xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเรียกร้องหยุดยิงถาวร แต่กัมพูชากำลังยึดดินแดนไทยถาวร

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ได้อ่านถ้อยแถลงและชั้นเชิงทางการทูตอย่างละเอียดของนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย และนายฮอร์ นัม ฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ก็ทำให้เห็นถึงวิธีคิดระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาว่าต่อสู้กันอย่างไรในเรื่องการอ้างมูลเหตุการปะทะกันในวันที่ 4 - 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 จนเข้าสู่การพิจารณาในเวทีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

สรุปหลักคิดของรัฐบาลไทยชุดนี้ก็คือสู้ในหลักการที่ว่า “การจัดทำหลักเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จ”และอยู่ระหว่างการเจรจาตกลงกันระหว่างไทย-กัมพูชาตามขั้นตอนใน MOU 2543 ส่วนการปะทะกันระหว่างวันที่ 4 - 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 นั้นฝ่ายกัมพูชาเริ่มยิงฝ่ายไทยก่อนเพื่อหวังว่าจะใช้เวทีของสหประชาชาติเพื่อปูทางในการมาแทรกแซงในการนำพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารเพื่อเป็นแผนบริหารจัดการมรดกโลก

สรุปหลักคิดของกัมพูชา คือ MOU 2543 ระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าได้ยอมรับแผนที่ระวางดงรักซึ่งอ้างถึงคำบรรยายพิพากษาศาลโลก เป็นฐานทางกฎหมายสำหรับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชา ดังนั้นฝ่ายไทยจึงเป็นฝ่ายรุกรานกัมพูชาตามแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000

แต่เพราะข้อเท็จจริงในกรณีนี้ฝ่ายกัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มก่อนโดยเจตนา มีทั้งหลักฐานการสัมภาษณ์ ภาพวีดีโอ และภาพถ่ายมากมาย และแน่นอนที่สุดว่ากรณีนี้เป็นการปะทะจำกัดขอบเขตอยู่ชายแดนที่ไม่ใช่การรุกราน ไม่ใช่กระทบต่อความมั่นคงของภูมิภาค และไม่กระทบต่อความมั่นคงในระดับนานาชาติ ดังนั้นอาเซียนและองค์การสหประชาชาติจึงย่อมไม่สามารถแทรกแซงได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะมีหรือไม่มี MOU 2543 ก็ตาม

ต้องย้ำอีกครั้งหนึ่งว่าตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมาและก่อนมี MOU 2543 กัมพูชาก็พยายามมาแล้วหลายครั้งที่จะให้องค์การสหประชาชาติเข้ามาแทรกแซงเรื่องความขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา แต่ก็ไม่เคยสำเร็จแต่ประการใด ก็ด้วยเหตุผลเดียวกันว่าฝ่ายไทยเป็นประเทศเอกราชและไม่ยินยอมให้องค์กรนานาชาติใดๆมาแทรกแซงเรื่องอธิปไตยของไทย

แต่จากถ้อยแถลงของนายกษิต ภิรมย์ และนายฮอร์ นัม ฮง นั้น แม้ว่าฝ่ายกัมพูชาจะถูกนานาชาติจับได้ว่ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์ แต่มีบางเรื่องที่ต้องตั้งข้อสังเกตเรื่องเส้นเขตแดนซึ่งถือเป็นสาระสำคัญอย่างยิ่ง

ฝ่ายกัมพูชายืนยันตลอดว่าเส้นเขตแดนตาม MOU 2543 คือ แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ส่วนฝ่ายไทยกลับโต้แย้งในเวทีนานาชาติเพียงว่า “การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไม่แล้วเสร็จ” ทำให้ฝ่ายไทยไม่อยู่ในสถานะเป็นโจทก์ว่าฝ่ายกัมพูชารุกรานไทยได้เลยเพราะไม่ยืนยันในเส้นเขตแดนของตัวเอง ทั้งบริเวณวัดแก้วสิขะคีรีสะวารา พื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร ภูมะเขือ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นดินแดนที่กัมพูชายึดครองดินแดนไทยอยู่ทั้งสิ้น

