xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ กอด MOU เมิน พธม. ส่ง “กษิต” ถก UNSC ให้ “สุวิทย์-อัษฎา” คุยมรดกโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
“มาร์ค” กอดเอ็มโอยู 43 พล่ามเช้าวันอาทิตย์ ให้จังหวัดใช้เงินทดลองช่วยผู้อพยพ โว สภาหนุนเจรจาทวิภาคี ส่ง “กษิต” ถกยูเอ็นเอสซี ให้ “สุวิทย์-อัษฎา” แฉยูเนสโกแขมร์ใช้ปราสาทยิงไทยก่อน ยัน “ฮุนเซน” หวังชาติที่ 3 จุ้นดันมรดกโลก เชื่อนานาชาติตาสว่าง แย้มเจบีซี 3 ฉบับเข้าสภาเร็วๆ นี้ โถ...บอกพร้อมนำข้อเสนอ พธม.ไปใช้ แต่ไม่ใช่ 3 ข้อเรียกร้อง



 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์”  

วันนี้ (13 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับ นายกฯ อภิสิทธิ์ ถึงปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชา ว่าขณะนี้ชาวบ้านก็ได้เดินทางกลับสู่พื้นที่แล้ว อย่างก็ตามการดำเนินการของรัฐก็ยังดำเนินการอย่างใกล้ชิด ตนขอขอบคุณประชาชนจำนวนมากที่ช่วยบริจาคช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งทางรัฐบาลก็ได้มีการรวบรวมความต้องการของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นจากการทำงานในพื้นที่ของจังหวัด การที่รัฐมนตรีหลายท่าน ได้ลงไปดูแล ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงกลาโหม และสำนักนายกรัฐมนตรี ขณะที่ตนก็ได้วีดีโอคอนเฟอเร้นซ์ไปยังพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ และสุรินทร์ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 ก.พ.) โดยการช่วยเหลือเบื้องต้น และการดูแลผู้อพยพ ได้ดำเนินการโดยราบรื่น ขณะที่ปัญหาในการฟื้นฟู ก็จะมีหน่วยงานต่างๆเข้าไปซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย รวมทั้งปัญหาในเรื่องหลุมหลบภัย โดยให้ทางจังหวัดใช้เงินทดลองเป็นงบประมาณในการใช้จ่ายดังกล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ขณะที่ทางรัฐสภาก็ให้ความใส่ใจในเรื่องดังกล่าว ทั้งการประชุมของวุฒิสภา และการพิจารณาญัตติของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ตนขอขอบคุณส.ส.ทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้าน ที่ให้ข้อมูลติดต่อสื่อสารและความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งการอภิปรายก็เป็นไปในบรรยากาศที่ดี ทุกคนเห็นตรงกันว่าสิ่งที่สำคัญคือเพื่อนบ้านต้องอยู่ร่วมกันอย่างสงบ สันติ เราต้องรักษาอธิปไตยของเราแน่นอน แต่ก็ต้องใช้วิธีการที่เอื้อให้เกิดความสงบสุข เพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชน แต่เมื่อใดก็ตามที่เรากับประเทศเพื่อนบ้านมีความตึงเครียด ประชาชนที่อยู่แนวชายแดนก็จะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยทั้ง 2 สภา ก็ได้สนับสนุนแนวทางเจรจาของรัฐบาล แต่ถ้าถูกรุกล้ำกองทัพก็มีความพร้อม และได้รับการสนับสนุนให้ตอบโต้โดยสมควรแก่เหตุ และเป็นไปตามหลักสากล ตนได้ให้การวิเคราะห์ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเฉพาะจุด ในบริเวณปราสาทพระวิหาร ที่เกิดจากความตึงเครียด ที่ทางกัมพูชาเองมีความกดดันที่จะต้องเสนอแผนบริหารจัดการพื้นที่บริเวณรอบปราสาทพระวิหาร สืบเนื่องจากการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกไว้ฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นปมปัญหาที่ค้างคามากว่า 2 ปี และตนก็ได้รับรู้จากการพบกับ สมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาหลายครั้ง ที่ต้องการจะให้พื้นที่ปลอดจากกองกำลัง เพื่อการผลักดันในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกในเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งทุกครั้งที่มีการเจรจา

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า ตนได้ยืนยันว่า การดำเนินการดังกล่าวคงไม่สามารถทำได้ หากยังไม่สามารถเจรจาได้ข้อยุติในการจัดทำเขตแดน ตามเอ็มโอยู 2543 และการจัดทำหลักเขตแดน ความพยายามของทางฝ่ายกัมพูชาที่จะให้ฝ่ายไทยของถอนจากพื้นที่ไม่สัมฤทธิ์ผลได้ เหตุการณ์ปะทะที่เกิดขึ้นตนคาดว่าน่าจะเป็นการพยายามยกระดับเรื่องดังกล่าว ทันทีที่มีการปะทะกัมพูชาก็ได้มีการร้องไปยังสหประชาชาติ เพื่อให้ประเทศที่ 3 เข้ามาแทรกแซง เพื่อให้บริหารจัดการพื้นที่ ทั้งนี้ฝ่ายไทยจึงต้องชีแจงนานาชาติ สหประชาชาติ ยูเนสโก อาเซียน ให้รับทราบ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ดำเนินการแล้ว และกำลังเดินทางไปที่ปารีส และนิวยอร์ก เพื่อชี้แจงต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

