xs
xsm
sm
md
lg

ไทยแพ้เกมแขมร์ มติ UNSC ไม่ใช่ชัยชนะ”มาร์ค” เขมรเย้ยถล่ม!ภูมะเขือเดือดอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "มาร์ค" ระริกระรี้ ประกาศชัยชนะกลางครม.หลัง UNSC มีมติให้ไทย-กัมพูชา เจรจาทวิภาคี หยุดยิงแก้ปัญหาข้อพิพาทชายแดน โดยมีอาเซียนเป็นคนกลาง ด้านอดีตเอกอัครราชทูต และผู้แทนถาวรไทยประจำ UN เตือนไทยอย่าลำพอง เพราะการเจรจาทวิภาคีโดยมีอาเซียนเป็นพี่เลี้ยง ไม่ใช่ชัยชนะของไทย แต่ไปเข้าแผนสองของเขมร ขณะที่ทหารเขมรเปิดฉากปะทะไทย อีกรอบเย้ยมติหยุดยิง ทหารไทยสาหัส 1 "ฮอ นัมฮง" ให้สัมภาษณ์สื่อเขมร อ้างไทยล้ำแดน เจรจาไปก็ไร้ประโยชน์

เช้าวานนี้ (15 ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสถึงกรณีนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ได้รายงานผลการหารือปัญหาความขัดแย้งบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ว่า หลังจากที่ยูเอ็นเอสซี มีการประชุม และฟังทุกฝ่ายแล้วได้ออกแถลงข่าว โดยต้องการให้ทั้งสองฝ่ายใช้ความอดทน อดกลั้น ไม่ให้มีการสู้รบ หรือมีการปะทะใช้กำลังอีก และต้องการเห็นการหยุดยิงถาวร และให้ไปพูดคุยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเองสามารถที่จะมาช่วยสนับสนุนให้มีการพูดคุยกันได้

"เป็นไปอย่างที่เราต้องการให้เกิดขึ้น คือเห็นได้ชัดว่า ประชาคมโลกต้องการให้การแก้ปัญหานี้ด้วยการเจรจา และกัมพูชาคงไม่มีเหตุผลที่จะปฏิเสธตรงนี้ ก็คงต้องกลับมาพูดคุยกัน" นายกฯกล่าว

เมื่อถามว่ามีปฏิกิริยามาจากกัมพูชาหรือยัง นายกฯ กล่าวว่ายังไม่มี ยังไม่ได้รับทราบอะไร แต่คิดว่าในขณะนี้ อาเซียนต้องทำหน้าที่ในการประชุมในวันที่ 22 ก.พ. เพื่อให้ 2 ฝ่ายกลับมาพูดคุยกัน ซึ่งท่าทีของยูเอ็นเอสซีน่าจะช่วยลดความตึงเครียดบริเวณแนวชายแดนลงได้

เมื่อถามว่ามีแนวทางอย่างไร หากวันที่ 22 ก.พ. ทางฝ่ายกัมพูชาไม่ไปร่วมประชุมด้วย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กัมพูชาคงจะต้องฟังเสียงยูเอ็น เพราะเป็นผู้ร้องเอง เมื่อยูเอ็นให้มาพูดคุย ก็ต้องมาพูดคุย มิฉะนั้นคงไม่มีเวทีไหนที่จะไปได้ เพราะเมื่อไปแล้ว ก็ต้องเคารพแนวทางกระบวนการตรงนี้ และหวังว่าในวันนั้น กัมพูชาจะตัดสินใจเข้ามาพูดคุยกับเราอย่างชัดเจน ในการที่จะให้ทุกอย่างกลับเข้ามาสู่กระบวนการพูดคุยในระดับทวิภาคี แล้วก็เดินหน้าในการแก้ปัญหาต่อไป รวมทั้งการปลดชนวนเรื่องมรดกโลกด้วย

เมื่อถามว่าข้อตกลงหยุดยิงถาวร ใครจะเป็นฝ่ายเริ่มก่อน นายกฯกล่าวว่า จริงๆแล้วอยู่ในระดับที่พูดคุยกันได้อยู่แล้ว เพราะเราไมได้เป็นฝ่ายยิ่งก่อน เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีปัญหาอะไร แล้วถ้าไม่มีประเด็นที่จะไปพยายามยกระดับอะไรกันอีก ก็น่าจะจบ

