xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ทักษิณเป็นผล หรือเป็นเหตุ

เผยแพร่:   โดย: สุจิตรา

โดย...สุจิตรา


ได้อ่านบทความ “ทักษิณเป็นผล หรือเป็นเหตุ” ของท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 10 มีนาคม 2553 สรุปประเด็นของท่านอาจารย์ประเวศได้ว่า “ทักษิณเป็นผลที่เกิดจากการขาดความเป็นธรรม - การเมืองการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจไว้ส่วนกลางเป็นต้นตอของปัญหาทั้งปวง - ระบบรวมศูนย์อำนาจเป็นต้นเหตุของคอร์รัปชัน – การปกครองแบบรวมศูนย์เชื้อเชิญให้นายทุนอยากลงทุนเข้ามามีอำนาจทางการเมือง – ควรที่จะการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น - ความขัดแย้งทุกชนิดในที่สุดก็จบลงด้วยการเจรจา” และย่อหน้าที่มีความสำคัญมากก็คือ “เป้าหมายสูงของการต่อสู้ คือการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปสู่การเป็นสังคมที่มีความเป็นธรรม สังคมไทยขาดความเป็นธรรมทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย การเมืองการปกครอง”

ผมคิดว่าเป็นบทความที่ดี และมีบางประเด็นที่ผมมีความเห็นด้วยกับท่านอาจารย์ประเวศ เช่น ประโยคที่ว่า “ผลของอย่างหนึ่งก็เป็นเหตุของอย่างอื่นต่อๆไป” หรือ “ควรมุ่งเน้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” ซึ่งก็คือการลดขนาดพื้นที่ความรับผิดชอบของผู้นำและผู้บริหารประเทศให้มีขนาดเล็กลง เหตุผลเพราะว่าถ้าเราคำนึงในทางด้านกายภาพของสังคมหรือประเทศแล้ว การที่สังคมมีขนาดใหญ่เกินไปย่อมยากเกินกว่าที่ “ผู้นำที่ดี ๆ” (ย้ำ “ผู้นำที่ดี ๆ”) จะสามารถบริหารจัดการให้สังคมนั้นเจริญพร้อมทุกด้าน บริหารให้สังคมนั้นไร้ซึ่งความขัดแย้ง บริหารให้ทุกสิ่งทุกอย่างในสังคมนั้นมีเกิดความเป็นธรรม บริหารจนสามารถทำให้ผู้คนทุกคนในสังคมใฝ่สันติและไม่คิดเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ผู้คนทุกคนในสังคมล้วนมีหิริโอตตัปปะ บริหารให้สังคมนั้นไร้ซึ่งการกินสินบาทคาดสินบน เปรียบเสมือนครอบครัวใหญ่ก็ย่อมมีโอกาสที่จะมีแกะดำหลงเข้ามาในครอบครัวแม้ว่าผู้เป็นพ่อแม่จะพร่ำสั่งสอนมากมายสักเพียงใด

ในขณะที่ครอบครัวที่มีลูกน้อยถ้าพ่อแม่ทุ่มเทอบรมสั่งสอนก็จะประสบปัญหาน้อยกว่า (อันที่จริงแล้วยังมีปัจจัยอื่นอีกมากมาย เช่น ฐานะของครอบครัว เพื่อนฝูง สิ่งแวดล้อม ฯลฯ แต่การเปรียบเทียบดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานว่าทุกอย่างอยู่ในสภาพเดียวกัน)

ครั้นเมื่อสังคมโลกพัฒนามาถึงยุค “โลกาภิวัตน์” ก็กลับกลายเป็น “โลกาภิวัตน์” ที่เอื้อให้คนในแต่ละสังคมเกิดการเปรียบเทียบจนนำไปสู่การแก่งแย่งชิงดีในด้านวัตถุ ด้านการบริโภคและด้านโภคทรัพย์ (ไม่ว่าจะได้มาด้วยวิธีการใดก็ตาม) “โลกาภิวัตน์” ที่เอื้อให้คนในสังคมมีความอยากและความโลภในระดับไร้ขอบเขต “โลกาภิวัตน์” ดังกล่าวก็ยิ่งทำให้การบริหารและการนำสังคมไปสู่ทิศทางที่ดีและมีความเป็นธรรมนั้นยิ่งยากยิ่งขึ้นไปอีก