ขณะเดียวกัน นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม และนายอัษฎา ชัยนาม ประธานเจบีซี ก็ได้เดินทางไปที่ยูเนสโก เพื่อได้ชี้แจงข้อเท็จจริง รวมทั้งหลักฐานว่าทางกัมพูชาได้ยิงก่อน และใช้ปราสาทพระวิหารทำปฏิบัติการทางการทหาร ซึ่งขัดต่อการเป็นมรดกโลกอย่างชัดแจ้ง รวมไปถึงคำให้สัมภาษณ์ของสมเด็จฯ ฮุนเซน และคำให้การของทหารกัมพูชา ที่ยอมรับว่าเป็นฝ่ายยิงก่อน โดยไทยจะไปเรียกร้องให้กลับมาสู่การเจรจาทวิภาคีเรื่องการจัดทำเขตแดน และในระหว่างนี้ทางมรดกโลกก็ควรที่จะลดการทำให้เกิดแรงกดดัน โดยยุติเดินหน้าแผนบริหารจัดทำพื้นที่พิพาท ซึ่งตนมั่นใจว่าการทำความเข้าใจนั้นจะทำให้ประชาคมโลกได้มองเห็นสถานการณ์ตามความเป็นจริง ซึ่งตนได้คุยกับนายบันคีมุน เลขาธิการสหประชาชาติ และรัฐมนตรีว่าการการต่างประเทศของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประธานอาเซียน ก็ได้เดินทางมาพบทั้ง 2 ประเทศและจะเดินทางไปชี้แจงที่นิวยอร์กด้วย ขณะที่จะมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ในวันที่ 22 ก.พ.นี้

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การเจรจาในกรอบทวิภาคี จะเป็นประโยชน์ต่อไทย ในการแก้ไขปัญหาให้เกิดความสงบสุขอย่างแท้จริง ซึ่งก็มีแต่ทางกัมพูชาที่ปฏิเสธกลไกเจบีซี และเอ็มโอยู เพื่อต้องการให้ประชาคมโลกเข้ามาแทรกแซง ขณะที่ประชาชนส่วนหนึ่งมาชุมนุมเพื่อให้ยกเลิก หรือถอนตัวมรดกโลกนั้น ตนปฏิเสธ เพราะต้องยึดในประโยชน์ส่วนรวมและการแก้ไขปัญหา ถ้าไปยกเลิกก็จะไปสนองตอบต่อกัมพูชา เช่นเดียวกับการถอนตัวมรดกโลก ก็จะทำให้กัมพูชาเป็นฝ่ายเดียวที่จะเดินหน้าโน้มน้าวกรรมการมรดกโลก ตนยืนยันว่าการปฏิเสธข้อเสนอเป็นไปตามการประเมินสถานการณ์ของรัฐบาล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนสมาชิกในสภาจำนวนมาก และประชาชน ที่ต้องการในแนวทางการเจรจา 2 ฝ่าย และยืนยันว่าทำด้วยความสุจริต เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศและอธิปไตย ขณะที่การดำเนินการตามเอ็มโอยู 43 และเจบีซี ทางฝ่ายไทยก็ต้องผ่านรัฐสภาก่อน โดยทางประธานพิจารณาก็บอกว่า ใกล้ที่จะนำข้อเสนอดังกล่าวกลับมาสู่สภา ในแง่ของการเห็นชอบเพื่อนำไปสู่การเจรจาในรอบต่อไปที่จะทำให้กัมพูชามองเห็นว่ากลไกนี้ยังทำงานอยู่ ขณะที่ที่ปรึกษาการพิจารณา ก็ได้นำข้อเสนอของประชาชนที่มีการชุมนุม ซึ่งรัฐบาลก็พร้อมที่จะนำข้อสังเกตุไปใช้ในการเจรจาต่อไป

นายกรัฐมนตรีกล่าวอีกด้วยว่า ทั้งนี้รัฐบาลยังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และไม่ได้ตั้งอยู่บนความประมาท ขณะที่ในเรื่องของกำลังทหาร ทางกองทัพก็จะเป็นผู้ชี้แจงโดยผ่านทางสถานีโทรทัศน์กองทับกช่อง 5 ส่วนเรื่องอื่นก็จะเป็นหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ สำนักนายกรัฐมนตรี และสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในการชี้แจงต่อประชาชนเป็นระยะต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น