ฝ่ายไทยได้อ้างเพียงแค่ว่าคำพิพากษาศาลโลกคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี พ.ศ. 2505 ไม่ได้พิพากษาสถานภาพของแผนที่มาตราส่วน 1:200,000

แต่กัมพูชากลับระบุว่าเพราะมี MOU 2543 จึงเท่ากับว่าไทย-กัมพูชาได้ยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ระวางดงรัก (ซึ่งมีสภาพบังคับและผลผูกพันให้ไทย-กัมพูชาต้องพิจารณาแผนที่ดังกล่าว) ทำให้กัมพูชามีสิทธิ์อ้างการอธิบายในคำพิพากษาศาลโลกที่ไทยเสียเปรียบในบริเวณเขาพระวิหาร ให้กลายเป็นฐานทางกฎหมายสำหรับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกครั้งนี้ ซึ่งเป็นไปตามแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ฝ่ายไทยไม่สามารถโต้แย้งกลับได้

คำพิพากษาศาลโลกคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ. 2505 นั้นได้ตัดสินเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารว่าอยู่บนพื้นที่ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา และระบุว่า เส้นเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 “จะรับฟังได้ก็แต่เพียงฐานที่เป็นการแสดงเหตุผล และมิใช้เป็นข้อเรียกร้องที่จะต้องกล่าวถึงในบทปฏิบัติการของคำพิพากษา”

ทวนกันอีกครั้งว่า จากคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี พ.ศ. 2505 กัมพูชาไม่มีสิทธิ์ที่จะไปอ้างนำมาใช้ในเวทีไหนได้เลย หากไม่มี MOU 2543 ด้วยเหตุผล 4 ประการคือ

1. คำพิพากษาศาลโลกตัดสินเฉพาะตัวปราสาทพระวิหาร ไม่มีบทปฏิบัติการ
สำหรับการพิพากษาแผนที่และเส้นเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ด้วยเหตุผลที่ขอบเขตของคำพิพากษาได้จำกัดเฉพาะตัวปราสาททำให้กัมพูชาไม่สามารถให้ศาลโลกตีความขยายความเกิน “ขอบเขต”ของคำพิพากษาศาลโลกได้ ซึ่งกัมพูชาก็ยอมรับสภาพดังกล่าวนี้โดยยอมให้ไทยล้อมรั้วปฏิบัติการเอาไว้

2. ฝ่ายไทยเห็นว่าแม้กระทั่งตัวปราสาทพระวิหาร ศาลโลกก็ตัดสินไม่เป็นธรรม จึง
ได้ทำการประท้วงและสงวนสิทธิ์เอาไว้ต่อองค์การสหประชาชาติ จึงหมายความว่าไทยยังถือเส้นเขตแดนตามขอบหน้าผาเป็นสันปันน้ำเหมือนเดิม และข้อสงวนสิทธิ์ในตัวปราสาทพระวิหารนั้นไม่มีกำหนดระยะเวลา

3. ฝ่ายไทยไม่ต่ออายุคำประกาศยอมรับการบังคับอำนาจของศาลโลก ซึ่งหมดอายุลงในระหว่างการพิจารณาคดีปราสาทพระวิหาร คดีปราสาทพระวิหารจึงเป็นคดีสุดท้ายที่ฝ่ายไทยจะยอมรับการบังคับอำนาจของศาลโลก ดังนั้นกัมพูชาจึงไม่มีโอกาสที่จะขึ้นศาลโลกอีกครั้งเพื่อขยายผลไปถึงแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ได้อีกหากฝ่ายไทยไม่ยินยอม กัมพูชาจึงย่อมตระหนักดีว่าไม่มีโอกาสที่จะใช้แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 กับไทยได้อีกผ่านเวทีของศาลโลกหรือเวทีอื่นใด
4. ฝ่ายกัมพูชาไม่สามารถที่จะรุกล้ำตามที่ฝ่ายไทยตามแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ได้ เพราะแสนยานุภาพทางการทหารไทยสูงกว่ากัมพูชามาก