ยิ่งเมื่อสังคมขนาดใหญ่ใดหรือประเทศใดประเหมาะเคราะห์ร้ายได้ผู้นำที่ไม่ดำรงอยู่ในธรรม ผู้นำที่ไม่มีหิริโอตตัปปะ ผู้นำที่ยอมสูญเสียผลประโยชน์ประเทศชาติส่วนรวมเพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ส่วนตนที่จะได้รับ ยอมแม้กระทั่งนำภัยจากภายนอกประเทศเข้าสู่ประเทศของตน สังคมนั้นหรือประเทศนั้นก็ย่อมที่จะต้องอยู่ในสภาพที่ “เละ” และมีสภาพไม่ต่างจาก “เต้าหู้สดที่หล่นจากโต๊ะ” อย่างแน่นอน

แต่ในส่วนประเด็นอื่นนั้น ผมมีความเห็นต่างกับท่านอาจารย์ประเวศอย่างมาก

ประเด็นที่ 1 ท่านอาจารย์ประเวศได้อ้างอิงคำพูตอนหนึ่งอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี ว่า “ทักษิณเป็นผล ไม่ใช่เหตุ” แต่ท่านอาจารย์ประเวศเสนอว่า “จะว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล ก็สุดแต่จะจับส่วนไหนของกระแสแห่งเหตุปัจจัย อันนี้ไม่มีที่สิ้นสุดขึ้นมามาพิจารณา” และท่านได้เสนอต่อว่า “แต่ส่วนที่ทักษิณเป็นผลนั้นพูดกันน้อยทักษิณไม่สามารถเกิดขึ้นได้ลอยๆ ต้องมีเหตุให้เกิดเป็นผลทักษิณ ถ้าว่าทักษิณเป็นเหตุให้มีอะไรๆ ตามมามาก เหตุที่ทำให้เกิดทักษิณก็คงมากพอๆ กัน หรือใหญ่กว่า ถ้าเหตุยังอยู่ แม้ทำลายทักษิณได้ ก็ยังไม่ใช่การแก้ที่เหตุ ประเด็นใหญ่จึงไม่ใช่เอาหรือไม่เอาทักษิณ แบบจะฆ่าฟันกันอยู่รอมร่อ แต่ต้องไปเลยทักษิณ จึงจะหาจุดลงตัวของสังคมไทยได้” และปมสุดท้ายที่ท่านทิ้งไว้ในประเด็นนี้คือ “สาเหตุของการเกิดมีทักษิณในสังคมไทยคือการขาดความเป็นธรรม”

ในประเด็นนี้ผมเห็นด้วยว่า ในทุกสิ่งย่อมมีเหตุนำมา และสิ่งนั้นก็จะเป็นเหตุของผลอันถัดไปอย่างไม่รู้จบ

ในกรณีทักษิณ ผมคิดว่า คนที่ชื่อ ”ทักษิณและพฤติกรรม” ของเขานั้น เป็นผลจาก “ความโลภ” และ “ความหลง” ของทักษิณเป็นพื้นฐาน โลภอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ส่วนหนึ่งย่อมเป็นผลจาก “โลกาภิวัตน์” ที่ทำให้ทักษิณเห็นว่ายังมีคนที่ร่ำรวยกว่าตน ยังมีช่องทางอีกมากมายที่จะทำให้ตนร่ำรวยขึ้น ยังมี... ฯลฯ และสาเหตุที่ก่อให้เกิดความโลภของทักษิณที่เราคงปฏิเสธไม่ได้ก็คือ การเลี้ยงดูของบิดามารดาของทักษิณที่ไม่พร่ำสอนหรือสอนแต่ไม่มีคุณภาพแก่บุตรและธิดาของตนในเรื่องของการไม่เบียดเบียนผู้อื่นโดยความโลภของตน (ซ้ำร้ายอาจเป็นต้นแบบของความโลภแก่บุตรธิดาของตนด้วย) การที่มีคู่ครองที่ไม่ดีคู่ครองที่ไม่สามารถให้หรือเตือนสติเมื่อสามีของตนถลำในทางที่ผิด มิหนำซ้ำกลับส่งเสริมหรืออาจเป็นหัวเรือใหญ่ด้วยซ้ำไป รวมทั้งสภาพแวดล้อมทั้งการคบเพื่อนฝูงที่ไม่ดี คนรอบข้าง ฯลฯ