** หวังให้เขมรยอมเจรจาทวิภาคี

ต่อมาเมื่อเวลา 12.30 น. หลังการประชุมครม. นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึง ท่าทีของฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กับปัญหาการปะทะว่าอยากให้จำกัดพื้นที่ ไม่ให้ขยายวงกว้างไปกว่านี้ ว่าเป็นเรื่องที่เราพยายามพูดกันมาโดยตลอดอยู่แล้วว่าปัญหาเกิดขึ้นที่จุดใด ก็อย่าให้ขยายวง แต่ก็ถือว่าเป็นท่าที่ดีขึ้นกว่าสัปดาห์ที่แล้ว ที่ฮุนเซน ไม่ได้พูดถึงพื้นที่เลย แต่พูดในลักษณะของการเป็นสงครามด้วยซ้ำ ซึ่งคิดว่าต้องโน้มน้าวให้กลับเข้ามาสู่กระบวนการของการเจรจาตามแนวทางของยูเอ็นเอสซี ในการประชุมในวันที่ 22 ก.พ.นี้

ส่วนการชุมนุมของพันธมิตรฯ จะทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเจรจาไทย-กัมพูชา หรือไม่นั้น นายกฯ กล่าวว่า คงต้องแยกแยะ เพราะรัฐบาลก็ส่วนของรัฐบาล ภาคประชาชน ที่แต่ละคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น และเคลื่อนไหว ก็ทำไปไม่ได้ผูกพันกัน คิดว่าตรงนี้ต้องให้มีความชัดเจนด้วย

" อยากให้พันธมิตรฯ นำเอาความห่วงใย เช่น การเจรจาในกรอบของ เอ็มโอยู เจบีซี นั้น ห่วงอะไร สมมุติห่วงว่าประเทศไทยจะไปยอมรับแผนที่ ระวางดงรัก 1 ต่อ 2 แสน ก็บอกมา เป็นห่วงอะไรในเรื่องของมรดกโลก ก็บอกมา เพราะผมดูแล้ว ข้อห่วงใยต่างๆ ที่มีการพูดกันนั้น ยังไม่เห็นว่ารัฐบาลมีข้อขัดข้องตรงไหน" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

** อ้อมแอ้มเรื่องสัมปทานก๊าซ-น้ำมัน

ส่วนกรณีที่พันธมิตรฯ ระบุว่า มีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน ในพื้นที่ทางทะเล โดยเฉพาะเรื่องของน้ำมัน พร้อมระบุว่า สองรัฐบาลได้มีการตกลงให้สัมปทานไปแล้วกับนักธุรกิจชาวอียิปต์นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงคือรัฐบาลนี้คณะรัฐมนตรี ได้มีมติ พูดง่าย ๆคือ แขวนเอ็มโอยู ปี 2544 ไว้แล้ว ดังนั้นไม่ทราบว่าทำไมถึงหยิบยกสิ่งเหล่านี้เข้ามา

" ผมอยากจะแสดงความแปลกใจอีกครั้งหนึ่ง ตัวอย่างแรก พันธมิตรฯบอกเป็นห่วงเอ็มโอยู ปี 43 ว่าจะไปยอมรับแผนที่ระวางดงรัก รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่มีการแจ้งไปยังกัมพูชาว่า ข้อความที่ปรากฏอยู่ในเอ็มโอยู ปี 43 ไม่ได้หมายถึงแผนที่ระวางดงรัก ฉะนั้นแปลกใจว่า มาประณามต่อว่า ต่อขานรัฐบาลนี้ทำไม ในเมื่อนั่นคือความห่วงใย และรัฐบาลก็มีจุดยืนที่ชัดเจนแล้ว ข้อสองเรื่องปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนกัน และมีการคำนึงถึงผลประโยชน์ทางทะเล รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่เป็นคนแขวนเอ็มโอยูฉบับนี้อยู่ ทำไมถึงมากล่าวหา มาประณามรัฐบาลชุดนี้ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมยังแปลกใจอยู่" นายอภิสิทธิ์กล่าว
เมื่อถามว่าตกลงสัมปทานที่ให้ไปแล้วในเรื่องขุดเจาะน้ำมัน เป็นเรื่องจริงหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สัมปทานในส่วนของเราไม่มีอยู่แล้ว เมื่อย้ำถามว่า หมายถึงได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือไม่ ไม่ได้หมายความรัฐบาลชุดนี้อนุมัติ แต่หมายถึงรัฐบาลในอดีตด้วย นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่ารัฐบาลในอดีต ถ้าเป็นรัฐบาลไทยไปทำอะไร ไปมีมติ ทำสัญญา ถ้าชอบด้วยกระบวนการกฎหมาย ก็เป็นเรื่องซึ่งมีผลผูกพันมา แต่ในขณะนี้ประเด็นในเรื่องของพื้นที่ ซึ่งยังไม่ได้ข้อยุติกันทางทะเล มันไม่มีการเดินหน้าอยู่แล้ว แม้แต่กรณีที่กัมพูชาไปให้สัมปทานก็เหมือนกัน ส่วนใหญ่จะไปเขียนไว้ในสัญญาว่าจะไปดำเนินการอะไรได้ ต้องได้ข้อยุติก่อน

