xs
xsm
sm
md
lg

ขอ 375+125 ด้วยคน..!!??

เผยแพร่:   โดย: สำราญ รอดเพชร

แม้จะน่าเบื่อน่าบ่นแค่ไหนก็ตาม แต่ดูเหมือนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีหรือที่เรียกกันว่า “ฉบับอาจารย์สมบัติ (ธำรงธัญวงศ์” ที่เสนอให้แก้ไขเรื่องที่มาหรือวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.จำนวนของ ส.ส.รวมทั้งจำนวน ส.ส.กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้ ก็พอจะช่วยทำให้ข่าวเรื่องรัฐบาลเสียท่าเสียหน้าเรื่อง 7 คนไทยถูกกัมพูชาจับกุมคุมขังลดความร้อนแรงลงได้บ้างเหมือนกัน...

ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ส.ส.มีจำนวน 480 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ เขตละไม่เกิน 3 คนมีจำนวน 400 คน อีก 80 คนมาจากระบบบัญชีรายชื่อซึ่งแบ่งประเทศไทยเป็น 8 กลุ่มจังหวัดหรือ 8 โซนๆ ละ 10 คน

รัฐบาลกำลังจะให้แก้ไขเป็น ส.ส.มีจำนวน 500 คน มาจากการเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียวหรือวันแมนวันโหวต 375 คน อีก 125 คน ให้มาจากระบบบัญชีรายชื่อ โดยเลิกการแบ่ง 8 โซน แต่ให้ใช้บัญชีเดียวทั้งประเทศ เหมือนกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2544 และ 2548..

เป็นที่รู้ๆ กันว่า พรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนานั้น อยากได้การเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียว พรรคเจ้าภาพรัฐบาลก็เลยจัดให้ แต่ที่โผล่มาเป็นประเด็นร้อนก็คือ การที่ไปหดจำนวน ส.ส.เขตเหลือ 375 คน แบบนี้มันกระทบกระเทือนกับเก้าอี้ ส.ส.เขตกันเห็นๆ หายไปตั้ง 25 เก้าอี้แน่ะ...

พรรคเพื่อไทยที่เป็นแชมป์เลือกตั้ง 3 สมัย (2544, 2548 และ 2550) ก็ขอผสมโรงโวยวายด้วย...แต่ดูเหมือนว่าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งแท้จริงแล้วชอบการเลือกตั้งแบบเขตละไม่เกิน 3 คนหรือเขตใหญ่จะยังเสียงแข็งไม่ยินยอม เพราะถือว่าตัวเองได้เสียสละให้เป็นวันแมนวันโหวตแล้ว หนอยแน่ะจะขอเพิ่ม ส.ส.สัดส่วนเป็น 125 คนไม่ได้เชียวหรือ..!?

อันว่าพรรคประชาธิปัตย์นั้น แน่นอนว่าได้จิ้มเครื่องคิดเลขดูแล้วว่าคะแนน ส.ส.สัดส่วนของตัวเอง น่าจะดีวันดีคืน ยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นก็น่าจะได้เก้าอี้ ส.ส.ตรงนี้มากขึ้น ทั้งนี้ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด 23 ธ.ค. 2550 ผู้ที่พยายามขับเน้นคะแนน ส.ส.สัดส่วนให้พรรคมีเก้าอี้เพิ่มมากขึ้นก็คือ ท่านนายหัวชวน หลีกภัย ผู้ที่มองการเมืองรอบด้านนั่นเอง...

นาทีนี้ทุกพรรคเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า ส.ส.จำนวน 500 คน นั้นดีแล้วชอบแล้ว แต่ฝ่ายพรรคร่วมรวมทั้งเพื่อไทยเห็นว่าควรใช้สูตร 400+100 ขณะที่ประชาธิปัตย์หลังพิงฝาเห็นว่าควรใช้สูตร 375+125  ตามร่างที่เสนอ...

แล้วท่านผู้อ่านล่ะคิดเห็นเป็นประการใด..!!??

ลองย้อนมองจำนวน ส.ส.ในอดีตกันดูเล่นๆ ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรก 15 พ.ย. 2476 จนปัจจุบัน

15 พ.ย. 2476 - จำนวน ส.ส. 78  คน (ผู้มีสิทธิออกเสียง 4.2 ล้านคน)

7 พ.ย. 2480 - จำนวน ส.ส. 91 คน   

12 พ.ย. 2481 - จำนวน ส.ส. 91 คน

6  ม.ค. 2489 - จำนวน ส.ส. 96 คน

29 ม.ค. 2491 - จำนวน ส.ส. 99 คน 

26 ก.พ. 2495 - จำนวน ส.ส. 123 คน

26 ก.พ. 2500 - จำนวน ส.ส. 160 คน

15 ธ.ค. 2501 - จำนวน ส.ส. 160 คน  

10 ก.พ. 2512 - จำนวน ส.ส. 219 คน

26 ก.พ. 2518 - จำนวน ส.ส. 269 คน

4 เม.ย. 2519 - จำนวน ส.ส. 279 คน

22 เม.ย. 2522 - จำนวน ส.ส. 301 คน

18 เม.ย. 2526 - จำนวน ส.ส. 234 คน

27 ก.ค. 2529 - จำนวน ส.ส. 347 คน

24 ก.ค. 2531 - จำนวน ส.ส. 357 คน

22 มี.ค. 2535 - จำนวน ส.ส. 360 คน

13 ก.ย. 2535 - จำนวน ส.ส. 360 คน

2 ก.ค. 2538 - จำนวน ส.ส. 391 คน

17 พ.ย. 2539 - จำนวน ส.ส. 393 คน

6 ม.ค. 2544 - จำนวน ส.ส. 500 คน (ส.ส.เขต 400 บัญชีรายชื่อ 100)