ในขณะที่ “ความหลง” นั้น ก็คือหลงว่าตนมีอำนาจที่จะกระทำได้ทุกอย่างอย่างอหังการ ไม่เห็นกฎหมายหรือขื่อแปของบ้านเมืองอยู่ในสายตาไม่เห็นใครอยู่ในสายตาไม่เชื่อว่าจะมีใครจับได้ไล่ทัน หลงในความเชื่อของตนเองว่าไม่มีใครรักชาติจริง ดังนั้นคงไม่มีใครมาทุ่มเทศึกษาเล่ห์เหลี่ยมทางธุรกิจของตนจนนำมาสู่การเปิดโปงการทุจริตดังที่ปรากฏในคำพิพากษาและหลงเชื่อว่าเงินซื้อทุกอย่างและทุกผู้คนได้ อันเห็นได้จากตัวอย่างถุงขนมมูลค่า 2 ล้านบาทและที่ยังไม่ได้เปิดโปงอีกมากมาย สาเหตุต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเรื่องส่วนตัวทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวข้องกับสังคมหรือความไม่เป็นธรรมของสังคมแม้แต่ประเด็นเดียว

ทักษิณไม่เคยตกยากลำบาก ทักษิณไม่เคยถูกกดขี่ ทักษิณไม่เคยสนใจศึกษาหรือตระหนักในปัญหาความอยุติธรรมของสังคมจนนำไปสู่การต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ผู้อื่นหรือสังคม ชีวิตของทักษิณโรยด้วยกลีบกุหลาบมาตลอด ยกเว้นเรื่องราวที่กระทำโดยตนเอง ไม่ว่าจะเรื่องการแลกเช็คทางธุรกิจ หรือ เรื่องราวที่เป็นอยู่ ณ วันนี้

ท่านอาจารย์ประเวศมั่นใจหรือครับว่า ถ้าสังคมเป็นธรรมแล้ว คนอย่างทักษิณจะไม่เกิด

ผมเชื่อว่าไม่ว่าสังคมจะเป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรม คนอย่างทักษิณก็เกิดขึ้นอยู่ดี เหตุเพราะทักษิณเป็นปัจเจกชน มิใช่กลุ่มชนที่ถูกหล่อหลอมโดยระบบจนกล่าวได้ว่าระบบหรือสังคมเป็นสาเหตุให้เกิดกลุ่มชนดังกล่าว

แล้วในกรณีการเกิดกลุ่มคนเสื้อแดงล่ะ

ดังที่ทราบว่า กลุ่มคนเสื้อแดงนั้นพอจะแยกแยะได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ

กลุ่มที่หนึ่งเป็นนักธุรกิจ นายทุน นักการธนาคาร นักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง เจ้าอาวาสเจ้าลัทธินักบวชที่ชวนให้คนลุ่มหลงงมงายกับการบริจาค นักการเมืองที่หวังมาตกทรัพย์จากการนำมวลชน นักการเมืองท้องถิ่นและนักการเมืองระดับชาติที่หวังผลประโยชน์จากทักษิณและสลัดออกจากทักษิณไม่ได้ในขณะนี้ คนเหล่านี้ในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในสถานะของคนที่ถูกกระทำด้วยความไม่ยุติธรรม เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีศักยภาพในการเรียกร้อง ในทางตรงกันข้าม คนกลุ่มนี้กลับมักกระทำบนพื้นฐานของความไม่ยุติธรรมกับคนที่ไม่ใช่พวกของตน คนเหล่านี้ก็มีพื้นฐานเช่นเดียวกับทักษิณ คือ “ความโลภ” และ “ความหลง”

กลุ่มที่สองคือชาวบ้านหาชาวกินค่ำในต่างจังหวัดที่ไม่รู้ตื้นลึกหนาบางของเรื่องราวที่เกิดขึ้น รู้แต่ว่าตนไม่ชอบความไม่ยุติธรรมที่มากระทำกับตน (ซึ่งในกลุ่มนี้ก็อาจมีส่วนย่อยที่อาจไม่ได้สนใจเมื่อตนใช้ความไม่ยุติธรรมกับผู้อื่น) หรือเคยเห็นความไม่ยุติธรรมที่เกิดอยู่รอบข้างตน (ซึ่งหลายครั้งหลายกรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เกิดจากคนเสื้อแดงในกลุ่มที่หนึ่งที่มากระทำกับคนในกลุ่มที่สอง) ครั้นเมื่อได้รับการโหมประโคมข่าวสารความไม่ยุติธรรม รวมทั้งอาจเห็นโอกาสที่ดีที่หวังว่าตนจะลืมตาอ้าปากได้จากการเข้าร่วม (ไม่ว่าจะเป็นผลประโยชน์โดยตรงจากกลุ่มผู้นำ หรือ “หวัง” ว่าสภาพที่เป็นอยู่รอบๆ ตนจะดีขึ้นโดยการโยกผลประโยชน์ของสังคมโดยรวมมาสู่ตน) กลุ่มนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นจากการถูกกระทำด้วย “ความไม่ยุติธรรม” ของสังคม