**รับให้"เทือก"ไปคุยเรื่องสัมปทาน

เมื่อถามว่า มีการอ้างว่าตอนนี้แม้จะมีการแขวนแต่รัฐบาลไทย ไม่ได้มีการแจ้งอย่างเป็นทางการไปยังรัฐบาลกัมพูชา และกรณีการตั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานดูแลปัญหานี้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวยืนยันว่า ยังไม่มีการเดินในเรื่องนี้ เพราะตนเป็นคน
ดูแลนโยบาย และยุทธศาสตร์ในภาพรวมเรื่องนี้ เช่นเดียวกันที่เคยยกตัวอย่าง บางครั้งกัมพูชาอาจจะมีความพยายาม อยากจะขอเจรจาเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นการ เฉพาะแนวทางการปฏิบัติของรัฐบาลปัจจุบัน ตนได้แจ้งกับรองนายกฯ และรัฐมนตรีทุกท่านที่เกี่ยวข้องอยู่แล้วว่า ต้องนำมาเสนอให้เป็นที่รับรู้ รับทราบ เพราะอาจจะกระทบกับยุทธศาสตร์ภาพรวมของปัญหาความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ในเรื่องต่างๆ เช่นที่ ฮุนเซนบอกว่า ให้ทหารคุยกันในเรื่องถอนทหารจากตรงนั้นตรงนี้

**เตรียมสั่งสอบแม่ทัพภาค 2

เมื่อถามว่านายกฯ พูดอยู่บ่อยๆว่า บนเวทีพันธมิตรฯ มีการกล่าวหากัน จะมีการฟ้องร้องหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวขณะนี้ยังไม่ได้ฟ้อง เมื่อถามว่าคิดว่าจะฟ้องหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ก็ยังดูสถานการณ์อยู่ เพราะคดีของตนที่ฟ้องอยู่ มีเยอะแล้ว คือถ้าไม่จำเป็นก็ไม่อยากขึ้นศาล

เมื่อถามว่าตอนนี้มีการเปิดข้อมูลของแม่ทัพภาค 2 อาจเกี่ยวข้องผลประโยชน์หลายอย่าง จะมีการตรวจสอบหรือไม่นายกฯ กล่าวว่า ข้อมูลทุกอย่างที่เวลามีการนำเสนอ ตนต้องตรวจสอบอยู่แล้ว ตรงนี้คือหลักในการทำงานที่ใช้อยู่ เมื่อถามว่าจะให้กองทัพตรวจสอบหรือไม่ โดยเฉพาะการเปิดเผยนายทหารรับเงินเดือนๆละ 3 แสน จากทางกัมพูชา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เดี๋ยวขอดูก่อน ยังไม่เห็นรายละเอียด

ผู้สื่อข่าวถามว่า การดำเนินการตามทวิภาคี เรื่องชายแดน ในขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างนายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ กับกัมพูชา ดีพอหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไร อย่างที่ได้ชี้แจงในสภาฯ ถ้าปัญหาที่ผ่านมาอยู่ที่ตัวบุคคลในรัฐบาล ตนไม่เชื่อว่าการค้าระหว่าง 2 ประเทศ จะขยายตัวได้มากถึง 40 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เมื่อปีที่แล้ว และในวันพฤหัสนี้ เขายังยืนยันในเรื่องการประชุมทางธุรกิจ ที่นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี และนายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ จะเดินทาไงปกรุงพนมเปญ และในกำหนดการดังกล่าวจะได้เข้าพบกับนายกฯ กัมพูชาด้วย
เมื่อถามว่า ปีนี้จะมีการเลือกตั้งหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มีครับ

** "มาร์ค"ประกาศชัยกลางครม.

รายงานข่าวจากที่ประชุมครม.เปิดเผยว่า ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายอภิสิทธิ์ ได้แจ้งผลการประชุม UNSC หลังได้รับรายงานจากนายกษิต ว่า UNSC อยากให้ปัญหาที่เกิดขึ้นจบเร็วที่สุด ขอให้ทั้งสองฝ่ายใช้กลไกการแก้ปัญหาในระดับทวิภาคี โดยมีอาเซียนเป็นกลไกในการประสาน