6 ก.พ. 2548 - จำนวน ส.ส. 500 คน (ส.ส.เขต 400 บัญชีรายชื่อ 100)

23 ธ.ค. 2550 - จำนวน ส.ส. 480 คน (ส.ส.เขต 400 บัญชีรายชื่อ 80)

2554 - โปรดเขียนแปะไว้ข้างฝา...

มีหลักคิดหลักวิชาการมากมายในการคิดค้นจำนวน ส.ส.แต่ปกติแล้ววิธีคิดหลักของผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญในบ้านเราส่วนใหญ่จะใช้จำนวนประชากรหรือจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็นตัวกำหนดจำนวน ส.ส. เช่น บางครั้งใช้จำนวนประชากร 1.5 แสนคนต่อส.ส. 1 คน เป็นต้น

สำหรับผมเองขอคิดแบบไม่ใช้หลักวิชาการอะไรมาก ขอมองขอประเมินผลงาน ส.ส.ในรอบ 3-4 สมัยที่ผ่านมา เป็นตัวตั้งแล้วผมอยากสรุปตั้งเอาไว้ตรงนี้ว่าจำนวน 400 คน (รวมส.ส.เขต-ส.ส.สัดส่วน) ก็ควรจะพอแล้ว ประชาชนคนไทยไม่ต้องบริโภค ส.ส.กันถึง 500 คนหรอก..เท่าที่ศึกษาได้ยินได้ฟังมาจำนวน ส.ส.ของหลายสิบประเทศในโลกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 300 คนต้นๆ 

ในจำนวน 400 คนตามความเห็นของผมควรจะแบ่งเป็น ส.ส.เขต 250 คน ส.ส.บัญชี 150 คน แต่ปัญหาหลักก็คือทำอย่างไรจะให้ 400 คนที่ว่า เป็นส.ส.ที่เคี่ยวข้นคุณภาพ ทำงานนิติบัญญัติออกกฎหมาย ตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารจริงๆ

ผมเห็นด้วยกับหลายคนที่บอกว่า การยิ่งมี ส.ส.มาก โดยเฉพาะ ส.ส.เขตจะยิ่งทำให้นับวันบทบาทของ ส.ส.ทับซ้อนซ้ำซ้อนกับสมาชิก อบต., สมาชิก อบจ. หรือ ส.ท.จนแยกกันไม่ออก วันนี้ ส.ส.นักการเมืองจำเป็นและถึงเวลาที่จะต้องยกระดับความเข้าใจของประชาชนว่าบทบาทของผู้ทำหน้าที่นิติบัญญัติจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร

ส่วนจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อหรือคะแนนพรรคภายใต้ระบบการเลือกตั้งที่ไม่มีคำว่าอย่างน้อยต้องได้ 5% ของผู้มาใช้สิทธินั้น เป็นการตั้งหลักตั้งลำที่ถูกต้องของรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้วในอนาคตจำนวน ส.ส.สัดส่วนควรจะได้เพิ่มให้มีจำนวนเท่า ส.ส.เขตเสียด้วยซ้ำไป ไม่ต้องกลัวว่าจะมีนายทุนกลุ่มทุนมาซื้อเก้าอี้ เพราะที่เป็นอยู่ทุกวันนี้มันมากกว่านั้น แต่ผมเชื่อว่าการเปิดเวที ส.ส.สัดส่วนให้กว้างขึ้นจะเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคเล็กๆ คนดีๆ ที่อยากทำงานการเมืองได้มีส่วนร่วมได้บ้าง...

สรุปว่าวันนี้ถ้าผมต้องโหวตให้ 2 สูตรที่ประชันขันแข่งกัน ผมก็ต้องโหวตสูตร 375 +125 แต่ถ้าผมเสนอได้กำหนดได้ผมจะเสนอสูตร 300 +100 โดยไม่มีพื้นฐานในเบื้องลึกว่าเพื่อตัวกูหรือเพื่อพรรคกู แต่พยายามมองที่ระบบใหญ่ ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าจะให้ว่ากันอย่างถึงที่สุด ไม่ว่าจะใช้สูตรตัวเลขไหนก็ยังไม่ตอบโจทย์เรื่อง “โอกาส” ของคนส่วนใหญ่หรือสาขาอาชีพต่างๆ ที่ยังเป็นคนชายขอบ(เวที)การเลือกตั้ง...เหมือนเดิม!!??
กำลังโหลดความคิดเห็น