ทักษิณเพียงแต่ใช้ความไม่ยุติธรรมของสังคมเป็น “เครื่องมือ” ในการดึงคนกลุ่มที่สองมารับใช้ตนเพื่อให้ตนได้ในสิ่งที่ตนต้องการ หรืออาจเรียกได้ว่า “ขบวนการกลุ่มคนเสื้อแดง” มีสาเหตุส่วนหนึ่งที่เกิดจากเหตุปัจจัยของ “ความไม่ยุติธรรม” ของสังคม

คำถามที่ตามมาคือ แล้วคนไทยที่เหลือนอกเหนือจาก “กลุ่มคนเสื้อแดง” นั้นไม่ประสบปัญหาถูกกระทำโดย “ความไม่ยุติธรรม” ของสังคมบ้างหรือ ถ้าประสบปัญหาเช่นกัน แล้วทำไมคนเหล่านั้นจึงไม่เรียกร้อง ไม่เดินขบวน หรือเป็นเพราะคนเหล่านี้มีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตน เข้าใจและตระหนักในสิ่งที่สังคมมอบให้ตนและอุ้มชูครอบครัวและบรรพบุรุษของตน เข้าใจและตระหนักในการเคารพสิทธิของผู้อื่น หรือ เข้าใจว่าอะไรที่ควรอะไรที่ไม่ควร

ประเด็นที่ 2 คือเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

ท่านอาจารย์สรุปว่า ปัญหาบ้านเมืองเกิดจากการรวมศูนย์อำนาจ และการรวมศูนย์อำนาจนั้นคือ “ต้นตอของปัญหาทั้งปวง” ทำให้นักธุรกิจอยากเข้ามาเล่นการเมือง และเสนอว่า ทางออกของปัญหาบ้านเมืองคือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยท่านยกตัวอย่างประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่แบ่งการปกครองที่เรียกว่า “คันตน” (Canton) แล้วสรุปว่า “ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจและควบคุมการปกครองได้โดยตรง คอร์รัปชันและระบบเกื้อหนุนญาติก็หมดไป”

อยากเรียนถามท่านอาจารย์ประเวศเพื่อความแน่ชัดว่า ในความหมายของท่านอาจารย์นั้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นคืออะไร ในปัจจุบันการที่มี อบจ. อบต. เป็นรูปแบบที่ท่านกล่าวถึงใช่หรือไม่ ถ้าไม่ใช่แล้วที่ใช่คืออะไร ถ้าใช่ แล้วปัญหาปัจจุบันของ อบต. ดังที่ทราบกันอยู่นั้น เป็นเพราะอะไร ท่านอาจารย์มั่นใจหรือครับว่า นักการเมืองแบบทักษิณหรือทักษิณ 2 หรือทักษิณ 3 จะคิดไม่ออกในการจัดการกับ “การกระจายอำนาจ” เพื่อให้เกิดประโยชน์เฉพาะกลุ่มตน

การที่สรุปได้ว่า “การรวมศูนย์อำนาจนั้นคือต้นตอของปัญหาทั้งปวง” และ “ทางออกของปัญหาบ้านเมืองคือการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น” ผมคิดว่าเป็นการสรุปโดยยกตัวอย่างประเทศเดียว เป็นการสรุปที่รวบรัดและมีโอกาสผิดพลาด (Error) สูง (ในทางสถิติเรียกว่า “Error Type I” นั่นคือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปในทิศทางที่สนับสนุนสมมุติฐานของตน) ถ้าท่านอาจารย์หรือใครก็ตามที่จะเสนอแนวคิดดังกล่าวคงต้องผ่านกระบวนการศึกษาในด้านข้อมูลให้มากกว่านี้ อาทิ ต้องศึกษาข้อมูลทุกประเทศในโลกว่า มีกี่ประเทศที่ปกครองแบบรวมศูนย์ มีกี่ประเทศที่ปกครองแบบกระจายอำนาจ ในจำนวนประเทศที่ปกครองแบบรวมศูนย์นั้นกี่ประเทศที่มีความยุติธรรม กี่ประเทศที่ขาดความยุติธรรม