โดยนายกรัฐมนตรีระบุว่า ในมุมของเราถือว่า กัมพูชาไม่ประสบสำเร็จในการพยายามที่จะยกระดับปัญหาให้เป็นเรื่องนานาชาติ โดยในวันที่ 17 ก.พ.นี้ จะมีงานแสดงสินค้า ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างนักธุรกิจไทยและกัมพูชา ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ฝ่ายไทยมีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ และ นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ เดินทางไปร่วมด้วยซึ่งรัฐมนตรีทั้งสอง มีกำหนดการที่จะเข้าพบคารวะ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรี กัมพูชา ซึ่งจะนำไปสู่การเจรจาอีกครั้ง
จากนั้น นายอลงกรณ์ ได้กล่าวเสริมว่า การจัดงานครั้งนี้จะมีผู้ประกอบการนักธุรกิจของไทยไปเปิดบูท แสดงสินค้า 175 บูท ส่วนกำหนดการที่จะพบกับ ฮุนเซน ในวันที่ 17 ก.พ.เวลา 10.00 น.

รายงานข่าวแจ้งว่า นายกฯได้แจ้งต่อครม.ว่าในวันที่ 22 ก.พ. จะมีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ซึ่งจะมีการหารือกันในเรื่องความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาด้วย ขณะเดียวกัน นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และนายอัษฎา ชัยนาม หัวหน้าคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ฝ่ายไทย ที่อยู่ระหว่างการเดินทางไปนิวยอร์ค กำลังทำความเข้าใจกับองค์การยูเนสโก ถึงปัญหาของการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้ง มีแนวโน้มว่ายูเนสโก เข้าใจปัญหามากขึ้น

นอกจากนี้รายงานข่าวแจ้งอีกว่า การส่งตัวแทนยูเนสโก ชาวญี่ปุ่น มาสำรวจความเสียหายที่ปราสาทพระวิหารนั้น เราไม่ขัดข้อง แต่ไม่เห็นด้วยที่มาในช่วงนี้ เพราะพื้นที่บริเวณดังกล่าวไม่มีความปลอดภัย เป้าหมายของเรายังชัดเจนในการเดินหน้ายับยั้งไม่ให้ยูเนสโก รับแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ในการประชุมยูเนสโก ที่จะมีขึ้นในเดือนมิ.ย. ที่ประเทศบาเรนห์

**ชี้ จีน-เวียดนามมีท่าทีไม่ดีกับไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างรับประทานอาหาร ภายหลังการประชุมครม. บรรดารัฐมนตรี ได้วิเคราะห์ถึงชาติมหาอำนาจ ที่สนับสนุนประเทศกัมพูชา โดยมีการพูดกันว่าขณะนี้ชาติมหาอำนาจอย่าง จีน และเวียดนาม มีท่าทีไม่ค่อยดี หลังจากที่ประเทศไทยมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายดาวเทียม ที่มีการระบุชัดเจนว่า กัมพูชา มีฐานปฏิบัติทางทหาร อยู่ที่บริเวณปราสาทพระวิหาร และเห็นชัดเจนว่า ทหารกัมพูชาเหล่านี้ยิงปืนเข้าใส่ทหารไทยก่อน ส่วนประเทศรัสเซียที่เป็นประเทศมหาอำนาจอีกประเทศหนึ่ง ก็มีท่าทีกลางๆ และยังไม่ชัดเจน เพราะกรณีนายวิก เตอร์ บูท ผู้ต้องหาคดีค้าอาวุธสงครามชาวรัสเซีย ที่ไทยส่งตัวให้สหรัฐฯ ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกานั้น เลือกที่จะสนับสนุนประเทศไทย

**"กษิต" อ้างกัมพูชาไม่บรรลุผล

เวลา 10.00น.วานนี้ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ผ่านทางโทรศัพท์จากนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงการชี้แจง ยูเอ็นเอสซี กรณีข้อพิพาทไทย - กัมพูชาว่า ทาง ยูเอ็นได้ทบทวนความเป็นมา และขอให้ นายฮอร์ นัม ฮง รมว.ต่างประเทศกัมพูชาได้ให้ข้อมูล ต่อด้วยฝ่ายไทย และตามด้วย นายมาร์ตี้ นาตาเลกาวา รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน จากนั้นก็เปิดให้ประเทศคณะมนตรีความมั่นคง ทั้งที่เป็นสมาชิกถาวรและไม่ถาวร ร่วมแสดงความเห็น จนได้ข้อสรุปว่า กลไกทวิภาคีเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งกลไกการเจรจาสำรวจ และการปักปันเขตแดน และการที่ทั้ง 2 ฝ่าย ยุติการสู้รบอย่างถาวร ทั้งนี้การเจรจายุติการสู้รบ ต้องได้รับการสนับสนุนจากอาเซียน

