“เทือก” เรียกร้องเขมรทำตามข้อเสนอ UNSC ให้เจรจาแบบทวิภาคีกับไทย เชื่อไม่มีเหตุปะทะอีก เพราะหากใครเริ่มก่อนจะถูกตำหนิ พร้อมระบุมีความเป็นไปได้ที่จะทำข้อตกลงหยุดยิง เตือนคณะกรรมการมรดกโลกยังดึงดันเดินหน้าให้เขมรขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร จะเป็นชนวนความขัดแย้ง
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง "รวมพลัง ปกป้องแผ่นดิน" ปราศรัย แสดงดนตรีสด โดย " CLASS="innerlink" TARGET="_blank"> คลิกที่นี่ เพื่อฟังนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้สัมภาษณ์
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) มีมติให้ไทยและกัมพูชาแก้ข้อพิพาทระหว่างกันด้วยการเจรจาแบบทวิภาคีโดยให้อาเซียนเป็นตัวกลางว่า ตนรับฟังจากข่าว และเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีอย่างที่เราคาดหวัง ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่ต้องการให้บ้านเมืองสงบ และปัญหาชายแดนหมดไป ไม่ต้องการไปรบกับใคร เมื่อท่าทีขององค์การสหประชาชาติ (UN) ออกมาเป็นแบบนี้ สอดคล้องกับความรู้สึกส่วนใหญ่ของคนไทย และเราพร้อมที่จะนั่งเจรจาพูดคุยกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจว่าจะเจรจาทวิภาคีได้ นายสุเทพกล่าวว่า ถึงอย่างไรต้องเจรจา ในโลกนี้เมื่อมีกรณีความขัดแย้งกัน ไม่ว่าจะมากหรือน้อยในที่สุดต้องเจรจากัน ไม่ใช่เฉพาะแค่ประเทศกัมพูชากับไทย ส่วนการปะทะตามแนวชายแดนจะหยุดลงได้หรือไม่ หลังจากที่ UNSC มีมติ นายสุเทพกล่าวว่า คิดว่าคงไม่มี ควรมองในแงดีไว้ก่อน เพราะหากใครเริ่มต้นขึ้นมาอีกจะถูกตำหนิได้ เมื่อถามว่าไทยสามารถเดาใจสมเด็จฯ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาได้หรือไม่ว่าจะทำตามมติ นายสุเทพกล่าวว่า เมื่อสมเด็จฯ ฮุนเซน เป็นคนนำประเด็นนี้ไปสู่การพิจารณาของ UNSC สมควรจะต้องยอมรับมติที่ออกมา
ผู้สื่อข่าวถามว่า เพื่อเป็นการสร้างบรรยากาศที่ดี ไทยจำเป็นต้องขยับกำลังทหารออกมาก่อนให้เห็นว่าเรายอมรับมติหรือไม่ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่จำเป็น เรื่องนี้ต้องแยก เพราะการหยุดยิงเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ความพร้อมของกำลังตามแนวชายแดนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งกำลังของทหารนั้นเราต้องเตรียมพร้อมดูแลอธิปไตยของเราตลอดเวลา เพียงแต่จะพร้อมในระดับใดเป็นเรื่องของกองทัพ ตนไม่ขอพูดในรายละเอียด แต่สามารถให้ความมั่นใจต่อประชาชนได้ว่าเท่าที่ติดตามการปฏิบัติงานถือว่ากองทัพมีความพร้อมทุกด้าน
ส่วนความเป็นไปได้ที่สองประเทศจะทำสัญญาข้อตกลงหยุดยิงร่วมกัน นายสุเทพกล่าวว่า เป็นไปได้ เมื่อสมเด็จฯ ฮุนเซนเป็นผู้ร้องไปที่ยูเอ็น ดังนั้น ทั้ง 2 ฝ่ายต้องพูดคุยกัน ส่วนที่มีข้อเสนอว่าจะให้นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาในเวทีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 22 ก.พ.นี้ ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย นายสุเทพกล่าวว่า ไม่ได้ดูรายงาน แต่ทราบว่าได้มอบให้อาเซียนเป็นผู้ประสานงานเพื่อให้ 2 ฝ่ายเจรจากัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อ UNSC มีมติเช่นนี้จะทำให้ท่าทีแข็งกร้าวของสองประเทศลดลงและกลับไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริง นายสุเทพกล่าวว่า เราไม่ได้แข็งกร้าว และพยายามเรียกร้องให้พูดคุยประนีประนอมกัน และเมื่อมติ UN ออกมาเช่นนี้ก็น่าจะปฏิบัติได้โดยไม่มีปัญหาอะไร ต่อข้อถามว่าไทยจะนำมติยู UNSC ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการประชุมมรดกโลกในเดือน มิ.ย.นี้ เช่น ระงับการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นต้น รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ต้องแยกกันเป็นเรื่องๆ มติ UNSC เป็นเรื่องที่ทำให้ 2 ประเทศยุติความขัดแย้งกันและหาวิธีการสันติมาคุยกัน ส่วนมรดกโลกเรายังยืนยันต่อคณะกรรมการมรดกโลกต่อไปว่า ความพยามที่จะให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเพียงฝ่ายเดียวจะเป็นชนวนความขัดแย้ง
สำหรับความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศจะเป็นอย่างไรนั้น นายสุเทพกล่าวว่า ต้องหาทางทำให้ดีขึ้น เมื่อถามว่า หลังมีมติออกมาแล้วทางกัมพูชาสามารถนำปัญหาไปร้องต่อนานาชาติเวทีอื่นได้อีกหรือไม่ นายสุเทพกล่าวว่า ตอบแทนผู้นำของกัมพูชาไม่ได้ หากมองถึงความเหมาะสมคิดว่าทั้งสองฝ่ายควรปฏิบัติตามแนวทางที่ UNSC มีความเห็น เมื่อถามว่าสมเด็จฯ ฮุนเซนไม่ยอมรับมติจะดำเนินการอย่างไร นายสุเทพกล่าวว่า อย่ามองอะไรในแง่ร้าย ให้มองในแง่ดีไว้ก่อน