เช่นเดียวกันในจำนวนประเทศที่ปกครองแบบกระจายอำนาจนั้นกี่ประเทศที่มีความยุติธรรม กี่ประเทศที่ขาดความยุติธรรม (แค่การจัดทำคำนิยามของคำว่า “รวมศูนย์” “กระจายอำนาจ” “ยุติธรรม” “ไม่ยุติธรรม” ก็แทบจะหาข้อสรุปไม่ได้แล้ว เพราะในความเป็นจริงมีพื้นที่สีเทาในเชิงนิยามอยู่มาก) รวมทั้งคงต้องมีการศึกษาในเชิงลึกอีกมากมายก่อนที่จะไปสู่ข้อสรุปดังกล่าว เพราะการนำผลสรุปดังกล่าวไปใช้ประโยชน์นั้น มิใช่เพื่อขอเลื่อนขั้นเลื่อนระดับหรือขอซี แต่เป็นการนำผลการศึกษาไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมากมาย ทั้งในด้านจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบ เงินงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง ความสงบสุขของสังคม และอื่นๆ อีกมากมาย

สำหรับสวิตเซอร์แลนด์แล้ว ปัจจัยที่ทำให้ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีความเจริญนั้นเป็นเพราะการบริหารแบบกระจายอำนาจ หรือเป็นเพราะผู้คนมีการศึกษา ผู้คนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ผู้คนสนใจการเมือง ผู้คนรักชาติบ้านเมืองเพราะผ่านศึกมามาก ผู้คนรักความยุติธรรมโดยการศึกษา – โดยกมลสันดาน - โดยกลไกของสังคม หรือที่รวมเรียกว่า “การเมืองภาคประชาชน” มีความเข้มแข็ง เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และผู้สนใจมาทำการศึกษาวิจัยโดยอาศัยระเบียบวิธีวิจัย (Research Methodology) ที่ออกแบบได้ดี

ประเด็นที่ 3 คือ “ความขัดแย้งทุกชนิด ในที่สุดก็จบลงด้วยการเจรจา”

ผมไม่ทราบว่าท่านอาจารย์ประเวศต้องการสื่ออะไรกับสังคม ผมเห็นด้วยกับการเจรจาถ้าความขัดแย้งนั้นเป็นเรื่องของความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันในการจัดการกับประโยชน์สาธารณะ เช่นการจัดสรรงบประมาณ เช่น ทิศทางการศึกษาของประเทศ ฯลฯ แต่นั่นต้องมิใช่เรื่องระหว่างส่วนตนกับสาธารณะ หรือระหว่างความผิดกับความถูก

กระผมขออนุญาตสมมติสถานการณ์หนึ่ง สมมติว่าโจรย่องเบาขึ้นบ้านของท่านอาจารย์ยามวิกาล และทำร้ายคนในบ้านท่าน ท่านอาจารย์จะแจ้งความตำรวจหรือจะนั่งลงเจรจากับโจรประมาณว่า “เอาทีวีไปอย่างเดียวก็พอนะ อย่าเอาหม้อหุงข้าวไปด้วย” คำว่า “เจรจา” ของท่านอาจารย์แปลว่าอะไร? ขณะนี้กลุ่มคนเสื้อแดงประกาศกร้าวว่าจะยึดกรุงเทพฯ กำลังจะลิดรอนสิทธิของประชาชนคนอื่น บางคนบนเวทีเสื้อแดงก็ประกาศว่า จะแขวนคอ “พลเอกเปรม” กลางสนามหลวง กำลังคิดยึดอำนาจการปกครอง กำลังทำผิดกฎหมาย ท่านอาจารย์กำลังจะนั่งลงเจรจาหรือครับ ท่านอาจารย์กำลังส่งสัญญาณผิดให้กับสังคมหรือไม่ ท่านอาจารย์กำลังบอกกับสังคมหรือไม่ว่า “ถ้ามีกำลังในมือก็จะเจรจาด้วย ถ้าไม่มีกำลังในมือก็ดำเนินการตามกฎหมาย” สิ่งนี้คือ “ความไม่ยุติธรรม” ที่อาจารย์กล่าวถึงใช่หรือไม่