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวโน้มที่รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา จะตอบรับการหารือนอกรอบที่นิวยอร์ก หรือไม่ นายกษิต ตอบว่า ขณะนี้ยังรอคำตอบอยู่ ถ้าไม่ยอมพบ ก็เหมือนกับไม่ตอบสนองมติของยูเอ็นเอสซี และคงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะปฏิเสธการพบปะดังกล่าว ผู้นำกัมพูชาต้องตัดสินใจว่าจะทำตามมติของประชาคมโลกหรือไม่ โดยฝ่ายไทยได้เสนอให้มีการจัดประชุมเจบีซีในวันที่ 27 ก.พ.นี้

เมื่อถามว่าโอกาสที่ฝ่ายกัมพูชาจะปฏิเสธการเจรจาในประเด็นปัญหาขัดแย้งนี้ ในกรอบประชุมอาเซียน ในวันที่ 22 ก.พ. หรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า ทั้งไทยและกัมพูชา ต่างตอบรับการประชุมไปแล้ว และโลกรออยู่ว่าผลจะออกมาอย่างไร โดยกฎบัตรอาเซียนจะได้มีส่วนร่วมเสริมให้การเจรจาดังกล่าวอีกด้วย

เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่การประชุมเจบีซี จะล้มเลิก นายกษิต กล่าวว่า ไม่มีล้ม ผู้นำกัมพูชาจะดื้อรั้นต่อข้อเสนอของยูเอ็นต่อไปไม่ได้อีกแล้ว สิ่งที่กัมพูชาเรียกร้องให้เราไปชี้แจงต่อยูเอ็น ฝ่ายไทยก็ไปแล้ว ดังนั้นกัมพูชาต้องตัดสินใจแล้ว

ด้านนางมาเรีย ลุยซา ริเบโร วิออตติ ประธาน ยูเอ็นเอสซี จากบราซิล กล่าวด้วยว่า สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รู้สึกกังวลอย่างยิ่งต่อเหตุปะทะทางทหาร เมื่อเร็วๆนี้ พร้อมทั้งแสดงความยินดี และชื่นชมอาเซียนที่มีแผนจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยในขั้นนี้ สหประชาชาติสนับสนุนการเจรจาแบบสองฝ่าย โดยมีอาเซียนเป็นผู้สนับสนุน และจะไม่มีการส่งตัวแทนของสหประชาชาติไปร่วมประชุมอาเซียนด้วย

ทั้งนี้ กัมพูชาได้หยิบยกเรื่องกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในพื้นที่พิพาทขึ้นหารือด้วย แต่สหประชาชาติไม่ได้แสดงปฏิกริยาใดๆ

ขณะที่ นายมาร์ตี นาตาเลกาวา รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซีย ย้ำท่าทีเดิมของอาเซียนว่า สนับสนุนให้ทั้ง 2 ประเทศ หาข้อตกลงร่วมกันผ่านการเจรจาระดับทวิภาคี โดยมีอาเซียนเป็นผู้ประสาน และให้ความช่วยเหลือ

ส่วนประเด็นสำคัญของการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในวันที่ 22 ก.พ.นี้ ก็คือ การหากลไกที่จะนำไปสู่การหยุดยิงอย่างถาวร

**ชี้มติ UNSC ไม่ใช่ชัยชนะของไทย

นายดอน ปรมัตถ์วินัย อดีตเอกอัครราชทูต และผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก กล่าวถึงถึงมติของUNSC เกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา ว่า เป็นเรื่องน่ายินดีที่ยุติการใช้กำลังหยุดยิงกัน แต่การให้ 2 ประเทศไปหารือแบบทวิภาคีโดยให้อาเซียนเป็นพี่เลี้ยงนั้น ไม่ได้เป็นชัยชนะของประเทศไทยตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ เพราะไม่ได้เป็นการหารือแบบทวิภาคีตามที่ฝ่ายไทยต้องการ แต่การหารือทวิภาคีในวงอาเซียน เป็นข้อเรียกร้องของกัมพูชา ตั้งแต่ปี 2551 ถือเป็นแผน 2 ของกัมพูชาที่เคยเสนอไว้แล้ว

นายดอน กล่าวด้วยว่า การประชุมในวันที่ 22 ก.พ. น่าจะเป็นในลักษณะมีสมาชิกอาเซียน เข้ามาเป็นผู้คอยกำกับอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากการดำเนินการในปี 2551 ที่ไทยยืนยันว่าจะต้องเป็นการหารือในระดับทวิภาคีเท่านั้น ซึ่งตนมองว่าประชุมอาเซียนในวันที่ 22 ก.พ.ที่จะรับลูกต่อจากมติของ UNSC ในครั้งนี้ บทบาทของอาเซียนที่จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้ ส่วนตัวมองว่าน่าจะอยู่ใน 3 แนวทาง คือ
1.ให้กลุ่มตัวแทน 3-4 ประเทศอาเซียนเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง

2.ให้เฉพาะประธานอาเซียนเพียงคนเดียว เข้ามากำกับดูแลในนามของอาเซียน

3. จัดตั้งสภาสูงของอาเซียนตามแนวทางการแก้ข้อพิพาทอย่างเป็นทางการที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาไมตรีฯของอาเซียนเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย

อย่างไรก็ตาม มองว่าแนวทางที่ดีสุดสำหรับไทยคือ การให้เฉพาะรมว.ต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน เข้ามาดูแลเพียงคนเดียว

ทั้งนี้ นายดอนได้แสดงความเป็นห่วงว่า ขณะนี้อาจมีการประเมินสถานการณ์ผิด คิดว่ามติของ UNSC ที่ออกมาเป็นชัยชนะของฝ่ายไทย ซึ่งอาจจะทำให้การเดินเกมในการประชุมอาเซียน ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ ผิดพลาดได้ ดังนั้นจำเป็นต้องก้าวเดินด้วยความระมัดระวัง ด้วยการอ่านสถานการณ์ให้ออก อย่าคิดว่าครั้งนี้เป็นชัยชนะของไทย และหากยืนกรานว่าเป็นการหารือ 2 ฝ่ายแบบเดิมๆ ที่จะใช้กลไกเดิมๆ เหมือนอย่างเคย ไทยก็อาจจะถูกโดดเดี่ยวจากสมาชิกอาเซียนได้

นายพีระพันธ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าว ในลักษณะว่าเป็นชัยชนะของประเทศไทยซึ่ง ตนเห็นว่า รัฐบาลควรพูดความจริงกับประชาชนว่า กรณีดังกล่าวไม่ใช่ชัยชนะของไทย เพราะมติของ UNSC ระบุชัดเจนว่า ให้อาเซียนมาเป็นคนกลางในการดำเนินการแก้ปัญหา ซึ่งก็นับว่าไม่ได้เป็นการเจรจา และพูดคุยแบบทวิภาคีอย่างเช่นที่รัฐบาลต้องการ และกล่าวอ้าง และเป็นครั้งแรกที่มีองค์กรต่างประเทศเข้ามาแก้ไขในปัญหาดังกล่าว และตนก็ไม่ทราบด้วยว่า อาเซียนจะดำเนินการช่วยแก้วิกฤติอย่างไรบ้าง

ทั้งนี้ตนก็ได้เตือนไปยังรัฐบาลตั้งแต่ต้น ว่าไม่ควรให้นายกษิต ภิรมย์ เป็นผู้เดินทางไปชี้แจงต่อ UNSC เพราะจะไม่ทำให้การเจรจาประสบผลสำเร็จได้

** ปะทะเดือดเย้ยมติ UNSC

นายโชคชัย สายแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า เมื่อช่วงกลางดึก เวลาประมาณ 23.00 น. คืนวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมาได้มีการปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชา ด้วยอาวุธปืนอาก้า และเอ็ม 16 รวมทั้งเครื่องยิงระเบิดอาร์พีจี ที่บริเวณช่องตาเฒ่า และที่บริเวณภูมะเขือ ด้านทิศตะวันตกของเขาพระวิหาร โดยได้ปะทะกันนานประมาณ 2 ชั่วโมง (ชม.)

ต่อมาเวลา 05.00 น. เช้าตรู่วันที่ 15 ก.พ. ได้มีการปะทะกันอีกครั้ง ที่บริเวณภูมะเขือ ซึ่งผลการปะทะกัน ปรากฏว่า มีทหารไทยได้รับบาดเจ็บ จำนวน 5 นาย โดยทหารไทย 4 นาย ที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ถูกส่งเข้ารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกันทรลักษ์ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ส่วนอีก 1 คน อาการสาหัส แพทย์ได้ส่งตัวไปรักษาต่อไป ที่โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี และเสียงปืนของทหารทั้ง 2 ฝ่ายได้สงบลง เมื่อช่วงเวลาประมาณ 07.30 น.ของวันเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทหารไทยที่ได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกันครั้งนี้ ทราบชื่อเบื้องต้นเพียง 1 ราย คือ ส.อ.รัชพล ยศปัญญา ได้รับบาดเจ็บสาหัส ถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

