาซื่อไม่รู้กลเกมการเมืองระหว่างประเทศ ความเป็นสุภาพบุรุษแบบประชาธิปัตย์ที่ทำมาตลอดนั้น ทั้งคาบเส้นและซ้อนทับกับคำว่า “โง่เง่า” และสถานการณ์นี้ก็ไม่ใช่เวทีอวดความ “สุขุมคัมภีรภาพ” ของรัฐมนตรีผู้ซึ่งย้าย “สันปันน้ำ” มาไว้ท้องนาท้องทุ่ง

ต่อกรณีการเข้ามาของยูเนสโก ประเทศไทยต้องปฏิเสธโดยเด็ดขาด ไม่ให้เข้าพื้นที่ 4.6 ตร.กม.และที่ตั้งของซากปรักหักพังของปราสาท เพื่อเป็นการแสดงอธิปไตยและกันไม่ให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่มีส่วนในการสร้างความขัดแย้งเข้ามายุ่มย่าม ทั้งยูเนสโก สหประชาติ ไม่มีความเกี่ยวข้องผูกพันกับคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ พ.ศ.2505 ซึ่งเป็นไปตาม มาตรา 59 ของธรรมนูญศาลฯ ที่คำตัดสินไม่มีผลผูกพันต่อศาลและองค์กรอื่น ผูกพัน “เฉพาะกรณี” ระหว่างคู่กรณี คือ ไทยกับกัมพูชา

การดำเนินการของรัฐบาลประชาธิปัตย์ ทั้งฝ่ายความมั่นคงและการต่างประเทศ ต่อกรณีเขมรนั้น ถ้าไม่ผิดทิศผิดทาง ก็ชักช้าจนเกินกาลมาตลอด กรณีปะทะกัน ทั้งที่ควรล็อบบี้ก่อนหน้าก็ไม่ได้ทำ เป็นแต่โทรศัพท์สายตรงหาบัน คี มูน ซึ่งไม่ได้ช่วยอะไรเลย การสัมพันธ์คบหากับใครในฐานะ “เพื่อน” ในเวทีระหว่างประเทศแทบไม่มี จนมีสภาพคล้ายประเทศอันโดดเดี่ยวไม่มีใครคบหา หลงเข้าใจไปตามตำรับตำราและติดมายาสุภาพบุรุษบนโพเดียม

เราได้เสนอทางออกและสิ่งที่ต้องทำโดยเร่งด่วน หากรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและสร้างข้อได้เปรียบในเบื้องหน้าหากมีเหตุเปลี่ยนแปลง การไปยังที่ประชุมคณะมนตรีฯ ต้องไปอย่างแกร่งกล้ามีศักดิ์ศรี พลิกสภาพจำเลยเป็นโจทก์ และหากเวลาที่เหลือนี้จัดการ “แสดงอำนาจอธิปไตย” เหนือพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ไม่ทัน ก็ให้เร่งจัดการระหว่างการฟ้องร้องชี้แจงและต้องทำให้สะเด็ด-จบ เพราะที่เวทีนั้นเรายังอยู่และยืนต้านได้หากมีอะไรเกิดขึ้น และถ้าเป็นไปได้ ทุกปฏิบัติการทางทหาร บรรดาซากปรักหักพังของปราสาทไม่ควรมีเหลืออยู่ให้เป็นชนวนความขัดแย้งอีก!!

แต่ถ้าเป็นอย่างเดิม ไปอย่างเดิม ทำอย่างเดิม ก็..จบเห่แล้วล่ะเพื่อนร่วมชาติ!!"

....

ทั้งนี้ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จะเข้าชี้แจงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC ในวันพรุ่งนี้ (14 ก.พ.) สืบเนื่องมาจากการปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชา ที่ชายแดนด้านจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งกัมพูชาได้ร้องเรียนเรื่องนี้ไปยัง UNSC ทาง UNSC จึงได้นัดประชุมประเทศสมาชิกทั้ง 15 ประเทศ (ถาวร 5, ไม่ถาวร 10) เพื่อพิจารณาเรื่องนี้ โดยได้เชิญนายกษิต ภิรมย์ รมว.กต.ไทย และ นายฮอร์ นัม ฮอง รองนายกฯ/รมว.กต.กัมพูชา ไปกล่าวถ้อยแถลง เพื่อชี้แจงรายละเอียดทั้งหมด

สำหรับการประชุม UNSC ครั้งนี้ จะเริ่มขึ้นเวลา 10.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น (นิวยอร์ก) ตรงกับเวลา 22.00 น.ตามเวลาประเทศไทย โดยประธาน UNSC จะเป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม จากนั้นรองเลขาธิการ UNSC ฝ่ายการเมืองจะเป็นผู้กล่าวสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด จากนั้นก็จะเปิดให้ รมว.กต.อินโดฯ ในฐานะ ปธ.อาเซียน ชี้แจง ก่อนจะให้ นายฮอร์ นัม ฮอง กล่าวถ้อยแถลงก่อนในฐานะที่กัมพูชาเป็นผู้ยื่นคำร้อง จากนั้นถึงจะให้ นายกษิต กล่าวถ้อยแถลงเป็นคนสุดท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น