รองผู้ว่าการ ธปท.ย้ำ มาตรการรักษาทองคำบริจาค 12,079 กิโลกรัม ตามเจตนารมณ์หลวงตามหาบัว และผู้มีจิตศรัทธา ชี้ หากมีการรวมบัญชีในอนาคต พร้อมแยกบัญชีออกไปต่างหาก ป้องกันนักการเมืองเข้ามาล้วงเงินทุนสำรอง เพื่อแก้หนี้กองทุนฟื้นฟูฯ
นางสุชาดา กิระกุล รองผู้ว่าการด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ทองคำที่ ธปท.ได้รับบริจาคจากหลวงตามหาบัว ในโครงการผ้าป่าช่วยชาติ ตั้งแต่ช่วงวิกฤตปี 2540 จนถึงปัจจุบันคิดเป็นปริมาณทั้งสิ้น 12,079 กิโลกรัม โดยทองคำส่วนหนึ่ง ธปท.ได้เก็บไว้ในห้องมั่นคงสูงสุด ซึ่ง ธปท.ยืนยันว่า จะนำทองคำไปใช้ตามเจตนารมณ์ของหลวงตามหาบัว และผู้มีจิตศรัทธา
นางสุชาดา กล่าวเสริมว่า หากในอนาคตมีการรวมบัญชี ธปท.จะมีการแยกบัญชีส่วนนี้ไว้ต่างหาก เพื่อให้ทุกฝ่ายมั่นใจได้ว่า ทองคำส่วนนี้จะถูกนำไปใช้ตามเจตนารมณ์ของหลวงตามหาบัว
โดยก่อนหน้านี้ มีกระแสข่าวมาโดยตลอดว่า มีนักการเมืองพยายามจะนำทรัพย์สินในส่วนนี้ไปใช้โดยการยุบรวมทุนสำรองระหว่างประเทศ 3 ก้อนให้เป็นเงินคลังหลวงเพียงบัญชีเดียว เพื่อให้สามารถออกนโยบายนำทุนสำรองส่วนนี้ไปใช้ได้
รายงานเพิ่มเติมระบุว่า นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 หลวงตามหาบัวได้เดินสายเรี่ยไรดอลลาร์ และทองคำเข้าคลังหลวง หวังเยียวยาทุนสำรองที่เจ๊งจากน้ำมือทักษิณและนักการเมืองไทยที่ร่วมโจมตีค่าเงินบาท เฉพาะการบริจาคทองคำแท่งกู้ชาติ 15 ครั้ง คลังหลงได้ทองคำช่วยชาติแล้ว 12 ตัน รวม 87.5 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท
โดยช่วงต้นปี 2543 พระอาจารย์นพดล นันทโน เจริญไทยทวี (พระครูอรรถกิจนันทคุณ) เจ้าอาวาสวัดป่าดอยลับงา จ.กำแพงเพชร ในฐานะกรรมการมูลนิธิเสียงธรรมเพื่อประชาชน ซึ่งเป็นมูลนิธิที่จัดตั้งโดยหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้เข้าพบผู้บริหาร ธปท.ซึ่งได้ติดต่อเข้ามาตั้งแต่สัปดาห์ก่อนหน้า แต่เนื่องจาก นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท.(ในขณะนั้น) ติดภารกิจอยู่ต่างประเทศ จึงมอบหมายให้ นายอรรคบุษย์ ไกรฤกษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายช่วยงานบริหาร เป็นตัวแทนเข้าพบ หลังจากที่รัฐบาลมีแนวคิดให้ ธปท.รวมบัญชี เพื่อนำเงินสำรองระหว่างประเทศช่วยลดภาระหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
พระครูอรรถกิจนันทคุณ กล่าวว่า การพูดคุยกับผู้บริหาร ธปท.ในครั้งนี้เห็นว่า เป็นหน้าที่รับผิดชอบของธนาคารชาติในการดูแลคลังหลวง จึงควรมีการพูดคุยกันก่อนว่าธนาคารชาติมีปัญหาหรือความหนักใจตรงไหนกับเรื่องราวของบ้านเมือง และที่สำคัญ คือ หลวงตามหาบัวได้มอบทองคำจำนวนมาก เพื่อประเทศชาติ ฉะนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้สนใจลงรายละเอียดว่าใครต้องการอะไร แต่จะทำงานไปด้วยกัน เพื่อรักษาคลังหลวง ซึ่งเป็นสถาบันสำคัญทางด้านเศรษฐกิจให้ดีที่สุดและให้เกิดความพอใจของประชาชนจริงๆ