** อนาถศูนย์อพยพไม่รับผู้หนีภัย

จากการปะทะกันในครั้งนี้ ได้มีชาวบ้านจากหมู่บ้านชำเม็ง บ้านโดนอาว บ้านรุง ต.รุง และ บ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ พากันอพยพเข้ามาที่บริเวณหอประชุมที่ว่าการ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเคยใช้เป็นศูนย์อพยพชั่วคราวมาก่อนหน้านี้ แต่ปรากฏว่า ทางอำเภอกันทรลักษ์ ไม่อนุญาตให้ชาวบ้านเข้าไปพักอาศัย โดยเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมดูแล อ้างว่าต้องใช้สถานที่บริเวณนี้ เป็นสถานที่ในการจัดงานโรตารี่เกษตรแฟร์ และขณะนี้กำลังจัดเตรียมสถานที่จัดงานอยู่ ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนซ้ำเติม และได้พากันไปอาศัยบ้านญาติพี่น้องในเขต อ.กันทรลักษ์แทน
ขณะเดียวกัน ประชาชนบางส่วนได้พากันไปหาเช่าบ้าน ภายในเขตเมือง อ.กันทรลักษ์ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยชั่วคราว ทำให้ให้ความเดือดร้อน ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งต่อมา นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ ทราบเรื่อง จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เปิดหอประชุมที่ว่าการ อ.กันทรลักษ์ ให้ชาวบ้านเข้าพักอาศัยได้ ส่วนการจัดงานอื่นขอให้ชะลอไว้ก่อน

**เผยเขมรยั่วยุขว้างบึ้มใส่ทหารไทย

พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 ยอมรับว่า เมื่อคืนวันที่ 14 ก.พ.ต่อเนื่องมาถึงเช้าวันที่ 15 ก.พ. เกิดเหตุปะทะกัน บริเวณภูมะเขือจริง และมีทหารบาดเจ็บ 4 ราย นำส่งโรงพยาบาลกันทรลักษ์ และอีก 1 รายบาดเจ็บสาหัสถูกนำส่งโรงพยาบาล ค่ายสรรพสิทธ์ประสงค์ จ.อุบลราชธานี ชื่อ ส.ท.รัชพล ยศปัญญา ประจำอยู่ที่ฐานทหารพราน เนื่องจากถูกสะเก็ดระเบิดชนิดขว้าง

ขณะที่ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า เมื่อเวลาประมาณ 05.00 น.ที่บริเวณภูมะเขือ อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ทางกัมพูชาได้ส่งชุดลาดตระเวนเข้ามาใกล้กับแนวกำลังของทหารไทยที่วางไว้ และทางกัมพูชาได้มีการขว้างระเบิดมือ และยิงปืนเล็กเข้ามาทางฝั่งไทย เราจึงใช้ปืนเล็กยาวเอ็ม 16 ตอบโต้กลับไปตามความเหมาะสม ทำให้ทางกัมพูชาล่าถอยกลับไป โดยการตอบโต้ใช้ระยะเวลาไม่นาน จากเหตุดังกล่าวส่งผลให้ทหารไทยได้รับบาดเจ็บ 1 นาย คือ ส.ท.รัชพล ยศปัญญา จึงถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี โดย เท่าที่ทราบขณะนี้ อาการของส.ท.รัชพล ค่อนข้างสาหัส ทั้งนี้เหตุที่เกิดขึ้นเป็นการปะทะจุดเล็กๆ ที่แนวหน้าเท่านั้น ซึ่งห่างจากพื้นที่ที่ประชาชนอาศัยอยู่ จึงไม่มีผลกระทบแต่อย่างใดต่อประชาชน ตามแนวชายแดน

**เขมรอ้างไทยล้ำแดน-เจรจาไร้ประโยชน์

หนังสือพิมพ์เกาะสันติภาพ ของกัมพูชา รายงานว่า นายฮอร์ นัมฮง รมว.ต่างประเทศกัมพูชา ยังยืนยันว่าไทยเป็นฝ่ายล้ำแดน ดังนั้นการเจรจาทวิภาคี ก็ไร้ประโยชน์ ถ้าไทยยังไม่ยอมรับผิด พร้อมระบุว่า นายฮอร์ นัมฮง ได้กล่าวโจมตีไทย ระหว่างให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ CTN ว่า สิ่งที่เขาชี้แจงต่อ UNSC ก็คือ ความต้องการที่จะให้สหประชาติ ส่งผู้สังเกตการณ์เข้าไปหาข้อเท็จจริง กรณีไทยบุกรุกดินแดนของกัมพูชา ส่วนการปะทะกันด้วยอาวุธนั้น ไม่ได้เกิดจากความเข้าใจผิด แต่เป็นสงครามจากการรุกล้ำดินแดนของไทย เข้าไปในพื้นที่ของกัมพูชา เช่น การเรียกร้องเอาปราสาทพระวิหารของกัมพูชา การผลักดันประชาชนของกัมพูชาให้ออกจากพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร การเรียกร้องให้กัมพูชารื้อธงชาติที่ซุ้มประตูของวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ หรือ ในเขตพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตาราง กม.
 