ผมคิดว่าเราต้องแยกแยะสถานการณ์ต่างๆ อย่าเหมารวมว่าทุกสถานการณ์เหมือนกัน หลายครั้งที่เราติดกับวลีโก้หรูบางวลีที่เหมาะกับสถานการณ์หนึ่ง แต่เราก็เอามาใช้พร่ำเพรื่อกับทุกสถานการณ์ที่เราจะได้ประโยชน์ ไม่ว่าประโยชน์ในรูปวัตถุ หรือประโยชน์แค่เพียงในลักษณะที่ทำให้คนอื่นเห็นด้วยกับแนวคิดของเรา

ประเด็นสุดท้าย คือ ท่านอาจารย์ทิ้งท้ายว่า “สังคมไทยขาดความเป็นธรรมทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย การเมืองการปกครอง”

ผมเห็นด้วยกับประโยคที่ท่านกล่าว แต่เมื่อผมอ่านบทความของท่านผมก็เกิดมีคำถามขึ้นมาในใจ 2–3 คำถาม

หนึ่ง มีประเทศไหนบ้างในโลกนี้ที่สังคมเป็นธรรมอย่างแท้จริงในทุกด้าน (แม้จะยังไม่ได้ลงมือศึกษาวิจัยอย่างจริงจังแต่ผมเชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นประเทศใดในโลกกลมๆ ใบนี้ ต่างก็ล้วนมีข้อให้พิจารณาได้ว่ามีความไม่เป็นธรรมอยู่ทั้งสิ้น)

สอง ความไม่เป็นธรรมนั้น แก้ไขง่ายๆ เพียงแค่การกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นจริงหรือไม่ ถ้าจริงทำไมต้องเกิดเหตุการณ์ยิง นายก อบต.นาเหนือ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ เหตุการณ์ยิง นายก อบต.หัวตะพาน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราชดับ เหตุการณ์ยิง รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคำเตย อ.เมือง จ.นครพนม การลอบยิง นายก อบต.ตำนาน เมืองพัทลุง และเหตุการณ์ในลักษณะเช่นเดียวกันนี้อีกมากมาย ถ้าท้องถิ่นนั้นเป็นธรรมทำไมผู้บริหารต้องเสียชีวิต

เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า การกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นไม่ใช่แก้วสารพัดนึกที่จะแก้ปัญหา “ความไม่เป็นธรรม” ที่ท่านอาจารย์ตั้งสมมติฐานไว้ได้ ตราบเท่าที่ “ประชาชนในท้องถิ่นยังไม่มีการศึกษา ประชาชนในท้องถิ่นยังเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร ประชาชนในท้องถิ่นยังไม่สนใจการเมือง ประชาชนในท้องถิ่นยังไม่มีสำนึกของความรักชุมชนรักชาติรักบ้านเมืองเพราะไม่เคยผ่านการสูญเสียแผ่นดินทำมาหากินมาก่อน ประชาชนท้องถิ่นยังไม่เกิดความรักในความยุติธรรมโดยการศึกษา – โดยกมลสันดาน – โดยกลไกของสังคม” หรือที่รวมเรียกว่า “การเมืองภาคประชาชน” ยังไม่มีความเข้มแข็ง

ผมเห็นด้วยกับการที่เราต้องแก้ไขปัญหาความไม่ยุติธรรมในสังคม ประเด็นนี้ก็คงต้องอาศัยเหล่าผู้มีปัญญา เหล่านักวิชาการ และนักการเมือง (น้ำดี) ที่จะต้องมาช่วยกันออกแบบระบบที่ดีซึ่งผ่านกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบและอย่างรอบคอบรอบด้าน กระบวนการคิดที่ไม่ได้คิดถึงแต่ผลได้ระยะสั้นแต่ต้องมองถึงผลกระทบด้านลบระยะยาว การคิดแบบองค์รวม การคิดที่ไม่แยกส่วน