ด้วยเหตุผลทั้ง 4 ประการข้างต้น ไทยจึงไม่เคยถูกข้อหาว่ารุกรานกัมพูชา และกัมพูชาก็ไม่เคยรุกล้ำและยึดครองดินแดนไทยได้เช่นกัน

และเมื่อใดที่มีเหตุปะทะหรือขัดแย้งระหว่างไทย-กัมพูชา ก็ไม่เคยมีประเทศไหน หรือสหประชาชาติมาแทรกแซงได้ เพราะประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศเอกราชย่อมมีสิทธิ์ปกป้องดินแดนและอธิปไตยของตัวเองตามกฎบัตรสหประชาชาติ ไม่ใช่ใช้เหตุผลว่า “การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จ” ซึ่งน้ำหนักต่างกันอย่างลิบลับในเวทีระหว่างประเทศ

แต่นับตั้งแต่ประเทศไทยและกัมพูชาได้ใช้ MOU 2543 ได้ทำให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหม่ เพราะแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 กลายเป็นผีที่ถูกปลุกขึ้นมาใหม่ให้มาอยู่บนโต๊ะเจรจา ซึ่งมีผลผูกพันและสภาพบังคับให้ไทย-กัมพูชาต้องพิจารณาแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 เป็นครั้งแรก และนั่นเป็นมูลเหตุของปัญหาทั้งหมด ที่ทำให้เกิดชนวนการปะทะและแรงจูงใจให้ที่กัมพูชาต้องการให้ขึ้นสู่เวทีนานาชาติ

จุดแข็งแกร่งของประเทศไทยทั้ง 4 ประการข้างต้น ถูกทำลายหมดสิ้น ทั้งขอบเขตของคำพิพากษาก็บานปลายมาขยายหาสถานภาพของแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ตามการบรรยายคำพิพากษาของศาลโลก ข้อสงวนที่จะทวงคืนปราสาทก็ไม่สามารถถูกนำมาใช้ได้ กัมพูชาเริ่มขยายผลแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ไปยังมรดกโลกและตั้งใจก่อสงครามเพื่อพยายามขยายผลเข้าสู่องค์การสหประชาชาติ

MOU 2543 ที่สร้างความหวังให้กับกัมพูชา และสร้างความขัดแย้งให้กับไทย-กัมพูชา จึงถือเป็นชนวนและแรงจูงใจการปะทะระหว่างไทยกัมพูชาอย่างแท้จริง

และที่สำคัญที่สุดคือแสนยานุภาพทางทหารของไทยที่สูงกว่ากัมพูชา ไม่สามารถถูกนำมาใช้เพื่อปกป้องรักษาดินแดนและอธิปไตยไทยได้เลย จนถูกกัมพูชารุกล้ำ สร้างถนนลำเลียงอาวุธ และยึดครองดินแดนไทยในจุดยุทธศาสตร์สำคัญทั้งเขาพระวิหาร ภูมะเขือ ซึ่งกลายเป็นฐานทัพยิงอาวุธสงครามใส่ราษฎรไทยอย่างน่าอัปยศยิ่ง

การผนวก “MOU 2543” ที่ให้ไทย-กัมพูชาผูกพันและมีสภาพบังคับให้พิจารณาสถานภาพของแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 เข้ากับการบรรยายถึงมูลฐานในการตัดสินคดีปราสาทพระวิหารนั้น ฝ่ายไทยไม่สามารถโต้แย้งทั้งในแถลงการณ์ของกัมพูชาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 ได้ และตรรกะที่ว่าแผนที่ไม่รวมระวางดงรักก็ไม่ได้นำมาใช้ในถ้อยแถลงในเวทีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติครั้งนี้แต่ประการใด

ข้อบกพร่องของ MOU 2543 ที่ฝ่ายกัมพูชาโต้แย้งกลับมา ทำให้ไทยไม่สามารถโต้แย้งกัมพูชาได้ ทำให้ฝ่ายไทยจึงเหลือการต่อสู้แค่ว่า “การสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จ” แต่ทำให้ฝ่ายไทยไม่สามารถสู้ว่ากัมพูชารุกรานและยึดครองดินแดนไทยและใช้เป็นฐานทัพยิงอาวุธสงครามใส่ราษฎรไทย

