xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บีโอไอ:การใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามแนวทางของบีโอไอที่ควรรู้ (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: วันเพ็ญ หรูจิตตวิวัฒน์

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ให้สิทธิประโยชน์ในการส่งเสริมการลงทุน สิทธิประโยชน์ด้านภาษีที่สำคัญอันหนึ่ง คือ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ปัญหาเกิดเมื่อผู้ได้รับการส่งเสริมฯ ได้รับสิทธิ์นี้มากกว่า 1 โครงการ ทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างผู้ได้รับการส่งเสริมฯ และกรมสรรพากรอยู่เนืองๆ จึงได้นำเรื่องนี้มาชี้แจง โดยแยกเป็น 2 ตอน เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องต่อไป

ข้อบทยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

บทบัญญัติมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ที่เป็นปัญหาจะอยู่ในวรรคหนึ่ง สอง และสี่ โดยมาตรา 31 วรรคหนึ่ง ให้สิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ โดยได้รับยกเว้นเป็นสัดส่วนของเงินลงทุนที่ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน ด้วยกำหนดเวลาไม่เกิน 8 ปีนับแต่วันเริ่มมีรายได้จากกิจการที่ได้รับส่งเสริมฯ ขณะที่มาตรา 31 วรรคสอง ทำนองเดียวกัน แต่ไม่กำหนดสัดส่วน

สำหรับมาตรา 31 วรรคสี่ เป็นกรณีประกอบการขาดทุนระหว่างเวลาได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามวรรคหนึ่ง หรือวรรคสอง ให้นำผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้นระหว่างเวลานั้นไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาได้รับยกเว้นภาษีฯ มีกำหนดเวลาไม่เกิน 5 ปีนับแต่พ้นกำหนดเวลานั้น โดยเลือกหักจากกำไรสุทธิของปีใดปีหนึ่งหรือหลายปีก็ได้

ข้อปัญหาในการคำนวณผลขาดทุนประจำปี

กรณีวิสาหกิจได้รับการส่งเสริมฯ เพียงโครงการเดียว คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 35/2540 สั่งเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2540 เรื่อง การนำผลขาดทุนของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ ไปหักภายหลังระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีฯ ได้ยืนยันผลขาดทุนประจำปีที่จะนำไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาได้รับยกเว้นภาษีฯ ที่มีกำหนดเวลาไม่เกิน 5 ปี โดยไม่ต้องนำไปหักออกจากกำไรประจำปีที่เกิดขึ้นระหว่างเวลาได้รับยกเว้นฯ ซึ่งเหมือนกับหลักเกณฑ์ของบีโอไอ

ข้อปัญหาเกิดในกรณีผู้ได้รับส่งเสริมฯ ที่ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีฯ มากกว่า 1 โครงการ ซึ่งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 38/2552 สั่งเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2552 เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการนำผลขาดทุนของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ ไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีฯ ได้วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า กรณีบริษัทประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ และมีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมฯ ในกิจการแต่ละประเภทมากกว่า 1 โครงการนั้น

เนื่องจากมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2544 เป็นบทบัญญัติซึ่งใช้บังคับกับการคำนวณกำไรสุทธิ หรือขาดทุนสุทธิของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ กรณีนี้จึงต้องคำนวณจากรายได้ และรายจ่ายจากกิจการทุกประเภทที่ได้รับการส่งเสริมฯ ในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกัน ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร

ดังนั้น ตามหลักเกณฑ์ของกรมสรรพากร กรณีที่กิจการใดมีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมฯ หลายโครงการ ก็ต้องนำรายได้ และรายจ่ายของทุกโครงการในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันมาคำนวณ เพื่อให้ได้ยอดกำไรสุทธิ หรือขาดทุนสุทธิของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ หากปรากฏว่ามีผลขาดทุนสุทธิเกิดขึ้น ย่อมถือว่าเป็นผลขาดทุนประจำปีของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ และบริษัทย่อมมีสิทธิ์นำผลขาดทุนประจำปีดังกล่าวที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีฯ ไปหักออกจากกำไรสุทธิของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ ที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีฯ โดยมีกำหนดเวลาห้าปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลานั้น โดยจะเลือกหักกำไรสุทธิของปีใดปีหนึ่ง หรือหลายปีก็ได้ตามมาตรา 31 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมฯ ขณะที่บีโอไอให้แยกคำนวณเป็นรายโครงการ

บีโอไอได้นำเสนอข้อปัญหานี้ขึ้นหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 5) ซึ่งได้มีคำวินิจฉัยตามบันทึกสำนักงานฯ เรื่อง การนำผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลาได้รับยกเว้นภาษีฯ ไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาได้รับยกเว้นภาษีฯ ตามมาตรา 31 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2544 เมื่อเดือนมีนาคม 2552 ซึ่งเป็นเรื่องเสร็จที่ 158/2552 มีความเห็นว่า

ในกรณีที่มีความไม่ชัดเจนที่จะต้องตีความ หรือดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมฯ คณะกรรมการส่งเสริมฯ หรือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมฯ มีอำนาจตีความในเบื้องต้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องความหมาย และการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติส่งเสริมฯ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น เมื่อพระราชบัญญัติส่งเสริมฯ เป็นกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติการจัดเก็บภาษีอากรเป็นพิเศษแล้ว จึงไม่อาจนำประมวลรัษฎากรซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีอากรมาใช้บังคับกับข้อหารือนี้ (รายละเอียดในเรื่องดังกล่าวยังไม่จบ โปรดติดตามในตอนต่อไป)

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2553-8111 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น