แต่ก่อนจะที่ไปพยายามช่วยกันคิดหา “แพะ” เพื่อมารับบาปในประเด็นปัญหา “ความไม่ยุติธรรม” และลงมือฆ่า “แพะ” ตัวนั้น ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่ท่านผู้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีชื่อเสียงในสังคม นักวิชาการ ผู้มีปัญญา นักการเมือง (น้ำดี) พอจะช่วยกันได้ก่อนคือ เราท่านลองหันกลับไปตามตนเองดูว่า แต่ละท่านนั้นได้มีส่วนแม้แต่เพียงเล็กน้อยในการทำให้ “ความไม่ยุติธรรม” ขยายวงมากขึ้นในทุกพื้นที่ของสังคมหรือไม่ เรายังฝากลูกฝากหลานเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงหรือไม่ เรายังคงขับรถช้าชิดขวาเพราะคิดว่าตำรวจไม่กล้าจัดการเราหรือไม่ เรายังคงจอดรถริมฟุตปาธที่ห้ามจอดเพราะมีเส้นสายกับตำรวจหรือไม่ เรายังฝากลูกฝากคนที่รู้จักเข้าทำงานหรือไม่ เรายังพยายามพูดคุยกับตำรวจกับอัยการเพื่อให้ช่วยเหลือในเรื่องคดีหรือไม่ เรายังพยายามใช้เส้นสายเพื่อให้ลูกหลานของเราทำงานในรั้วมหาวิทยาลัยหรือไม่ เรายังพยายามตีสนิทกับผู้หลักผู้ใหญ่เพื่อให้สนับสนุนเราเป็นกรรมการบอร์ดในรัฐวิสาหกิจหรือไม่ ฯลฯ

เพียงการลดเลิกพฤติกรรมเหล่านี้ ก็นับได้ว่าเราได้มีส่วนช่วยให้เกิด “ความเป็นธรรม” ขึ้นในสังคมได้อย่างทันตาเห็น

ท่านอาจารย์ประเวศเป็นปูชนียบุคคล ท่านเป็นผู้ที่เหมาะสมที่จะได้รับการเรียกขานด้วยคำว่า “ราษฎรอาวุโส” ในความหมายที่แสดงถึงความที่เป็นบุคคลที่มีความห่วงใยในความเป็นไปของบ้านเมือง ต้องการที่จะให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้า ประชาชนคนไทยอยู่ดีมีสุข และมีสุขภาพดี อย่างไรก็ตามด้วยความเคารพในคุณความดีของท่าน ผมอยากสื่อสารผ่านบทความผ่านไปยังท่านอาจารย์ประเวศและท่านทั้งหลายที่เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงเป็นที่เคารพนับถือในวงสังคมทั่วไปว่า การสื่อสารกับสังคมโดยเฉพาะการเสนอทางออกต่อปัญหาสังคมนั้น เป็นเรื่องที่ท่านทั้งหลายที่เป็นเคารพของสังคมต้องพึงระวังอย่างยิ่ง เพราะสังคมไทยนี้เป็นสังคมแห่งความเปราะบางทางภูมิคุ้มกันทางปัญญา คนในสังคมมีแนวโน้มที่จะ “เชื่อ” คนที่เขานับถือโดยหมดหัวใจไร้ซึ่งข้อสงสัย ดังนั้นการที่ท่านลงนามจริงของท่านก็เหมือนกับการประทับตราว่า “Approved”

ถ้าท่านจะกรุณาให้คนไทยได้ “คิด” ได้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญา” ในสิ่งที่ท่านเสนอก็จะเป็นการช่วยกระตุ้น หรือฉีดวัคซีนแห่งภูมิปัญญาให้เกิดขึ้น และถ้าเนื้อหาในบทความหรือสิ่งที่ท่านเสนอมีประโยชน์จริงในเชิงเหตุและผลที่รอบคอบและรอบด้าน ผมก็เชื่อแน่ว่าต้องมีผู้เห็นด้วยและนำไปปฏิบัติหรือขยายผลต่อ โดยไม่ขึ้นกับว่าผู้เสนอนั้นคือใคร วิธีหนึ่งที่ผมอยากเสนอคือการไม่ลงชื่อและนามสกุลจริงแต่ใช้ “นามแฝง” ซึ่งไม่เปิดเผยแก่สาธารณะยกเว้นกองบรรณาธิการ

ท้ายนี้ผมก็ไม่ทราบจะสรุปว่า “ทักษิณเป็นผล หรือเป็นเหตุ” ของสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันนี้ดี

ที่รู้แน่ๆ คือ “ทักษิณเป็นเหตุ” ที่ทำให้ผมต้องเขียนบทความนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น