นายฮอร์ นัมฮง ยังได้ตั้งคำถามว่า ถ้าเป็นความเข้าใจผิดในสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งของไทยที่มีต่อกัมพูชา เหตุใดจึงไม่เลือกใช้แนวทางแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นแบบทวิภาคีหรือไตรภาคีเหตุใดจึงใช้เล่ห์เหลี่ยม ไม่ยอมรับคำตัดสินที่ไทย และกัมพูชา ได้ลงนามยอมรับไปแล้ว และหลายครั้งที่ไทยเหยียบย่ำการเจรจาแบบทวิภาคีต่อกัมพูชา ทำให้เห็นว่าไม่มีคุณค่าต่อการเจรจาแบบทวิภาคีอีกต่อไป การที่ไทยอยากจะขอแก้ตัวในการเจรจาแบบทวิภาคีกับกัมพูชา หลังจากนี้ จะมีประโยชน์อันใด ถ้าไทยไม่ยอมรับความผิดเหล่านี้

** สื่อนอกเผยทั้งไทย-กัมพูชาอ้างชัยชนะ

สำนักข่าว ดีพีเอ รายงานว่า ทั้งไทยและกัมพูชา ต่างอ้างชัยชนะในการชี้แจงต่อ UNSC ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับเหตุปะทะชายแดนไทย-กัมพูชาเมื่อต้นเดือนนี้ โดยระบุว่า นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศไทย ได้ให้สัมภาษณ์ว่าประสบความสำเร็จในการชี้แจงต่อ UNSC

แต่นายกอย เกือง โฆษกกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา แถลงว่า การชี้แจงครั้งนี้ เป็นความสำเร็จของฝ่ายกัมพูชา เพราะคณะมนตรีความมั่นคง จัดการประชุมตามคำเรียกร้องของนายกรัฐมนตรีฮุนเซน และจากเนื้อหาในแถลงการณ์ของ UNSC ก็ไม่เห็นมีจุดไหน ที่เรียกร้องให้สองฝ่ายใช้กลไกการแก้ไขปัญหาในระดับทวิภาคี จึงไม่เข้าใจว่าคำแถลงของนายกษิต หมายความว่าอย่างไร ที่บอกว่าประสบความสำเร็จในการชี้แจงต่อ UNSC

นายกอย เกือง ยังบอกด้วยว่า คำแถลงของ UNSC ได้แสดงความกังวลอย่างยิ่ง ต่อเหตุการณ์ปะทะกันบริเวณชายแดนกัมพูชาและไทย และเรียกร้องให้สองฝ่ายแสดงความอดกลั้นอย่างที่สุด

** ห่วง"กษิต"ไม่ทันเกม"ฮุนเซน"

นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงการแก้ไขปัญหากรณีพิพาทไทย-กัมพูชาว่า น่าเป็นห่วงมาก เราต้องเดินเกมให้ดีๆ ต้องให้ทันต่อเหตุการณ์ มิตรประเทศเราก็ต้องหา เพื่อที่จะมาช่วยเหลือเรา เรื่องเขตแดน เป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด และอยากฝากความหวังไว้ที่กระทรวงการต่างประเทศ เพราะเป็นหลักในเรื่องนี้

เมื่อถามว่าหลายคนมองว่าท่าทีของนายกษิต มีท่าที่ค่อนข้างแข็งกร้าวไปหน่อย นายบรรหาร กล่าวว่า เคยเห็นยิ้มบ้างหรือเปล่า ตนดูโทรทัศน์ไม่เห็นยิ้มสักที ต้องไปบอกให้นายกษิตยิ้มบ้าง ถ้าไม่ยิ้มก็ไปตบแต่งใบหน้า ให้มีรอยลักยิ้มที่หน้า

เมื่อถามต่อว่าควรเปลี่ยนผู้เจรจา จากนายกษิต เป็นคนอื่นดีกว่าหรือไม่ นายบรรหารกล่าวว่า มันไม่มี ถ้าจะต้องเปลี่ยนตัวรมว.ต่างประเทศ ก็คงลำบาก แล้วนายกษิต ก็ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว ไม่มีปัญหาหรอก แต่หน้าตาท่านแบบนั้น ท่านบึ้งตึงแบบนั้น บุคลิกคนเราก็ห้ามยาก ตนเป็นห่วงมาก ต้องเดินเกมดีๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น