“หลวงตามหาบัวได้เทศน์ครั้งล่าสุดให้วิธีคิดอย่างเดิม คือ ให้รักษากฎหมายเดิมไว้ และหากรัฐบาลยังพยายามจะผลักดันให้รวมบัญชีเราจะค้านกฎหมาย เพราะเชื่อว่าวิธีที่ถูกต้องไม่จำเป็นต้องรวมบัญชีกัน เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้ได้หมดเห็นจากตัวเลขไม่ได้ครอบคลุมหนี้ทั้งหมด จึงน่าจะมีเครื่องมืออื่นในการสร้างสันติวิธี”
ทั้งนี้ เข้าใจดีถึงความจำเป็นของรัฐบาล แต่สิ่งที่รัฐบาลคิดบางอย่างก็ตรงใจเรา และไม่ตรงใจกับเราบ้าง แต่นโยบายคำเดียวสั่งให้ทำอย่างนี้อย่างนั้นไม่ได้ อย่างไรก็ตามขณะนี้ไม่มีฝ่ายไหนถูกกดดันไม่ว่าจะเป็นแบงก์ชาติและรัฐบาล หากมีอะไรสามารถทำงานร่วมกันได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ
ด้าน นายอรรคบุษย์ กล่าวว่า การหารือครั้งนี้เป็นรูปแบบที่ดีและความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยศิษย์หลวงตามหาบัวได้ให้ข้อแนะนำว่าจะดำเนินการอะไรก็ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย จึงควรมีการระดมสมองจากหลายฝ่าย ซึ่งจะตั้งผู้แทนในส่วนของหลวงตามหาบัวเข้ามารับฟังด้วย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ธปท.ยังไม่ได้รับเรื่องอย่างเป็นทางการจากภาครัฐจึงยังไม่ดำเนินการอะไร แต่จะนำข้อดีและข้อเสียต่างๆ เสนอให้ผู้ว่าการ ธปท.รับทราบอีกครั้งหนึ่ง
ด้าน นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกะทรวงการคลัง กล่าวในขณะนั้นว่า แนวทางแก้หนี้สินกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มีหลายวิธี โดยขณะนี้ยืนยันว่ายังไม่ได้สรุปจะใช้วิธีการรวมบัญชีของ ธปท.เพื่อแก้ไขหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ
โดยในเบื้องต้นขณะนี้ต้องยอมรับว่า ประเทศมีหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ จำนวนมหาศาลที่ไม่ลดลงเลยเป็นเวลานาน และเป็นภาระของประชาชน ขณะที่ ธปท.มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องหาทางลดภาระของประชาชนด้วยการใช้เงินทุนสำรองให้คุ้มค่ามากขึ้น โดยไม่จำเป็นใช้วิธีการรวมบัญชีส่วนแนวทางที่ชัดเจนนั้นยังอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ แนวคิดในการประกาศรวมบัญชีคลังหลวงที่เป็นข่าวฉาวก่อนหน้านี้ เกิดจากนายไตรรงค์ สุรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศรวมบัญชีทุนสำรองเงินตรา บัญชีสำรองพิเศษ และบัญชีผลประโยชน์ประจำปี ให้เหลือเพียงบัญชีเดียว โดยอ้างว่าการแยกบัญชีทำให้รัฐบาลต้องใช้งบประมาณรับภาระดอกเบี้ยที่กองทุนฟื้นฟูฯ เป็นผู้ก่อหนี้สูงถึงปีละ 6.5 หมื่นล้าน