บัดนี้คำพูดที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เคยกล่าวหาว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้นคิดเหมือนกัมพูชาคือยกเลิก MOU 2543 นั้น จึงเป็นเรื่องโกหกและเป็นเท็จทั้งสิ้น เมื่อปรากฏถ้อยแถลงที่กัมพูชาได้ยื่นให้กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 นั้นได้กอด MOU 2543 เอาไว้เพื่อขยายผลแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ตรงกับที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เตือนเอาไว้ก่อนหน้านี้อย่างไม่มีผิดเพี้ยน

กัมพูชาคิดล้มโต๊ะการเจรจาระหว่างทวิภาคีผ่านคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) จริง แต่กัมพูชาไม่เคยต้องการฉีก MOU 2543 เพราะกัมพูชายึด MOU 2543 เป็นคัมภีร์เพื่อนำแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ไปเชื่อมโยงกับการบรรยายคำพิพากษาของศาลโลกเพื่อให้ไทยต้องเป็นฝ่ายเสียเปรียบกับกัมพูชา

แม้ว่ากัมพูชาจะไม่ประสบความสำเร็จในการดึงสหประชาชาติ หรือ อาเซียน เข้ามานำกองกำลังหรือเป็นคนกลางเพื่อแทรกแซงกิจการภายในระหว่างประเทศ แต่อย่างน้อยกัมพูชาได้ผลลัพธ์คืบหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง จากการที่ฝ่ายไทยไม่สู้ว่ากัมพูชารุกล้ำยึดครองดินแดนประเทศไทยเพราะถูก MOU 2543 ปิดปาก

ผลลัพธ์ก็คือสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องให้ทั้งสองฝ่าย”ทำข้อตกลงหยุดยิงถาวร” โดยไม่สนใจแม้แต่น้อยว่าปัจจุบันนี้กัมพูชาได้ยึดครองดินแดนไทยไปเรียบร้อยแล้ว และใช้เป็นฐานทัพยิงอาวุธสงครามใส่ราษฎรไทย

ข้อตกลงหยุดยิงถาวรเกิดขึ้นเมื่อใด กัมพูชาก็จะใช้แผนการเดิมที่เคยทำกันมาตลอดการใช้ MOU 2543 คือมัดแสนยานุภาพทางการทหารไทยเอาไว้ ฝ่ายกัมพูชาซึ่งยึดครองดินแดนไทยไปแล้วก็จะยึดต่อไปไม่มีกำหนดระยะเวลาจนกว่ากัมพูชาจะพอใจในผลการเจรจา หรืออีกนัยหนึ่งก็จะยึดครองดินแดนไทยเป็นการถาวร

ข้อตกลงหยุดยิงถาวรเกิดขึ้นเมื่อใดโดยสหประชาชาติรับรอง กัมพูชาก็อาจจะรุกคืบดินแดนไทยเพิ่มเติมได้มากขึ้นไปกว่านี้สมใจอยาก ยึดครองดินแดนไทยตามแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 โดยที่ทหารไทยไม่สามารถใช้กำลังผลักดันได้ และทหารบางส่วนก็จะสบโอกาสในการทำมาหากินกับฝั่งกัมพูชาโดยใช้ข้ออ้างว่าทำอะไรไม่ได้เพราะต้องทำตาม MOU 2543

ข้อตกลงหยุดยิงถาวรเกิดขึ้นเมื่อใด คณะกรรมการมรดกโลก ก็จะถือว่าเงื่อนไขปราสาทพระวิหารซึ่งมีเหตุปะทะและเป็นมรดกโลกอันตรายได้ยุติลงแล้ว กัมพูชาก็สามารถนำแผ่นดินไทยไปเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่บริหารจัดการมรดกโลกของกัมพูชาได้ต่อไปในวันข้างหน้า

ประเทศไทยกำลังถลำลึกใน MOU 2543 จนมาถึงวิกฤตอันตรายอย่างใหญ่หลวงแล้ว!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น